ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การชี้ขาดว่า พระราชการกำหนด 2 ฉบับของรัฐบาลถูกกำหนดขึ้นโดยศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 22 ก.พ.นี้
นั่นหมายความว่า หากพ.ร.ก.ทั้งสองฉบับขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับตกไปทันที
สิ่งที่ประชาชนคาดหวังมากกว่านั้น ก็คือ สปิริตของนักการเมือง !!
แต่หากพ.ร.ก.ทั้งสองฉบับ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็สามารถกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท และสามารถโอนภาระหนี้กองทันฟื้นฟูฯไปธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับผิดชอบ
ที่สำคัญสถาบันการคุ้มครองเงินฝากและธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถเก็บค่าธรรมเนียมจำนวน 0.47 % ของฐานเงินฝากได้
คิดเป็นเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท
แต่เหตุผลสำคัญของการออกกฎหมายในรูปแบบ “พระราชกำหนด” ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงทั่วประเทศว่า รัฐบาลกำลังฉกฉวยโอกาสใช้เงินอย่างมีวาระซ่อนเร้น
ร่าง พระราชกำหนดทั้งฉบับ ได้แก่ 1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 ที่มีสาระสำคัญคือเป็น พ.ร.ก.ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และ 2. พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 วงเงิน 1.14 ล้านล้านบาท
“เหตุผลฟ้องศาลรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านก็คือ หากไม่ทำแล้วจะกระทบกับนโยบายสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือการป้องกันภัยพิบัติหรือไม่ ? และเป็นเรื่องของความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ ?” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านอธิบายเหตุผลข้อโต้แย้ง
นายกรณ์ จาติกวณิช ชี้แจงกับศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้ฯ ว่า “รัฐบาลไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนออก พ.ร.ก. การตรากฎหมายฉบับนี้ ไม่มีการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การตรากฎหมายลักษณะนี้ ในเรื่องที่มีผลข้างเคียงทำให้มีจุดอ่อนในตัวกฎหมาย มีผลกระทบทางลบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้กองทุนฟื้นฟูฯ ต้องรับภาระหนี้ส่วนนี้เป็นของรัฐบาลเอง กฎหมายไม่ระบุให้ชัดเจนว่า เมื่อกฎหมายมีผลแล้วกองทุนฟื้นฟูฯ จะทำอย่างไร ในสถานะที่อ่อนแอ แล้วรัฐบาลต้องกลับมาช่วยดูแลกองทุนอีกหรือไม่”
ส่วนร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน ฯ ก็ไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนต้องกู้ยืมเงิน รัฐบาลไม่มีความพร้อมของรัฐบาลในการใช้เงิน
ประเด็นสำคัญคือ การออกพ.ร.ก.ทั้งสองฉบับ เป็นการหนีการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ เกิดช่องว่างการฉ้อโกงเงิน 3.5 แสนล้านบาท
“กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ชี้แจงในช่วงแรกไม่ตรงประเด็นมากนัก เพราะได้อธิบายรัฐธรรมนูญ ทำให้ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ทักท้วงทันทีว่า “ไม่ต้องอธิบายรัฐธรรมนูญ ขอเตือนว่า ไม่ต้องอธิบายมาก ให้บอกว่า ผู้ร้องชี้แจงผิดตรงไหน”
“กิตติรัตน์” เริ่มเข้าสู่ประเด็นการออก พ.ร.ก.ว่า ปัญหาน้ำท่วมทำให้ระบบเศรษฐกิจเสียหายอย่างมาก การใช้เงินต้องใช้มากกว่า 1 ล้านล้านบาทเพื่อฟื้นฟูและป้องกันน้ำท่วม
เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ถามถึงการออก พ.ร.ก.โอนหนี้ฯ ว่า หากออกเป็น พ.ร.ก. จะมีความแตกต่างอย่างไร กับการออกเป็นพ.ร.บ. นายกิตติรัตน์ จึงชี้แจงว่า หากออกเป็น พ.ร.บ.แล้วใช้เวลานาน
นั่นหมายความว่า “ใช้เวลานาน” ไม่เกี่ยวข้องกับ “ความจำเป็นเร่งด่วน” แต่อย่างใด
ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 184 ระบุไว้ว่า “ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ ”
“การตราพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีมีความเห็นว่า เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้”
“ กรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้” นั้น ศาลรัฐธรรมนูญที่มี นายเชาวน์ สายเชื้อ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ เคยวินิจฉัย พระราชกำหนด 4 ฉบับ ว่า “เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว”
พระราชกำหนดทั้งสี่ฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินจากตางประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ.2541 พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2541 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พระราชการกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ( ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2540 พ.ศ.2541 และพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน ( ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2541
โดยที่พระราชกำหนดทั้งสี่ฉบับ ตราขึ้นในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่รับช่วงต่อจากรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ซึ่งกำลังวิกฤตการณ์ทางการเงิน 2540 จนต้องลดค่าเงินบาท
เหตุการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
แต่สถานการณ์ที่รัฐบาลกำลังจัดทัวร์นกแก้วนกขุนทองไปคุ้ยหาคะแนนเสียงจากพื้นที่น้ำท่วม ด้วยการนำภาษีของคนทั้งประเทศไปแจกจ่ายนั้น เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ หรือไม่ ??
วิญญูชนที่มีสมองไม่กลวง สามารถคิดได้ แต่สิ่งที่จะตามก็คือ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือไม่ ???
คำตอบของคุณกิตติรัตน์ เมื่อนักข่าวได้ลองถามว่า รัฐบาลและคุณกิตติรัตน์ จะแสดงสปิริตอะไร หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน...น่าพอจะประเมินได้
“ ขออนุญาตไม่ไปล่วงล้ำ ขอเรียนว่ารัฐบาลดำเนินการตามมาตรา 184 เพื่อป้องกันภัยพิบัติสาธารณะและรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และ ครม. ก็พิจารณาแล้วว่าเป็นเรื่องฉุกเฉิน รีบด่วน อันมิอาจหลีกลี่ยงได้” กิตติรัตน์ เริ่มบ่ายเบี่ยงที่จะโชว์สปิริตทางการเมือง
พฤติกรรมหน้าหนา ยังคงดำเนินต่อไป !!