xs
xsm
sm
md
lg

ต้นสายปลายแหตุของข่าวลือรัฐประหารในจีน (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: อู่ จง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Rumor over substance
By Wu Zhong
27/03/2012

การปลด ป๋อ ซีไหล ออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขามหานครฉงชิ่ง ตลอดจนความสงสัยข้องใจเกี่ยวกับความจงรักภักดีที่ดูสับสนโอนเอนไปมาของ โจว หย่งคัง ผู้มีอำนาจอิทธิพลสูงลิ่วโดยเป็น 1 ใน 9 สมาชิกของคณะกรรมการประจำกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เหล่านี้คือเชื้อเพลิงชั้นดีที่ทำให้ข่าวลือโหมฮือแพร่สะพัดไปอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ประเทศจีนตามประเพณีแต่ไหนแต่ไรมา เรื่องราวการวางแผนกลอุบายต่อสู้กันของพวกชนชั้นนำผู้กุมอำนาจนั้น ย่อมจะถูกปกปิดขีดวงไม่ให้กระจายออกมาภายนอก และถึงแม้ปักกิ่งคุยเอาไว้ว่าเวลานี้มีความโปร่งใสยิ่งขึ้นกว่าในอดีตแล้ว ทว่านั่นก็เป็นเพียงคำกล่าวอ้างที่ว่างเปล่ากลวงในเท่านั้น

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

โดยทางการแล้ว ป๋อ ซีไหล ถูกปลดออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคสาขาฉงชิ่ง สืบเนื่องจากความโยงใยเกี่ยวข้องระหว่างเขากับบุรุษผู้เป็นมือขวาของเขา นั่นคือ หวัง ลี่จิว์น รองนายกเทศมนตรีและอดีตผู้บัญชาการตำรวจของมหานครแห่งนั้น ทั้งนี้ หวัง ได้กระทำสิ่งที่สร้างผลสะท้านสะเทือนอันใหญ่หลวง ด้วยการเดินเข้าไปในสถานกงสุลสหรัฐฯประจำเมืองเฉิงตู (Chengdu) เมืองหลวงของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ที่เป็นเพื่อนบ้านของฉงชิ่ง (อันที่จริงแล้ว ก่อนที่จะแยกตัวออกมาเป็นมหานครที่มีฐานะเทียบเท่ากับมณฑลและขึ้นกับส่วนกลางโดยตรงในปี 1997 ฉงชิ่งก็เคยอยู่ใต้การปกครองของเสฉวนมาก่อน -ผู้แปล) และพยายามที่จะขอลี้ภัยทางการเมือง ถึงแม้จะประสบความล้มเหลวก็ตามที

จวบจนถึงเวลานี้ยังไม่มีรายงานข่าวว่า ป๋อ ถูกปลดออกจากตำแหน่งสมาชิกของคณะกรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทว่าก็ไม่เป็นที่ทราบกันเลยเหมือนกันว่าเขาถูกควบคุมตัวหรือพำนักอยู่ที่ไหนกันแน่ ป๋อ ยังอาจถูกกำจัดกวาดล้างด้วยเหตุผลอย่างอื่นๆ เป็นต้นว่า ทุจริตคอร์รัปชั่น หรือสืบเนื่องจากพฤติการณ์ของเขาในมหานครฉงชิ่ง

นอกจากนั้น กรณีของ หวัง ก็ยังมีเงื่อนงำเป็นปริศนาเช่นเดียวกัน เป็นต้นว่า เขาวางแผนการที่จะแปรพักตร์ทรยศไปอยู่กับอเมริกาจริงหรือเปล่า?

ตราบใดที่คำถามดังกล่าวเหล่านี้ยังคงไม่ได้รับคำตอบ ข่าวลือกระซิบกระซาบเกี่ยวกับ ป๋อ และ หวัง ก็ย่อมจะเริ่มเกิดขึ้นมาใหม่และแพร่กระจายออกไปได้อย่างง่ายดาย

ป๋อ นั้นเป็นพวกที่ในเมืองจีนเรียกกันว่า “ลูกท่านหลานเธอ” (princeling) นั่นคือเป็นลูกหลานของนักปฏิวัติอาวุโส นอกจากนั้นครั้งหนึ่งเขาก็เคยเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงทางการเมืองคนหนึ่ง ดังนั้น เขาจึงต้องมีผู้ที่ให้ความเห็นอกเห็นใจและให้ความสนับสนุนเขาอยู่ภายในศูนย์กลางอำนาจ ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่สงสัยกันขึ้นมว่า ในหมู่ผู้นำระดับอาวุโสของพรรคอาจจะมีความคิดเห็นแตกแยกกันเกี่ยวกับเรื่องการปลดเขาออกจากตำแหน่ง

ผู้นำอาวุโสในศูนย์กลางอำนาจที่ถูกโยงใยกล่าวขวัญกันมากที่สุดผู้หนึ่งว่าเป็นพวกหนุนหลัง ป๋อ ก็คือ โจว หย่งคัง (Zhou Yongkang) 1 ใน 9 คณะกรรมการประจำกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรค โดยเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งก็คือเป็นผู้บังคับบัญชากำลังตำรวจ โจว เป็นคณะกรรมการประจำกรมการเมืองคนแรกที่เดินทางไปเยือนฉงชิ่ง เขายังกล่าวยกย่องชมเชยอย่างสูงต่อการรณรงค์ต่างๆ ของ ป๋อ ทั้งในเรื่องการปราบปรามกวาดล้างแก๊งอาชญกรรม และการขับร้อง “เพลงสีแดง” มีเสียงซุบซิบกันว่า ข่ง เถา (Kong Tao) ผู้เป็นลูกอุปถัมภ์ของ โจว นั้น เป็นเพื่อนสนิทของ หวัง และด้วยการต่อสายผ่านทาง หวัง นี่แหละ ที่ทำให้ ป๋อ กลายเป็นคนใกล้ชิดสนิทสนมกับ โจว ข่าวกระซิบกระซาบคาดเดากันเอาไว้เช่นนี้

พวกที่เชื่อในแนวทางนี้อ้างว่า ความพยายามที่จะ “ก่อการรัฐประหาร” ขึ้นในคืนวันที่ 19 มีนาคมนั้น ตัวการใหญ่คือ โจว ถึงแม้ไม่ได้มีการระบุชื่อของเขาออกมาก็ตามที (เรื่องนี้หากมองกันอย่างผิวเผินก็จะให้ความรู้สึกว่าอาจเป็นไปได้ เนื่องจาก โจว สามารถสั่งการบังคับบัญชาตำรวจได้ ทว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะ จงหนานไห่ Zhongnanhai ที่เป็นศูนย์กลางอำนาจของแดนมังกรในปัจจุบัน ได้รับการพิทักษ์รักษาอย่างแน่นหนาโดยกองทหาร ไม่ใช่โดยกำลังตำรวจ) นอกจากนั้นยังมีข้อเท็จจริงด้วยว่า ในวันที่ 19 มีนาคมนั้นเอง ปรากฏว่าโจวได้ไปเป็นประธานของการประชุมระดับชาติของพวกเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งกำลังพูดจาหารือกันในเรื่องวิธีการในการรักษาเสถียรภาพ

อีก 2 วันต่อมา มีข่าวลือปรากฏขึ้นอีกข่าวหนึ่งว่า โจว “กำลังถูกติดตามจับตาอย่างใกล้ชิด”

ถึงตอนนี้ปักกิ่งถูกบังคับให้ต้องแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ โดยที่การมุ่งขจัดข่าวลือในเรื่องนี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นเหตุผลบางส่วนของการตอบโต้นี้ ทั้งนี้สำนักข่าวซินหวา (Xinhua News Agency) ของทางการจีน ออกรายงานข่าวชิ้นหนึ่งในวันที่ 22 มีนาคมว่า โจวได้ส่งหนังสือฉบับหนึ่งไปถึงการประชุมว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่จัดขึ้นในมหานครเซี่ยงไฮ้ นอกเหนือจากถ้อยคำสำนวนแบบภาษาราชการแล้ว ในหนังสือฉบับนี้ของโจวยังได้กล่าวยกย่องสรรเสริญ “การนำอันถูกต้อง” ของศูนย์กลางอำนาจของพรรค “ที่นำโดยเลขาธิการใหญ่ หู จิ่นเทา” เอาไว้ด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขาได้รับโอกาสให้บอกกล่าวป่าวร้องจุดยืนของเขาให้เป็นที่ทราบทั่วกันว่า เขานั้นยืนอยู่ข้างเดียวกันกับ หู

ต่อจากนั้น โจว ยังได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ด้วยการเข้าร่วมในพิธีเปิดหลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับพวกเจ้าหน้าที่พรรคระดับภูมิภาคที่เป็นผู้รับผิดชอบด้านการบังคับใช้กฎหมาย โดยที่เขาได้ใช้โอกาสนี้กล่าวเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทั้งหลายทั้งปวงตลอดทั่วประเทศ “ยึดมั่นปฏิบัติตามแนวทาง” ของคณะผู้นำพรรคในส่วนกลาง “ในเรื่องทั้งหลายที่เกี่ยวกับหลักการ”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าหากตอนเริ่มแรกทีเดียว โจว เคยสงวนความเห็นหรือกระทั่งแสดงการคัดค้านการปลด ป๋อ (ซึ่งยังเป็นที่สงสัยเป็นอย่างมากว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่) เวลานี้ก็เป็นที่ชัดเจนแน่นอนแล้วว่า เขากำลัง “ยึดมั่นปฏิบัติตามแนวทาง” ของ หู “ในเรื่องทั้งหลายที่เกี่ยวกับหลักการ”

แท้จริงแล้ว กิจกรรมความเคลื่อนไหวของบรรดาผู้นำอาวุโสภายหลังที่มีการสั่งปลด ป๋อ ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นว่ามิได้มีการก่อรัฐประหารยึดอำนาจแต่อย่างใดทั้งสิ้น นายกฯเวินนั้นเดินทางไปตรวจราชการในมณฑลเหอหนาน (Henan) ระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคม หู ก็ออกจากปักกิ่งไปในวันที่ 25 มีนาคมเพื่อการตระเวนเยือนต่างประเทศเป็นเวลา 8 วัน หลิว เหยียนตง (Liu Yandong) สมาชิกอีกคนหนึ่งในคณะกรรมการกรมการเมืองพรรค มีรายงานว่าเดินทางไปเมืองเซินเจิ้น (Shenzhen) ในวันที่ 16 มีนาคม เพื่อคอยเฝ้าติดตามว่า เหลียง ชุนอิง (Leung Chun-ying) จะได้รับเลือกให้เป็นผู้บริหารสูงสุดคนใหม่ของฮ่องกงหรือไม่ ถ้าหากเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจขึ้นมา หรือแม้กระทั่งมีสัญญาณบ่งชี้ใดๆ ว่าอาจจะมีการรัฐประหารแล้ว พวกผู้นำเหล่านี้ก็น่าจะต้องอยู่ตั้งหลักกันในกรุงปักกิ่งโดยไม่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ดังกล่าวมานี้

คำพังเพยจีนกล่าวเอาไว้ว่า “ข่าวลือหยุดยั้งลงที่คนฉลาด” นี่อาจจะเป็นความจริง ทว่าในประเทศจีนนั้น ข่าวลือสามารถที่จะหยุดยั้งลง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ลดทอนน้ำหนักลงไปได้ ด้วยการทำให้เกิดความโปร่งใสทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น ถ้าหากสาธารณชนยังคงตกอยู่ในความมืดบอด ไม่รู้ไม่เข้าใจกลเม็ดกลอุบายความเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ เลย ข่าวลือย่อมปรากฏขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ประวัติศาสตร์ในอดีตของจีนเองก็เต็มไปด้วยเรื่องราวการก่อรัฐประหารยึดอำนาจภายในพระราชวัง ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงนิยมชมชอบอยู่แล้วที่จะพูดจาซุบซิบกันเกี่ยวกับการก่อการยึดอำนาจในพระราชวัง เมื่อใดก็ตามทีที่มีเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสถูกปลดถูกโยกย้ายโดยที่ไม่มีการแจกแจงแถลงข้อมูลอย่างเหมาะสมเพียงพอ

ในการประชุมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ภายหลังการปิดประชุมเต็มคณะประจำปีของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา เวินได้กล่าวเรียกร้องให้พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของมหานครฉงชิ่ง พิจารณาทบทวนและสรุปบทเรียนจากกรณี หวัง ลี่จิว์น “อย่างจริงจัง” ซึ่งนี่ก็เหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณประการหนึ่งว่า ป๋อ จะต้องพ้นตำแหน่งแน่ๆ

แต่ในขณะเดียวกัน เวินยังได้ให้คำมั่นว่าผลการสืบสวนสอบสวนกรณีนี้ จะมีการเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ “ในเรื่องเกี่ยวกับผลการสอบสวน และเกี่ยวกับวิธีการในการจัดการกับคดีนี้ จะต้องมีคำตอบแจ้งให้ประเชาชนรับทราบ และผลการสอบสวนก็ควรที่จะสามารถทนทานต่อการทดสอบของกฎหมายของของประวัติศาสตร์ได้” เขากล่าว [2]

เป็นที่หวังกันด้วยว่า คำถามที่ว่ากรณีของ ป๋อ จะมีการดำเนินการกันอย่างไรต่อไปนั้น ก็จะมีการตอบให้ประชาชนได้ทราบเช่นเดียวกัน

ตราบใดที่ยังไม่มีการชี้แจงอย่างเป็นที่น่าพอใจ ตราบนั้นโรงงานสร้างข่าวลือทั้งหลายก็ไม่น่าที่จะหยุดเดินเครื่องกันอย่างง่ายๆ

**หมายเหตุ**

2. Premier Wen presses Chongqing authorities to reflect on Wang Lijun incident, Xinhua, March 14, 2012.

อู่ จง เป็นบรรณาธิการด้านจีนของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น