xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’ยืนยันการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ‘ราบรื่น’แม้ข่าวลือยัง‘สะพัด’(ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: อู่ จง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Rumor aside, a smooth transition is assured
By Wu Zhong
10/05/2012

สื่อมวลชนของภาครัฐในประเทศจีน กำลังใช้ความพยายามอย่างมากมายเพื่อขจัดปัดเป่าข่าวลือแพร่สะพัดที่ว่า การประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 18 จะต้องเลื่อนออกไปสืบเนื่องจากกรณีของ ป๋อ ซีไหล ข้อความที่สื่อเหล่านี้พยายามเน้นย้ำก็คือ การตระเตรียมเพื่อการเปลี่ยนถ่ายอำนาจของประเทศซึ่งเกิดขึ้นเพียงทศวรรษละครั้งเดียวคราวนี้ กำลังดำเนินไปด้วยความราบรื่น ขณะที่การปลด ป๋อ ออกจากอำนาจ ก็ไม่เข้าข่ายเป็น “สภาพการณ์พิเศษ” ซึ่งธรรมนูญพรรคเปิดทางให้ชะลอการประชุมอันสำคัญยิ่งยวดเช่นนี้ออกไป

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

เมื่อพูดกันในทางเทคนิคและพูดกันด้วยความเข้มงวดแล้ว การประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 18 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (สมัชชาพรรคครั้งที่ 18) จะถือว่า “เลื่อนออกไป” ก็ต่อเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดการประชุมขึ้นในปี 2013 เพราะจะล่าช้ากว่า “ครึ่งหลังของปี 2012” ตามที่คณะกรรมการกลางชุดปัจจุบันของพรรคได้เคยประกาศออกมา แต่ก็อย่างที่ข้อความในบทบรรณาธิการของสำนักข่าวซินหวา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ได้บ่งบอกออกมาแล้ว สมัชชาพรรคครั้งที่ 18 ยังจะจัดขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงของปีนี้ นั่นคือก่อนสิ้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งก็เป็นไปตามประเพณีที่เคยปฏิบัติมาของพรรค ทั้งนี้ตามกฎเกณฑ์ของพรรคตลอดจนวิธีปฏิบัติซึ่งเป็นที่ยอมรับกันนั้น คณะกรรมการกลางพรรคชุดปัจจุบันจะจัดการประชุมเต็มคณะครั้งสุดท้าย เพื่อรับรองระเบียบวาระของสมัชชาพรรคครั้งที่ 18 ก่อนหน้าการประชุมสมัชชาจะเปิดขึ้นไม่นานนัก

สำหรับพรรคแล้ว ถ้าหากการประชุมสมัชชาพรรคทั่วประเทศเกิดต้องเนิ่นช้าออกไปอย่างเนิ่นนานพอดู ก็จะต้องถือเป็นเรื่องสาหัสร้ายแรง

ในประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น นอกเหนือจากช่วงสงครามแล้ว มีเพียงประธานเหมา เจ๋อตง ผู้ล่วงลับเท่านั้น ที่มีอำนาจอิทธิพลและบารมีเพียงพอที่จะขยับการประชุมสมัชชาพรรคให้เร็วขึ้น หรือว่าเลื่อนช้าออกไปตามอำเภอใจ ภายหลังจาก เหมา ถึงแก่อสัญกรรมในเดือนกันยายน 1976 แล้ว เติ้ง เสี่ยวผิง ก็ได้ให้คำมั่นสัญญาตลอดจนอุทิศความเพียรพยายามมากมาย เพื่อฟื้นฟูให้การดำเนินงานของพรรคกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในเดือนสิงหาคม 1977 พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้จัดการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 11 ขึ้นมา หลังจากนั้น พรรคก็จะจัดการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศอย่างสม่ำเสมอทุกๆ 5 ปี ส่วนใหญ่จัดขึ้นในเดือนตุลาคม หรือบางครั้งบางคราวก็เลื่อนให้เร็วขึ้นเล็กน้อย (ยกเว้นสมัชชาพรรคครั้งที่ 16 เท่านั้น ซึ่งจัดขึ้นตอนต้นเดือนพฤศจิกายน 2002)

และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด “ความผิดพลาด” แบบที่เกิดขึ้นในยุคของ เหมา ขึ้นมาอีก ในการประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคทั่วประเทศครั้งที่ 12 ในปี 1982 พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้รับรองธรรมนูญพรรคฉบับใหม่ โดยที่ในมาตรา 18 ของธรรมนูญนี้ มีการระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า “การประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคจะจัดขึ้นทุกๆ 5 ปี และจัดโดยคณะกรรมการกลาง พรรคอาจจะจัดการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศก่อนหน้าวันเวลาปกติที่กำหนดไว้ได้ ถ้าหากคณะกรรมการกลางเห็นว่ามีความจำเป็น หรือถ้าหากมีองค์กรจัดตั้งในระดับมณฑลมากกว่าหนึ่งในสามเรียกร้อง การประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศจะไม่มีการเลื่อนออกไป ยกเว้นแต่ในสภาพการณ์พิเศษเท่านั้น” [5]

แน่นอนทีเดียวว่า การปลด ป๋อ ออกจากอำนาจ ไม่ได้ถือว่าเป็น “สภาพการณ์พิเศษ” แต่อย่างใด แม้กระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเองก็ไม่ได้ต้องการทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องการเมือง และไม่ได้เสียดมเสียดายเลยที่จะปฏิบัติต่อกรณีนี้ในฐานะเป็น “คดีอาชญากรรม” ที่แยกต่างหากจากการต่อสู้ทางการเมือง

ในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา มีเลขาธิการใหญ่ของพรรคอยู่ 2 คน ที่ต้องตกลงจากอำนาจอย่างน่าอับอาย ได้แก่ หู เย่าปัง เมื่อปี 1987 และ เจ้า จื่อหยาง เมื่อปี 1989 สืบเนื่องจากการที่พวกเขายินยอมปล่อยปละให้มีการเปิดเสรีทางการเมือง ตลอดจนให้มีการชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยที่นำโดยพวกนักศึกษา นอกจากนั้นแล้วยังมีสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมืองอีก 2 คน ได้แก่ เฉิน ซื่อถง (อดีตเลขาธิการพรรคสาขาปักกิ่ง) และ เฉิน เหลียงอี๋ว์ (อดีตเลขาธิการพรรคสาขาเซี่ยงไฮ้) ซึ่งถูกปลดเนื่องจากพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่นเมื่อปี 1996 และ 2006 ตามลำดับ จากนั้นก็ต้องโทษถูกจำคุกในเวลาต่อมา

ยังไม่ต้องเอ่ยถึง หู หรือ เจ้า ก็ยังได้ กระทั่ง เฉิน ซื่อถง และ เฉิน เหลียงอี๋ว์ เมื่อตอนที่พวกเขาถูกปลด พวกเขาก็ครองตำแหน่งที่สำคัญยิ่งกว่า ป๋อ แล้ว เนื่องจาก ปักกิ่ง กับ เซี่ยงไฮ้ เป็นมหานครที่ทรงความสำคัญทางการเมืองและทางเศรษฐกิจยิ่งกว่า ฉงชิ่ง นักหนา แต่ทั้ง 4 กรณีในอดีตนี้ไม่มีกรณีใดเลยที่ทำให้การประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคทั่วประเทศต้องสะดุดเปลี่ยนแปลงไปจากกำหนดเวลา และดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะเชื่อว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะชะลอสมัชชาพรรคครั้งที่ 18 เพียงเพราะการตกลงจากอำนาจของ ป๋อ

การเลื่อนการประชุมสมัชชาพรรคให้เนิ่นช้าออกไปเสียอีก กลับเป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดภาวะช็อกทางการเมืองอย่างสาหัสร้ายแรง ยิ่งกว่าการปลด ป๋อ ออกจากตำแหน่ง ประชาชนจะยิ่งรู้สึกตื่นตกใจ เฝ้าจับตาติดตามด้วยความระแวงสงสัยว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นในคณะผู้นำของพรรค สืบเนื่องจากการดำเนินงาน “ตามปกติ” ต้องชะงักไป ข่าวลือและการกะเก็งต่างๆ จะยิ่งแพร่สะพัดจนกระทั่งมีอันตรายที่จะเกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและทางสังคม และคณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็จะต้องออกมาอธิบายชี้แจงฟื้นฟูความมั่นอกมั่นใจของเหล่าสมาชิกพรรค และของสาธารณชนโดยทั่วไป

พวกผู้ปฏิบัติงานของพรรคที่วาดหวังว่าจะได้เลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งขึ้นไป จะต้องรู้สึกผิดหวังและรู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจ เนื่องจากในปัจจุบันพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้นำเอาตามระบบการปลดเกษียณอายุมาบังคับใช้แล้ว

เจ้าหน้าที่พรรคคนไหนที่มีอายุถึงเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งที่กำหนดเอาไว้ จะต้องปลดเกษียณ และเจ้าหน้าที่พรรคคนไหนมีอายุถึงเกณฑ์ที่จำกัดเอาไว้ก็จะไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งอีกต่อไป การชะลอการประชุมสมัชชาพรรคจึงอาจจะหมายถึงการตัดโอกาสลิดรอนความหวังในการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งของเจ้าหน้าที่จำนวนมาก เพราะพวกเขาจะต้องมีอายุเลยเกณฑ์ที่จำกัดเอาไว้ ขณะเดียวกัน หู กับ เวิน ก็อาจจะถูกประณามว่ากำลังพยายามที่จะอยู่ในอำนาจเกินเลยไปกว่าเกณฑ์ที่กำหนดกันไว้

ระยะไม่กี่ปีมานี้ ระหว่างที่มีการอภิปรายกันเกี่ยวกับการปฏิรูปทางการเมือง ก็มีเสียงเรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของตนให้เนิ่นช้าออกไป (เป็นต้นว่าจัดในเดือนธันวาคม) หรือไม่ก็เลื่อนเวลาจัดการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติให้เร็วขึ้น (ปกติแล้ว สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีนจะจัดประชุมเต็มคณะกันปีละครั้ง ในตอนต้นเดือนมีนาคม) ทั้งนี้เพื่อลดระยะเวลาในการเปลี่ยนถ่ายอำนาจให้สั้นลง เมื่อมีการปรับเปลี่ยนตัวผู้นำในระดับท็อป

ตามโครงสร้างทางอำนาจของจีนในปัจจุบันนี้ เลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จะรับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของประเทศในภาครัฐด้วย การตัดสินว่าใครจะเป็นเลขาธิการใหญ่ของพรรคนั้นกระทำกันโดยที่ประชุมสมัชชาพรรค ทว่าตามรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาชนจีน ประธานาธิบดีของประเทศนั้นต้องเลือกโดยสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ

ตัวอย่างเช่นในคราวนี้ สี จิ้นผิง ได้รับการกะเก็งกันโดยทั่วไปว่าจะเข้าแทนที่ หู ในตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของพรรค ในสมัชชาพรรคครั้งที่ 18 ทว่าเขาจะต้องรอไปจนกระทั่งถึงเดือนมีนาคมปีหน้า จึงจะได้สืบทอดต่อจาก หู ในตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศ ด้วยเหตุนี้ ก็จะมีช่วงรอยต่ออยู่สักไม่กี่เดือนก่อนที่การเปลี่ยนถ่ายอำนาจจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ พวกที่คัดค้านข้อเสนอให้ร่นเวลาเพื่อตัดทอนระยะถ่ายโอนอำนาจให้สั้นลงนั้น มีเหตุผลข้อโต้แย้งว่า การมีเวลาเปลี่ยนถ่ายยาวสักหน่อยกลับน่าจะช่วยให้การถ่ายโอนอำนาจดำเนินไปอย่างราบรื่นด้วยซ้ำเนื่องจากผู้นำคนใหม่อาจต้องการเวลาอยู่บ้างในการปรับตัวเองให้เข้ากับตำแหน่งงานใหม่ของตน ทั้งนี้แม้กระทั่งในประเทศประชาธิปไตยแบบตะวันตก บ่อยครั้งก็จะมีช่วงระยะเวลาอยู่พักหนึ่งเช่นกันก่อนที่ผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำ จะเข้ารับตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่กันจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้น่าจะไมใช่จังหวะเวลาอันเหมาะสมสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ถึงแม้อาจจะมีผู้นำบางคนปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงก็ตามที จังหวะเวลาที่เหมาะสมที่สุดน่าจะเป็นช่วงที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจสำคัญใดๆ ตัวอย่างเช่นถ้าหากไม่มีอุบัติเหตุและเหตุการณ์ใดๆ เหนือความคาดคิดแล้ว เป็นที่คาดหมายกันว่า สี จะดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำสูงสุดของจีนตลอดช่วงเวลา 10 ปีจากนี้ไป และดังนั้นก็จะไม่มีการถ่ายโอนอำนาจอย่างสำคัญใดๆ บังเกิดขึ้นในสมัชชาพรรคครั้งที่ 19 ในปี 2017 ตอนนั้นแหละน่าจะเป็นจังหวะเวลาที่ดีที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลง

กล่าวโดยภาพรวมแล้ว เนื่องจากกำลังกลายเป็นศูนย์กลางความสนใจของโลกไปเสียแล้ว การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะสามารถจัดการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 18 ได้ตามกำหนดเวลาเดิมหรือไม่ กำลังกลายเป็นเครื่องมือวัดสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศจีนไปเสียแล้ว ดังนั้น ถ้าหากไม่มีเหตุการณ์ “พิเศษ” นอกเหนือการคาดหมายบางอย่างบางประการขึ้นมาแล้ว (เป็นต้นว่าเกิดสงครามขึ้นในทะเลจีนใต้ หรือเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างความหายนะอย่างร้ายแรง) ก็เป็นไปไม่ได้อย่างยิ่งที่จะมีการเลื่อนสมัชชาพรรคครั้งที่ 18 ให้เนิ่นช้าออกไป

หมายเหตุ
[5] Constitution of Communist Party of China, Xinhua.

อู่ จง เป็นบรรณาธิการด้านจีน ของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น