xs
xsm
sm
md
lg

‘คอร์รัปชั่น’ยังดุเดือดและสร้างความแตกร้าวในสังคม‘จีน’

เผยแพร่:   โดย: อู่ จง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Corruption is still wild and divisive
By Wu Zhong
05/06/2012

ความโกรธกริ้วในเรื่องภาวะเงินเฟ้อ และในเรื่องการคอร์รัปชั่นในแวดวงเจ้าหน้าที่พรรคและข้าราชการภาครัฐ คือสาเหตุพื้นฐานของการประท้วงใหญ่ในกรุงปักกิ่งเมื่อ 23 ปีก่อน เรื่องนี้ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนสรุปบทเรียนออกมาว่า ราคาข้าวของ (เสือร้ายที่จะต้องจับเอามาใส่ไว้ในกรง) และการทุจริต คือ 2 ศัตรูอันตรายร้ายแรงที่สุดของตน ในปัจจุบันแดนมังกรสามารถแก้ไขคลี่คลายระดับราคาที่ไต่ขึ้นสูงได้อย่างอยู่หมัด ทว่าการหาช่องทางเบียดบังทำเงินทำกำไรในแวดวงเจ้าหน้าที่ข้าราชการ ยังคงมีอยู่อย่างแพร่หลาย และจากความไม่พอใจที่มีต่อบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชิ้นหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ก็แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้จะยังคงเป็นพื้นที่ซึ่งจะต้องมีการต่อสู้กันไปอีกยาวไกล

ฮ่องกง – การชุมนุมเดินขบวนตามท้องถนนในกรุงปักกิ่งซึ่งนำโดยพวกนักศึกษาเมื่อฤดูใบไม้ผลิปี 1989 อันมีสัญลักษณ์สำคัญอยู่ที่การเข้าไปยึดครองพื้นที่มหาจัตุรัสเทียนอันเหมิน แล้วตามมาด้วยการถูกทหารเข้าปราบปรามอย่างนองเลือดในวันที่ 4 มิถุนายน มักได้รับการอ้างอิงกล่าวถึงโดยทั่วไปว่าเป็น “ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย” อย่างไรก็ตาม ต้นตอสาเหตุขั้นพื้นฐานของมันก็คือการที่สาธารณชนบังเกิดความโกรธกริ้วต่ออัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงลิบลิ่ว และต่อสิ่งที่ในเวลานี้เรียกกันว่าเป็น “หน่ออ่อน” ของการทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงเจ้าหน้าที่พรรคและข้าราชการภาครัฐ

ความรู้สึกเดือดดาลของประชาชนดังกล่าวเป็นเรื่องที่สามารถทำความเข้าใจได้อย่างไม่ยากเย็น ในตอนนั้นเป็นช่วงปลายทศวรรษ 1980 วันเวลายังเคลื่อนผันผ่านไปไม่นานปีเลย หลังจากที่เติ้ง เสี่ยวผิง เริ่มต้นการปฏิรูปในสไตล์ทุนนิยม และเปิดกว้างระบบเศรษฐกิจให้แก่ภาคเอกชน มันเป็นช่วงเวลาที่ประชากรวัยผู้ใหญ่แทบทั้งหมดของประเทศ ยังคงมองเรื่อง “เงินเฟ้อ” และ “การทุจริตคอร์รัปชั่น” ว่าเป็นสิ่งแปลกประหลาดพิลึกพิลั่น เพราะเพียงไม่นานก่อนหน้านั้น พวกเขาพำนักอาศัยอยู่ในสังคมภายใต้การปกครองของเหมา เจ๋อตง ที่โดยพื้นฐานแล้วปลอดจากภาวะเงินเฟ้อและการคอร์รัปชั่น

แต่ในช่วงปี 1988 – 89 ตัวเลของทางการระบุว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 35% และบางทีข้อมูลดังกล่าวนี้อาจจะยังมิได้ครอบคลุมบอกกล่าวเรื่องราวที่เป็นจริงทั้งหมดก็เป็นได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตามที ประชาชนต่างบังเกิดความตื่นตระหนก ในเมื่อมองเห็นเงินเก็บเงินออมของพวกตนมีมูลค่าหดเล็กลงไปทุกวันๆ พวกที่เฒ่าชราอายุมากหน่อย ต่างหวนระลึกถึงยุคแห่ง “เงินเฟ้อใหญ่” ในปี 1948-49 เมื่อมูลค่าของเงินในกระเป๋าของพวกเขาลดหายไปทุกขณะ และนั่นก็เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยเหลือให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถขับไล่พรรคก๊กมิ่นตั๋งที่ตอนนั้นเป็นผู้ปกครองประเทศ ให้ถอยหนีออกไปจากแผ่นดินใหญ่ ต้องกระเซอะกระเซิงไปอยู่บนเกาะไต้หวัน ความหวาดผวาของประชาชนจำนวนมากกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการไล่ล่าซื้อสินค้าอย่างตื่นตระหนกตลอดทั่วทั้งประเทศในปี 1988 ผู้คนต่างพากันหลั่งไหลทะลักเข้าไปในร้านค้าต่างๆ และซื้อหาทุกๆ อย่างที่ขวางหน้า โดยไม่ต้องมีการขบคิดพิจารณากันเลยว่า จริงๆ แล้วพวกเขาต้องการสิ่งที่พวกเขากำลังซื้อหรือเปล่า

สิ่งที่ทำให้โทสะของพวกเขายิ่งเพิ่มพูนขึ้นอีก ได้แก่การที่มีคนบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกลูกหลานของเจ้าหน้าที่พรรคและข้าราชการภาครัฐระดับอาวุโส กำลังแสวงหาผลกำไรจากภาวะขาดแคลนสินค้าข้าวของต่างๆ คนเหล่านี้ใช้อิทธิพลและเส้นสายของบิดามารดาของพวกเขา เข้าซื้อหากักตุนบรรดาสินค้าผู้บริโภคซึ่งมีดีมานด์สูงและมีซัปพลายน้อย เป็นต้นว่า เครื่องรับโทรทัศน์สี และตู้เย็น แล้วเอาออกขายต่อโดยเรียกส่วนต่างอย่างงามๆ ประชาชนต่างพากันกล่าวหาคนเหล่านี้ว่าเป็นพวกที่ผลักดันเงินเฟ้อให้ยิ่งทะยานลิ่ว และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองคนสามัญต้องทุกข์ยากลำบากขึ้นอีก กิจกรรมดังกล่าวนี้ถูกเรียกว่าเป็น “การเก็งกำไรในแวดวงเจ้าหน้าที่ข้าราชการ” (official profiteering) และนี่ก็กลายเป็นหลักหมายสำคัญครั้งแรกซึ่งแสดงให้เห็นว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงเจ้าหน้าที่พรรคและข้าราชการภาครัฐกลายเป็นที่รับรู้รับทราบกันอย่างกว้างขวาง

ในวันที่ 15 เมษายน 1989 หู เย่าปัง อดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนผู้มีหัวเสรีนิยม ซึ่งได้ถูก เติ้ง ปลดออกจากตำแหน่งเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านั้น สืบเนื่องจากการที่เขาอดทนอดกลั้นต่อ “ความคิดเสรีแบบชนชั้นนายทุน” (bourgeois liberalization) หรือก็คือแนวความคิดแบบตะวันตกนั่นเอง ได้ถึงแก่มรณกรรมอย่างปัจจุบันทันด่วน เรื่องนี้กลายเป็นชนวนทำให้สาธารณชนแสดงความขุ่นเคืองเดือดดาลของพวกตนออกมา ในตอนแรก มีนักศึกษาบางคนเดินทางไปแสดงความอาลัยรัก หู ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในลักษณะเป็นไปเองมิได้มีการจัดตั้ง จากนั้นพวกเขาก็ออกมาเดินขบวนตามท้องถนนพร้อมกับข้อเรียกร้องให้ได้รับเสรีภาพมากยิ่งกว่านี้ และให้กำจัดกวาดล้าง “การเก็งกำไรในแวดวงเจ้าหน้าที่ข้าราชการ” ไม่นานนักก็มีประชาชนเข้าร่วมสมทบกับพวกเขา ประชาชนเหล่านี้มาจากแวดวงต่างๆ หลายหลาก รวมทั้งพวกเจ้าหน้าที่ของพรรคและข้าราชการของหน่วยงานภาครัฐ ถ้าหากสาธารณชนไม่ได้กำลังมีความโกรธกริ้วกับภาวะเงินเฟ้อและการคอร์รัปชั่นแล้ว การประท้วงคราวนั้นที่พวกนักศึกษาเป็นผู้เริ่มต้นขึ้นมา ก็ยากที่จะได้รับความสนับสนุนจากประชาชนมากมายถึงขนาดนี้

ถึงแม้พรรคคอมมิวนิสต์จีนประสบความสำเร็จในการปราบปรามทำลายการประท้วง ด้วยการใช้กำลังทหารเข้าสยบเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน แต่พรรคก็ได้เรียนรู้บทเรียนอันขมขื่นบทหนึ่งด้วยเช่นกัน ถ้าหากจะใช้คำพูดของ เวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนคนปัจจุบัน บทเรียนดังกล่าวก็คือ ภาวะเงินเฟ้อนั้นเหมือนเสือที่จะต้องกักขังเก็บเอาไว้ภายในกรง ถ้าหากปล่อยให้มันออกมา มันก็จะเที่ยวไล่กัดประชาชน และภาวะเงินเฟ้อเมื่อผสมโรงเข้ากับการทุจริตคอร์รัปชั่น ก็สามารถเป็นสาเหตุทำให้รัฐบาลล่มสลายได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนมองภาวะเงินเฟ้อ และการคอร์รัปชั่นว่า เป็น 2 ศัตรูที่อาจเป็นอันตรายทำให้ตนถึงตายได้

ไม่ว่าจะเนื่องมาจากอะไรก็ตามที นับตั้งแต่การปราบปรามอย่างนองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในวันที่ 4 มิถุนายนแล้ว ปักกิ่งก็คอยระมัดระวังต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้ออย่างจริงจังเรื่อยมา อีกทั้งเพิ่มพูนยกระดับความพยายามต่างๆ ในการต่อสู้ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงเจ้าหน้าที่ข้าราชการ

ปรากฏว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จเป็นอันดีทีเดียวในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อเอาไว้ตลอดระยะเวลาประมาณ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ในช่วงเดียวกันนั้นเอง จากการที่ประเทศชาติกำลังเดินหน้าไปในแบบเศรษฐกิจตลาดเสรีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนก็มีความคุ้นเคยขึ้นมากกับการที่ระดับราคาเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเสียอีกก็คือ จากการที่ทุกวันนี้พวกเขาต่างก็มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น ภาวะเงินเฟ้ออย่างอ่อนๆ จึงทำให้พวกเขารู้สึกกังวลใจน้อยลงกว่าเมื่อก่อน

แต่สำหรับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงเจ้าหน้าที่ข้าราชการในรอบกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมาของปักกิ่ง สามารถกล่าวได้ว่าเป็นความล้มเหลว เมื่อเปรียบเทียบกับการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกวันนี้ไม่ว่าประเภทไหนก็ตามที “การเก็งกำไรในแวดวงเจ้าหน้าที่ข้าราชการ” ก็ต้องมีสีซีดจางและอ่อนแสงกว่า จนกลายเป็นอะไรที่ไร้ความสำคัญไปเลย เวลานี้การคอร์รัปชั่นดูจะแพร่กระจายไปทั่วทุกหัวระแหงและทั่วทุกระดับเจ้าหน้าที่ข้าราชการ รวมทั้งภายในกรมการเมือง (politburo) แห่งคณะกรรมการกลางพรรค ซึ่งเป็นองค์กรระดับท็อป จำนวนเงินสกปรกที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตคอร์รัปชั่นแต่ละคดีในทุกวันนี้ยังมักจะสูงโด่งทะลุฟ้ากันทั้งสิ้น

การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนประสบความสำเร็จมากกว่าในการจัดการกับภาวะเงินเฟ้อจนอยู่หมัด บางทีอาจเนื่องจากเหตุผลที่ว่า นี่คือศัตรูที่มาจากภายนอก ซึ่งง่ายแก่การระบุแยกแยะและกำจัดทิ้งไปอย่างไร้ความปรานี ทว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงเจ้าหน้าที่ข้าราชการ คือศัตรูที่อยู่ภายในองคาพยพของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเอง และดังนั้นจึงยากลำบากกว่ากันมากที่จะดำเนินการแก้ไข ดังที่มีผู้คนจำนวนมากชี้เอาไว้แล้วว่า ถ้าหากไม่มีการปฏิรูปทางการเมืองด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้สาธารณชนสามารถเข้าไปกำกับตรวจสอบได้เพิ่มมากขึ้นแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนเองย่อมไม่สามารถที่จะได้ชัยชนะอย่างแท้จริงในสงครามต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงเจ้าหน้าที่ข้าราชการนี้

กระนั้นก็ตาม โกลบอลไทมส์ (Global Times) หนังสือพิมพ์ในเครือของ เหรินหมินรึเป้า ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่เป็นธงนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้แสดงความพากเพียรพยายามที่จะหาเหตุผลความชอบธรรมให้แก่ความล้มเหลวในการทำศึกต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นนี้ โดยในบทบรรณาธิการฉบับวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา โกลบอลไทมส์เขียนเอาไว้ดังนี้

“เห็นได้ชัดเจนว่าประเทศจีนกำลังอยู่ในฤดูกาลที่มีกรณีทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นสูงมาก เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆ ที่จะดำเนินการถอนรากถอนโคนการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นยังไม่ทันที่จะสุกงอม มีบางคนบอกว่าถ้าหากใช้ “ประชาธิปไตย” แล้ว ปัญหาของการทุจริตคอร์รัปชั่นก็จักสามารถแก้ไขได้อย่างง่ายดาย ทัศนะความคิดเห็นเช่นนี้ช่างไร้เดียงสานัก มี “ประเทศประชาธิปไตย” จำนวนมากในเอเชีย เป็นต้นว่า อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, และอินเดีย ซึ่งการทุจริตคอร์รัปชั่นมีความดุเดือดร้ายแรงกว่าในประเทศจีนมากมายนัก ...

ไม่มีประเทศใดเลยที่สามารถถอนรากถอนโคนการทุจริตคอร์รัปชั่นได้อย่างสิ้นเชิง จุดสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าจะต้องควบคุมมันให้อยู่ภายในขอบเขตที่สาธารณชนอดทนยินยอมได้

การแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่าจ้างสูงๆ ให้แก่พวกเจ้าหน้าที่ข้าราชการ ประชามติก็ยังคงไม่ยอมรับ ขณะที่ระบบของเรานั้น ไม่อนุญาตให้พวกเจ้าหน้าที่ข้าราชการที่เกษียณแล้ว สามารถใช้อิทธิพลและเส้นสายของพวกเขาในการทำมาหาเงินทองก้อนโต ครั้นจะเปิดทางให้พวกนายทุนทรงอิทธิพลเข้ามาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ข้าราชการเสียเลย ประชาชนก็ยังคงรู้สึก “แปลกๆ” ยอมรับกันไม่ได้ เงินเดือนตามระเบียบกฎเกณฑ์ของพวกเจ้าหน้าที่ข้าราชการจีนนั้นอยู่ในระดับต่ำมาก ดังนั้นพวกเจ้าหน้าที่ข้าราชการระดับท้องถิ่นบางคนจึงต้องเสาะแสวงหาสวัสดิการโดยอิงอาศัย “กฎระเบียบที่ไม่เปิดเผย” (hidden rules หมายถึงการรับสินบนนั่นเอง)

ทุกวันนี้ “กฎระเบียบที่ไม่เปิดเผย” ดูเหมือนค่อนข้างแพร่หลายไปมากทีเดียวในสังคมจีน แม้กระทั่งพวกผู้ปฏิบัติงานทางวิชาชีพในภาคสาธารณะ เป็นต้นว่า แพทย์ และ ครูอาจารย์ ก็ยังมี “กฎระเบียบที่ไม่เปิดเผย” ของพวกตน สำหรับเงินเดือนตามระเบียบกฎเกณฑ์ของประชาชนจำนวนมากก็ไม่ได้สูงอะไรเช่นกัน ทว่าพวกเขาก็มีช่องทางที่จะหา “รายได้สีเทา” (grey incomes หมายถึงรายได้ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย)

การกำกับตรวจสอบโดยมติของสาธารณชนเป็นสิ่งที่ต้องทำให้บังเกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ... ทว่ามหาชนเองก็จักต้องมีความเข้าใจอย่างสมเหตุสมผลเกี่ยวกับความเป็นจริงและสภาพทางภววิสัยที่ว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่สามารถกำจัดให้หมดไปจากประเทศจีนโดยสิ้นเชิงในขั้นตอนปัจจุบัน ...” [1]

ผมอ้างอิงเนื้อหาในบทบรรณาธิการของ โกลบอลไทมส์ อย่างยาวเหยียดเช่นนี้ ก็เพราะมันเป็นถ้อยคำที่บ่งบอกตัวมันเองอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง โดยไม่จำเป็นเลยที่จะต้องมีคำอรรถาธิบายอะไรอีก นอกเหนือไปจากการเน้นย้ำว่า บทบรรณาธิการชิ้นนี้พยายามอย่างหนักที่จะสร้างเหตุผลความชอบธรรมให้แก่การทุจริตคอร์รัปชั่นภายในแวดวงเจ้าหน้าที่ข้าราชการ ตราบเท่าที่ปีศาจร้ายตนนี้ยังคงอยู่ “ภายในขอบเขตที่สาธารณชนอดทนยินยอมได้”หรือกล่าวอีกอีกอย่างหนึ่งก็คือ พวกเจ้าหน้าที่พรรคพวกข้าราชการของภาครัฐสามารถที่จะรับสินบนกันต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีการประท้วงอย่างใหญ่โตหรือการลุกฮือก่อการกบฎขึ้นมา

แต่บทเรียนที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1989 ยังคงสดใหม่มากเหลือเกิน ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่บทความชิ้นนี้ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจขึ้นมาอย่างฉับพลันทันที แม้กระทั่งพวกสื่อมวลชนที่ดำเนินการโดยรัฐรายอื่นๆ บางราย เป็นต้นว่า หนังสือพิมพ์ ไชน่ายูธเดลี่ (China Youth Daily) และกระทั่งสำนักข่าวซินหวา ก็ยังออกมาเล่นงาน โกลบอลไทมส์ ด้วยการเผยแพร่บทความที่มีการลงนามผู้เขียน เนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นอย่างหนักหน่วง ความเคลื่อนไหวลักษณะเช่นนี้ในประเทศจีนย่อมไม่ใช่สิ่งปกติธรรมดาแต่อย่างใด
โกลบอลไทมส์ ที่เป็นฉบับภาษาจีน เริ่มตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 1993 ส่วนที่เป็นฉบับภาษาอังกฤษเปิดตัวในปี 2009 ในฐานะที่เป็นเวทีสื่อมวลชนแห่งใหม่สำหรับการนำเสนอและผลักดันส่งเสริม “อำนาจละมุน” (soft power) ของจีน ทั้งในระดับระหว่างประเทศและภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การที่สื่อรายนี้มักใช้ถ้อยคำโวหารแบบแนวทางแข็งกร้าวในประเด็นปัญหาปัจจุบันระหว่างประเทศอยู่บ่อยๆ ก็เห็นได้ชัดว่าก่อให้เกิดผลลัพธ์ในทางตรงข้ามกับที่มุ่งหวังเอาไว้ ยิ่งมาถึงตอนนี้จากการเสนอบทบรรณาธิการที่มุ่งสร้างความชอบธรรมให้แก่การทุจริตคอร์รัปชั่น หนังสือพิมพ์นี้ก็มีแต่จะสร้างความเสียหายให้แก่ภาพลักษณ์ของตนเองเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

**หมายเหตุ**
[1] ดูเนื้อหาทั้งหมดที่เป็นภาษาจีนได้ที่ http://opinion.huanqiu.com/1152/2012-05/2765016.html

อู่ จง เป็นบรรณาธิการด้านจีนของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น