xs
xsm
sm
md
lg

การวิ่งเต้นใน‘จีน’เพื่อชิงตำแหน่ง‘กรมการเมือง’กำลังเข้นข้น (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: วิลลี ลัม

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Jockeying intensifies for China’s politburo
By Willy Lam
02/11/2011

การเคลื่อนไหวเดิมหมากอย่างดุเดือดเข้มข้นกำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว เพื่อช่วงชิงกันเข้าครองเก้าอี้ในคณะกรรมการประจำแห่งกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีสมาชิกรวม 9 คน ทั้งนี้เป็นที่คาดหมายกันว่า ผู้ที่นั่งอยู่ในองค์กรซึ่งเป็นวงในอันทรงอำนาจที่สุดของพรรคคอมมิวนิสต์แดนมังกรในเวลานี้ จะมีถึง 7 คนทีเดียวที่จะก้าวลงจากตำแหน่งในปี 2012 สำหรับบรรดาตัวเก็งที่ถูกจับตามองว่าเป็นผู้แข่งขันในเที่ยวนี้ บุคคลที่ถูกพูดถึงมากที่สุดย่อมต้องเป็น ป๋อ ซีไหล เลขาธิการพรรคสาขามหานครฉงชิ่ง เขาเป็นผู้ที่มีอำนาจบารมีสูงในกลุ่มที่เรียกกันว่า “แก๊งลูกท่านหลานเธอ” ถ้อยคำที่เขาที่โปรดโปรนหยิบยกขึ้นมาพูดอยู่เรื่อยๆ ก็คือ “ร้องเพลงสีแดงและเล่นงานพวกสีดำ”

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

การประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งล่าสุดระหว่างวันที่ 15 – 18 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ผ่านมติฉบับหนึ่งว่าด้วย “การปฏิรูประบบทางวัฒนธรรม” ซึ่งมีจุดหมุ่งหมายที่จะส่งเสริมเพิ่มพูน “อำนาจละมุน” (soft power) ของจีน และค้ำจุนเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ “ความมั่นคงทางวัฒนธรรม” ของประเทศชาติ

พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ปกติแล้วคณะกรรมการกลางจะเปิดการประชุมเต็มคณะกันเพียงปีละครั้งเดียว ทุกๆ สายตาจึงต่างจับจ้องสนใจว่ามีสมาชิกคนไหนในองค์กรระดับท็อปของพรรคแห่งนี้ พูดจาอภิปรายอะไรบ้างเกี่ยวกับการประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคทั่วประเทศครั้งที่ 18 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในปีหน้า และเป็นที่คาดหมายกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้นำกันอย่างขนานใหญ่

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของการประชุมเต็มคณะคราวนี้ ที่นำออกเผยแพร่โดยสำนักข่าวซินหวา มีเนื้อหาที่สั้นๆ ห้วนๆ และแทบไม่ได้เปิดเผยอะไรถึงสิ่งที่บังเกิดขึ้นระหว่างการหารือเป็นการภายใน 4 วันคราวนี้ แถลงการณ์เพียงแต่ระบุว่า การประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคทั่วประเทศครั้งที่ 18 จะจัดขึ้นในครึ่งหลังของปี 2012 โดยที่ “สมัชชาผู้แทนพรรคทั่วประเทศคราวนี้กำหนดจัดขึ้นมาในช่วงระยะเวลาอันสำคัญยิ่งยวดแห่งการดำเนินการก่อสร้างสังคมที่มีความเจริญรุ่งเรืองพอประมาณอย่างรอบด้าน , การปฏิรูปและการเปิดประตูประเทศให้หยั่งรากลึกซึ้งยิ่งขึ้น, ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงแบบแผนของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ” แถลงการณ์ฉบับนี้ระบุ

ที่ประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางยังเรียกร้องให้บรรดาผู้ปฏิบัติงานของพรรค “สามัคคีกันและนำพาประชาชนจีนทั้งมวลในการดำเนินการก่อสร้างสังคมที่มีความเจริญรุ่งเรืองพอประมาณอย่างรอบด้าน ตลอดจนเพิ่มทวีความเร่งในแรงขับดันสู่ความทันสมัยของประเทศชาติ”

ถึงแม้จะไม่ค่อยมีข้อมูลข่าวสารปรากฏออกมา แต่ก็เป็นที่รู้สึกได้ว่าการเคลื่อนไหวเดิมหมากอย่างดุเดือดเข้มข้นเพื่อการช่วงชิงตำแหน่งกันกำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างหนึ่งในหมู่ผู้ปฏิบัติงานระดับสูงซึ่งต้องการเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการประจำแห่งกรมการเมืองพรรค (Politburo Standing Committee) ที่มีสมาชิกทั้งสิ้น 9 คน ทั้งนี้เป็นที่คาดหมายกันว่า ผู้ที่นั่งอยู่ในองค์กรซึ่งเป็นวงในอันทรงอำนาจที่สุดของพรรคคอมมิวนิสต์แดนมังกรในเวลานี้ จะมีถึง 7 คนทีเดียวที่จะประกาศก้าวลงจากตำแหน่งในระหว่างการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 18 ปี 2012

เนื่องากสมาชิกประจำและสมาชิกสำรองของคณะกรรมการกลางพรรคที่มีจำนวนรวมกันทั้งสิ้นกว่า 370 คน นานๆ ครั้งจึงจะมาประชุมหารือกันอย่างพร้อมหน้า เวทีการประชุมเต็มคณะจึงถือเป็นโอกาสอันเหมาะเหม็งสำหรับผู้ที่ต้องการขึ้นเป็นสมาชิกในคณะกรรมการประจำกรมการเมือง ที่จะทำการรณรงค์หาเสียงแบบอ้อมๆ ในช่วงเวลาก่อนที่จะถึงการประชุมลับของคณะกรรมการกลางพรรคคราวนี้ บรรดาสมาชิกระดับดาวรุ่งของกลุ่มที่ครอบงำพรรคแต่แตกแยกกันอยู่ในทีทั้ง 2 กลุ่ม –อันได้แก่ กลุ่มสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ (Communist Youth League) ที่อยู่ภายใต้ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และ “แก๊งลูกท่านหลานเธอ (Gang of Princelings หมายถึงพวกที่เป็นลูกหลานของบุคคลอาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์จีน) ต่างใช้ความพยายามกันอย่างคึกคักเพื่อเพิ่มพูนโอกาสในการเลื่อนตำแหน่งในปีหน้าของพวกเขา

ตัวอย่างที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ รายของ ป๋อ ซีไหล (Bo Xilai) เลขาธิการพรรคสาขามหานครฉงชิ่ง ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิก (ธรรมดา) ของกรมการเมืองคนหนึ่งอยู่แล้ว ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ป๋อ ซึ่งปัจจุบันอายุ 62 ปี และเป็นพวกลูกท่านหลายเธอที่มีอำนาจบารมีสูงผู้หนึ่ง ได้กลายเป็นนักการเมืองซึ่งเป็นที่รู้จักโด่งดังที่สุดคนหนึ่งของจีน จากการณรงค์ตามแนวทางประชานิยมของเขาที่มุ่งเรียกร้องให้ “ร้องเพลงสีแดง และเล่นงานพวกสีดำ” (sing red songs and to strike at black elements) ซึ่งหมายถึงการพลิกฟื้นคืนชีพคุณค่าและจรรยาในยุคเหมาเจ๋อตง และการต่อสู้ปราบปรามแก๊งอาชญากรรม

ถึงแม้การรณรงค์ของ ป๋อ ค่อนข้างได้รับความนิยมสนใจ โดยที่ขบวนการ “ชั่ง หง” (ร้องเพลงสีแดง) ได้รับการต้อนรับอย่างยินดีตามนครใหญ่ต่างๆ หลายแห่ง แต่คณะกรรมการกลางพรรคก็ไม่ได้ประทับตราอนุมัติเห็นดีเห็นงามกับความพยายามที่จะรื้อฟื้นวัฒนธรรมแบบเหมาอิสต์เช่นนี้ แถลงการณ์ของที่ประชุมเต็มคณะมีข้อความเรียกร้องให้ชาวจีนทั้งมวล “ใช้ (จิตวิญญาณแห่ง) การปฏิรูปและการริเริ่มสร้างสรรค์มาเป็นแรงกระตุ้นจูงใจ” เพื่อให้สามารถสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่ “ยกระดับเข้าสู่ความทันสมัยและเน้นหนักให้ความสนใจไปที่ทั่วโลกและมุ่งไปที่อนาคต”

“เราต้องยกระดับมาตรฐานทางวัฒนธรรมของประชาชนทั้งมวล, ส่งเสริมเพิ่มพูนอำนาจละมุนทางวัฒนธรรมของประเทศชาติ, โฆษณาป่าวร้องวัฒนธรรมของจีน, และมุมานะพยายามสร้างประเทศสังคมนิยมที่มีความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรม” แถลงการณ์ระบุ การที่เอกสารฉบับนี้ไม่ได้มีการเอ่ยถึง “วัฒนธรรมสีแดง” อะไรเลย ดูเหมือนจะเป็นการสนับสนุนแนวความคิดที่มีผู้เสนอว่า ผู้นำระดับสูงสุดทั้งสองของจีนเวลานี้ ได้แก่ ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ไม่ได้เป็นแฟนคลับของกระแส “ร้องเพลงสีแดง” ของ ป๋อ

ยิ่งกว่านั้น ถึงแม้ ฉงชิ่ง เป็นมหานครที่มีฐานะเทียบเทียบมณฑลจำนวน 1 ใน 4 แห่งของจีน (อีก 3 แห่งได้แก่ ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, และ เทียนจิน) โดยที่การบริหารขึ้นต่อส่วนกลางโดยตรง อีกทั้ง ฉงชิ่ง ยังมีชื่อเสียงในการสร้างตัวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของภาคตะวันตกของจีน แต่ทั้ง หู และ เวิน ต่างไม่เคยเดินทางไปเยือน ฉงชิ่ง เลยตั้งแต่ที่ ป๋อ ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคของนครนี้ในตอนปลายปี 2007

การที่ ป๋อ ใช้ความพยายามถึงขนาดแทบจะเป็นการดิ้นรนอย่างสุดฤทธิ์ เพื่ออ้างเครดิตสำหรับการสร้างแบบอย่างการพัฒนาซึ่งเป็น “ฉงชิ่ง โมเดล” (Chongqing Model) ขึ้นมา ยังอาจเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าโชคลาภทางการเมืองของเขาอาจจะกำลังถดถอยหดหาย หรืออย่างน้อยที่สุด ก็กำลังถูกโจมตีเล่นงาน ทั้งนี้เมื่อต้นเดือนตุลาคม ป๋อ ได้เชื้อเชิญ เติ้ง เคิน (Deng Ken) น้องชายของ เติ้ง เสี่ยวผิง ให้เขียนอักษรวิจิตรบนกระดาษยาว 2 แผ่นเป็นบรรณาการแด่มหานครฉงชิ่ง ข้อความที่เขาเขียนให้นั้น แผ่นหนึ่งมีเนื้อความว่า “ไม่ล้มเลิกการเพิ่มความเข้มแข็งให้ตนเอง” อีกแผ่นหนึ่งบอกว่า “มือทั้งสองจักต้องแข็งแกร่งเท่าๆ กัน”

ข้อความเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นการยกย่องสรรเสริญความสำเร็จของ ฉงชิ่ง ในการบ่มเพาะส่งเสริมสนับสนุนอารยธรรมทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ ในเวลาใกล้เคียงจนแทบจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง หนังสือพิมพ์ ฉงชิ่งรึเป้า (Chongqing Daily) ได้ตีพิมพ์เผยแพร่บทสัมภาษณ์ยาวเหยียดของ หู จิ่นซิง (Hu Jinxing) ลูกพี่ลูกน้องที่เกษียณอายุแล้วของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ทั้งนี้ หู จิ่นซิง เป็นผู้นำองค์การการกุศลแห่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ เขาได้สรรเสริญเยินยอคณะบริหารของ ป๋อ ที่ได้ “ปฏิบัติงานเป็นอย่างดีเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และทำการยกย่องเชิดชูเส้นทางแห่งความเสมอภาคของมนุษยชาติ”

หู จิ่นซิง กล่าวด้วยว่า “ฉงชิ่ง ได้ให้ประสบการณ์อันล้ำค่าในการบุกเบิกเส้นทางแห่งระบอบสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีนขึ้นมา” ตามประเพณีทางการเมืองของจีนซึ่งยังอยู่ในลักษณะอนุรักษนิยมอย่างสูงนั้น ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลยที่มีนักการเมืองคนหนึ่งออกมาโปรโมตตัวเองอย่างดุเดือดโดยระดมร้องขอความช่วยเหลือจากญาติๆ ของผู้นำพรรคทั้งในอดีตและในปัจจุบันเช่นนี้

ดร.วิลลี โว-ลัป ลัม (Dr Willy Wo-Lap Lam) เป็นนักวิจัยอาวุโส ณ มูลนิธิเจมส์ทาวน์ (The Jamestown Foundation) และเคยทำงานในระดับบรรณาธิการอาวุโสของสื่อระหว่างประเทศหลายเจ้า เช่น นิตยสารเอเชียวีก, หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์, และในสำนักงานใหญ่ภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของ ซีเอ็นเอ็น เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศจีนมาแล้ว 5 เล่ม โดยเล่มที่เพิ่งตีพิมพ์จำหน่ายเมื่อเร็วๆ นี้คือ “Chinese Politics in the Hu Jintao Era: New Leaders, New Challenges” เขายังเป็นศาสตราจารย์สมทบในด้านจีนศึกษา ณ มหาวิทยาลัยนานาชาติอะคิตะ (Akita International University) ประเทศญี่ปุ่น และที่ มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong)
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น