xs
xsm
sm
md
lg

ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนกับประชาธิปไตยแบบจีน

เผยแพร่:   โดย: ประพันธ์ คูณมี

การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบราชาธิปไตยมาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นับแต่ปี พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน ก็ก้าวเข้าสู่ปีที่ 80 แล้ว รูปแบบการปกครองที่เราเรียกว่า “ประชาธิปไตย” ที่เห็นและเป็นอยู่ในประเทศไทยหาใช่เป็นระบอบประชาธิปไตยเยี่ยงนานาอารยประเทศแต่อย่างใดไม่ ข้อเท็จจริงนี้น่าจะได้ข้อสรุปแล้วสำหรับประเทศไทย ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับบทสรุปของศาตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ที่ได้นำเสนอบทความ เรื่องรัฐธรรมนูญของประเทศไทยจาก “ระบอบประชาธิปไตย” (พ.ศ. 2475) มาเป็น “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภา” ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2535 จนถึง พ.ศ. 2555)

โดยบทความดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตย” ของไทย ที่ได้พัฒนาและกลายพันธุ์ไปเป็น “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา” ประเทศเดียวในโลกได้อย่างไร ซึ่งท่านทั้งหลายสามารถอ่านรายละเอียดจากบทความนี้ได้ซึ่งเป็นเอกสารประกอบการปาฐกถาของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ โดยการจัดเสวนาของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ เรื่องวิกฤตประเทศไทยใครคือตัวการ ซึ่งบทสรุปสำคัญที่บทความชิ้นนี้ได้ชี้ให้เห็นและผู้เขียนขอคัดมาบางตอน คือ “ประเทศทุกประเทศไม่ว่าจะใช้ “ระบบสถาบันการเมือง” ในรูปแบบใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น “ระบอบประธานาธิบดี” หรือ “ระบบรัฐสภา” ฯลฯ ต่างจะต้องยึดถือ “หลักการของความเป็นประชาธิปไตย” ไว้เสมอ คือ

(1) “สิทธิเลือกตั้ง” ที่เป็น universal suffrage และ (2) เสรีภาพทางการเมือง (สิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้โดยอิสระ) ; ประเทศนั้น จึงจะเรียกได้ว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย แม้แต่ “ประเทศที่ใช้ระบบพรรคคอมมิวนิสต์” ก็ยังต้องให้ “บุคคลที่ไม่สังกัดพรรคคอมมิวนิสต์” มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยอิสระ (คือ ไม่ต้องสังกัดพรรค) ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ ก็คือ รัฐธรรมนูญของประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2535 จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2555) ได้สร้าง “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง (นายทุน) ในระบบรัฐสภา” (ด้วยการบังคับให้ ส.ส.ทุกคนต้องสังกัดพรรคและให้พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับให้ ส.ส.ต้องทำตามพรรค หรือมิฉะนั้นก็อาจถูกพรรคมีมติให้ตนพ้นจาก “การเป็น ส.ส. ได้”) ซึ่งเป็น “รูปแบบของสถาบันการเมือง - form of goverment” (ประเทศเดียวในโลก) ที่ทำลาย “หลักการของความเป็นประชาธิปไตย - the principle of democracy”

ด้วยความเป็นจริงของระบอบการเมืองไทย ที่เป็นประชาธิปไตยแต่เพียงรูปแบบแท้จริงมันคือระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน นับแต่ปี 2535 เป็นต้นมา เมื่อพิจารณาถึงบุคคลผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในยุคเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนจะเห็นได้ว่าผู้นำประเทศของเรามีคุณภาพตกต่ำเรื่อยมา โดยนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 (ปี 2535) คือนายชวน หลีกภัย คนที่ 21 นายบรรหาร ศิลปอาชา คนที่ 22 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ คนที่ 23 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คนที่ 25 นายสมัคร สุนทรเวช คนที่ 26 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

คนที่ 27 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คนที่ 28 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งหมดล้วนเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนธุรกิจการเมือง และมีพัฒนาการที่ถดถอยและมีคุณภาพต่ำ ลงโดยลำดับ ไม่นับรวมบรรดารัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมถึงนักการเมืองในระดับท้องถิ่น ล้วนแต่เต็มไปด้วยพวกที่กระหายในอำนาจ ละโมบโลภมาก เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ชาติและส่วนรวม มีพฤติกรรมแข่งขันกัน ทุจริต คอร์รัปชัน ใช้อำนาจโดยไม่ชอบ และทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชนทั้งสิ้น จึงกล่าวได้ว่าระบอบประชาธิปไตยที่ไทยลอกเลียนแบบมาจากตะวันตกล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยจะต้องหันกลับมาทบทวนสิ่งที่สังคมถูกมอมเมาให้งมงาย หลงเชื่อ และนิยมความเป็นประชาธิปไตยแบบโลกตะวันตก เพราะโดยความเป็นจริงในโลกนี้ยังมีรูปแบบการปกครองที่แตกต่างหลากหลายที่มิได้เดินตามก้นอเมริกาหรือยุโรป รูปแบบหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในโลกและกลายเป็นประเทศมหาอำนาจคู่แข่งสำคัญของอเมริกาและยุโรปก็คือ ระบอบประชาธิปไตยแบบโลกตะวันออกของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีรูปแบบการปกครองและความเป็นประชาธิปไตยอันเป็นลักษณะเฉพาะพิเศษ ที่แตกต่างจากโลกตะวันตกโดยสิ้นเชิง

แม้โลกตะวันตกหรือนักวิชาการรัฐศาสตร์บางคนจะกล่าวหาว่าไม่เป็นประชาธิปไตยในสายตาของพวกเขาก็ตาม แต่สาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในการพัฒนาประเทศ และแก้ไขปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน จนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก และกำลังจะแซงมหาอำนาจอย่างอเมริกาไปเป็นอันดับ 1 แทนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทั้งหมดย่อมเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่ารูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็สามารถนำพาประเทศชาติของเขาที่มีประชากรนับพันล้านให้ยืนผงาดขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่ มีเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีบนเวทีโลกได้อย่างสง่างามยิ่ง

ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่สุดอันทำให้ประเทศจีนก้าวพ้นวิกฤตของประเทศมายืนอยู่ ณ จุดนี้ได้ อยู่ที่ปัจจัยทางการเมือง ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่มีแนวคิดและหลักการพื้นฐานในการปลูกฝังอุดมการณ์และความคิดทางการเมืองที่ยึดถือผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง กระบวนการคัดเลือกและหล่อหลอมคนเพื่อขึ้นมาเป็นผู้บริหารประเทศในระดับชั้นต่างๆ ได้ผลดี และคัดเลือกคนที่มีประสิทธิภาพที่สุด ทั้งมีคุณธรรม จริยธรรม ความรู้ความสามารถผ่านประสบการณ์ในการทำงานในแต่ละระดับชั้นมาเป็นอย่างดี จนเป็นที่ยอมรับกว่าจะก้าวมาสู่ตำแหน่งสูงสุด มิใช่ใครก็ได้ที่นายทุนเจ้าของพรรคการเมืองชี้นิ้วกำหนด โดยไม่เคยผ่านการพิสูจน์ในการทำงานมาก่อน ไม่เคยผ่านการหล่อหลอมใดๆ เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งบริหารสูงสุด ที่สำคัญระบบพรรคการเมืองของไทยเป็นเพียงการรวมกลุ่มแก๊งผลประโยชน์ที่ไร้ซึ่งอุดมการณ์ทั้งสิ้น

ตัวอย่างของผู้นำประเทศจีนปัจจุบัน นายหู จิ่นเทา ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นประธานาธิบดี เป็นประธานคณะกรรมาธิการทหารของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานคณะกรรมาธิการทหารแห่งชาติ

ปี 1959-1964 เรียนที่คณะวิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยาลัยชิงหวา

ปี 1964-1965 เรียนที่คณะวิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยาลัยชิงหวา และเป็นที่ปรึกษาทางการเมือง

ปี 1965-1968 ทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่คณะวิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยาลัยชิงหวา และเป็นที่ปรึกษาทางการเมือง (จนถึงเกิด “การปฏิวัติทางวัฒนธรรม”)

ปี 1968-1969 ทำงานที่หน่วยสร้างที่อยู่อาศัยของกรมโครงการช่องแคบหลิวเจียเสียของกระทรวงชลประทานและไฟฟ้าของจีน

ปี 1969-1974 เจ้าหน้าที่เทคนิค เลขานุการ และรองเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนของกรมสาขา 813 ของกรมโครงการที่ 4 ของกระทรวงชลประทานและไฟฟ้าของจีน

ปี 1974-1975 เลขานุการคณะกรรมการการก่อสร้างของมณฑลกันซู่

ปี 1975-1980 รองหัวหน้ากองออกแบบและบริหารของคณะกรรมการการก่อสร้างของมณฑลกันซู่

ปี 1980-1982 รองผู้อำนวยการคณะกรรมการการก่อสร้างของมณฑลกันซู่ เลขาธิการสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์จีนมณฑลกันซู่ (เดือนกันยายนปี 1982 - เดือนธันวาคมปี 1982)

ปี 1982-1984 เลขาธิการประจำสำนักเลขาธิการของส่วนกลางสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์จีน เลขาธิการสหพันธ์เยาวชนแห่งชาติจีน

ปี 1984-1985 เลขาธิการที่หนึ่งประจำสำนักเลขาธิการของส่วนกลางสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์จีน

ปี 1985-1988 เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนมณฑลกุ้ยโจว เลขาธิการที่หนึ่งของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเขตทหารมณฑลกุ้ยโจว

ปี 1988-1992 เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเขตปกครองตนเองทิเบต เลขาธิการที่หนึ่งของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเขตทหารเขตปกครองตนเองทิเบต

ปี 1992-1993 กรรมการประจำกรมการเมือง เลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ปี 1993-1998 กรรมการประจำกรมการเมือง เลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน อธิการบดีโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีนส่วนกลาง

ปี 1998-1999 กรรมการประจำกรมการเมือง เลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน อธิการบดีโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีนส่วนกลาง ปี 1999-2002 กรรมการประจำกรมการเมือง เลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน รองประธานคณะกรรมาธิการทหารของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน รองประธานคณะกรรมาธิการทหารแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน อธิการบดีโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีนส่วนกลาง

ปี 2002-2003 เลขาธิการใหญ่ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน รองประธานคณะกรรมาธิการทหารของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน รองประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน รองประธานคณะกรรมาธิการทหารแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน อธิการบดีโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีนส่วนกลาง (จนถึงเดือนธันวาคมปี 2002)

ปี 2003-2004 เลขาธิการใหญ่ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน รองประธานคณะกรรมาธิการทหารของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน รองประธานคณะกรรมาธิการทหารแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ปี 2004-2005 เลขาธิการใหญ่ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ประธานคณะกรรมาธิการทหารของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน รองประธานคณะกรรมาธิการทหารแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ปี 2005-ปัจจุบัน เลขาธิการใหญ่ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ประธานคณะกรรมาธิการทหารกลางของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานคณะกรรมาธิการทหารแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน

กรรมการสำรอง และกรรมการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 12 กรรมการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 13, 14, 15, 16 และ 17 กรรมการและกรรมการประจำกรมการเมือง เลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 14 และ 15 กรรมการและกรรมการประจำกรมการเมือง เลขาธิการใหญ่ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 16 และ 17 ที่ประชุมเต็มคณะครั้งที่ 4 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 15 เลือกตั้งซ่อมนายหู จิ่นเทาเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการทหารของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้รับเลือกเป็นรองประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในที่ประชุมครั้งที่ 1 ของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนชุดที่ 9 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการทหารแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนในที่ประชุมครั้งที่ 12 ของคณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนชุดที่ 9 ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในที่ประชุมครั้งที่ 1 ของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนชุดที่ 10 ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทหารของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ในที่ประชุมเต็มคณะครั้งที่ 4 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 16 ได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมาธิการแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนในที่ประชุมครั้งที่ 3 ของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนชุดที่ 10 ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทหารของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในที่ประชุมเต็มคณะครั้งที่ 1 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 17 เป็นกรรมการประจำสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติ

เมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำของประเทศเรา ที่มาจากการเลือกตั้งและอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย ช่างต่างกันราวฟ้ากับดิน สวรรค์กับนรกเลยทีเดียว ไม่เฉพาะผู้นำสูงสุดเท่านั้น ผู้นำและผู้บริหารทุกระดับชั้นของเขาล้วนผ่านกระบวนการคัดกรอง และหล่อหลอมมาเป็นอย่างดีทั้งสิ้น ประเทศไทยยังจะงมงายกับประชาธิปไตยแบบตะวันตกอีกต่อไปหรือไม่ ถึงเวลาที่เราจะต้องแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ให้กับชาติบ้านเมืองได้หรือยังโดยคิดถึงรูปแบบประชาธิปไตยที่มีลักษณะเฉพาะพิเศษอันสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยที่ยังดำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสามารถนำพาชาติบ้านเมืองของเราไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้
กำลังโหลดความคิดเห็น