xs
xsm
sm
md
lg

การตกจากอำนาจของ‘ป๋อซีไหล’กับการปฏิรูปในจีน (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: อู่ จง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

A brush with reform
By Wu Zhong
03/04/2012

การตกลงจากอำนาจของ ป๋อ ซีไหล ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นนายใหญ่ผู้ทรงอำนาจอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขามหานครฉงชิ่ง กลายเป็นการเคลื่อนย้ายสิ่งที่น่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งซึ่งขวางกั้นไม่ให้นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ทำตามคำมั่นสัญญาในการปฏิรูปทางการเมือง ทั้งนี้มีการพูดจากันกระทั่งเรื่องการผลักดันให้มีการประเมินทบทวนกันใหม่ เกี่ยวกับกรณีการกวาดล้างปราบปรามขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในจัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

นายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ได้เคยเสนออย่างเป็นทางการให้มีการทบทวนประเมินกรณีการปราบปรามกวาดล้างผู้ชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในวันที่ 4 มิถุนายน 1989 กันเสียใหม่ ต่อ “การประชุมหารือลับในแวดวงระดับสูงของพรรค” จริงตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ที่อ้างมาข้างต้นนี้หรือไม่ ยังไม่สามารถที่จะหาแหล่งข่าวอิสระอื่นๆ มายืนยันรับรอง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกือบจะแน่นอนอย่างไม่มีข้อสงสัยทีเดียวก็คือ ป๋อ ซีไหล จะต้องเป็นผู้ที่คัดค้านอย่างแข็งขันต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าว และต่อการดำเนินการปฏิรูปทางการเมือง

บิดาของ ป๋อ ซีไหล คือ ป๋อ อี้โป นักปฏิวัติผู้มีเกียรติประวัติโชกโชน และเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น 1 ใน “8 ผู้อมตะ” (eight immortals) ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990 กลุ่มผู้อาวุโสของพรรคเหล่านี้ในเวลานั้นมีแต่ตำแหน่งในทางกิตติมศักดิ์และไม่ได้นั่งเก้าอี้ที่ทรงอำนาจอย่างเป็นทางการใดๆ ทว่าในทางปฏิบัติแล้วพวกเขาคือผู้ที่ทำการปกครองประเทศอยู่หลังฉาก ทั้งนี้ประดาลูกหลานของพวกเขานั่นเองที่รู้จักเรียกขานกันในเมืองจีนว่า “พวกลูกท่านหลานเธอ” (princelings)

กล่าวกันว่า เติ้ง เสี่ยวผิง ที่เป็นผู้นำของ “8 ผู้อมตะ” เป็นผู้ที่เรียกร้องรบเร้าให้ผู้อาวุโสคนอื่นๆ ตัดสินใจดำเนินการกำจัด หู เย่าปัง และ เจ้า จื่อหยาง ให้ตกจากอำนาจ และต่อมาภายหลังจากการปราบปรามกวาดล้างในวันที่ 4 มิถุนายนแล้ว มีรายงานข่าวหลายกระแสในเวลานั้นซึ่งเป็นข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยัน ว่า พวกผู้อาวุโส “8 ผู้อมตะ” ได้เห็นพ้องบรรลุฉันทามติอย่างลับๆ เกี่ยวกับข้อเสนอประการหนึ่งที่เสนอขึ้นมาโดย หวัง เจิ้น ผู้เป็นรองประธานาธิบดีของประเทศอยู่ในเวลานั้น ฉันทามติที่เล่าลือกันนี้ระบุว่า จะเปิดทางให้พวกลูกท่านหลานเธอ ค่อยๆ เข้าไปยึดครองตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งภายในพรรคและในรัฐ มีรายงานข่าวที่อ้างว่า หวัง ได้พูดในตอนนั้นว่า “ถึงยังไงพวกลูกหลานของพวกเราเอง ก็เป็นทายาทที่เชื่อถือไว้วางใจได้มากกว่า สำหรับการสืบทอดสิ่งที่พวกเราได้อุตส่าห์มานะพยายามต่อสู้กันมา” ทั้งนี้เมื่อสรุปบทเรียนจากกรณีของ หู และ เจ้า ถ้าหากข้อตกลงดังกล่าวนี้มีอยู่จริงๆ การที่ ป๋อ ซีไหล ผงาดขึ้นมาแบบดาวรุ่งพุ่งแรง ก็น่าจะสามารถบอกได้ว่าเป็นผลมาจากฉันทามติของพวกผู้อาวุโสในครั้งนั้น

ถึงแม้ทั้ง ป๋อ ซีไหล และบิดาของเขา ต่างก็ได้รับความเจ็บปวดทนทุกข์จากความเกินเลยต่างๆ ของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม แต่ในระหว่างที่เขาปกครองบริหารมหานครฉงชิ่งนั้น ป๋อ ยังคงแสวงหาทางที่จะหวนย้อนคืนไปสู่วันเวลาแห่ง “การเคารพบูชา” เหมา เจ๋อตง เป็นต้นว่า ด้วยการเปิดการรณรงค์ปลุกระดมมวลชนอย่างใหญ่โตครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งเพื่อการกวาดล้างปราบปรามพวกแก๊งอาชญากรรม และเพื่อการร้อง “เพลงแดง” (บรรยากาศของ “การร้องเพลงแดง” ในฉงชิ่งในยุคการปกครองของ ป๋อ นี้ ไม่ได้แตกต่างอะไรมากมายนักจากการร้องเพลงแดงในยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม) ตลอดจนการนำเอาหลักการบางอย่างของลัทธิสังคมนิยมมาใช้ปฏิบัติ โดยเฉพาะในเรื่องการหาทางทำให้เกิด “ความเจริญมั่งคั่งร่วมกัน” ขึ้นมา

ไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยที่ ป๋อ จะได้รับการยอมรับนับถือจากพวกซ้ายใหม่ ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในหมู่ปัญญาชนชาวจีน ที่เรียกร้องสนับสนุนให้หวนกลับไปสู่ลัทธิสังคมนิยม ถึงขนาดที่ ป๋อ ถูกมองว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของพวกเขา นอกจากนั้น เวลานี้สามารถที่จะยืนยันได้อย่างหนักแน่นแล้วด้วยซ้ำไปว่า ป๋อ ได้นำเอาเงินทุนสาธารณะของฉงชิ่ง ไปใช้จ่ายสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของพวกซ้ายใหม่เหล่านี้

ข่ง ชิงตง ปัญญาชนฝ่ายซ้ายใหม่ผู้ดื้อรั้นดันทุรังคนหนึ่ง และก็เป็นศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้ออกมาประณามการปลด ป๋อ อย่างเปิดเผย โดยกล่าวว่าเป็น “การรัฐประหารที่เป็นปฏิปักษ์ปฏิวัติ” รวมทั้งเขายังได้เขียนยอมรับเอาไว้ในมินิบล็อกของเขาเมื่อวันที่ 24 มีนาคมว่า เขาได้รับเงินจำนวน 1 ล้านหยวน (ราว 5 ล้านบาท) จากรัฐบาลท้องถิ่นของฉงชิ่ง เพื่อดำเนินการโปรโมตส่งเสริมสิ่งที่เรียกกันว่า “ฉงชิ่ง โมเดล” (Chongqing Model) ข่ง ถูกตำรวจลับจับกุมตัวไปสอบสวนภายหลังที่ ป๋อ ตกลงจากอำนาจ แต่ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระในอีก 5 วันต่อมาหลังจากที่เขายอมคืนเงินที่ได้รับมาดังกล่าว

ชาวเน็ตจีนเวลานี้ได้ระบุตัวออกชื่อพวกซ้ายใหม่คนอื่นๆ อีกอย่างน้อย 20 กว่าคน ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่าได้รับเงินทองจาก ป๋อ เพื่อช่วยโฆษณาชวนเชื่อเผยแพร่สนับสนุน “ฉงชิ่ง โมเดล” แต่ข้อกล่าวหาเหล่านี้ยังมิได้รับการยืนยัน

มันจะต้องเป็นเรื่องแปลกประหลาดมากถ้าหากบุคคลเฉกเช่น ป๋อ ซีไหล ให้การสนับสนุนการทบทวนประเมินกรณีการปราบปรามกวาดล้างในวันที่ 4 มิถุนายนกันใหม่ หรือเห็นด้วยกับกระบวนการเปิดเสรีทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ การที่เขาถูกปลดจึงเท่ากับการเคลื่อนย้ายอุปสรรคใหญ่ประการหนึ่งซึ่งคอยกีดขวางความเป็นไปได้ที่จะมีการพลิกคดี 4 มิถุนายน ตลอดจนการปฏิรูปทางการเมืองนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ป๋อ เป็นเพียงเครื่องกีดขวางอันใหญ่ที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น บนเส้นทางอันขรุขระยากลำบากที่จะต้องก้าวดุ่มเดินกันต่อไปอีก เพื่อให้เกิดการทบทวนประเมินกรณี 4 มิถุนายนกันใหม่ให้สำเร็จ แถมยังมีเครื่องกีดขวางแบบแอบซ่อนไม่ให้มองเห็นกันได้ง่ายๆ อีกด้วย ดังนั้น การผ่อนคลายการควบคุมประชาชนในเรื่องการแสดงความอาลัย เจ้า จื่อหยาง อาจจะถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ทว่ายังคงต้องเดินกันไปอีกไกลทีเดียว

พวกผู้นำปลดเกษียณแล้วบางคน ซึ่งก้าวผงาดขึ้นมาภายหลังการปราบกรามกวาดล้างคราวนั้น เป็นต้นว่า เจียง เจ๋อหมิน, หรือ อดีตนายกรัฐมนตรี หลี่ เผิง ผู้ซึ่งยังคงมีอิทธิพลบารมีอยู่ไม่ใช่น้อยๆ อาจจะไม่รู้สึกยินดีเลยที่จะเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นมา แม้กระทั่งพวกเจ้าหน้าที่พรรคคนสำคัญๆ หลายๆ คนก็ยังยอมรับว่า อุปสรรคเครื่องกีดขวางการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่สำคัญมากประการหนึ่ง ก็คือ ประดากลุ่มที่มีผลประโยชน์ผูกติดกับระบบเดิมอย่างเหนียวแน่น กลุ่มเหล่านี้มีทั้งที่อยู่ภายในและที่อยู่ภายนอกกลุ่มครองอำนาจทางการเมืองในปัจจุบัน

หวัง หยาง เลขาธิการพรรคสาขามณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นพวกหัวปฏิรูป และได้รับการคาดหมายกันมากว่าจะได้เลื่อนขั้นไปเป็น 1 ใน 9 สมาชิกของคณะกรรมการประจำกรมการเมือง อันเป็นองค์กรแกนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ชี้เอาไว้ในระหว่างการประชุมประจำปีของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า แรงต่อต้านคัดค้านไม่ให้ดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ อย่างลงลึกมากขึ้นนั้น บ่อยครั้งทีเดียวมักมาจากพวกหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลส่วนกลางที่มีผลประโยชน์ผูกพันแน่นหนาอยู่กับระบบเก่าและระเบียบปฏิบัติแบบเก่า

“เวลานี้วิสาหกิจต่างๆ กำลังประสบความยากลำบาก พวกเรา [รัฐบาลท้องถิ่นมณฑลกวางตุ้ง] กำลังพิจารณาที่จะยกเลิกการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของฝ่ายบริหารบางอย่างไปเสีย แต่ปรากฏว่าพวกหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลกลางบอกว่า พวกคุณจะเป็นผู้นำเดินหน้าในเรื่องนี้ไม่ได้น่ะ ไม่ยังงั้นมณฑลอื่นๆ ก็จะทำตามบ้าง แล้ว ‘เราจะไปหาเงินจากที่ไหนกันล่ะ’?” หวังกล่าวพร้อมกับชี้ด้วยว่า กฎหมายและระเบียบกฎเกณฑ์บางอย่างที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็ได้กลายเป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งที่คอยขัดขวางการเดินหน้าปฏิรูปต่อไป

การเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายและระเบียบกฎเกณฑ์ดังกล่าวเหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ แต่ปรากฏว่าสภาแห่งนี้กลับกำลังกลายเป็นสภาตัวแทนของกลุ่มต่างๆ ที่มีผลประโยชน์แนบแน่นกับระบบเก่าไปเสียแล้ว [4]

ปัจจุบัน หวัง หยาง เป็น 1 ใน 25 สมาชิกของคณะกรรมการกรมการเมือง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่ใช่เล็กๆ เลย ถ้าหากกระทั่งเขาเองยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากลำบากที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในกวางตุ้ง --ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองบริหารของเขาอย่างชอบธรรม และเป็นมณฑลที่มักเป็นหัวหอกในการปฏิรูปและการเปิดประตูด้านต่างๆ เสมอมา—ก็ไม่ยากเย็นเลยที่จะจินตนาการได้ว่าแรงต่อต้านคัดค้านการเปลี่ยนแปลงในส่วนอื่นๆ ของประเทศจีนในทุกวันนี้จะรุนแรงแข็งแกร่งขนาดไหน และทั้งหมดที่เขาต้องการทำในขณะนี้ก็คือการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทางเศรษฐกิจหรือทางการบริหารบางอย่างบางประการเท่านั้นเอง –ยังไม่ใช่การปฏิรูปทางการเมืองอย่างแท้จริงด้วยซ้ำไป

เวิน เจียเป่า อาจมีความจริงใจและกระหายที่จะผลักหันให้เกิดการปฏิรูปทางการเมือง นอกจากนั้นเขายังอาจได้รับความสนับสนุนจากประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ดังที่ผู้คนจำนวนมากในประเทศจีนเชื่อกันอยู่ ทว่าเขากำลังจะปลดเกษียณภายในเวลาไม่ถึง 1 ปีข้างหน้านี้แล้ว เขาอาจจะไม่มีเวลาสำหรับการเริ่มต้นกระบวนการดังกล่าวนี้

อย่างไรก็ดี ด้วยการพูดถึงประเด็นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เขาก็ดูจะประสบความสำเร็จในการดึงความสนใจของสาธารณชนมาสู่เรื่องนี้ หลังจากการปลด ป๋อ การอภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับการปฏิรูปทางการเมืองก็ดูเหมือนเป็นไปอย่างเสรีมากทีเดียว แม้กระทั่งกลายเป็นแฟชั่นอินเทรนด์ไปเลย ไม่ว่าในสื่อต่างๆ ของแดนมังกรหรือในหมู่ประชาชนชาวจีน

มองจากแง่มุมนี้แล้ว บรรยายกาศอันเอื้ออำนวยจึงกำลังถูกสร้างขึ้นมา เพื่อให้คณะผู้นำชุดใหม่ประกาศรับรอง ในระหว่างการประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศครั้งที่ 18 ในเดือนตุลาคมนี้ และเริ่มต้นเดินหน้าดำเนินการเปลี่ยนแปลงบางอย่างบางประการ

แน่นอนทีเดียวว่า นี่จะกลายเป็นความท้าทายอันหนักหน่วงอย่างแรกสำหรับคณะผู้นำชุดใหม่ที่คงจะนำโดย สี จิ้นผิง และ หลี่ เค่อเฉียง ซึ่งได้รับการคาดหมายกันอย่างกว้างขวางทั่วไปว่า พวกเขาจะเข้าสืบทอดรับช่วงต่อจาก หู และ เวิน ในตำแหน่งประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ

**หมายเหตุ**

4. NPC: A house of non-representatives, Asia Times Online, Mar 13, 2012.

อู่ จง เป็นบรรณาธิการด้านจีนของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น