xs
xsm
sm
md
lg

‘วิญญาณตายซาก’ในระบบราชการของจีน

เผยแพร่:   โดย: อู่ จง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The return of ‘dead souls’
By Wu Zhong
16/02/2011

เรื่องราวของข้าราชการจีนผู้หนึ่งซึ่งยังคงได้รับเงินเดือนอยู่ทุกเดือน ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปทำงานเลยแม้แต่วันเดียวตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวเน็ตบางคนแสดงความชื่นชมสรรเสริญความสามารถพิเศษสุดของจอมขี้เกียจสันหลังยาวผู้นี้ ทว่าสำหรับผู้คนส่วนใหญ่แล้วกลับมีแต่ความกริ้วโกรธ พร้อมกับเรียกร้องให้ระบบราชการต้องมีความโปร่งใสตรวจสอบได้มากยิ่งขึ้น สภาพการณ์เช่นนี้เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างชัดเจนว่า ความอดกลั้นยินยอมปล่อยให้มี“วิญญาณตายซาก” แอบแฝงอยู่ในบัญชีผู้รับเงินเดือนข้าราชการนั้น เป็นอดีตที่ผ่านเลยไปอย่างไม่อาจหวนกลับเสียแล้ว

ฮ่องกง เมื่อเร็วๆ นี้มีข้าราชการพลเรือนคนหนึ่งในมณฑลฝู่เจี้ยน ถูกเปิดโปงว่าเขาได้รับเงินเดือนเป็นประจำทุกเดือนเป็นเวลา 9 ปี โดยที่ไม่เคยไปทำงานเลยแม้แต่วันเดียว เรื่องนี้ทำให้คนจีนจำนวนมากย้อนนึกไปถึงปรากฏการณ์อันน่าชิงชังในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 นั่นคือสิ่งที่เรียกกันว่า “วิญญาณตายซาก” (dead souls) ในระบบราชการ

คำว่า “Dead Soul” เริ่มแรกทีเดียวเป็นชื่อนวนิยายเรื่องเยี่ยมของ นิโคไล โกกอล (Nikolai Gogol ชาตะปี1809 มรณะปี1852) นักเขียนชาวรัสเซียในยุคศตวรรษที่ 19 นวนิยายเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1842 ขณะที่คำว่า Dead Soul มีที่มาจากการที่ในจักรวรรดิรัสเซียก่อนการประกาศยกเลิกระบบไพร่ติดที่ดินในปี 1861 นั้น ไพร่ (serf) ถือเป็นทรัพย์สมบัติของเจ้าที่ดิน ซึ่งสามารถนำไปซื้อขาย ตลอดจนจำนำได้ ในสมัยนั้นมีการใช้คำว่า “วิญญาณ” (soul) เพื่อการนับจำนวนไพร่ เป็นต้นว่า วิญญาณไพร่ 8 คน (eight souls of serfs) ท้องเรื่องของนวนิยายของโกกอลดังกล่าว พูดถึง “วิญญาณตายซาก” (dead souls) ซึ่งก็คือไพร่ที่ตายแล้ว แต่ยังคงถูกนับเป็นทรัพย์สินตามที่จดทะเบียนเอาไว้

นวนิยายเรื่องนี้ถูกแปลเป็นภาษาจีนครั้งแรกในปี 1935 โดย หลู่ ซวิ้น (Lu Xun 1881-1936) จากเวอร์ชั่นภาษาเยอรมัน หลู่ ซวิ้นเป็นนักเขียนทรงอิทธิพลที่ผู้คนจำนวนมากถือว่าเขาเป็นผู้วางรากฐานของวรรณกรรมจีนสมัยใหม่ ผู้อ่านชาวจีนโดยทั่วไปในเวลานั้นสามารถอมยิ้มอย่างเข้าอกเข้าใจ ถึงแม้นวนิยายเล่มนี้พูดถึงเหตุการณ์ในรัสเซียเมื่อราว 100 ปีก่อน เนื่องจากสามารถเปรียบเทียบกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในประเทศจีนตอนนั้น จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่าเป็นงานเขียนที่เสียดสีเยาะหยันได้อย่างคมคายยิ่ง

ภายหลังผ่านการทำศึกสงครามมาหลายปี เมื่อถึงช่วงปลายทศวรรษ 1920 ต่อกับต้นทศวรรษ 1930 เจียงไคเช็กแห่งพรรคก๊กมิ่นตั๋ง (พรรคชาตินิยม) ก็สามารถยังความพ่ายแพ้ให้แก่พวกขุนศึกแบ่งแยกดินแดนได้ในที่สุด และทำให้ทั่วทั้งประเทศจีนอยู่ภายใต้อำนาจรวมศูนย์ที่ส่วนกลางของเขา --ถึงแม้สำหรับพื้นที่จำนวนไม่น้อยแล้ว ยังอยู่ใต้อำนาจของเขาแต่เพียงในนามมากกว่าในทางเป็นจริงก็ตามที

ผลอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือ เพื่อหาประโยชน์ดอกผลให้ตัวเอง รัฐบาลท้องถิ่นและผู้นำทางทหารจำนวนมาก ในเวลาร้องขอเงินทุนของบประมาณจากศูนย์กลางอำนาจ พวกเขาจะหาทางขยายขนาดของหน่วยงานรับผิดชอบของเขาให้ใหญ่โตเกินความเป็นจริง ด้วยวิธีนำข้าราชการพลเรือนหรือทหารซึ่งเสียชีวิตแล้ว หรือกระทั่งไม่เคยมีตัวตนเลย เข้ามาใส่ในบัญชีผู้รับเงินเดือนของพวกเขา สภาพการณ์เช่นนี้ดำเนินไปอย่างเลวร้ายมาก จนกระทั่งมีบางคนมองว่า การที่เหมา เจ๋อตง สามารถนำกองทัพแดงของเขา ฟันฝ่า“เดินทัพทางไกล” (Long March ช่วงปี 1934-1935) และในเวลาต่อมาก็สามารถทำสงครามเอาชนะฝ่ายก๊กมิ่นตั๋งได้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกองทหารก๊กมิ่นตั๋งตามท้องที่ต่างๆ ที่กองทัพของเหมาเคลื่อนผ่าน ล้วนแต่มี “วิญญาณตายซาก” เป็นจำนวนมากมาย จึงไม่สามารถสกัดกั้นการรุกของกองทัพของเหมา

ภายหลังที่เหมาสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นในปี 1949 การปกครองของเขาในช่วงหลายๆ ปีถัดจากนั้นดูเหมือนกับจะทำให้ปรากฏการณ์ “วิญญาณตายซาก” หมดสิ้นหายสูญไป ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า ในด้านหนึ่ง ภายใต้เศรษฐกิจสังคมนิยมที่สั่งการจากเบื้องบน ทุกๆ คนยกเว้น “ศัตรูทางชนชั้น” ต่างได้รับมอบหมายให้ทำงานในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง และต่างก็ได้รับอาหารการกินและที่อยู่อาศัยจากรัฐบาลกันทั้งสิ้น จนกระทั่งไม่มีเหตุผลใดๆ ให้ผู้คนมาคร่ำครวญร้องทุกข์ในเรื่องชะตากรรมของพวกเขา ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่ง ก็ไม่มีใครคิด หรือไม่มีใครกล้า ที่จะทำการติดตามตรวจสอบ หรือวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของรัฐบาล

ทว่าในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ ได้เกิดมี “วิญญาณตายซาก” สายพันธุ์ใหม่ๆ กลับเข้ามาในหน่วยงานรัฐบาลอีก โดยอยู่ในรูปของคนที่มีชื่อปรากฏในบัญชีรับเงินเดือนจากรัฐบาล แต่ไม่เคยหรือแทบไม่เคยปรากฏตัวออกมาทำงานเลย ยิ่งเมื่อการหางานทำกลายเป็นรื่องยากลำบากมากในช่วงปีหลังๆ มานี้ ตำแหน่งงานข้าราชการจึงถูกมองว่าเป็นเสมือน “ชามข้าวทองคำ” และได้รับความสนใจแม้กระทั่งจากพวกที่มีปริญญาบัตรจบจากมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ดี ไม่เหมือนกับในอดีตกาลอันไกลโพ้น ในปัจจุบันสาธารณชนไม่ยอมสงบปากสงบคำต่อปรากฏการณ์ชนิดนี้แล้ว

ภายหลังดำเนินการปฏิรูปและเปิดประตูทางเศรษฐกิจในสไตล์ทุนนิยมมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ความอยู่รอดและการดำเนินงานของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของจีน ก็กำลังต้องพึ่งพาอาศัยเงินภาษีอากรจากผู้เสียภาษีมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากไม่ใช่ในทางปฏิบัติ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นไปในทางทฤษฎี ในสภาพดังกล่าว สาธารณชนก็กำลังเข้ามาติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

ด้วยภูมิหลังดังที่กล่าวมานี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างไร ที่สาธารณชนแสดงความโกรธกริ้วต่อกรณีของข้าราชการชั้นผู้น้อยที่มีชื่อว่า เจียง จิงเซียง (Jiang Jingxiang) แห่งเมืองหลงเอี้ยน (Longyan) มลฑลฝู่เจี้ยน ถึงแม้มีชาวเน็ตจำนวนหนึ่ง แสดงความชื่นชมและตั้งสมญาให้เขาว่า เป็น “ข้าราชการพลเรือนที่เจ๋งที่สุด” ของจีน

ทว่าสำหรับสาธารณชนแล้ว มันยังมีเหตุผลเป็นพิเศษอีกประการหนึ่งที่ช่วยโหมกระพือรู้สึกเดือดดาลต่อกรณีของเจียง กล่าวคือ มันเป็นกรณีฉาวโฉ่ที่ถูกเปิดโปงออกมาเพียงไม่กี่ปีหลังจากรัฐบาลดำเนินการรณรงค์ทั่วประเทศในปี 2005 เพื่อตรวจสอบและกำจัด “วิญญาณตายซาก” ในหน่วยงานข้าราชการพลเรือนทั้งหลาย

จากการรณรงค์คราวนั้นได้ค้นพบ “วิญญาณตายซาก” จำนวน 263 คน ในอำเภอซีหนาน (Sinan) ที่มีฐานะยากจนมาก ของมณฑลกุ้ยโจว “วิญญาณ” เหล่านี้ดูดเอาเงินกว่า 4 ล้านหยวน (ราว 20 ล้านบาท) จากรายรับทางการคลังของรัฐบาลท้องถิ่นที่ได้มา 98 ล้านหยวนต่อปี นอกจากนั้น ในท้องที่อื่นๆ ก็มีทั้งอดีตข้าราชการที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่น ตลอดจนข้าราชการที่เสียชีวิตไปแล้ว ยังคงถูกใส่ชื่อเอาไว้ในบัญชีเงินเดือนข้าราชการ

การรรณรงค์ดังกล่าวได้สิ้นสุดลงเมื่อดำเนินการไปได้ 2 ปี และก่อนหน้าปี 2007 ก็มีท้องที่จำนวนมากรายงานว่า “ประสบความสำเร็จ” ตัวอย่างเช่น มณฑลซานตง และมณฑลหูเป่ย แถลงว่าพวกเขาได้กำจัด “วิญญาณตายซาก” ไปเป็นจำนวนกว่า 10,000 คน และ 7,000 คนตามลำดับ

แต่เมื่อมีการเปิดโปงกรณีของเจียงขึ้นมา สาธารณชนย่อมมีเหตุผลอันสมควร ที่จะแสดงความสงสัยแคลงใจต่อความสำเร็จของการรณรงค์คราวนั้น และสื่อมวลชนตลอดจนชาวเน็ตจีน ต่างรู้สึกว่ามีข้อผูกพันที่จะต้องใช้ความพยายามในการเปิดโปงกรณีอื้อฉาวให้มากขึ้นอีก การเลือกที่รักมักที่ชัง และการเล่นพรรคเล่นพวก ในแวดวงราชการ ที่เกิดขึ้นมาอย่างกว้างขวางและโจ๋งครึ่ม คือสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิด “วิญญาณตายซาก” หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พวกเจ้าหน้าที่และผู้นำในระดับท้องถิ่น ใช้อำนาจหน้าที่ของพวกตนไปในทางมิชอบ มุ่งปล้นชิงเงินงบประมาณและเงินทุนสาธารณะอื่นๆ แต่เอื้อประโยชน์เฉพาะแก่ครอบครัว, ญาติพี่น้อง, หรือเพื่อนฝูงพวกพ้องของพวกเขาเท่านั้น

ในแง่นี้ เฉิน เหวินจู (Chen Wenzhu) ผู้อำนวยการสำนักงานยาสูบแห่งเมืองซานเว่ย (Shanwei) มณฑลซานตง คือตัวอย่างที่เป็นแบบฉบับ เขาว่าจ้างสมาชิกครอบครัวและญาติมิตรเข้าไปทำงานในสำนักงานที่เขารับผิดชอบถึง 22 คน (ในจำนวนนี้ที่เป็น “วิญญาณตายซาก” มีกี่คน คงจะต้องคาดเดากันเอาเอง) ตัวเฉินเองก็ทำตัวเป็น “วิญญาณตายซาก” อีกประเภทหนึ่ง เขาใช้ชื่อปลอมและอัตลักษณ์ปลอมเพื่อให้ได้สิทธิในการพำนักอาศัยที่เมืองเซินเจิ้น เมืองใกล้ชายแดนติดฮ่องกงที่กำลังเจริญรุ่งเรืองมาก) เขาใช้เอกสารประจำตัวของเขาทั้ง 2 เล่ม ในการเดินทางไปยังฮ่องกงรวมแล้วหลายสิบเที่ยวในนระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา และเวลานี้ทางเจ้าหน้าที่รับผิดชอบกำลังสอบสวนว่า เขาไปทำออะไรบ้างเมื่ออยู่ทางนั้น

บทความบทวิจารณ์จำนวนมากที่ปรากฏเผยแพร่ตามสื่อจีนในเวลานี้ กำลังเรียกร้องให้ระบบข้าราชการพลเรือนเพิ่มความโปร่งใสให้มากขึ้น พร้อมกับชี้ว่าการเพิ่มความโปร่งใสนี่แหละคือหนทางแก้ไขปัญหาขั้นพื้นฐาน เพื่อยุติการปฏิบัติอย่างมิชอบของ “วิญญาณตายซาก” ทั้งหลาย

ในระบบเศรษฐกิจแบบเปิดกว้างอย่างเช่นของฮ่องกง ทุกตำแหน่งในระบบข้าราชการพลเรือน ถือเป็นข่าวสารข้อมูลสาธารณะ และดังนั้นจึงตกอยู่ใต้การติดตามตรวจสอบของสาธารณชนไปด้วย ในระบบที่มีความโปร่งใสถึงระดับดังกล่าว ก็ยากที่จะจินตนาการออกมาได้ว่า “วิญญาณตายซาก” ทั้งหลายจะอยู่กันได้อย่างไร ทว่านี่ย่อมหมายความด้วยว่า อำนาจทั้งของรัฐบาลและของเจ้าหน้าที่รัฐบาลจะต้องถูกจำกัด จีนพรักพร้อมแล้วหรือไม่ในเรื่องนี้ ดูเหมือนจะยังไม่พร้อม อย่างน้อยที่สุดก็ยังไม่พร้อมในอนาคตใกล้ๆ นี้

อู่จง เป็นบรรณาธิการด้านจีนของเอเชียไทมส์ออนไลน์
รูปปั้น‘ขงจื๊อ’ตั้งโดดเด่นอยู่ที่‘เทียนอันเหมิน’
ทางการผู้รับผิดชอบของจีนได้ตั้งรูปปั้นของขงจื๊อในบริเวณมหาจัตุรัสเทียนอันเหมินของกรุงปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในจุดที่ไม่ห่างนักจากภาพแหมือนของเหมาเจ๋อตง อดีตผู้นำสูงสุดของแดนมังกร ความเคลื่อนไหวที่ให้นักปรัชญาจีนโบราณผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ได้โอกาสปรากฏโฉมแก่สาธารณชนถึงขนาดนี้ จัดว่าสอดคล้องกับการตัดสินใจของปักกิ่งที่จะลดทอนอิทธิพลบารมีของลัทธิเหมาอิสต์ในพื้นที่ซึ่งถือเป็นหัวใจในทางการเมืองของประเทศจีน แต่ก็แน่นอนว่าพวกเหมาอิสต์ต้องพากันออกมาต่อต้านด้วยความโกรธกริ้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น