xs
xsm
sm
md
lg

ทั้ง‘สหรัฐฯ’และ จีน’กังวลใจ‘เลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน’ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: บอนนี เอส แกลสเซอร์ และ บริตตานี บิลลิงสลีย์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US and China fret over Taiwan vote
By Bonnie S Glaser and Brittany Billingsley
17/11/2011

ขณะที่จีนเชื่อว่าถ้าประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว แห่งไต้หวัน และพรรคก๊กมิ่งตั๋งของเขา พ่ายแพ้การเลือกตั้งในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ มันก็จะนำไปสู่ยุคแห่งการปลุกปั่นก่อกวนของพรรคเดโมแครติก โปรเกรสสีฟ ปาร์ตี้ (ดีพีพี) ที่เป็นพวกฝักใฝ่ต้องการประกาศไต้หวันเป็นประเทศเอกราช อีกคำรบหนึ่ง เฉกเช่นที่เกิดขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีเฉิน สุยเปี่ยน (ปี 2000 – 2008) ทางด้านสหรัฐฯนั้นก็ระแวงสงสัยเหมือนกันว่า ไช่ อิงเหวิน ผู้ท้าชิงจากพรรคดีพีพี มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ต้องถอยหลังกลับไปใหม่ หลังจากที่เดินหน้าเข้าสู่ภาวะผ่อนคลายความตึงเครียดทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจตลอดระยะเวลากว่าสามปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ประชาชนผู้ออกเสียงชาวไต้หวันนั่นแหละคือผู้ที่จะให้คำตอบสุดท้าย โดยที่คาดหมายกันว่าผลการเลือกตั้งน่าจะออกมาอย่างคู่คี่เหลือเกิน

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

การเลือกตั้งประธานาธิบดีในไต้หวันเดือนมกราคมที่ใกล้จะถึงนี้ ผลลัพธ์ซึ่งเป็นที่พึงปรารถนาสำหรับปักกิ่งก็คือ การที่ หม่าอิ่งจิว ได้รับชัยชนะได้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกสมัยหนึ่ง ถึงแม้ในการสนทนากันเป็นการส่วนตัวแล้ว พวกเจ้าหน้าที่และนักวิชาการของจีนก็ไม่ได้ปิดบังซ่อนเร้นเลยว่า พวกเขารู้สึกผิดหวังและหงุดหงิดไม่พอใจกับวิธีการก้าวช้าๆ อย่างระแวงระวังของ หม่า ในการมีปฏิสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ ตลอดจนการที่เขายืนกรานเรื่อยมาว่า ข้อตกลงข้ามช่องแคบหลายต่อหลายฉบับนั้นให้ผลประโยชน์แก่ไต้หวันมากมายมหาศาลกว่าที่ให้แก่ฝ่ายแผ่นดินใหญ่

กระทั่งว่าถ้าหาก หม่า มีชัยได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง แล้วสมัยที่สองแห่งการปกครองไต้หวันของเขาก็ไม่มีความก้าวหน้าอย่างเป็นจริงเป็นจังใดๆ เกี่ยวกับเรื่องการรวมประเทศ พวกเจ้าหน้าที่แผ่นดินใหญ่ก็ยังคงมีความเชื่อมั่นว่าอย่างน้อยที่สุดความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบจะอยู่ในภาวะมีเสถียรภาพและสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ซึ่งจะทำให้ปักกิ่งสามารถหันความสนใจไปยังปัญหาน่าห่วงเรื่องอื่นๆ

ขณะเดียวกัน นโยบาย “การพัฒนาอย่างสันติ” ของหู ก็ยังจะมีการดำเนินสืบเนื่องต่อไป เปิดทางให้มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ถึงแม้ชัยชนะของพรรคก๊กมิ่นตั๋ง ย่อมหมายความด้วยว่าปักกิ่งจะต้องหยิกยกคำถามหลายๆ คำถามมาพิจารณา เป็นต้นว่า แผ่นดินใหญ่ควรที่จะเดินหน้ากดดันอย่างหนักหน่วงแค่ไหนเพื่อให้ไต้หวันยอมเปิดการเจรจาทางการเมือง และควรหรือไม่ที่จะตอบสนองในทางบวกต่อข้อเรียกร้องของ หม่า ที่ปรารถนาจะได้ทำข้อตกลงกับประเทศอื่นๆ ในด้านอวกาศระหว่างประเทศ, และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อย่างกว้างขวางใหญ่โตยิ่งขึ้น ตลอดจนข้อเรียกร้องของเขาที่จะให้ลดกำลังแสนยานุภาพทางทหารของจีนที่ประจำอยู่ในพื้นที่ฝั่งตรงข้ามกับไต้หวัน

ในไต้หวันขณะปัจจุบัน เรื่องการเปิดการเจรจาข้ามช่องแคบอย่างเป็นทางการในด้านมาตรการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันในทางการทหาร (confidence-building measures หรือ CBMs) ยังคงถือเป็นเรื่องต้องห้าม ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากใกล้ที่จะถึงการเลือกตั้งแล้ว ทว่าก็มีเจ้าหน้าที่บางคนเสนอแนะเป็นการส่วนตัวว่า CBMs อาจจะอยู่ในระเบียบวาระของไต้หวันก็ได้ ถ้าหาก หม่า ได้รับเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่สอง

ถ้าหากไทเปตัดสินใจที่จะเดินหน้าดำเนินมาตรการ CBMs ทางทหารระหว่างไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ขึ้นมาจริงๆ ก็น่าจะได้รับความสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับเรื่องการเปิดการเจรจาหารือทางการเมืองระหว่างสองฝ่ายของช่องแคบ แต่ทั้งนี้ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าความริเริ่มดังกล่าวจะต้องได้รับการหนุนหลังจากเสียงส่วนข้างมากของประชาชนไต้หวัน อีกทั้งดำเนินการกันด้วยความสมัครใจ ไม่ได้เป็นผลของการถูกกดดันบังคับ

ประธานาธิบดีหม่า ยังเคยพูดเอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ไต้หวันอาจ “พิจารณาด้วยความระมัดระวัง” เพื่อทำการลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับจีนแผ่นดินใหญ่ภายในช่วงทศวรรษหน้า ถ้าหากก่อนการทำข้อตกลงดังกล่าวมีการบรรลุเงื่อนไขต่างๆ รวม 3 ข้อ อันได้แก่ ข้อตกลงนี้ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากประชาชนไต้หวัน โดยที่ได้แสดงความคิดเห็นของพวกเขาผ่านการลงประชามติ, ข้อตกลงนี้สอดคล้องกับความจำเป็นอันแท้จริงของประเทศชาติ, และข้อตกลงนี้ได้รับการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติของไต้หวัน

สำหรับทางฝ่ายสหรัฐฯนั้น ก็มีเดิมพันวางเอาไว้มากทีเดียว ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นตอนต้นปีหน้าในไต้หวัน สหรัฐฯมีความสนใจและความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้เห็นประชาธิปไตยของไต้หวันเดินหน้าต่อไปสู่ความเบ่งบานฟูเฟื่อง โดยที่การจัดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม ไต้หวันในปัจจุบันมีระบอบประชาธิปไตยอันคึกคักมีชีวิตชีวา ซึ่งได้รับการจับตามองอย่างกว้างขวางในฐานะที่เป็นกองหน้าของพัฒนาการทางการเมืองในเอเชีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นแบบอย่างอันหนึ่งให้แก่จีน

ประชาชนของไต้หวันและประชาชนสหรัฐฯ ต่างฝ่ายต่างก็ตระหนักและมองเห็นถึงคุณค่าของเสรีภาพและอิสรภาพ และพวกเขาต่างทะนุถนอมใส่ใจในสิทธิที่จะเลือกผู้นำของพวกเขา และเข้าร่วมในกระบวนการทางการเมือง ในเวลาเดียวกัน สหรัฐฯก็มีผลประโยชน์อันทรงพลังอย่างยิ่งพอๆ กันในการพิทักษ์รักษาภาวะเสถียรภาพข้ามช่องแคบไต้หวัน

ความตึงเครียดที่ปรากฏโดดเด่นในความสัมพันธ์ระหว่างไทเปกับปักกิ่งในระยะเวลาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 ไปจนกระทั่งถึงปี 2008 เป็นสิ่งที่ขัดแย้งอย่างล้ำลึกกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้เองวอชิงตันจึงกำลังอยู่ในภาวะลังเลใจ กล่าวคือ วอชิงตันปรารถนาอย่างแรงที่จะไม่เข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้งของไต้หวัน แต่พร้อมกันนั้นวอชิงตันก็ยืนยันว่าพวกผู้นำของไต้หวันควรต้องบริหารจัดการสายสัมพันธ์กับปักกิ่งให้อยู่ในหนทางที่ลดการเสียดสีให้เหลือน้อยที่สุด และตัดทอนโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดความขัดแย้งทางการทหาร

ความลังเลใจเช่นนี้ดูจะปรากฏออกมาให้เห็นชัดทีเดียว ในระหว่างการไปเยือนวอชิงตันของ ไช่ เมื่อเดือนกันยายนปีนี้ ถึงแม้ ไช่ บอกกับผู้ฟังอเมริกันของเธอว่า เธอจะใช้ความยืดหยุ่นในการรับมือกับฝ่ายแผ่นดินใหญ่ และเธอให้สัญญาที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯถ้าหากได้รับเลือกตั้ง ทว่าพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯก็ยังคงวิตกกังวลอยู่ดี เนื่องจากคำพูดของเธอยังขาดรายละเอียดอยู่มาก

การประคับประคองรักษาช่องทางต่างๆ ในการสื่อสารระหว่างสองฝ่ายของช่องแคบไต้หวันให้ยังคงเปิดใช้งาน ดูแล้วน่าจะเป็นสิ่งที่ทรงความสำคัญระดับสูงสุด การระงับการสนทนากันอาจส่งผลให้เกิดการคาดคำนวณผิดพลาดและอาจจะเกิดเป็นสงครามขึ้นมาได้ มีความเป็นไปได้ที่ความกังวลห่วงใยดังกล่าวนี้คือสิ่งที่คิดคำนึงกันอยู่ เมื่อตอนที่เจ้าหน้าที่อาวุโสที่ไม่มีการระบุชื่อผู้หนึ่งของคณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา บอกกับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) หนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลทางด้านการเงินของอังกฤษว่า การไปเยือนสหรัฐฯของ ไช่ “ทำให้พวกเราเกิดความระแวงสงสัยอย่างชัดๆ ขึ้นมาว่า เธอมีความปรารถนาและความสามารถหรือไม่ ที่จะทำให้เสถียรภาพในความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ ซึ่งภูมิภาคแถบนี้ได้รับอยู่ในระยะหลายๆ ปีหลัง มีการดำเนินต่อเนื่องต่อไปอีก”

เจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะรัฐบาลโอบามาผู้นี้ กล่าวย้ำด้วยว่า ยังคง “ห่างไกลจากความกระจ่างแจ้ง ... ว่าเธอและพวกที่ปรึกษาของเธอมีความเข้าใจอย่างซาบซึ้งเต็มที่แล้วหรือยัง เกี่ยวกับ (การที่ฝ่ายแผ่นดินใหญ่มี) ความไม่ไว้วางใจอันล้ำลึกต่อแรงจูงใจของเธอและความมุ่งมาดปรารถนาของพรรคดีพีพี”

ในเวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯผู้หนึ่ง ได้ตอบข้อซักถามจากสำนักงานของวุฒิสมาชิก เจมส์ อินโฮเฟ (James Inhofe) สังกัดพรรครีพับลิกัน โดยกล่าวย้ำว่า “คณะรัฐบาล(โอบามา) ไม่ได้ถือหางเข้าข้างใครในการเลือกตั้งของไต้หวัน มันขึ้นอยู่กับประชาชนของไต้หวันที่จะเลือกผู้นำของพวกเขาเองในการเลือกตั้ง ความสนใจของเรานั้นอยู่ที่ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีต้องดำเนินไปอย่างเป็นเสรี ยุติธรรม และเปิดกว้าง ความสนใจของเราไม่ใช่อยู่ที่การสนับสนุนหรือการวิพากษ์วิจารณ์ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนหนึ่งคนใด”

ไมว่าใครจะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของไต้หวันในเดือนมกราคมก็ตามที สหรัฐฯยังน่าที่จะธำรงรักษาความสัมพันธ์อันไม่เป็นทางการแต่ทรงความสำคัญยิ่งกับรัฐบาลและประชาชนของไต้หวันเอาไว้ และยึดมั่นปฏิบัติตามพันธสัญญาต่างๆ ภายใต้รัฐบัญญัติความสัมพันธ์กับไต้หวัน (Taiwan Relations Act)

สหรัฐฯยังน่าที่จะขายอาวุธให้แก่ไต้หวันต่อไป ถึงแม้เป็นที่คาดหมายได้ว่าคำร้องขอซื้ออาวุธทันสมัยต่างๆ จากไทเปจะกลายเป็นเรื่องโต้เถียงกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในเมื่อดุลอำนาจทางทหารระหว่างสองฝ่ายในช่องแคบไต้หวัน กำลังเอนเอียงไปทางข้างที่ปักกิ่งกลายเป็นฝ่ายได้เปรียบอย่างเด็ดขาดมากขึ้นทุกที และขณะเดียวกันพลังอำนาจแห่งชาติของจีนก็เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

บอนนี เอส แกลสเซอร์ (bglaser@csis.org) เป็นนักวิจัยอาวุโส ของ ฝ่ายฟรีแมน แชร์ เพื่อจีนศึกษา (Freeman Chair in China Studies) ณ ศูนย์กลางเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษาและการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) ในกรุงวอชิงตัน ดีซี อีกทั้งเป็นผู้ร่วมงานอาวุโส (senior associate for) ให้แก่ แปซิฟิก ฟอรัม ซีเอสไอเอส (Pacific Forum CSIS) บริตตานี บิลลิงสลีย์ (bbillingsley@csis.org) เป็นนักวิจัยสมทบ และผู้ประสานงานโครงการ ในฝ่ายฟรีแมน แชร์ เพื่อจีนศึกษา ณ ศูนย์กลางเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษาและการระหว่างประเทศศึกษา

(ข้อเขียนชิ้นนี้เป็นบทคัดย่อของรายงานฉบับที่เพิ่มนำออกเผยแพร่ ใช้ชื่อเรื่องว่า Taiwan's 2012 Presidential Election and Cross-Strait Relations: Implications for the United States)
ทั้ง‘สหรัฐฯ’และ จีน’กังวลใจ‘เลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน’ (ตอนแรก)
ขณะที่จีนเชื่อว่าถ้าประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว แห่งไต้หวัน และพรรคก๊กมิ่งตั๋งของเขา พ่ายแพ้การเลือกตั้งในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ มันก็จะนำไปสู่ยุคแห่งการปลุกปั่นก่อกวนของพรรคเดโมแครติก โปรเกรสสีฟ ปาร์ตี้ (ดีพีพี) ที่เป็นพวกฝักใฝ่ต้องการประกาศไต้หวันเป็นประเทศเอกราช อีกคำรบหนึ่ง เฉกเช่นที่เกิดขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีเฉิน สุยเปี่ยน (ปี 2000 – 2008) ทางด้านสหรัฐฯนั้นก็ระแวงสงสัยเหมือนกันว่า ไช่ อิงเหวิน ผู้ท้าชิงจากพรรคดีพีพี มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ต้องถอยหลังกลับไปใหม่ หลังจากที่เดินหน้าเข้าสู่ภาวะผ่อนคลายความตึงเครียดทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจตลอดระยะเวลากว่าสามปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ประชาชนผู้ออกเสียงชาวไต้หวันนั่นแหละคือผู้ที่จะให้คำตอบสุดท้าย โดยที่คาดหมายกันว่าผลการเลือกตั้งน่าจะออกมาอย่างคู่คี่เหลือเกิน
กำลังโหลดความคิดเห็น