xs
xsm
sm
md
lg

ผลพวงกรณีคนสนิท‘ป๋อซีไหล’หนีเข้าสถานกงสุลสหรัฐฯ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

A Chongqing man walks into a consulate ...
By Francesco Sisci
13/02/2012

เรื่องราวเล่าลืออันน่าตื่นใจและลึกลับแฝงปริศนา เกี่ยวกับการที่ หวัง ลี่จิว์น อดีตรองนายกเทศมนตรีมหานครฉงชิ่ง หลบเข้าไป “เกยตื้น” อยู่ในสถานกงสุลสหรัฐฯ กำลังกลายเป็นเงามืดที่บดบังการเดินทางไปเยือนอเมริกาของรองประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แต่คลื่นกระแทกขนาดร้ายแรงกว่านี้อีกจากเหตุการณ์ดังกล่าว ยังจะส่งแรงสั่นสะท้านสะเทือน ทั้งต่อการถ่ายโอนอำนาจจากคณะผู้นำชุดปัจจุบันสู่คณะผู้นำชุดใหม่ในกรุงปักกิ่ง และต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนในระดับกว้าง นอกจากนั้นสิ่งที่ หวัง กระทำลงไป ซึ่งเท่ากับท้าทายไม่ยอมรับชะตากรรมของ “คนตกกระป๋อง” ตามธรรมเนียมที่เคยเป็นมาในเมืองจีน ก็อาจกลายเป็นพลังกระตุ้นวาระแห่งการปฏิรูปในประเทศนี้ ให้กลับฟื้นตัวคึกคักขึ้นมาใหม่

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

เมื่อปี 1995 หวัง เป่าเซิน (Wang Baosen) รองนายกเทศมนตรีกรุงปักกิ่งในเวลานั้น ได้ฆ่าตัวตายขณะกำลังถูกสอบสวนเรื่องอื้อฉาวใหญ่โต ซึ่งในที่สุดแล้วก็ถึงขนาดทำให้ เฉิน ซื่อถง (Chen Xitong) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขากรุงปักกิ่ง ต้องตกลงจากอำนาจ จวบจนถึงเวลานี้ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดว่า หวัง เป่าเซิน เสียชีวิตในสภาพอย่างไร หรือว่าจริงหรือไม่ที่เขาถูกจัดเตรียมไว้ให้กลายเป็นแพะรับบาปสำหรับการต่อสู้ชิงอำนาจทางการเมืองอย่างใหญ่โตที่กำลังดำเนินอยู่เบื้องหลังตัวเขา

ในเวลานั้นก็เฉกเช่นเวลานี้ เดิมพันของการแพ้ชนะถือว่าสูงอย่างยิ่ง กล่าวคือ ประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน (Jiang Zemin) ในตอนนั้น เพิ่งโยกย้ายจากฐานอำนาจเดิมของเขาในนครเซี่ยงไฮ้ มายังกรุงปักกิ่งได้ไม่นานเท่าใด และยังไม่สู้จะชำนาญกับเล่ห์เหลี่ยมกลเกมทางการเมืองของเมืองหลวงอะไรนัก โดยที่ เฉิน ซึ่งเป็น 1 ในคณะกรรมการประจำของกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย ก็ได้ท้าทายความเป็นผู้นำของเขา

เดือนมกราคม 1995 ปรากฏว่า เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) ผู้นำสูงสุดของจีนเกิดล้มป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมอง ซึ่งทำให้เขาต้องถอยห่างออกจากเวทีการเมืองเป็นการชั่วคราว แล้วในเดือนเมษายนของปีเดียวกัน เฉิน หยุน (Chen Yun) ซึ่งเป็นผู้นำอันดับ 2 ในทางเป็นจริง ก็ได้ถึงแก่มรณกรรมไป ทั้ง เติ้ง และ เฉิน คือผู้ที่ตัดสินใจเลือกเลื่อน เจียง ขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรค และประธานาธิบดีของประเทศ ดังนั้น การที่พวกเขาเกิดล้มหายตายจากไปไม่ว่าในทางการเมืองหรือในทางกายภาพ ย่อมกลายเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการท้าทายอำนาจของเจียง

ภูมิหลังทางการเมืองของเหตุการณ์เมื่อ 17 ปีก่อนนั้น ไร้ความกระจ่างชัดเจนยิ่งเสียกว่าเกมการเมืองในช่วงก่อนจะถึงสมัชชาพรรคครั้งที่ 18 เวลานี้ซึ่งยังคงเต็มไปด้วยความสับสน แต่ไม่ว่า หวัง เป่าเซิน หรือ หวัง ลี่จิว์น ก็ดูเหมือนจะประสบกับชะตากรรมเดียวกัน ดังนั้นความทะเยอทะยานของ เฉิน ซื่อถง ก็อาจจะคล้ายๆ กับความมุ่งมาดปรารถนาของ ป๋อ ซีไหล (Bo Xilai) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขามหานครฉงชิ่ง ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ หวัง ลี่จิว์น ทั้งนี้ตั้งแต่ที่ ป๋อ ได้รับการเลื่อนตำแหน่งหน้าที่ จากรัฐมนตรีพาณิชย์ในคณะรัฐบาลส่วนกลางที่ปักกิ่ง มาเป็นบุคคลผู้ทรงอำนาจที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของฉงชิ่ง เขาก็แสดงให้เห็นความพยายามอยู่โดยตลอดที่จะได้เลื่อนขั้นเลื่อนชั้นทางการเมืองขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม ความคล้ายคลึงกันของสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 17 ปีก่อนกับในปัจจุบัน ดูจะสิ้นสุดลงเพียงเท่านั้น หวัง เป่าเซิน เสียชีวิต และการตายของเขาดูเหมือนว่าสามารถช่วยปกป้อง เฉิน ซื่อถง ได้อย่างน้อยที่สุดก็บางส่วน สำหรับ หวัง ลี่จิว์น ยังไม่ตาย แต่เขาทำให้ตนเองถูกโยกไปยังกรุงปักกิ่ง ทั้งนี้มีรายงานหลายกระแสว่า หวังขึ้นเครื่องบินไปปักกิ่งโดยนั่งในชั้นเฟิสต์คลาส พร้อมๆ กับรองรัฐมนตรีคนหนึ่งของกระทรวงความปลอดภัยสาธารณะ 1 วันภายหลังที่เขาไปพบปะกับพวกนักการทูตอเมริกันในสถานกงสุลเมืองเฉิงตู

เมื่อมาถึงปักกิ่งแล้ว หวังย่อมสามารถที่จะเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากแง่ง่ามมุมมองของเขา ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการพัวพันโยงใยไปถึง ป๋อ อดีตเจ้านายของขา และน่าที่จะทำให้เขารักษาชีวิตตนเองเอาไว้ได้ ปักกิ่งย่อมประสบความลำบากถ้าหากจะตัดสินให้ประหารชีวิตใครสักคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังถึงขนาดนี้เสียแล้ว

สิ่งที่สำคัญที่สุดยังอยู่ที่ว่า หวัง ลี่จิว์น ได้สร้างแบบอย่างที่มีความหมายใหญ่โตมโหฬารยิ่ง กล่าวคือ ถ้าคุณเกิดตกอยู่ท่ามกลางกรณีฉาวโฉ่ทางการเมือง และคุณเชื่อว่าคุณจะถูกสังเวยให้เป็นแพะรับบาป สิ่งที่คุณจะต้องทำก็คือวิ่งไปยังสถานกงสุลสหรัฐฯแห่งที่ใกล้ที่สุด แล้วเล่าเรื่องราวในแง่มุมของคุณ เป็นไปได้ทีเดียวว่าตัวอย่างนี้จะทำให้สหรัฐฯสามารถมีอิทธิพลเหนือการเมืองภายในประเทศจีนได้มากกว่าแต่ก่อนเยอะแยะทีเดียว

อเมริกาจะตัดสินใจในเรื่องการบริหารจัดการผู้คนเหล่านี้ตลอดจนข่าวมูลข่าวสารที่คนเหล่านี้บอกกล่าวให้ทราบกันอย่างไร มันอาจถึงขนาดส่งผลทำให้ในทางพฤตินัยแล้ว อเมริกาเท่ากับสามารถจับจองเก้าอี้แถวหน้าสุดภายในกระบวนการตัดสินใจของจีนเอาไว้ทีเดียว พูดกันอย่างตรงไปตรงมา มันอาจจะไปถึงขั้นที่ว่าถ้าปักกิ่งจะตัดสินใจทำการสอบสวนพวกเจ้าหน้าที่สักกลุ่มหนึ่ง ปักกิ่งก็ควรที่จะปรึกษาหารือกับวอชิงตันเสียก่อนว่าจะเดินหน้าด้วยวิธีการอย่างไร ไม่เช่นนั้นแล้วจีนก็ย่อมตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะมีคนหลบหนีไปที่สถานกงสุลอเมริกันและมีข้อมูลข่าวสารรั่วไหล สำหรับแดนมังกรแล้ว สภาพการณ์ทำนองนั้นย่อมเป็นฝันร้าย เป็นการสูญเสียเอกราชไปอย่างสิ้นเชิงแม้กระทั่งในประเด็นเล็กน้อยขี้ปะติ๋วที่สุด

ปักกิ่งอาจจะตัดสินใจหยุดยั้งหรือชะลอแนวโน้มเช่นนี้ ด้วยการหามาตรการขัดขวางกีดกั้นเส้นทางเข้าสู่สถานที่ตั้งทางการทูตต่างๆ ของสหรัฐฯอย่างสุดฤทธิ์ ด้วยการจัดคนออกมาตรวจตราพวกเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งหลายเป็นพิเศษ กระนั้นเมื่อมองกันในระยะยาวแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ปัจจุบันการดำเนินกระบวนวิธีต่างๆ ก็เต็มไปด้วยความอุ้ยอ้ายเทอะทะอยู่แล้ว และการเพิ่มความยุ่งยากสับสนมากขึ้นอีก ย่อมจะยิ่งสร้างปัญหาให้แก่พวกเจ้าหน้าที่จีนเท่านั้น

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่จีนที่อยู่อาการหวาดผวาก็ยังสามารถหาวิธีหลบหลีกอย่างง่ายๆ อย่างเช่นสารภาพเล่าขานเรื่องราวเวอร์ชั่นของพวกเขาให้เจ้าหน้าที่อเมริกันฟังตามห้องต่างๆ ในโรงแรม, ภัตตาคาร, ร้านกาแฟ ฯลฯ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพทั้งภาพเท่านั้น อีกส่วนหนึ่งของภาพคืออะไร? จะขอยกตัวอย่างว่า ถ้าหากเป็นเจ้าหน้าที่ของเยอรมนีหรือของอิตาลีถูกสอบสวนความผิดแล้ว พวกเขาย่อมไม่คิดหรือกระทั่งไม่ฝันว่าจะต้องพยายามหาทางหลบหนีแปรพักตร์ไปอยู่กับสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯจะต้องปฏิเสธพวกเขา และความพยายามเช่นนั้นของพวกเขามีแต่ยิ่งสร้างความเสียหายให้แก่ฐานะของพวกเขาเองไม่ว่าจะมองจากภายในประเทศหรือจากต่างประเทศ นี่ก็เพราะประชาชนในเยอรมนี, อิตาลี หรือสหรัฐฯ ต่างเชื่อในกระบวนการสอบสวนของประเทศพวกเขา ขณะที่การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองในประเทศเหล่านี้ก็ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมและเปิดเผย

เมื่อเป็นเช่นนี้ รากเหง้าของกรณีอื้อฉาว หวัง ลี่จิว์น จึงอยู่ที่ว่ามันทำให้ความเชื่อที่อยู่ลึกๆ ในประเทศจีน ปรากฏเผยโฉมขึ้นมาให้เห็นกันชัดๆ ซึ่งก็คือ การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจของคนจีนนั้นไม่เป็นธรรม และประชาชนจีนไม่เชื่อถือไว้วางใจระบบซึ่งพวกเขาเองใช้ชีวิตอยู่กับมัน สถานการณ์เช่นนี้ นอกเหนือจากกรณีนี้แล้ว อาจจะก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างมโหฬารขึ้นในหมู่ผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นระดับส่วนกลางหรือหรือส่วนท้องถิ่น เป็นความแตกแยกที่อาจจะช่วยฟูมฟักและกระตุ้นให้เกิดการพลิกผันเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างใหญ่โตขึ้นในจีนได้ทีเดียว

สถานการณ์อันยุ่งยากสับสนในเมืองจีนจากกรณีของ หวัง ลี่จิว์น อาจทำให้อเมริกาดูเหมือนมีคุณค่าแก่การไว้เนื้อเชื่อใจมากกว่าระบบของจีนเอง เนื่องจากอเมริกาสามารถปกป้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่จีนจากภัยอันตรายต่างๆ ของระบบของแดนมังกร อย่างไรก็ตาม ผลสืบเนื่องต่อจากนั้นมิได้มีความตรงไปตรงมาหรอก เราอาจกล่าวว่า ผลการประเมินเช่นที่พูดมาข้างต้นนี้ ย่อมเท่ากับบอกว่าพวกเจ้าหน้าที่จีนออกเสียงลงคะแนนไว้วางใจให้สหรัฐฯกันอย่างมโหฬาร ทว่าถ้าหากสหรัฐฯตัดสินใจไปไกลถึงขั้นที่จะใช้งานเจ้าสิ่งที่เหมือนกับการลงมติไว้วางใจดังกล่าวนี้ มันก็น่าจะไม่บังเกิดผลดังที่มุ่งหวัง คนจีนนั้นอาจต้องการวิ่งหนีไปหาอเมริกา แต่พวกเขาคงจะไม่ชอบหรอกถ้าหากคนอเมริกันพยายามเข้ามายุ่มย่ามกับการบริหารประเทศของพวกเขา

อย่างน้อยที่สุดก็ในทางทฤษฎี หนทางออกเพียงหนึ่งเดียวที่จะหยุดยั้งและป้องกันไม่ให้กรณีของ หวัง ลี่จิว์น ลุกลามแผ่กว้างออกไป ก็คือ จีนควรต้องเริ่มต้นปฏิรูประบบของตนเอง ด้วยการทำให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น และสอดคล้องอยู่ในทิศทางเดียวกับระบบของอเมริกันและของโลกตะวันตก ในทางกลับกัน การปฏิรูปเช่นนี้ยังน่าที่ช่วยปูทางและส่งอิทธิพลต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการไปเยือนอเมริกาของ สี อีกด้วย

สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจากเรื่องของ หวัง ลี่จิว์น บ่งบอกให้เห็นอย่างกระจ่างแจ้งว่า จีนจำเป็นที่จะต้องดำเนินการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็หมายถึงการเข้าไปจัดการกับการเตะถ่วงหน่วงเหนี่ยวสุดฤทธิ์ของพวกที่ผลประโยชน์ยึดโยงอยู่กับสิ่งเดิมๆ ในประเทศจีนอย่างเหนียวแน่น โดยที่พวกนี้คือพวกที่กำลังคัดค้านไม่ยอมให้มีการปฏิรูป บรรดาผู้มีอำนาจตัดสินนโยบายของจีนทั้งหลาย น่าจะต้องขบคิดพิจารณากันได้แล้วว่า แม้กระทั่งการปล่อยให้คนเหล่านี้สามารถสงวนรักษาผลประโยชน์เอาไว้ได้แม้เป็นบางส่วน ก็อาจจะเป็นภัยอันตรายเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในปัจจุบันนี้ ตลอดจนในระยะหลายๆ ปีต่อๆ ไป

ยิ่งกว่านั้น กรณีของ หวัง เป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่เป็นการเพียงพอหรอกที่พวกผู้นำระดับท็อปจะเพียงแค่ทำความเข้าใจกันเกี่ยวกับผลประโยชน์พื้นฐานของพวกเขา หากจะต้องมี “ข้อตกลงหยุดยิง” ในบางลักษณะ เพื่อไม่ให้เกิดการถล่มโจมตีกันและกันด้วยข้อหาอะไรก็ได้ เหมือนอย่างที่กำลังปรากฎอยู่ในประเทศจีนเวลานี้ ข้อตกลงหยุดยิงดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าหากไม่ต้องการเห็นคณะผู้นำไร้ความสามัคคีเป็นเอกภาพกัน หรือพวกผู้นำเริ่มต้นต่อสู้กันซึ่งอาจทำให้ประเทศชาติถึงกับแตกแยกเหมือนดังที่เกิดขึ้นในกรณีเทียนอันเหมินปี 1989 แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ระดับค่อนข้างสูงหน่อยแต่ยังไม่สูงมาก เป็นต้นว่า รองรัฐมนตรี หรืออธิบดี หรือรองนายกเทศมนตรีมหานครเฉกเช่น หวัง ก็สามารถที่จะทำให้ระบบแตกสลายได้แล้ว โดยผู้คนที่อยู่ในระดับนี้ในประเทศจีนมีอยู่เป็นเรือนพัน การที่จะใช้วิธีประกาศให้พวกเขามีภูมิคุ้มกันทางการเมือง เป็นต้นว่า ได้รับยกเว้นไม่ต้องถูกฟ้องร้องกล่าวโทษ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะนั่นย่อมก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยที่ปราศจากหนทางตรวจสอบทัดทาน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความพยายามที่จะฟ้องร้องกล่าวโทษคนเหล่านี้ นับแต่นี้ไปย่อมจะเป็นไปได้ลำบากยากเย็นขึ้นกว่าเดิมมาก เนื่องจากตั้งแต่บัดนี้ใครๆ ก็สามารถหาทางหลบไปยังสำนักงานการทูตของสหรัฐฯ และกล่าวอ้างได้ว่า ตนเองเป็นเหยื่อของการฟ้องร้องกล่าวโทษที่มีเหตุผลทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง

แน่นอนว่าปักกิ่งสามารถที่จะทดลองใช้วิธีแก้ไขปัญหาแบบชั่วครั้งชั่วคราว แต่วิธีเหล่านี้จะใช้ได้เพียงชั่วคราวเป็นระยะสั้นๆ อีกทั้งน่าที่จะก่อให้เกิดปัญหาอันใหญ่โตมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย ดังที่พบเห็นกันอยู่เสมอในประวัติศาสตร์ การปฏิรูปคือศัตรูตัวร้ายที่สุดของการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินขนาดใหญ่โตยิ่งกว่านั้น ขณะเดียวกันก็จะต้องมีความตระหนักรับรู้อย่างเต็มที่ว่า พวกที่มีผลประโยชน์เหนียวแน่นอยู่กับระบบเดิม มีความกังวลสนใจแค่เฉพาะความอยู่รอดของพวกเขาเองเท่านั้น ขณะที่การเตะถ่วงดึงลากปัญหาต่างๆ ในปัจจุบัน ให้ยืดยาวออกไปแม้เกระทั่งพียงอีกไม่กี่ปี ก็สามารถที่จะก่อให้เกิดจุดอ่อนข้อบกพร่องอันใหญ่โตมหึมา

อย่างไรก็ตาม ยังมีเหตุผลที่ทำให้เราสามารถมองการณ์ในแง่ดีได้พอสมควร กรณีของหมู่บ้านอูข่าน (Wukan) หมู่บ้านชนบทในมณฑลกวางตุ้งที่ก่อการประท้วงและจบลงด้วยการที่ทางการยอมแก้ไขปัญหาด้วยการปลดอดีตเลขาธิการพรรค แล้วแต่งตั้งผู้นำของการประท้วงให้เข้ารับตำแหน่งแทน, การใช้ท่าทีระมัดระวังในการรับมือกับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในไต้หวัน, การที่ปักกิ่งให้ความใส่ใจเพิ่มขึ้นอย่างใหญ่หลวงต่อการสร้างสายสัมพันธ์กับต่างประเทศภายหลังจากละเลยอยู่หลายเดือน (ดูเรื่อง Dai talks the talk, walks the line for Xi, Asia Times Online, Feb 1, 2012) , และแม้กระทั่งข้อเท็จจริงที่ว่าเรื่องราวกรณีฉาวโฉ่ หวัง ลี่จิว์น ไม่ได้ถูกสกัดกั้นอย่างสิ้นเชิงจากอินเทอร์เน็ตจีน ทั้งหมดเหล่านี้ดูจะบ่งชี้ให้เห็นว่า จีนนั้นสามารถยืนตะหง่านรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้ ทั้งนี้ ในช่วงเวลาหลายๆ เดือนต่อจากนี้ไป จะยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นดังที่ว่านี้จริงหรือไม่

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นคอลัมนิสต์ให้กับ อิล โซเล 24 โอเร (Il Sole 24 Ore) หนังสือพิมพ์รายวันในอิตาลี สามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมล์ได้ที่ fsisci@gmail
กำลังโหลดความคิดเห็น