xs
xsm
sm
md
lg

วางหมากเศรษฐกิจปีมังกร

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ปีหน้า ปีมะโรง คนจีนเปรียบเป็นปีมังกร ขณะนี้หญิงจีนกำลังพากันเล็งคลอดลูกในปีดังกล่าว เพื่อจะได้ “ลูกมังกร” คาดว่าปี ค.ศ. 2012 จีนจะมีประชากรเพิ่มมากเป็นพิเศษ

ว่ากันว่า เรื่องแบบนี้ (ความเชื่อที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ) ยังมีมากในประเทศจีน ที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม ใช้หลักลัทธิมาร์กซ์ชี้นำการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคม แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกัน เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนมองว่า ความเชื่อต่างๆ ถ้าไม่ถึงขั้นทำให้คนหลงใหลเชิงไสยศาสตร์ ไม่มีการใช้พิธีกรรมใหญ่โตเป็นเครื่องมือหลอกล่อ ก็ไม่มีพิษภัยใดๆ กับประชาชน และไม่จำเป็นต้องตราเป็นกฎหมายห้ามปราม

กระนั้นก็ดี เราคงไม่ไปคาดหมายว่า ชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะนึกคิดอะไรๆ แบบชาวบ้าน เพราะสิ่งที่พวกเขายึดมั่นก็คือ ความเป็น “วิทยาศาสตร์” ปฏิบัติได้ อธิบายได้ พิสูจน์ได้ แก้ไขได้ ปรับปรุงได้ พัฒนาได้ แม้แต่การพัฒนาประเทศก็ยังกำหนดขึ้นบนพื้นฐานของความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ เรียกว่า “ทัศนะการพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์” หรือ “เคอเสวฟาจั่นกวน”

วลีที่ติดปากของพวกเขาปัจจุบันนี้ ก็คือ “นวัตกรรม” (ภาษาจีนว่า “ช่วงซิน”) โดยนัยก็คือ ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องตั้งอยู่บนฐานของ “ทัศนะการพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์” ดำเนินการ “นวัตกรรม” ให้เกิดสิ่งใหม่ๆ หรือเงื่อนไข (เหตุปัจจัย) ใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การอุบัติขึ้นของสิ่งใหม่ๆ เสมอ

ในทางปฏิบัติ ชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่รับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ จึงต้องเริ่มจากความเป็นจริง จะต้องลงพื้นที่สัมผัสความจริง วิเคราะห์ข้อมูล ศึกษาปัญหา เพื่อนำมากำหนดเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนานโยบายให้สอดคล้องกับสภาพเป็นจริง ที่จะสามารถบรรลุสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ได้จริง

ในระดับชาติ ปัจจุบันได้มีการกำหนดเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนแล้วในแผนพัฒนา 5 ปี แผนที่ 12 (ค.ศ. 2011 -2015) ซึ่งตามหลักการพื้นฐานของทัศนะการพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แล้วก็คือการ “ถือเอาคนเป็นฐาน” (อี่เหรินเหวยเปิ่น) การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่วัดด้วยจีดีพี จะปรับลดลงจากเดิม เพื่อเน้นให้เกิดการขยายตัวทางคุณภาพที่ยังประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่า

อีกนัยหนึ่งคือมุ่งเน้นยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวจีนทั้งประเทศ เพื่อให้สังคมจีนก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมอยู่ดีกินดีถ้วนหน้าในปี ค.ศ. 2020 โดยมีการกำหนดแผนปฏิบัติในทุกๆ ด้าน ทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และทั้งหมดนั้น อยู่ในการควบคุมระดับสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผ่านไปทางรัฐบาลจีน เรียกกันว่า “การควบคุมมหภาค” (หงกวนเถียวค่ง) ด้วยกลไกต่างๆ เช่น การปรับน้ำหนักในแผนพัฒนา การปรับอัตราดอกเบี้ย หรืออัตราภาษี เป็นต้น

ทั้งนี้ ในแต่ละปี ในราวปลายเดือนธันวาคม พรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยคณะผู้นำพรรคระดับสูง เรียกว่า “ศูนย์กลางพรรค” ที่ประกอบด้วยคณะกรรมการกลางระดับกรมการเมืองเป็นสำคัญ จะทำหน้าที่ประมวลภาพโดยรวมทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ประเมินสถานภาพทางเศรษฐกิจของประเทศจีน แล้วกำหนดทิศทาง ยุทธศาสตร์ และจัดวางกำลังสำหรับปีถัดไป เพื่อการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนา

ทุกปี สายตาของผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศคู่แข่งคู่ค้า รวมทั้งสื่อสายหลักสำคัญๆ ตลอดจนบริษัทธุรกิจ พ่อค้านักลงทุนที่ติดต่อค้าขายในประเทศจีน และศูนย์วิจัย ศึกษาค้นคว้าเรื่องจีน ฯลฯ จึงจดจ่ออยู่กับผลการประชุมนี้ (เรียกเป็นทางการว่า “การประชุมงานเศรษฐกิจของศูนย์กลางพรรค” หรือ “จงเอียงจิงจี้กงจั้วฮุ่ยอี้”)

ในการประชุมปีนี้ ที่กรุงปักกิ่งระหว่างวันที่ 12-14 ธันวาคม คณะผู้นำจีน นำโดยหูจิ่นเทา ได้ทำหน้าที่เป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากในปีหน้า คณะผู้นำชุดใหม่ที่มี สีจิ้นผิง เป็นแกนนำ จะเป็นผู้รับหน้าที่นี้ต่อไป
ผลการประชุมที่เผยแพร่อย่างเป็นทางการ ได้กำหนดภารกิจ 5 ประการ และมาตรการ 5 อย่าง ดังนี้

ภารกิจ 5 ประการ

1. เสริมและยกระดับการควบคุมทางมหภาค เพื่อให้การพัฒนาขยายตัวทางเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างมีเสถียรภาพและค่อนข้างรวดเร็ว

2. จับงานภาคการเกษตรทั้งสามด้าน (การสร้างหมู่บ้านชนบทให้ทันสมัย การพัฒนาเกษตรกรรมให้ทันสมัย และการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้สูงขึ้น) ให้มั่นต่อไป เสริมหลักประกันให้แก่การสนองผลิตภัณฑ์ทางด้านการเกษตร

3. เร่งกระบวนการปรับเปลี่ยนของโครงสร้างเศรษฐกิจ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาประสานกันไปในทุกภาคส่วนด้วยตัวเอง

4. ดำเนินการปฏิรูปให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในจุดที่จำเป็น เพื่อขยายขอบข่ายการเปิดประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

5. ให้หลักประกันอย่างทั่วถึงและเต็มที่ต่อการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ด้วยนวัตกรรมวิธีการบริหารจัดการทางสังคมแบบใหม่ๆ

มาตรการ 5 อย่าง

1. ทางด้านการคลัง เร่งปรับโครงสร้างนโยบายภาษีและการลดอัตราภาษี เพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่งานด้านยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้มากขึ้น

2. ทางด้านการเงิน ปรับไปตามสภาวะที่เหมาะสมแบบเล็กๆ น้อยๆ และล่วงหน้า รักษาระดับการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้ดำเนินไปอย่างเหมาะสม

3. เพิ่มระดับความต้องการภายในประเทศให้มากขึ้นอีก โดยเฉพาะทางด้านความต้องการบริโภค และรักษาขนาดการลงทุนไว้ในระดับที่เหมาะสม

4. เร่งกระบวนการทดลองในจุดต่างๆ สำหรับการปฏิรูประบบภาษี จากภาษีการค้าเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนระบบภาษีทรัพยากร ภาษีสิ่งแวดล้อม และพัฒนากลไกกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ราคาถ่านหิน น้ำมัน และแก๊สธรรมชาติสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ

5. ปรับบทบาทของตลาดทุนให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมยิ่งขึ้น เสริมสร้างตลาดทุนหลายชั้นให้สมบูรญ์ยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น