xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำไต้หวันเล่นบท‘กร้าว’วาระสาธารณรัฐจีนครบ100ปี

เผยแพร่:   โดย: เยนส์ คาสต์เนอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Taiwan’s Ma bares his centennial steel
By Jens Kastner
11/10/2011

ในโอกาสเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของการปฏิวัติใน ค.ศ. 1911 ที่สถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นมา ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ของไต้หวัน นอกจากทำพิธีตรวจพลสวนสนามของเหล่าทหารหาญอย่างใหญ่โตในกรุงไทเปแล้ว เขายังกล่าวปราศรัยด้วยมาดเข้มโดยบอกว่า “หนทางสายเดียว” แห่งการก้าวไปข้างหน้า คือ ปักกิ่งจะต้องลอกเลียนแบบโมเดลประชาธิปไตยของไต้หวัน ท่าทีอันฮึกหาญเช่นนี้ของหม่า มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมุ่งทำลายความพยายามของฝ่ายค้านที่วาดภาพลักษณ์ของเขาว่าเป็นเพียงสมุนบริวารของจีน ขณะที่การเลือกตั้งกำลังขยับใกล้เข้ามาเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่นอนว่าแผ่นดินใหญ่ไม่มีทางยอมรับว่าโมเดลของตนนั้นใช้การไม่ได้

ไทเป – สาธารณรัฐจีน (Republic of China ใช้อักษรย่อว่า ROC) หรือ ไต้หวัน ซึ่งใน “2 จีน” ถือว่าเป็นจีนที่มีความสำคัญน้อยกว่า ได้จัดการเฉลิมฉลองวันชาติครบรอบ 100 ปีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ในพิธีเฉลิมฉลองดังกล่าว ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมด้วย และจัดขึ้นที่บริเวณด้านหน้าของอาคารทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงไทเป ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ได้ใช้คำพูดและท่าทีอันปลุกเร้าอารมณ์ มากล่าวถึงแผนการส่วนตัวของเขาว่าด้วยหนทางในการปรองดองกับ “อีกจีนหนึ่ง” ซึ่งคือ สาธารณรัฐประชาชนจีน (People's Republic of China ใช้อักษรย่อว่า PRC)

หม่ายังกระทำอะไรบางอย่างซึ่งประชาชนไต้หวันไม่เคยเห็นเขากระทำมาก่อนเลย โดยเป็นครั้งแรกนับแต่ที่ขึ้นรับตำแหน่งในปี 2008 เขาได้ทำพิธีตรวจพลสวนสนามอันใหญ่โตของเหล่าทหารหาญ ถึงแม้การสำแดงแสนยานุภาพเนื่องใน “วันคู่ 10” (Double Ten คือวันที่ 10 เดือน 10) น่าจะต้องถือได้ว่าเป็นรูปแบบพิธีการที่พึงต้องกระทำ มิหนำซ้ำหม่ายังกำลังอยู่ในช่วงเตรียมพร้อมสำหรับการรณรงค์เก็บแต้มทำคะแนนเพื่อให้ตัวเองได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่งในวันที่ 14 มกราคมปีหน้า วาระดังกล่าวนี้ก็ยิ่งต้องเป็นโอกาสสำหรับการแสดงออกซึ่งความหนักแน่นมั่นคง

ย้อนหลังกลับไปเมื่อประมาณ 100 ปีก่อน น.พ.ซุนยัตเซ็น (Dr Sun Yat-sen) ผู้นำนักชาตินิยมชาวจีน เป็นผู้ที่มีอิทธิพลสำคัญยิ่งในการก่อการปฏิวัติซินไฮ่ (Xinhai revolution ซินไฮ่เป็นชื่อปีของ ค.ศ. 1911 ในระบบการนับปีแบบดั้งเดิมของจีน) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม 1911 และภายในเวลา 2 ปีก็ได้โค่นล้มจักรพรรดิองค์สุดท้าย พร้อมกับยุติประวัติศาสตร์หลายพันปีที่แดนมังกรปกครองโดยราชวงศ์ต่างๆ หลังจากเหตุการณ์นี้แล้ว วันที่ 10 ตุลาคม ก็กลายเป็นที่รู้จักเรียกขานกันว่า “วันคู่ 10”

น.พ.ซุน ประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐจีนขึ้นในปี 1912 และนำพรรคก๊กมิ่นตั๋ง (Kuomintang หรือ KMT ซึ่งก็คือ พรรคชาตินิยม) ของเขาเข้าสู่อำนาจ ทว่าความปลาบปลื้มยินดีกับการสถาปนาสาธารณรัฐขึ้นมาได้สำเร็จนั้นไม่ได้มีความจีรังยืนยาวอะไรเลย อีก 4 ปีต่อมา สาธารณรัฐจีนก็ตกต่ำถลำลงสู่ “ยุคขุนศึก” เมื่อประดากลุ่มก๊กติดอาวุธในระดับภูมิภาค พากันทำศึกต่อสู้แย่งชิงอำนาจอิทธิพลกันเอง

ภายหลังที่พรรคก๊กมิ่นตั๋ง กับ พรรคคอมมิวนิสต์จีน (Chinese Communist Party หรือ CCP) ร่วมมือกันอยู่เป็นระยะเวลาสั้นๆ เพื่อต่อสู้ปราบปรามพวกขุนศึกและรวมประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (กำลังทหารของเจียง ไคเช็ค และฝ่ายอนุรักษนิยมในพรรคก๊กมิ่นตั๋ง ก็ได้ทำการกำจัดกวาดล้างพวกคอมมิวนิสต์อย่างนองเลือดในปี 1927 ) จากนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มต้นใช้การต่อสู้ทางการทหารมาต่อต้านการปกครองของพรรคก๊กมิ่นตั๋ง อีก 10 ปีต่อมา ญี่ปุ่นได้รุกรานจีน และพรรคคอมมิวนิสต์จีน กับ พรรคก๊กมิ่นตั๋ง ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อต่อสู้กับผู้รุกราน ไม่นานนักหลังจากโตเกียวยอมจำนนในปี 1945 สงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิต์กับพรรคก๊กมิ่นตั๋งก็ระเบิดขึ้น

ถึงปี 1949 กองทหารคอมมิวนิสต์ที่นำโดย เหมา เจ๋อตง ได้ชัยชนะเหนือกองทหารก๊กมิ่นตั๋งที่บังคับบัญชาโดย จอมพล เจียง ไคเช็ค (Chiang Kai-sek) ผู้อยู่ในอุปถัมภ์และต่อมาก็เป็นทายาทของ น.พ.ซุน เหมาได้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมของปีนั้น ขณะที่เจียงหลบหนีไปยังเกาะไต้หวัน และยังคงอ้างตนเองเป็นสาธารณรัฐจีนต่อไป

ในเวลาที่ เหมา เกือบจะทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนต้องย่อยยับลงในระหว่างทศวรรษ 1950 ถึง ทศวรรษ 1970 ด้วยแผนการอันใหญ่โตมโหฬารเพื่อสร้างประเทศให้ทันสมัย ทว่าประสบความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง เป็นต้นว่า แผนการที่เรียกว่า “การก้าวกระโดดใหญ่” (Great Leap Forward) และ การปฏิวัติทางวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ทางพรรคก๊กมิ่นตั๋งกลับประสบความสำเร็จในการแปรไต้หวันให้กลายเป็นผู้ทรงอำนาจทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค

การที่สาธารณรัฐจีนสามารถวิวัฒนาการเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยอันมีเสถียรภาพ โดยยึดมั่นอยู่กับหลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน ทำให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคำปราศรัยรำลึกครบรอบ 100 ปีการปฏิวัติซินไฮ่ของประธานาธิบดีหม่า ที่จะกล่าวยกย่องชมเชยอย่างโก้หรูว่า นี่คือเรื่องราวความสำเร็จเรื่องหนึ่งของเอเชียตะวันออก หม่ายังสามารถที่จะเสนอภาพของสาธารณรัฐจีน ในฐานะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าสังคมของคนจีนกับประชาธิปไตย ไม่ใช่สองสิ่งที่มิอาจรวมตัวอยู่ร่วมกันได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ก่อให้เกิดการถกเถียงมากขึ้นไปกว่านั้นอีก ได้แก่การที่หม่ายืนยันว่า ในระหว่าง “2 จีน” แล้ว โมเดลของสาธารณรัฐจีนต่างหากซึ่งในที่สุดแล้วแผ่นดินใหญ่ควรที่จะยอมรับนำไปประยุกต์ใช้ หาใช่ในทางตรงกันข้ามไม่

“ความใฝ่ฝันของ น.พ.ซุน ยัตเซ็น บิดาผู้ก่อตั้งของเรา ก็คือ การสถาปนาประชาชาติที่เสรีและเป็นประชาธิปไตย โดยที่มีการกระจายความมั่งคั่งอย่างยุติธรรม” หม่ากล่าวในคำปราศรัยครบรอบ 100 ปี

เขาเร่งรัดให้แผ่นดินใหญ่ “ก้าวเข้าสู่ทิศทางดังกล่าวนี้ด้วยความกล้าหาญ” แถมยังสำทับอีกว่า นี่เป็น “หนทางเดียวที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถลดช่องว่างที่มีอยู่ได้”

โรนัลด์ เอ เอดเวิร์ดส์ (Ronald A Edwards) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน แห่งมหาวิทยาลัย ต้านเจียง (Tamkang University) ในกรุงไทเป กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์เอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า การที่จะให้จีนนำเอาลักษณะอันโดดเด่นต่างๆ ของไต้หวันไปใช้ อย่างที่หม่าเรียกร้องนั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ “แผ่นดินใหญ่นั้นโดยสาระสำคัญแล้วมีทัศนะเพียงอย่างเดียวต่อสาธารณรัฐจีน นั่นคือมันไม่ดำรงอยู่อีกต่อไปแล้ว สาธารณรัฐจีนได้ตายจากไปพร้อมกับสงครามกลางเมืองที่ยุติลงในปี 1949 และไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีน (สาธารณรัฐประชาชนจีน)” เอดเวิร์ดส์ ชี้

เขาบอกว่า นี่คือทัศนะเพียงอย่างเดียวที่ปรากฏอยู่ทั่วไปบนแผ่นดินใหญ่ แม้กระทั่งในบรรดาพวกที่ไม่เห็นด้วยกับปักกิ่งในทางการเมือง ก็ยังมีความคิดเช่นนี้ ขณะที่ในไต้หวันนั้น สถานการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีความสลับซับซ้อนยุ่งเหยิงยิ่งกว่า

“ในไต้หวัน พวกที่คัดค้านการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับแผ่นดินใหญ่ เป็นตันว่า พรรคเดโมแครติก โพรเกรสซีฟ ปาร์ตี้ (Democratic Progressive Party หรือ DPP) จะไม่ชอบ หรือกระทั่งปฏิเสธ สาธารณรัฐจีน ด้วยซ้ำ และมองว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ จะมามีข้อยกเว้นก็เพิ่งจะในช่วงปีหลังๆ มานี้เอง” เอดเวิร์ดส์ บอก ทั้งนี้ ดีพีพี ซึ่งปัจจุบันมีฐานะเป็นฝ่ายค้าน มักมองสาธารณรัฐจีนโดยถือว่าคือการปกครองโดยพรรคก๊กมิ่นตั๋งเพียงพรรคเดียว และเพิ่งมาเกิดการเปลี่ยนแปลงก็เมื่อเวลาล่วงเลยจนถึงกลางทศวรรษ 1990 แล้ว

“อย่างไรก็ตาม ผู้คนในไต้หวันพวกที่สนับสนุนการมีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับแผ่นดินใหญ่ ซึ่งส่วนมากเป็นพวกก๊กมิ่นตั๋งนั้น กลับมีทัศนะต่อสาธารณรัฐจีนว่า คือสัญลักษณ์อันน่าภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของพรรคและในประวัติศาสตร์ของประเทศ”

เรื่องที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์อันเคอะเขินระหว่างสาธารณรัฐจีน กับ พรรคดีพีพี ที่เป็นพวกต่อต้านการรวมไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ ได้แก่การที่ ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ซึ่งเป็นประธานพรรค และเป็นคู่ท้าชิงคนสำคัญของหม่า ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีต้นปีหน้า ได้ตัดสินใจถอนตัวไม่เข้าร่วมการเฉลิมฉลอง “วันคู่ 10” มีรายงานว่าไช่เกิดความกังวลจากการที่ปรากฏข่าวลือว่า ในพิธีดังกล่าวเธอคงจะต้องร้องเพลงชาติสาธารณรัฐจีน และเคารพธงชาติสาธารณรัฐจีนด้วย

“การเฉลิมฉลองคราวนี้ ตลอดจนจังหวะเวลาทางประวัติศาสตร์ ถือว่าทำให้หม่า อิงจิ่ว ได้เวทีอันสำคัญที่จะได้แสดงตัวโดดเด่น ถึงแม้ยังเป็นเรื่องลำบากที่จะบอกว่าเขาทำคะแนนได้แค่ไหน แต่แน่นอนว่ามันจะช่วยเพิ่มโอกาสของเขาในการได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่ง” เอดเวิร์ดส์ แสดงความเห็น

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่งดูจะมีทัศนะมุมมองต่อความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐจีนกับประชาชนชาวไต้หวัน ในลักษณะที่ตรงไปตรงมามากกว่าเอดเวิร์ดส์ ทั้งนี้ ฌอง ปิแอร์ คาเบสตัน (Jean Pierre Cabestan) ศาสตราจารย์ และหัวหน้าภาควิชารัฐกิจและการระหว่างประเทศศึกษา (Department of Government and International Studies) มหาวิทยาลัยฮ่องกง แบ็ปทิสต์ (Hong Kong Baptist University) ชี้ว่า สำหรับชาวไต้หวันแล้ว สาธารณรัฐจีนก็คือไต้หวัน

“สาธารณรัฐจีนเป็นจีนในทางวัฒนธรรมแต่เป็นไต้หวันในทางการเมือง หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น ก็ต้องพูดว่าเป็นสาธารณรัฐที่ถูกแปรเปลี่ยนจนกลายเป็นไต้หวันไปแล้ว” เขากล่าว และเสริมว่าทุกๆ คนบนเกาะไต้หวันต่างตระหนักดีว่า สาธารณรัฐจีนนั้นมีอยู่ด้วยกันถึง 3 สาธารณรัฐจีน ได้แก่ สาธารณรัฐจีนที่ก่อตั้งขึ้นโดย น.พ.ซุนยัตเซ็น, สาธารณรัฐจีนในช่วงการปกครองแบบเผด็จการของก๊กมิ่นตั๋ง, และต่อมาคือสาธารณรัฐจีนที่กลายมาเป็นประชาธิปไตย

เมื่อถูกถามว่า สาธารณรัฐจีน สามารถที่จะเป็นโมเดลแบบอย่างให้แก่จีนทั้งหมดหรือไม่ เหมือนอย่างที่หม่าพูดไว้ในคำปราศรัยวาระครบรอบ 100 ปีการปฏิวัติซินไฮ่ คาเบสตันแสดงท่าทีปฏิเสธน้อยกว่าเอดเวิร์ดส์ เขาบอกว่า “ในหมู่ปัญญาชนและนักปฏิรูป (ของสาธารณรัฐประชาชนจีน) ไต้หวัน และในฐานะที่ไต้หวันนั้นเป็นผลลัพธ์สืบเนื่องของสาธารณรัฐจีน (ทำให้สามารถสาวย้อนอ้างอิงไปถึง) แนวความคิดต่างๆ ของซุนยัตเซ็น และโมเดลทางการเมืองที่อยู่ในลักษณะกึ่งตะวันตก (ของไต้หวัน) ทำให้ไต้หวันกลายเป็นจุดสำคัญในการอ้างอิง โดยที่สามารถเข้าไปศึกษาเก็บรับบทเรียนประสบการณ์อันมีประโยชน์ และก็เป็นแบบอย่างที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ คนจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนมากทีเดียวได้รับกำลังใจจากกระบวนการก้าวไปสู่ประชาธิปไตยอย่างประสบความสำเร็จของไต้หวัน” คาเบสตันแสดงทัศนะ

เขากล่าวด้วยว่า โอกาสแห่งการได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งของหม่า น่าที่จะเพิ่มทวีขึ้นจากคำปราศรัยของเขาในงาน 100 ปี เนื่องจากเขาปฏิเสธไม่ยอมอ่อนข้อให้ปักกิ่งที่ได้เรียกร้องขอให้มีการจัดงานรำลึกเหตุการณ์นี้ร่วมกัน

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ปักกิ่งซึ่งก็ยังคงยกย่องให้เกียรติซุนยัตเซ็น และจัดพิธีรำลึกถึงการปฏิวัติซินไฮ่เรื่อยมา ได้เสนอแนะว่าฝ่ายแผ่นดินใหญ่และฝ่ายไต้หวันควรจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 1 ศตวรรษในปีนี้ด้วยกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฝ่ายจีนเรียกร้องว่าจะต้องไม่มีการใช้คำว่า “สาธารณรัฐจีน” พรรคก๊กมิ่นตั๋งของหม่าจึงปฏิเสธไม่รับความคิดนี้ และนั่นก็กลายเป็นการตอกย้ำสร้างความประทับใจให้แก่ประชาชนไต้หวันว่า พรรคก๊กมิ่นตั๋งไม่ได้กำลังนำพาเกาะแห่งนี้ไปสู่การรวมประเทศอย่างรีบร้อนเหมือนดังที่พรรคดีพีพีกล่าวอ้างโจมตี

สามารถที่จะกล่าวได้ว่า ทุนทางการเมืองส่วนใหญ่ของพรรคดีพีพี ได้มาจากการกล่าวหาก๊กมิ่นตั๋งของหม่า ว่า “กำลังขาย” ไต้หวันให้แก่จีน อย่างไรก็ตาม การที่หม่าเริ่มเดินเกมทางการเมืองได้อย่างถูกจังหวะ กำลังทำให้ชาวไต้หวันแน่ใจมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเขาไม่ได้เป็นอย่างที่ดีพีพีกล่าวหา เรื่องนี้แสดงให้เห็นจากผลโพลล์หลายสำนักที่จัดทำกันในระยะหลังๆ นี้

ในคำถามที่ถามว่า “ถ้าหากหม่าได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่ง ไต้หวันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน เร็วขึ้นหรือช้าลง” ปรากฏว่า 60% ของผู้ตอบระบุไปทางข้างช้าลง นอกจากนั้นในคำถามที่ว่า “เมื่อเผชิญกับภัยคุกคามจากจีน คุณคิดว่าใครจะสามารถปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของไต้หวันได้ดีที่สุด” หม่าก็ได้คะแนนเหนือกว่าไช่เกือบๆ 3%

การที่หม่าปรากฏตัวออกตรวจพลสวนสนาม ยังน่าที่จะเพิ่มคะแนนนำให้แก่เขาในจุดนี้ ถึงแม้ในทางเป็นจริงแล้ว นอกเหนือจากการตะเบ็งเสียงเปล่งคำขวัญที่ว่า “สาธารณรัฐจีนจักพิทักษ์รักษาความปลอดภัยของไต้หวัน” แล้ว น้ำเสียงในการกล่าวปราศรัยของเขาก็อยู่ในอาการอ่อนโยนนุ่มๆ

ไช่ เจียฮุง (Tsai Chia-hung) ศาสตราจารย์แห่งศูนย์ศึกษาการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ (National Chengchi University) ของไต้หวัน ให้ความเห็นว่า ขณะที่ประชาชนไต้หวันยังมีความระแวงสงสัยความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของหม่าในการธำรงรักษาความมั่นคงแห่งชาติ แต่พวกเขาก็เห็นพ้องกันว่าหม่าสามารถที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไต้หวัน โดยที่การตรวจพลสวนสนามของทหารไม่น่าที่จะทำให้เกิดความแตกต่างอะไรนักหนา

เขาเสริมด้วยว่า ไช่ อิงเหวิน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคดีพีพี ถูกมองว่าอ่อนแอในเรื่องความมั่นคง และเรื่องนี้น่าจะกลายเป็นข้อได้เปรียบสำคัญของหม่า

“ไช่ อิงเหวิน จนถึงเวลานี้ดูเหมือนยังไม่ได้อวดให้เห็นกันเลยว่า พิมพ์เขียวหรือวิสัยทัศน์เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติของเธอมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ผมไม่คิดว่าประชาชนเข้าอกเข้าใจความคิดของเธอในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำไมประชาชนถึงให้ความไว้วางใจหม่ามากกว่าไช่ ในแง่นี้”

เยนส์ คาสต์เนอร์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในไทเป
‘วิญญาณตายซาก’ในระบบราชการของจีน
เรื่องราวของข้าราชการจีนผู้หนึ่งซึ่งยังคงได้รับเงินเดือนอยู่ทุกเดือน ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปทำงานเลยแม้แต่วันเดียวตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวเน็ตบางคนแสดงความชื่นชมสรรเสริญความสามารถพิเศษสุดของจอมขี้เกียจสันหลังยาวผู้นี้ ทว่าสำหรับผู้คนส่วนใหญ่แล้วกลับมีแต่ความกริ้วโกรธ พร้อมกับเรียกร้องให้ระบบราชการต้องมีความโปร่งใสตรวจสอบได้มากยิ่งขึ้น สภาพการณ์เช่นนี้เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างชัดเจนว่า ความอดกลั้นยินยอมปล่อยให้มี“วิญญาณตายซาก” แอบแฝงอยู่ในบัญชีผู้รับเงินเดือนข้าราชการนั้น เป็นอดีตที่ผ่านเลยไปอย่างไม่อาจหวนกลับเสียแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น