xs
xsm
sm
md
lg

ลัทธิขงจื้อเป็น“คำตอบ”หรือแค่“ตัวช่วย”แก้ปัญหาสังคมจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รูปปั้นขงจื่อ ตั้งโดดเด่น หน้าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง เยื้องกับภาพท่านประธานเหมา เจ๋อตง(ภาพเอเยนซี)
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - เมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมาทางการจีนได้นำรูปปั้นสัมฤทธิ์ของขงจื้อนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของจีน มาตั้งเด่นตระหง่าน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ตรงหน้าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ โดยหันหน้าเผชิญกับภาพวาดขนาดยักษ์ของท่านประธานเหมา เจ๋อตงพอดิบพอดี

มีการมองกันว่า นี่คือเครื่องหมายของการกลับคืนสู่รากเหง้าของจีน และการหวนคืนอย่างผู้ชนะของหลักปรัชญา อันเก่าแก่กว่า 2,000 ปี ซึ่งมีบทบาทควบคุมวิถีการเมืองของรัฐมาจนถึงยุคราชวงศ์ชิง นอกจากนั้น ยังมีอิทธิพลสำคัญต่อชุมชนชาวจีนทั่วโลกในทุกวันนี้

ทว่า อีกไม่กี่เดือนต่อมา รูปปั้นของท่านจอมปราชญ์ก็ถูกย้ายไปตั้งหลบในหมู่ตึกพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นจุดลับสายตาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ปราศจากคำอธิบาย

หลายคนมองปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นนี้ว่า เป็นอาการพยายามดิ้นรนของจีน เพื่อสร้างความสมดุลให้ได้ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว กับการให้การศึกษาแก่ประชาชน การสร้างศีลธรรมจรรยา และสังคม ที่สามัคคี โดยจะต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ให้ทันกัน

การพยายามสร้างความสมดุลนี้ยังถูกกดดันจากปัจจัยภายนอกในโลก ซึ่งถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์ของตะวันตก ดังนั้น นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา จึงมีการพูดกันถึงเรื่องการฟื้นฟูจารีตประเพณีของชาวจีน ซึ่งรวมทั้งศาสนาพุทธ ลัทธิเต๋า ตลอดจนคติความเชื่ออื่นๆ แต่ปรากฏว่า ลัทธิขงจื้อได้ก้าวมาอยู่แถวหน้าสุด

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า อุดมคติของลัทธิขงจื้อเพียงอย่างเดียวจะสามารถแก้ไขปัญหาด้านจริยธรรมในสังคมจีนยุคใหม่ได้จริงหรือ

ศาสตราจารย์เฉิง ชุง-อี้ว์ แห่งมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง และผู้ช่วยผู้อำนวยการของศูนย์วิจัยเพื่อหลักปรัชญาและวัฒนธรรมจีนระบุว่า เรากำลังมองเห็นประเทศจีน ที่มีปัญหาน่าสงสัย ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่น การก่อความรุนแรง การกระทำที่ไร้ศีลธรรมจรรยา และความชั่วร้ายต่าง ๆ

ขณะที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นในลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างแท้จริงอีกต่อไป และก็ไม่ศรัทธาในคุณค่าของขนบประเพณีอีกด้วย

แต่สิ่งที่ผู้คนในเมืองจีนเวลานี้เชื่อถือศรัทธาก็คือเงินตรา !

ด้านนายหู ซิงตู้ นักวิจารณ์การเมือง และศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งปักกิ่ง กล่าวว่า ประเทศจีนในปัจจุบันตกอยู่ในสถานการณ์ ที่ยากลำบากด้านศีลธรรมจริยธรรม บรรดาผู้นำจีนจึงพยายามนำหลักปรัชญาขงจื้อมาใช้ เพื่อรวมประชาชนและสร้างหลักการศีลธรรมของประเทศ ที่กำลังตกต่ำขึ้นมาใหม่ ดังนั้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จึงได้เห็นการพัฒนาและฟื้นฟูลัทธิขงจื้อในหมู่ประชาชนทั่วไป ในวงการศึกษา และในระดับของรัฐ

แต่ในขณะเดียว นายหูระบุว่า บุคคลในรัฐบาลจีนจำนวนหนึ่งหวาดกลัวว่า โดยเนื้อแท้ของลัทธิขงจื้อแล้วเป็นอุดมการณ์ ที่ขัดแย้งกับลัทธิมาร์กซ์ จึงขัดขวางการส่งเสริมเผยแพร่ในทุกรูปแบบ ด้วยเหตุนี้การฟื้นฟูลัทธิขงจื้อจึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจในสาระการสอน ที่สับสนได้

ทั้งศาสตราจารย์เฉิงและศาสตราจารย์หูยังเห็นพ้องกันว่า ลัทธิขงจื้อ ซึ่งมีประวัติของการถูกพลิกแพลงนำมาใช้เพื่อประโยชน์แก่คนบางกลุ่ม หากรัฐบาลนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองแล้วก็จะเป็นมรณกรรมของลัทธินี้ โดยประชาชนกลัวกันว่า นี่คืออีกหนทางหนึ่งในการแก้ต่างให้แก่การกระทำ ที่เป็นเผด็จการของพรรค

ขณะที่นักวิชาการอีกหลายคนมองว่า ลำพังศาสนาและอุดมการณ์ไม่สามารถแก้ปัญหาด้านศีลธรรมจรรยาในจีนได้ แต่จีนต้องมีระบบกฎหมายและการเมือง ที่ดี ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยการศึกษาและระบบจำเป็นต้องเดินไปด้วยกัน

ด้านแดเนียล เบลล์ ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาของมหาวิทยาลัยชิงหวา ชี้ว่า จำเป็นต้องมีการตีความลัทธิขงจื้อใหม่ในบริบทของศตวรรษที่ 21 จึงจะทำให้เป็นลัทธิ ที่มีประโยชน์ต่อสังคมในยุคใหม่

ศาสตราจารย์หูเชื่อว่า จีนจำเป็นต้องสร้างชุดของหลักการด้านจริยธรรม ที่ร่วมสมัยและสำหรับยุคสมัยใหม่ขึ้นมา ซึ่งรวมคุณค่าของสากล เช่น สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมกัน เข้าไว้ร่วมกับขนบธรรมเนียมต่าง ๆเช่น การเคารพผู้ใหญ่ และสังคม ที่มีครอบครัวเป็นศูนย์กลาง

ท้ายที่สุด ควรเปิดโอกาสให้ลัทธิขงจื้อได้แข่งขันกับอุดมการณ์อื่น ๆ
“ ถ้าเรากำลังหวังถึงประเทศจีน ที่มีเสรีภาพ ควรมีที่ว่างให้ลัทธิขงจื้อได้เบ่งบานไปพร้อมกับแนวคิด หลักปรัชญา หรือแม้แต่ศาสนาอื่น ๆ ในจีน ถึงตอนนั้น เราจึงจะได้เห็นว่าประเทศของเราชอบสิ่งใดมากที่สุด” ศาสตราจารย์ Joseph Chan Cho-wai หัวหน้าคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮ่องกง และผู้เชี่ยวชาญด้านลัทธิขงจื้อในเชิงการเมืองให้ข้อคิด
กำลังโหลดความคิดเห็น