xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้น! ปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่นจีน “เอาอยู่...ไม่อยู่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รูปปั้นผู้นำเหมา เจ๋อตง ตระหง่านหน้าอพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่งในเขตมี่อวิ๋น ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางเหนือ 60 กม. วันที่ 31 ม.ค. จีนยังคงรักษามาตรการเพื่อปรับราคาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม โดยนายกรัฐมนตรีเวิน จยาเป่ายืนยันเมื่อวันอังคาร(31 ม.ค.) ว่าปักกิ่งไม่พร้อมผ่อนปรนมาตรการควบคุมตลาดอสังหาริมทรัพย์แม้เศรษฐกิจชะลอตัว--ภาพรอยเตอร์
เอเจนซี—ขณะที่สุขภาพเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางของกรุงปักกิ่งยังอยู่ในสภาพดี มียอดขาดดุลงบประมาณน้อยมาก ยอดเกินดุลการค้ายังมโหฬาร แถมยังครองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากสุดในโลก ทว่า พ้นจากเมืองหลวงแดนมังกรแล้ว สุขภาพเศรษฐกิจตามมณฑลต่างๆกลับอยู่ในด้านตรงข้าม เนื่องจากภาระหนี้สินบานตระเกียงในระดับที่กลุ่มนักวิเคราะห์ต่างเตือนเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัญหาหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นนี้ อาจเป็นอันตรายต่อระบบการเงินของประเทศ

จากตัวเลขสำนักสถิติจีน ระบุข้อมูล ณ ปลายปี 2553 บรรดารัฐบาลท้องถิ่นได้กู้ยืมกันบานถึง 10.7 ล้านล้านหยวน (1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็น 27 เปอร์เซนต์ของอัตราเติบโตเศรษฐกิจหรือจีดีพี ยิ่งไปกว่านี้ สำนักจัดอันดับความน่าเฃื่อถือค่ายตะวันตก มูดี้ส์ เชื่อว่าตัวเลขหนี้ฯเหล่านี้ เป็นการประเมินที่ต่ำ

“หนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศ ทะยานสูงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำลายระบบการธนาคารพินาศ” Michael Pettis ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดการเงินจีนประจำมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ชี้

หนี้สาธารณะทั้งหมดทั้งสิ้นของจีน ทั้งรัฐบาลกลางและกลุ่มรัฐบาลท้องถิ่น อยู่ที่ 68 เปอร์เซนต์ของจีดีพี ซึ่งยังเป็นอัตราส่วนที่ต่ำมาก เทียบกับอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีของของอิตาลีที่สูงถึง 120 เปอร์เซนต์ และอัตราฯของญี่ปุ่นที่สูง 200 เปอร์เซนต์

แต่ที่น่าวิตกมากในขณะนี้คือ บรรดารัฐบาลท้องถิ่นจะไม่อาจจ่ายคืนหนี้ตามกำหนด หรือผิดนัดชำระหนี้

ตอนนี้ บรรดารัฐบาลท้องถิ่นพยายามปฏิบัติตามสัญญา โดยหารายได้จากการขายที่ดิน ซึ่งกลับได้สร้างปัญหาซับซ้อนทบทวี อาทิ ข่าวกรณีชาวบ้านลุกฮือประท้วงการยักยอกโกงที่ดินของรัฐบาลท้องถิ่นตามเขตต่างๆทั่วประเทศจีน มีปรากฏให้เห็นเป็นประจำ กรณีล่าสุดคือ การประท้วงของผู้อาศัยในเมืองอูข่าน มณฑลก่วงตง หรือกวางตุ้ง เมื่อเดือนที่แล้ว (ธ.ค.2554) ชาวบ้านแฉว่ารัฐบาลปล้นที่ดินที่พวกเขามีกรรมสิทธิร่วมอยู่ด้วยไปขายมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

นอกจากนี้ แหล่งรายได้ที่กลุ่มรัฐบาลท้องถิ่นในจีนคาดหวังคือ คือผลกำไรจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่หลายโครงการกลับขาดทุน หรือไม่ก็เป็นโครงการผิดกฎหมาย

รัฐบาลท้องถิ่นในจีนได้ทุ่มเม็ดเงินมหาศาลลงทุนในโครงการถนนทางหลวง ห้างสรรพสินค้า ตึกอาคาร อพาร์ทเมนท์ ในช่วงปีวิกฤตการเงินโลกปี 2551 เมื่อรัฐบาลกลางประกาศมาตรการอัดฉีดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเต็มสูบ โดยสั่งการให้ธนาคารไขก๊อกปล่อยสินเชื่อเพื่อหนุนการลงทุนไม่ยั้ง

“ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา มากกว่าครึ่งของจีดีพีจีนได้น้ำเลี้ยงมาจากการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร อย่างเช่น โรงงาน ถนน และแล้วก็พบว่าบางโครงการช่วยหนุนด้านเศรษฐกิจแต่กลับไม่สร้างผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เช่น ถนน หรือโรงพยาบาล ควรจะมาจากแหล่งทุนภาษี” Patrick Chovanec อาจารย์ภาควชาเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชิงหวา ว่า

นอกจากนี้ ผู้ตรวจสอบบัญชีจากสำนักงานตรวจสอบบัญชีแห่งรัฐ (National Audit Office) ระบุว่าช่วงปี 2553 เงินทุนถึง 530,900 ล้านหยวน ถูกใช้ไปอย่างฉ้อฉล ทั้งแอบนำไปลงทุนอย่างผิดกฎหมายในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้น ไปถึงการลงทุน “ลวง”

และถ้ารัฐบาลท้องถิ่นไม่อาจชำระหนี้คืนตามกำหนด ปักกิ่งก็ต้องเข้ามาอุ้มบรรดาธนาคาร เท่ากับว่ารัฐบาลกลางจะต้องปั๊มเงินออกมา ซึ่งจะโหมกระแสเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างความปวดเศียรแก่นักกำหนดนโยบายมากพออยู่แล้วในยามนี้
เซี่ยงไฮ้ มีรายได้หดหายไปน่าใจหาย เนื่องจากเงินทองที่ได้จากโครางการอสังหาฯลดลง โดยราคาเฉลี่ยต่อตารางเมตร ลดลง 41 เปอร์เซนต์ในปีที่แล้ว ในภาพ วิวยามราตรีของนครเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. (ภาพ ซินหวา)
ภาวะชะลอตัวในตลาดที่อยู่อาศัยเมื่อเร็วๆนี้ ยังซ้ำเติมปัญหาการเงินของเมืองและมณฑลต่างๆ ที่คาดหวังจะนำเงินจากการขายที่ดินในราคาสูง มาชำระหนี้

ขณะนี้ ราคาอพาร์ทเมนท์เริ่มตก รายงานของเป่ยจิง นิวส์ ระบุเมื่อวันศุกร์( 6 ม.ค.) ผู้พัฒนาโครงการต่างๆดิ้นรนหาผู้ขายกันหืดขึ้นคอ

สื่อจีน China Business News ระบุว่า การซื้อขายเหล่านี้เป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลท้องถิ่น อาทิ มณฑลยักษ์ใหญ่ก่วงตง 48 เปอร์เซนต์ของรายได้ในปี 2553 มาจากการซื้อขายที่ดิน ด้านเซี่ยงไฮ้ที่เป็นขุมพลังเศรษฐกิจใหญ่ประเทศ มีรายได้หดหายไปน่าใจหาย เนื่องจากเงินทองที่ได้จากราคาเฉลี่ยต่อตารางเมตร ลดลง 41 เปอร์เซนต์ในปีที่แล้ว

ดังนั้น รัฐบาลกลางจึงพยายามหาทางให้รัฐบาลท้องถิ่นลดการพึ่งพาภาคอสังหาฯ และก็ได้กำหนดโครงการทดลอง โดยสั่งการให้กลุ่มมณฑลที่มั่งคั่งตามชายฝั่งอย่างมณฑลก่วงตง และเจ้อเจียง ทั้งนครเซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น ออกพันธบัตรของตนในเดือนต.ค.เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี

แต่หลักทรัพย์ดังกล่าวก็ให้ผลตอบแทนต่ำ และส่วนใหญ่ก็ขายให้กับธนาคารพาณิชย์ “หากโครงการทดลองนี้ เป็นไปด้วยดี ธนาคารก็อาจขายพันธบัตรเหล่านั้นให้แก่กลุ่มอื่นหรือบุคคล” เหริน เสียนฟาง นักวิเคราะห์อาวุโส แห่ง IHS Global Insight ในปักกิ่งกล่าว

แต่หลิน อี้ฟู รองประธานอาวุโสของธนาคารโลก บอกกับไชน่า เดลี่ เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้วว่า จีนยังไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงหนี้เน่าเหมือนอย่างในยุโรป เพราะยังมีหนี้น้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ดังนั้น วิกฤตหนี้ในจีน จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล

จีนยืนยัน หนี้รบ.ท้องถิ่น “เอาอยู่”
อย่างไรก็ตาม กระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นดูยังแรง จนกระทั่งสื่อกระบอกเสียงหลักของพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือ หนังสือพิมพ์ประชาชน หรือ พีเพิล เดลี่ ได้นำคำแถลงของนายกรัฐมนตรี เวิน จยาเป่าที่กล่าวในการประชุมกรอบงานภาคการเงินเมื่อต้นเดือนม.ค.ที่ผ่านมา มาเผยแพร่อีกครั้งเมื่อวันจันทร์(30 ม.ค.) เพื่อปรามกระแสวิตกต่อปัญหานี้

นายกฯเวินยืนยันว่าหนี้รัฐบาลท้องถิ่นอยู่ในระดับที่ปลอดภัยและสามารถควบคุมได้ ขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวด ได้แก่ การตรวจสอบการลงทุนในโครงการต่างๆโดยโครงการลงทุนใหญ่ๆต้องผ่านการรับรองจากรัฐบาล พร้อมทั้งระดมมาตรการสกัดปัญหาเพื่อป้องกันความเสี่ยงแบบลูกโซ่

แต่เวินก็ได้เตือนถึงการแก้ไขปัญหาอย่างรวบรัดในการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่น โดยชี้ว่ารัฐบาลไม่อาจแตะเบรกและใช้วิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นสูตรสำเร็จเดียวกับปัญหาทั้งหมด ดังนั้น เจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆต้องพิจารณาปัญหาแต่ละจุดและควบคุมภาคสถาบันการเงินให้ดีๆ

พร้อมกันนี้เวินได้สัญญาหยุดการผูกขาดของกลุ่มทุนเอกชนในภาคการเงิน ปฏิรูปโครงสร้างทุนและกรรมสิทธิ์ทั้งในภาคธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ การประกันภัย และสถาบันการเงินอื่นๆ เพื่อส่งเสริมให้เม็ดเงินจากทุนเอกชนรายอื่นๆไหลเข้ามายังภาคการเงิน โดยจะปรับปรุงภาคบริการการเงินสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก นวัตกรรม และการพัฒนากฎระเบียบในภาคการเงิน เป็นต้น

นอกไปจากนี้ เวินยังได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่มีพื้นฐานระบบตลาดในอัตราดอกเบี้ย และราคาสินเชื่อ เพื่อให้สิ่งเหล่านี้มีบทบาทมากขึ้น พร้อมทั้งปรับปรุงกลไกระบบอัตราแลกเปลี่ยน.
กำลังโหลดความคิดเห็น