xs
xsm
sm
md
lg

‘หูจิ่นเทา’ไป‘เกาหลี’สยบข่าวรัฐประหารในปักกิ่ง

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Hu in Korea, life goes on
By Francesco Sisci
27/03/2012

ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา เดินทางไปร่วมการประชุมในเกาหลีใต้เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในขณะที่มีข่าวลือแพร่สะพัดในปักกิ่ง นี่ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์อยู่ในตัวว่า รัฐบาลจีนยังคงกำลังเดินหน้าดำเนินกิจการงานของตนต่อไป และวิกฤตใดๆ ที่ปักกิ่งอาจจะเผชิญหรืออาจจะมิได้เผชิญเลยนั้น ในที่สุดก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว อย่างน้อยก็เท่าที่มองเห็นกันได้จวบจนถึงเวลานี้ แต่กระนั้นพวกนักแพร่กระจายข่าวลือที่มีเวลาใช้สอยอย่างเหลือเฟือ ก็สามารถที่จะหันเหไปหาหัวข้ออื่นๆ เป็นต้นว่า การเสียชีวิตเมื่อปลายปีที่แล้วของนักธุรกิจอังกฤษผู้มีนามว่า นีล เฮย์วูด โดยที่ในตอนนี้รัฐบาลอังกฤษกำลังออกมาขอร้องจีนดำเนินการสอบสวนให้กระจ่างชัดเจน

ปักกิ่ง – โรงงานแพร่กระจายข่าวลือในปักกิ่งทำงานอย่างหักโหมหนักหน่วงยิ่งในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นการเร่งทำงานอย่างชนิดที่ไม่ได้พบเห็นกันอีกเลยภายหลังจากเกิดการเดินขบวนครั้งใหญ่ครั้งแรกของพวกฝ่าหลุนกง ในวันที่ 25 เมษายน 1999 แล้ว นี่คือสัญญาณบ่งบอกว่า ภายในระบบกลไกอันลึกลับและสลับซับซ้อนของจงหนานไห่ –ศูนย์กลางแห่งอำนาจของจีนในปัจจุบัน อะไรบางอย่างที่สาหัสจริงจังกำลังบังเกิดขึ้นมา หรือกระทั่งได้บังเกิดขึ้นแล้วด้วยซ้ำไป

ข่าวลือที่สะพัดออกไปมีทั้งเรื่องการก่อการรัฐประหารยึดอำนาจ, กองทัพแข็งข้อไม่ยอมขึ้นต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน, แผนกโลบายที่จะเปลี่ยนตัวผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำสูงสุดคนต่อไปของจีนจาก สี จิ้นผิง ที่ถูกวางตัวเอาไว้แล้ว มาเป็น ป๋อ ซีไหล, และกระทั่งเสียงซุบซิบที่ว่า ป๋อ ซึ่งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ได้ถูกถอดออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขามหานครฉงชิ่ง มีความพยายามที่จะหลบหนีไปยังอเมริกา ในทำนองเดียวกับ หวัง ลี่จิว์น อดีตผู้ช่วยคนสนิทของเขา ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองนายกเทศมนตรีมหานครฉงชิ่ง ได้เคยพยายามหาทาง (แต่ประสบความล้มเหลว) ในการขอลี้ภัยทางการเมืองกับสถานกงสุลสหรัฐฯในเมืองเฉิงตู เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

มีการกระซิบกระซาบกันเกี่ยวกับเรื่องราวของ “แก๊ง 4 คน” แก๊งใหม่ ซึ่งเนื้อหารายละเอียดดูจะขัดแย้งกันเอง แก๊งใหม่ดังกล่าวนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่ตัว ป๋อ และ โจว หย่งคัง หัวหน้าใหญ่ผู้ควบคุมดูแลด้านความมั่นคงของจีนในปัจจุบัน เล่าขานกันว่าทั้งสองคนนี้ได้ถูกจับกุมตัวไปแล้ว หรือกำลังจะถูกจับกุมตัว หรืออะไรอย่างอื่นๆ อีกแล้วแต่จะเล่าลือจินตนาการกันไป สถานการณ์เช่นนี้ก็เหมือนกับการนำเอาเกมเก่าๆ แห่งการปล่อยข่าวทั้งจริงทั้งลวงออกมาเล่นกันอย่างอุตลุด ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนแล้ว เห็นจะได้แก่การที่คณะผู้นำระดับสูงสุดของจีนเกิดความแตกแยกกัน (หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ได้เคยเกิดความแตกแยกกันอยู่ระยะหนึ่ง) ในประเด็นที่ว่าจะจัดการอย่างไรกับป๋อ รวมทั้งการที่คณะผู้นำสูงสุดใช้ท่าทีปิดปากเงียบในช่วงขณะอันวิกฤตยิ่งยวดนี้

ในบรรยากาศอันอึมครึมเช่นนี้ เพียงแค่นำเอาถ้อยแถลงและคำพูดอย่างเป็นทางการต่างๆ มาคาดเดาและทำนายทายทักกัน ก็สามารถที่จะสร้างเรื่องราวหรือนิยายอันน่าสนใจหลายๆ เรื่องออกมาได้แล้ว เป็นต้นว่า ระหว่างที่ ป๋อ จัดการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งยังเป็นช่วงที่สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (รัฐสภาของจีน) กำลังเปิดประชุมเต็มคณะประจำปีกันอยู่นั้น เขาดูมีท่าทีเชื่อมั่นและท้าทาย อันเป็นอากัปกิริยาซึ่งดูเหมือนจะขัดแย้งกับการที่เขาถูกถอดออกจากตำแหน่งในสัปดาห์ถัดมา มีข่าวเล่าลือเวอร์ชั่นหนึ่งบอกว่า ป๋อ น่าจะไม่ได้รับอนุมัติให้จัดการแถลงข่าวพบปะกับสื่อมวลชนในคราวนั้นหรอก และภาพลักษณ์ความมั่นอกมั่นใจในตัวเองที่เขาพยายามสร้างขึ้นมาให้เห็น ก็เป็นสิ่งที่เลยล้ำออกนอกแนวทางของพรรคที่เขาควรจะต้องเคารพปฏิบัติตาม

เป็นไปได้ทีเดียวที่การแถลงข่าวครั้งนั้นอาจจะกลายเป็นการประทับตราตอกย้ำตราสุดท้ายให้แก่ชะตากรรมของ ป๋อ
เนื่องจากเขาไม่ได้มีท่าทีโอนอ่อนยินยอมที่จะสูญเสียตำแหน่งหน้าที่ของตัวเอง หรือพยายามเสาะแสวงหาหนทางต่างๆ เพื่อพาตัวเองให้หลุดพ้นจากสถานการณ์อันยากลำบากที่กำลังเผชิญอยู่ และบางทีนั่นจึงกลายเป็นการเร่งรัดให้เขาถูกถอดออกจากอำนาจ

เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่า 2 วันก่อนการจัดแถลงข่าวของป๋อ นั่นคือ ในวันที่ 8 มีนาคม เขาได้รับความสนับสนุนอย่างเปิดเผยจาก โจว หย่งคัง กล่าวคือ มีการเสนอข่าวว่า ในระหว่างที่กำลังประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติกันอยู่นั้น โจว ได้เดินทางไปเยี่ยมคณะผู้แทนของมหานครฉงชิ่งที่มาร่วมประชุม และแสดงความสนับสนุนมหานครแห่งนี้ ทั้งๆ ที่รัฐบาลท้องถิ่นรายนี้กำลังถูกสอบสวนอย่างเป็นทางการสืบเนื่องจากคดีของ หวัง ลี่จิว์น แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวเช่นนี้ทำให้เกิดการคาดเดากันและเกิดการเล่าลือกันอย่างออกรสออกชาติ มีเสียงกระซิบกระซาบกันอย่างหนาหูในปักกิ่งในเชิงตั้งคำถามว่า การเดินทางไปเยี่ยมคณะผู้แทนจากฉงชิ่งของ โจว เป็นสิ่งที่ได้รับอนุมัติรับรองอย่างชนิดสอดคล้องกับระเบียบวินัยอันเคร่งครัดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้วหรือ

สิ่งที่เล่าลือกันต่างๆ เหล่านี้ มีหลายๆ ส่วนทีเดียวที่หยิบยืมมาจากพวกทฤษฎีสมคบคิด ซึ่งพยายามโยงโย ป๋อ เข้ากับ โจว ตลอดจนสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมืองคนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง โดยตามทฤษฎีที่ซุบซิบกันระบุว่า บุคคลเหล่านี้เป็นฝ่ายที่ต่อต้านคัดค้านประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งก็คือ หู จิ่นเทา และว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไป ซึ่งคือ สี จิ้นผิง

มีความเป็นไปได้มากทีเดียวว่า เรื่องเล่าลือเหล่านี้เป็นการนำเอาสิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหลังฉากเป็นบางเสี้ยวบางส่วน มาประดิษฐ์สร้างให้กลายเป็นเวอร์ชั่นนิยายเร้าอารมณ์ไปเลย ถ้าหาก ป๋อ จัดการประชุมแถลงข่าวขึ้นมาโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องเป็นทางการจริงๆ แล้ว นี่ก็อาจถูกพิจารณาว่าเป็นพฤติการณ์แสดงความกระด้างกระเดื่อง ไม่ยอมปฏิบัติตามระเบียบวินัยอันเข้มงวดของพรรค และเป็นการกระทำที่ทำลายความสามัคคีเป็นเอกภาพของพรรค –ซึ่งเป็นความผิดแบบเดียวกับที่ เจ้า จื่อหยาง ได้เคยกระทำในปี 1989 นั่นเอง เพียงแต่ในคราวนี้ ระเบียบวินัยของพรรคอาจกำลังเอื้ออำนวยผลดีให้แก่ฝ่ายปฏิรูป ดังที่เห็นได้จากแนวทางนโยบายที่ดูเหมือนกำลังมีฐานะโดดเด่นชัดเจนขึ้นมาเรื่อยๆ ในปักกิ่งเวลานี้

ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความปั่นป่วนไม่ชัดเจนเช่นนี้ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างบางประการก็อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าขานกันอย่างเป็นตุเป็นตะ ตัวอย่างเช่น เฮ่อ กว๋อเฉียง (He Guoqiang) ประธานคณะกรรมาธิการวินัยของพรรค กล่าวเมื่อวันที่ 3 มีนาคม เกี่ยวกับสภาพอากาศที่แตกต่างกันระหว่างปักกิ่งกับฉงชิ่ง [1] นี่ก็ถูกบางฝ่ายตีความว่ามันจะต้องเป็นคำเตือนที่มุ่งตรงถึง ป๋อ นั่นเอง หรือ หนังสือพิมพ์เจี่ยฟ่างจวิน รื่อเป้า อันเป็นหนังสือพิมพ์ทางการของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ได้ตีพิมพ์บทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งในฉบับวันที่ 20 มีนาคม บทวิจารณ์นี้มีเนื้อหาเรียกร้องให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั้งมวล “คัดค้านและขจัด” ความไร้ระเบียบวินัย [2] บางพวกบางคนก็บอกว่า นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่ากำลังเกิดความไม่พอใจขึ้นภายในกองทัพ จึงต้องมีคำเตือนให้เร่งกลับไปอยู่ในแถว การถอดความให้ความหมายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยวิธีการเช่นนี้ บางทีอาจจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องก็ได้ ทว่าในสภาพแวดล้อมที่ร้อนระอุอยู่ในปัจจุบัน เรื่องที่คาดเดากันออกมาเหล่านี้ ดูจะได้รับความสำคัญเพิ่มขึ้นกว่าในยามปกติธรรมดา

ในระยะไม่กี่วันหลังๆ มานี้ แม้แต่การเสียชีวิตในนครฉงชิ่งเมื่อ 1 ปีก่อนของชายชาวอังกฤษผู้หนึ่ง ก็มีส่วนเพิ่มความสับสนซับซ้อนของสถานการณ์ ทั้งนี้ นีล เฮย์วูด (Neil Heywood) นักธุรกิจชาวอังกฤษผู้ถูกระบุว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องโยงใยอยู่กับ ป๋อ นั้น ได้เสียชีวิตลงในฉงชิ่งภายใต้สภาพการณ์อันลึกลับเป็นปริศนาในปีที่แล้ว แต่มาในเวลานี้ กำลังเกิดคำถามขึ้นมาว่า หวัง ลี่จิว์น ได้เข้าสืบสวนสอบสวนคดีการเสียชีวิตของ เฮย์วูด หรือเปล่า และเขากำลังใช้เรื่องที่สืบรู้มาเพื่อต่อต้าน ป๋อ ใช่หรือไม่? เรื่องเช่นนี้ไม่มีใครทราบคำตอบ แต่กระนั้นทางการอังกฤษก็ได้ยื่นคำร้องต่อจีนอย่างเป็นทางการ ขอให้สอบสวนเรื่องนี้แล้ว

แต่นอกเหนือจากความสับสนซับซ้อนและความมืดมัวขุ่นคล้ำ ก็มีบางสิ่งบางอย่างที่กำลังกระจ่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

ประการแรกทีเดียว สหรัฐฯ กำลังให้ความร่วมมือกับปักกิ่งอยู่อย่างเต็มที่ ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ไม่ได้มีการรั่วไหลใดๆ เกี่ยวกับคดีนี้ออกมาจากฝ่ายอเมริกาเลย ทั้งๆ ที่วอชิงตันกำลังนั่งอยู่บนกองแฟ้มเอกสารซึ่ง หวัง ลี่จิว์น นำติดตัวมาด้วยเมื่อตอนที่เขาเข้าไปยังสถานกงสุลสหรัฐฯประจำเมืองเฉิงตู แฟ้มเหล่านี้อาจจะมีทั้งเอกสารและคำให้การต่างๆ ของเขา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นจริงหรือเป็นเท็จแค่ไหนก็ตามที แต่ถ้าโยนเข้าสู่กองเพลิงทางการเมืองในปัจจุบันแล้ว มันก็อาจจะทำให้เปลวเพลิงแห่งความอลหม่านทางการเมืองในปักกิ่งยิ่งคุโชนลุกลามเพิ่มขึ้นก็ได้ ใครๆ จึงย่อมต้องสงสัยว่า การที่วอชิงตันหันกลับไปใช้วิธีปิดปากเงียบๆ เช่นนี้ วอชิงตันได้รับค่าตอบแทนอย่างไร ค่าตอบแทนอยู่ในลักษณะที่วอชิงตันจะได้รับแจ้งถึงพัฒนาการต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นหลังฉากในจงหนานไห่ใช่หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม ในรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ของจีนในวันที่ 24 มีนาคม โจว หย่งคัง ผู้ตกเป็นตัวเอกตัวหนึ่งในข่าวลืออันแพร่สะพัดหนาหู ได้ออกมาปรากฏตัวในที่สาธารณะอย่างเป็นทางการ เมื่อเป็นเช่นนี้ข่าวลือเกี่ยวกับการถูกปลดของเขาจึงหมดค่าหมดราคาลงไปในทันที

ในความเป็นจริงแล้ว มีสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า กระบวนการกำจัดกวาดล้างที่กำลังดำเนินกันอยู่คราวนี้ อย่างน้อยที่สุดก็มีการหยุดพักเอาไว้ชั่วคราวแล้ว เป็นต้นว่า ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ได้เดินทางไปเยือนต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของทางการจีน รายงานเอาไว้ในฉบับวันที่ 21 มีนาคมว่า หู มีกำหนดการไปเยือนเกาหลีใต้, อินเดีย, และกัมพูชา โดยที่จะเดินทางกลับกรุงปักกิ่งในวันที่ 2 เมษายน เขาได้พบปะหารือกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯในวันจันทร์ (26 มี.ค.) โดยที่ผู้นำทั้งสองปรากฏตัวในเมืองหลวงของเกาหลีใต้ดวยกัน เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดความมั่นคงด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Security Summit)

เมื่อปี 2009 ตอนที่เหตุการณ์การปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างชาวอุยกูร์ กับชาวฮั่น ได้ปะทุขึ้นในนครอุรุมชี (เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์แห่งซินเจียง) หู ซึ่งเพิ่งเดินทางไปถึงกรุงโรมเพื่อการเยี่ยมเยียนแดนมักกะโรนีอย่างเป็นทางการ ถึงกับต้องตัดกำหนดการเยือนของเขาลงและรีบบินกลับบ้าน

วิกฤตนครฉงชิ่งในคราวนี้ มีความเกี่ยวข้องพัวพันกับคณะผู้นำระดับสูงสุดของพรรคด้วยซ้ำ จึงแน่นอนทีเดียวว่ามีความร้ายแรงยิ่งกว่าวิกฤตในอุรุมชีคราวนั้น ดังนั้น ถ้าหากยังมีอะไรที่ค้างคาจะต้องตกลงกันให้ได้แล้ว หูก็ไม่น่าที่จะเดินทางออกจากกรุงปักกิ่ง ยิ่งกว่านั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ การที่ หู ไม่อยู่ในประเทศ ย่อมหมายความว่าจะไม่มีการเปิดประชุมคณะกรรมการประจำของกรมการเมือง เพื่อพิจารณาเรื่องที่มีความสำคัญมากๆ ใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้เองจึงน่าจะอนุมานได้ว่า สถานการณ์น่าจะอยู่ใต้การควบคุมแล้ว และจนถึงเวลานี้ วิกฤตน่าจะผ่านพ้นไปแล้ว

สิ่งที่ยังไม่กระจ่างเลยก็คือ การตัดสินใจเกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะให้การประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 18 ที่กำหนดจัดขึ้นในปลายปีนี้ ลงมติรับรองนั้น ได้ดำเนินการไปจนเสร็จสิ้นครบถ้วนแล้วหรือยัง ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเฝ้ารอไปจนกว่าจะถึงการประชุมดังกล่าวซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ หรือไม่อีกทีก็จะต้องเฝ้าติดตามว่าก่อนจะถึงสมัชชา 18 จะมีข่าวคราวอะไรบ่งบอกเบาะแสออกมาล่วงหน้าหรือไม่

อย่างไรก็ดี โรงงานแพร่กระจายข่าวลือที่กำลังทำงานหนักเหลือเกิน ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า การปิดปากเงียบ หรือสัญญาณอันคลุมเครือใดๆ จากปักกิ่ง จะไม่สามารถกำจัดกวาดล้างเสียงกระซิบกระซาบ และการซุบซิบเล่าลือก่อนจะถึงสมัชชา 18 กลับน่าจะเติบใหญ่ขยายตัวขึ้นอย่างมากมายด้วยซ้ำไป

หมายเหตุ
1. ดู http://www.chinanews.com/gn/2012/03-03/3715790
2. ดู http://www.chinamil.com.cn/jfjbmap/content/2012-03/20/content_287.htm

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นคอลัมนิสต์ให้กับ อิล โซเล 24 โอเร (Il Sole 24 Ore) หนังสือพิมพ์รายวันในอิตาลี สามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมล์ได้ที่ fsisci@gmail
กำลังโหลดความคิดเห็น