xs
xsm
sm
md
lg

ยกระดับมาตรฐาน “ความจน”

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา หูจิ่นเทา ในฐานะเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ร่วมกับผู้นำระดับหัวแถวที่เป็น “แกนนำ” พรรคฯ ทั้งหมด ได้เข้าร่วมประชุมกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นงานใหญ่สำคัญยิ่งของคณะกรรมการกลางพรรคฯ กำหนดให้ปี ค.ศ. 2020 เป็นจุด “หลุดพ้น” จากความทุกข์สองประการของคนจีน คือ ทุกข์ที่ไม่มีกิน และ ทุกข์ที่ไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่ และ “ได้” หลักประกันสามประการคือ หลักประกันทางด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และบ้านอยู่อาศัย

พูดตามภาษาไทยเราก็คือ คนจีนที่ยังมีฐานะยากจนในประเทศจีน จะมีพร้อมทั้งปัจจัยสี่และการเรียนการศึกษา

เมื่อนั้น สังคมจีนซึ่งมีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน ก็จะก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคม “อยู่ดีกินดีถ้วนหน้า” ตามแผนที่พรรคฯ จีนแถลงไว้ (โดยเจียงเจ๋อหมิน ผู้นำพรรครุ่นที่ 3) ในการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 16 ปี ค.ศ. 2002

หูจิ่นเทาได้ประกาศโครงร่างระยะสิบปี (ค.ศ. 2011–2020) ของการแก้ไขปัญหาความจนในชนบทจีน เพื่อให้ทั่วทั้งพรรคดำเนินการปฏิบัติให้ปรากฏผลที่เป็นจริง ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญยิ่งในการสร้างสังคมจีนให้เป็นสังคมอยู่ดีกินดีถ้วนหน้า ตามแนวทางที่คณะผู้นำพรรคชุดก่อนได้วางให้

อีกนัยหนึ่ง หูจิ่นเทา ในฐานะผู้นำพรรคจีนรุ่นที่ 4 กำลังส่งมอบภารกิจนี้ให้กับ สีจิ้นผิง ที่จะก้าวขึ้นมารับช่วงอำนาจ ในฐานะผู้นำพรรคจีนรุ่นที่ 5 ซึ่งก็อยู่ในที่ประชุมครั้งนี้ด้วย

เวินเจียเป่า ซึ่งรับผิดชอบการบริหารจัดการ (ในฐานะนายกรัฐมนตรี) ให้แนวเสนอของพรรคปรากฏออกมาเป็นนโยบายรูปธรรมของรัฐบบาล ได้แจกแจงตัวเลขในที่ประชุมว่า รัฐบาลจีนได้เพิ่มวงเงินทุนให้กับการแก้ไขปัญหาความยากจนมากขึ้นทุกปี จาก 12,750 ล้านหยวน (ราว 63,000 ล้านบาท) ในปี 2001 เป็น 34,930 ล้านหยวน (ราว 180,000 ล้านบาท) ในปี 2010 รวมทั้งสิ้น(สิบปี) เป็นเงิน 204,380 ล้านหยวน (ราว 1,100,000 ล้านบาท)

มาตรการรูปธรรมสำคัญที่ปรากฏออกมาในการประชุมครั้งนี้ คือ พรรคจีนได้ปรับ “มาตรฐาน” ความยากจนของคนจีนให้สูงขึ้น จากระดับ 1,196 หยวน (ต่อปี) ในปี 2009 เป็น 2,300 หยวน เพิ่มขึ้น 92% เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนครอบคลุมกว้างขวางยิ่งขึ้น

การเพิ่มมาตรฐาน “ความยากจน” ดังกล่าว จะทำให้จำนวนคนจนจีน เพิ่มขึ้นมาก จากปัจจุบันราว 20 ล้านคน เป็นราว 100 ล้านคน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายตั่งกั๋วอิง นักวิจัยของสำนักวิจัยการพัฒนาชนบท สถาบันวิจัยสังคมศาสตร์ (เซ่อเคอเวี่ยน) อธิบายว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเป็นธรรมขึ้นในสังคมจีน เมื่อคนจีนส่วนใหญ่มีรายได้สูง ระดับความยากจนก็ย่อมต้องสูงตามไปด้วย

อีกนัยหนึ่ง ไม่ปล่อยให้เกิดสภาวะ “ความยากจนซ่อนรูป” ดำรงอยู่ในสังคมจีน เมื่อระดับมาตรฐานความจนสูงขึ้น จำนวนคนที่มีรายได้ต่ำ ทำท่าจะยากจนจริงๆ ก็จะถูก “ประคับประคอง” เข้าไปอยู่ในโครงการฯ ได้รับการอนุเคราะห์ตามนโยบายของรัฐบาล โดยไม่มีข้อยกเว้น

ตรงกับนิยามของนโยบายแก้ไขความยากจนของรัฐบาลจีน ที่ภาษาจีนเรียกว่า “ฝูผิน” ซึ่งก็คือ “ประคับประคอง” คนยากคนจน

คนยากคนจน มักจะมาจากกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส กลายเป็น “ผู้อ่อนแอ” ในทุกประเทศมีเหมือนกันหมด จำเป็นต้องหาทาง “ประคับประคอง”

กระนั้น พรรคและรัฐบาลจีนได้วางยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจน เชื่อมโยงเข้ากับการสร้างสังคมนิยมให้เจริญรุ่งเรืองรอบด้าน เพื่อให้ประชาชนจีนบรรลุสู่ “ความมั่งคั่งร่วมกัน” ตามอุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ของพวกเขา

จากนี้ พวกเขาจึงมิใช่เพียง “ประคับประคอง” เท่านั้น แต่จะสร้างให้คนจีน “แข็งแรง” ถ้วนหน้า “มั่งคั่งร่วมกัน” (ก้งถงฟู่อวี้) เพื่อให้สังคมจีนแตกต่างไปจากสังคมทุนนิยม

หลายร้อยปีมาแล้ว ที่กลุ่มประเทศทุนนิยมสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตนเอง โดยโยนความยากจนให้แก่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แม้แต่ในประเทศตน ก็ยังแบ่งเป็นสองขั้ว คือขั้วของคนรวยกระจุกเดียว กับขั้วของคนจนที่กระจายกันอยู่ทั่วไป

กลายเป็นสังคมที่ขัดแย้งกันระหว่าง “คน 1%” กับ “คน 99%”

ประเทศจีน “มาทีหลัง” จึงสรุปบทเรียนของประเทศทุนนิยม และตั้งเป้าไว้เลยว่า ถึงที่สุดแล้ว ประเทศจีนนี่แหละ จะก้าวผ่านยุคแห่งการแยกขั้ว เข้าสู่สังคม “กลมกลืน” ที่คนจีนทุกระดับชั้น สามารถดำรงชีวิตร่วมกันได้ด้วยดี โดยไม่แยกเป็นสองขั้วที่ขัดแย้งกัน

ในทัศนะของผู้เขียน โดยภาพรวม นับตั้งแต่ยุคเหมาเจ๋อตง (ผู้นำพรรครุ่นที่ 1) พรรคและรัฐบาลจีนได้ปรับแนวคิด ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี การพัฒนาประเทศมาโดยตลอด จนกระทั่งได้ข้อสรุปชัดเจนว่า จีนจะสามารถผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกได้ด้วยการ “พัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์” โดยการกระตุ้นศักยภาพจากภายในเป็นสำคัญ

การแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างศักยภาพภายใน ที่มีนัยสำคัญทางยุทธศาสตร์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการสร้างแสนยานุภาพทางการทหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น