เอเอฟพี-- กลุ่มนักวิเคราะห์ชี้ แม้ว่าขณะนี้จีนกำลังดำเนินการต่างๆเพื่อผลักดันให้มีการใช้ค่าเงินหยวนอย่างกว้างขวางมากขึ้นในตลาดโลก แต่จีนก็ยังคงยืนหยัดต้านกระแสเรียกร้องจากวอชิงตัน ที่เร่งเร้าให้ปฏิรูปเงินหยวนและปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว
เมื่อเร็วๆนี้จีนได้ผ่อนปรนการควบคุมค่าเงินจีนลงบ้างและขยายการใช้เงินหยวนในการค้าโลกมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากดอลลาร์สหรัฐและเพิ่มบทบาทเงินหยวนในตลาดระหว่างประเทศ จีนได้เคลื่อนไหวเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวนี้ครั้งล่าสุดในเดือนที่แล้ว โดยประกาศให้กลุ่มบริษัทต่างชาติสามารถนำเงินหยวนที่ระดมทุนจากต่างแดนเข้าลงทุนในจีนได้ กลุ่มนักวิเคราะห์ชี้นี่เป็นการเคลื่อนไหวเชิงบวกในการขยายการไหลเวียนเงินสกุลหยวนระหว่างดินแดน ก่อนหน้าในเดือนส.ค.จีนยังได้ขยายโครงการอนุญาตให้กลุ่มผู้ส่งออกจีนทั่วประเทศใช้เงินหยวนในการชำระบัญชีการค้าระหว่างดินแดน
แต่กลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ก็เห็นว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ช้าเกินไป บรรดานักวิเคราะห์ต่างชี้ว่ายังต้องรออีกอย่างน้อย 10 ปี กว่าที่จะมีการซื้อขายอย่างเสรีและเงินหยวนจะแลกเปลี่ยนได้โดยเสรีตามกลไกตลาด
“ผมยังสงสัยว่ากว่าที่เงินหยวนจะแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรี จะต้องรอกันมากกว่า 15 ปี เสียด้วยซ้ำ” มาร์ค วิลเลียมส์ นักวิเคราะห์แห่งสำนักวิจัย Capital Economics ในลอนดอน กล่าว
ทั้งนี้จีนให้คำมั่นหลายครั้งว่าจะผ่อนปรนการควบคุมเงินหยวน และเมื่อต่างชาติกดดันอย่างหนักจนในเดือนมิ.ย.2553 จีนก็ประกาศปล่อยการค้าหยวนต่อดอลลาร์เป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น ยุติการตรึงค่าเงินกับดอลลาร์อย่างเหนียวแน่น จากนั้นค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์ก็ปรับตัวแข็งค่าขึ้นราวร้อยละ 7 ขณะที่วุฒิสมาชิกสหรัฐฯเห็นว่ามันยังน้อยเกินไปและชี้ว่าเงินหยวนต่ำค่ากว่าความเป็นจริงมากถึงร้อยละ 30 ทำให้ผู้ส่งออกจีนได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม ในต้นเดือนวุฒิสมาชิกสหรัฐฯก็ได้โหวตรับรองกฎหมายลงโทษจีนในข้อกล่าวหาควบคุมค่าเงิน
แต่จีนก็ปกป้องการควบคุมค่าเงินว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการปกป้องผู้ผลิตในประเทศ ซึ่งต้องดูแลแรงงานหลายล้านคน และป้องกันกระแสเงินทุนเก็งกำไรที่จะทำลายเศรษฐกิจ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีเวิน จยาเป่าแถลงจะรักษาอัตราแลกเปลี่ยนที่เสถียรเพื่อปกป้องผู้ส่งออกขณะที่อุปสงค์ในสินค้าจีนมีแต่ตกลงๆ
“ถ้าคุณเคลื่อนไหวเร็วเกินไป ก็เสี่ยงกระทบส่วนต่างๆของเศรษฐกิจภายใน” Alistair Thornton นักวิเคราะห์ แห่ง IHS Global Insight กล่าว
จีนได้ส่งเสริมการใช้หยวนในต่างแดนโดยออกพันธบัตรหรือปอนด์สกุลเงินหยวนในตลาดฮ่องกง และมูลค่า “ปอนด์ติ่มซำ” ซึ่งหมายถึงปอนด์ในธุรกิจติ่มซำอาหารยอดนิยมของฮ่องกง ที่ออกขายในตลาดก็สูง 70,000 ล้านหยวนในปีนี้ ซึ่งสูงเกือบสองเท่าของปอนด์ที่ออกในปี 2553 เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกล่าวเมื่อเดือนส.ค.
นอกไปจากนี้กลุ่มบริษัทจีนยังสามารถนำเงินหยวนไปลงทุนในต่างประเทศ และจีนก็ยังได้ลงนามข้อตกลงสวอปสกุลเงินกับหลายประเทศ ทั้งได้เชิญสถาบันต่างชาติเข้าร่วมตลาดพันธบัตรระหว่างธนาคาร
แต่ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นเพียงมาตรการ “ที่ถูกควบคุมและผิวเผิน” กว่าที่จะมีการค้าหยวนได้อย่างเสรีนั้นยังอีกนานมาก Patrick Chovanec อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยชิงหวาในปักกิ่งกล่าว
ขณะที่รัฐบาลกลางประกาศเป้าหมายสร้างนครเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางการเงินสากลในปี 2563 ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ต้องมีเงื่อนไขการซื้อขายหยวนอย่างเสรีก่อน
แต่สถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรปและเศรษฐกิจขาลงของสหรัฐฯได้ยืนยันกับจีนว่าการควบคุมค่าเงินอย่างเคร่งครัด เป็นสิ่งที่ถูกต้องในขณะนี้ ส่วนเส้นตาย 2563 ก็เลื่อนออกไปได้