xs
xsm
sm
md
lg

การตกจากอำนาจของ‘ป๋อซีไหล’กับการปฏิรูปในจีน (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: อู่ จง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

A brush with reform
By Wu Zhong
03/04/2012

การตกลงจากอำนาจของ ป๋อ ซีไหล ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นนายใหญ่ผู้ทรงอำนาจอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขามหานครฉงชิ่ง กลายเป็นการเคลื่อนย้ายสิ่งที่น่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งซึ่งขวางกั้นไม่ให้นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ทำตามคำมั่นสัญญาในการปฏิรูปทางการเมือง ทั้งนี้มีการพูดจากันกระทั่งเรื่องการผลักดันให้มีการประเมินทบทวนกันใหม่ เกี่ยวกับกรณีการกวาดล้างปราบปรามขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในจัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ฮ่องกง – ระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ นายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ของจีน ได้ออกมาเรียกร้องสนับสนุนเรื่องการดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองอยู่เสมอ ทว่าเขาก็มักถูกหัวเราะเยาะเย้ยว่า “ดีแต่พูด” โดยปราศจากการลงมือทำอย่างแท้จริงใดๆ

อย่างไรก็ดี ในที่สุดแล้วก็ดูเหมือนว่ากำลังบังเกิดความเปลี่ยนแปลงอันละเอียดอ่อนบางอย่างบางประการไปในทิศทางแห่งกระเบวนการเปิดเสรีทางการเมืองขึ้นมา ภายหลังจากการตกลงจากอำนาจของ ป๋อ ซีไหล ผู้ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและเป็นผู้ให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่พวกฝ่ายซ้ายใหม่หรือพวกอนุรักษนิยมซึ่งต่อต้านการปฏิรูป

ป๋อ ถูกปลดออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาฉงชิ่ง อันเป็นมหานครที่มีฐานะเทียบเท่ามณฑล ซึ่งตั้งอยู่ในดินแดนตอนในทางภาคตะวันตกของประเทศ เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จวบจนถึงวันที่เขียนบทความนี้ เขายังคงสามารถรักษาฐานะการเป็น 1 ใน 25 สมาชิกของคณะกรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคเอาไว้ได้ (ต่อมาในวันที่ 10 เมษายน ป๋อ ก็ถูกสั่งพักสมาชิกภาพทั้งในคณะกรรมการกรมการเมือง และกระทั่งในคณะกรรมการกลางพรรค –หมายเหตุผู้แปล)

ในปฏิทินทางจันทรคติของจีนนั้น เทศกาลชิงหมิง (ในประเทศไทยรู้จักกันด้วยชื่อเรียกเป็นภาษาแต้จิ๋วว่า เทศกาลเช็งเม้ง --หมายเหตุผู้แปล) ซึ่งปกติแล้วในแต่ละปีจะอยู่ในราววันที่ 4 หรือ 5 เมษายน ถือเป็นช่วงวันหยุดตามประเพณีสำหรับให้ผู้คนไปแสดงความเคารพกราบไหว้สมาชิกผู้วายชนม์ในครอบครัวตลอดจนบรรพบุรุษของพวกตน แต่ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เช็งเม้ง ซึ่งยังเป็นที่รู้จักเรียกขานกันว่าเป็นเทศกาลกวาดสุสานนั้น ได้กลายเป็นช่วงวันหยุดที่เต็มไปด้วยความอ่อนไหวในทางการเมือง

ทั้งนี้ในวันเช็งเม้งของปี 1976 ประชาชนเป็นแสนๆ คนได้พากันหลั่งไหลเข้าไปในจัตุรัสเทียนอันเหมินของกรุงปักกิ่ง เพื่อแสดงความโศกเศร้าไว้อาลัยอดีตนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ผู้เพิ่งถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อ 3 เดือนก่อนหน้านั้น และได้ถูกประณามโจมตีจาก “แก๊งสี่คน” ที่นำโดย เจียง ชิง ภรรยาของ เหมา เจ๋อตง

เหมา ซึ่งเป็นผู้นำของประเทศนับตั้งแต่ปี 1949 จวบจนกระทั่งเขาถึงแก่อสัญกรรมในปี 1976 ได้ตราหน้าพวกที่ออกมาประท้วงวันเช็งเม้งคราวนั้นว่าเป็น “พวกปฏิปักษ์ปฏิวัติ” และออกคำสั่งให้ทำการปราบปรามกวาดล้าง เติ้ง เสี่ยวผิง –ผู้ซึ่งในเวลาต่อมาจะกลายเป็นผู้นำสูงสุดของจีนในช่วงตั้งแต่ปี 1978 ถึง 1992—ก็ถูกกำจัดไปด้วย โดยถูกกล่าวหาว่าเป็น “มือมืด” ที่อยู่เบื้องหลัง “เหตุการณ์เทียนอันเหมิน” ครั้งนั้น แต่ภายหลังจากการอสัญกรรมของ เหมา ในเดือนกันยายน 1976 เพียงไม่กี่ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ต้องพลิกคดีและกลับมาประเมินยืนยันกันใหม่ว่าการประท้วงครั้งนั้นไม่ได้เป็นความผิดอะไร อีกทั้งกลับมาเรียกว่าเป็น “ความเคลื่อนไหวปฏิวัติ” เช่นนี้เองก็เป็นการแผ้วถางทางให้แก่เติ้ง ในการหวนกลับคืนสู่อำนาจทางการเมืองเป็นครั้งที่สามและครั้งสุดท้ายของเขา

ในวันที่ 15 เมษายน 1989 ไม่นานนักภายหลังเทศกาลวันเช็งเม้ง หู เย่าปัง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเวลานั้นตกอับสูญเสียอำนาจอิทธิพลสืบเนื่องจากแนวความคิดแบบเปิดกว้างของเขา ได้ถึงแก่มรณกรรมลง ในวันรุ่งขึ้นก็เกิดการชุมนุมเดินขบวนขนาดเล็กๆ ขึ้นในปักกิ่งเพื่อแสดงการรำลึกไว้อาลัยเขา และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการประเมินทบทวนเกียรติประวัติของเขาเสียใหม่

อีก 1 สัปดาห์ต่อมา ในวันก่อนหน้าวันทำพิธีศพของ หู ได้มีนักศึกษาประมาณ 100,000 คนเดินขบวนไปยังจัตุรุสเทียนอินเหมิน และนำไปสู่การชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินที่ยืดเยื้ออยู่นานถึง 2 เดือน ก่อนจะยุติลงด้วยการที่ทางการเข้าปราบปรามกวาดล้างอย่างนองเลือดในวันที่ 4 มิถุนายน เจ้า จื่อหยาง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลานั้น ซึ่งเห็นกันว่าเป็นพวกที่ต้องการให้ดำเนินการปฏิรูป ก็ได้ถูกกวาดล้างลงจากอำนาจไปสืบเนื่องจากแสดงความอดทนอดกลั้นต่อการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยคราวนั้น และแทนที่โดย เจียง เจ๋อหมิน ซึ่ง เติ้ง เป็นผู้คัดเลือกมาด้วยมือตนเอง

นับตั้งแต่นั้นมา พวกเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทั้งหลายจึงต่างเพิ่มความเตรียมพร้อมเพิ่มความระมัดระวังเมื่อถึงเทศกาลเช็งเม้ง ด้วยความหวาดผวาว่าอาจจะเกิดการชุมนุมประท้วงขึ้นมาอีก ขณะที่ชื่อของ เจ้า จื่อหยาง ก็กลายเป็นนามต้องห้าม ไม่มีการเอ่ยอ้างหรือพูดพาดพิงถึงในที่สาธารณะ

สำหรับวันเช็งเม้งในปีนี้ตรงกับวันที่ 4 เมษายน ก่อนจะถึงเทศกาลดังกล่าว ได้มีเว็บไซต์จำนวนหนึ่งอุทิศพื้นที่ให้แก่การรำลึกไว้อาลัย เจ้า จื่อหยาง เว็บไซต์เหล่านี้ปรากฏขึ้นมาในเมืองใหญ่ๆ หลายแห่ง เป็นต้นว่า ปักกิ่ง, เสิ่นหยาง, หางโจว, และ เหอเฟย โดยที่ไม่ได้ถูกบล็อกถูกสกัดกั้นจาก “ตำรวจอินเทอร์เน็ต”

ชาวเน็ตสามารถที่จะเข้าไปตามเว็บไซต์เหล่านี้และโพสต์ข้อความแสดงความอาลัยและยกย่องสรรเสริญ เจ้า ได้อย่างเสรี แม้กระทั่งข้อความที่เรียกร้องให้พลิกคดีคืนความชอบธรรมและฟื้นฟูฐานะของ เจ้า ขึ้นมาใหม่ รวมทั้งเรียกร้องให้ดำเนินการปฏิรูปทางการเมือง ก็ไม่ได้ถูกลบทิ้ง นอกจากนั้นยังมีผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ได้เริ่มไปเยือนหมู่บ้านเกิดของ เจ้า ในอำเภอหวาเซี่ยน (Huaxian) ในมณฑลเหอหนาน ซึ่งอยู่ทางภาคกลางของประเทศ โดยที่ไม่ได้ถูกขัดขวางจากพวกเจ้าหน้าที่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของพวกสื่อมวลชนในฮ่องกง [1]

ในเว็บไซต์เสิร์ชเอนจินภาษาจีนรายใหญ่ๆ ขณะนี้การค้นหาคำว่า “เจ้า จื่อหยาง” ก็ไม่ได้ถูกบล็อกอย่างสิ้นเชิงแล้ว (อย่างน้อยที่สุดก็จวบจนกระทั่งถึงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา) ในเว็บไซต์ ไป่ตู้ (Baidu.com) อันเป็นเสิร์ชเอนจินรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ถ้าค้นหาด้วยการพิมพ์ชื่อของ เจ้า เท่านั้น ก็จะมีข้อมูลประมาณ 1 ล้านเพจปรากฏขึ้นมา รวมทั้งคำปราศรัยจำนวนมากของเขาด้วย (ถึงแม้ยังมีข้อมูลบางอันที่ยังคงถูกสกัดกั้นอยู่)

พวกนักวิเคราะห์การเมืองชาวจีนจำนวนมากทีเดียวบอกว่า เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าปักกิ่งต้องการทดสอบประเมินสถานการณ์ ก่อนที่จะผลักดันเดินหน้ากระบวนการเปิดเสรีทางการเมืองให้มากขึ้นไปอีก ความคิดเช่นนี้ของพวกเขาที่สำคัญแล้วเนื่องจากมองว่า เจ้า เป็นผู้ที่เรียกร้องสนับสนุนอย่างหนักแน่นมั่งคงให้ดำเนินการปฏิรูปทางการเมือง ดังนั้นการพลิกคดีคืนความชอบธรรมให้แก่เขาโดยที่มีฉันทามติจากสาธารณชนรองรับ ย่อมจะทำให้ง่ายขึ้นมากสำหรับการเริ่มต้นดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองต่างๆ

อย่างไรก็ดี มีนักวิเคราะห์อื่นๆ บางคนกล่าวเตือนว่าอย่าตีความแปลความหมายของการผ่อนคลายเช่นนี้จนเลิกเถิด พวกเขาบอกว่าบางทีอาจจะเป็นเพราะช่วงเวลานี้เป็นเทศกาลเช็งเม้งเท่านั้นเอง ถึงแม้พวกเขายังไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมในคราวเทศกาลเช็งเม้งปีก่อนๆ จึงไม่ได้มีการผ่อนคลายการควบคุมเช่นนี้บ้าง

มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า การผ่อนคลายการควบคุมอินเทอร์เน็ตดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นเพียงไม่นานนักหลังจากที่ นายกฯเวิน ได้กล่าวย้ำว่า จีนไม่เพียงต้องดำเนินการปฏิรูปทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังต้องทำการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูประบบคณะผู้นำของพรรคอมมิวนิสต์จีนและของรัฐบาลแดนมังกร

เวินกล่าวเตือนเรื่องนี้ระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในวันที่ 14 มีนาคม ภายหลังการประชุมประจำปีของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (รัฐสภาจีน) เสร็จสิ้นลง และก่อนที่จะมีการแถลงข่าวการถอด ป๋อ ออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคสาขาฉงชิ่ง 1 วัน คำพูดที่เขาใช้ในเรื่องนี้ก็คือ “การปฏิรูปต่างๆ ของจีนในเวลานี้กำลังมาถึงขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ... ถ้าหากไม่ดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองจนประสบความสำเร็จแล้ว มันก็เป็นไปไม่ได้สำหรับจีนที่จะทำให้การปฏิรูปทางเศรษฐกิจขึ้นถึงระดับกลายเป็นสถาบันอย่างเต็มที่ และดอกผลที่พวกเราได้รับอยู่ในปริมณฑลเหล่านี้ก็อาจจะสูญเสียไป และปัญหาใหม่ๆ ที่ปะทุขึ้นในสังคมจีนก็จะไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงขั้นรากฐาน และโศกนาฏกรรมในประวัติศาสตร์ทั้งหลาย อย่างเช่นการปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม (ปี 1966 ถึงปี 1976 –หมายเหตุของผู้เขียน) ก็อาจจะบังเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในประเทศจีน”

เวินบอกด้วยว่า เขาได้ออกมาพูดเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองในประเทศจีนมาหลายวาระหลายโอกาสมากในช่วงเวลาไม่กี่ปีหลังมานี้ อีกทั้งได้แสดงทัศนะของเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้อย่างละเอียดเต็มที่แล้ว เขากล่าวว่าการที่เขาให้ความสนใจกับเรื่องการปฏิรูปทางการเมืองมาอย่างยาวนานไม่พลิกผันเช่นนี้ สืบเนื่องมาจาก “ความสำนึกในความรับผิดชอบอย่างแรงกล้า” [2]

อีก 1 สัปดาห์ถัดมา หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์อันมีชื่อเสียงของอังกฤษ ได้รายงานเอาไว้ดังนี้

“ตามคำบอกเล่าของบุคคลผู้ใกล้ชิดกับเรื่องการอภิปรายถกเถียงกันในแวดวงระดับสูงภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน มิสเตอร์เวินมีความโน้มเอียงที่จะให้จัดเตรียมวางรากฐานสำหรับความเคลื่อนไหวที่จะกลายเป็นการยกเลิกระบบระเบียบที่ปักหลักมั่นคงอยู่ในจีนเวลานี้ และเริ่มต้นเดินหน้าการปฏิรูปทางการเมืองซึ่งเขาเฝ้าเรียกร้องเรื่อยมาในตลอดระยะหลายปีหลังมานี้

ความเคลื่อนไหวเช่นนั้นจะเป็นการฟื้นฟูความชอบธรรมและการทบทวนประเมินกันใหม่ ให้แก่กรณีการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 และการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นตามมาในวันที่ 4 มิถุนายน เมื่อพวกอาวุโสของพรรคสั่งการให้กองทัพปลดแอกประชาชนจีนเปิดฉากยิงใส่พวกผู้ชุมนุมประท้วงที่ปราศจากอาวุธ

จวบจนถึงวันนี้ พรรคยังคงถือว่าการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยคราวนั้น เป็น “การจลาจลที่เป็นปฏิปักษ์ปฏิวัติ” และเหตุการณ์ทั้งหมดในครั้งนั้นยังคงกำลังถูกขัดถูชะล้างอย่างอุตสาหะ เพื่อให้หลุดออกมาจากความสำนึกร่วมกันของประเทศชาติ

แท้ที่จริงแล้ว จากการออกมาพูดถึงเรื่องการทบทวนประเมินการปฏิวัติทางวัฒนธรรมกันใหม่ มิสเตอร์เวินก็กำลังส่งสัญญาณแสดงเจตนารมณ์ของเขาที่จะกระทำอย่างเดียวกันกับกรณีเทียนอันเหมิน เพื่อที่จะได้เริ่มต้นกระบวนการเยียวยากันได้ในที่สุด

มิสเตอร์เวินได้บ่งบอกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้วในวาระโอกาสต่างๆ 3 วาระด้วยกัน ในระหว่างการประชุมหารือลับในแวดวงระดับสูงของพรรคครั้งต่างๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของบุคคลผู้คุ้นเคยกับเรื่องนี้ แต่ทว่าแต่ละครั้งที่เขาพูด ก็ล้วนถูกขัดขวางโดยพวกเพื่อนร่วมงานของเขา

หนึ่งในผู้ที่คัดค้านข้อเสนอนี้อย่างหนักหน่วงรุนแรงที่สุด ก็คือ ป๋อ ซีไหล” [3]

**หมายเหตุ**
1. รายงานข่าวเรื่องนี้ที่เป็นภาษาจีน ก็มีดังเช่น http://china.dwnews.com/news/2012-03-26/58674283.html
2. Wen says China needs political reform, warns of another Cultural Revolution if without, Xinhua, Mar 14, 2012.
3. Wen lays ground for Tiananmen healing, Financial Times, Mar 20, 2012.

อู่ จง เป็นบรรณาธิการด้านจีนของเอเชียไทมส์ออนไลน์
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น