เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2555 เวลาประมาณ 09.00 น.นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้เข้าชี้แจงด้วยวาจาต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ นายคำนูณ พร้อม ส.ว.68 คน ได้เข้าชื่อยื่นเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 (พ.ร.ก.โอนหนี้ 1.14 ล้านล้านบาทของกองทุนฟื้นฟูฯ ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยบริหาร) ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคสอง ตามรายละเอียดคำชี้แจงดังนี้
“ขอประทานกราบเรียนศาลรัฐธรรมนูญที่เคารพ ดังนี้
กระผม นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ประเภทสรรหา ภาควิชาการ ในฐานะผู้แทนคณะสมาชิกวุฒิสภาผู้เสนอความเห็นว่าพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.๒๕๕๕ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๘๔ วรรคสอง ขอชี้แจงด้วยวาจาเพิ่มเติมจากความเห็นฉบับเดิมที่ได้เสนอไว้ต่อศาลรัฐธรรมนูญลงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๕ และคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมความเห็นที่ได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญลงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕
การชี้แจงด้วยวาจาในครั้งนี้ เพื่อประมวลสรุปและเพิ่มเติมประเด็นสำคัญให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น กระผมจะพยายามนำเสนอด้วยความกระชับ และขอประทานอนุญาตต่อศาลฯอ้างอิงเอกสารประกอบการชี้แจงด้วย
ขอประทานกราบเรียนต่อศาลฯ ที่เคารพว่า กระผมและสมาชิกวุฒิสภาผู้เสนอความเห็น มีความเห็นพ้องตรงกันว่า การตราพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.๒๕๕๕ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๘๔ วรรคสอง กล่าวคือ คณะรัฐมนตรีไม่มีเหตุอันถือได้ว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ จนกระทั่งต้องเร่งรีบดำเนินการให้มีการตราพระราชกำหนดดังกล่าว อันเป็นข้อยกเว้นในการตรากฎหมายของฝ่ายบริหารโดยไม่ต้องทำเป็นร่างพระราชบัญญัติเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบก่อน ซึ่งข้อยกเว้นดังกล่าว จะต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า คณะรัฐมนตรีจะสามารถดำเนินการเพื่อให้มีการตราพระราชกำหนดได้เฉพาะกรณีที่มี “เหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้” มิฉะนั้น จะเกิดความเสียหายแก่ความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือจะเกิดภัยพิบัติสาธารณะ เป็นที่แน่นอน เท่านั้น
ตามหมายเหตุท้ายพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯฉบับนี้ คณะรัฐมนตรีได้ระบุถึงกรณีที่มี “เหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้” ไว้พอสรุปเหตุผลหลักได้ว่า รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากเพื่อบูรณะฟื้นฟูประเทศ เยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชน รวมทั้งดำเนินการวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ ซึ่งจะต้องดำเนินการหลายแนวทางพร้อมกัน และแนวทางหนึ่งคือการต้องลดภาระงบประมาณเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่กู้มาเพื่อช่วยเหลือการดำเนินการของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่เกิดจากการแก้ไขปัญหาวิกฤตของระบบสถาบันการเงินเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ โดยจำเป็นต้องปรับปรุงและจัดการระบบการชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวเสียใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและไม่เป็นภาระต่องบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลอีกต่อไป ซึ่งเมื่อตรวจสอบกับข้อเท็จจริงและคำชี้แจงต่อสาธารณะในวาระต่าง ๆ ของรัฐบาลแล้ว ก็คือ รัฐบาลมีความประสงค์ที่จะตัดภาระงบประมาณรายจ่ายประจำปีในส่วนของการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ฯลงไปปีละประมาณ ๖๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐ บาท เพื่อนำไปใช้ในภารกิจอื่นที่จำเป็นเฉพาะหน้า และ/หรือเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและสถาบันการเงินต่างชาติว่าในการก่อหนี้เงินกู้ก้อนใหม่เพื่อฟื้นฟูประเทศ รัฐบาลได้มีการจัดการแก้ปัญหาหนี้เงินกู้ก้อนเก่าที่มีมายาวนานถึง ๑๔ ปีแล้วได้อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้มีโอกาสเพิ่มสัดส่วนภาระการชำระหนี้ต่องบประมาณฯ ได้มากขึ้น ประกอบกับสามารถจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณต่อไปให้ขาดดุลลดลง
ขอประทานกราบเรียนต่อศาลฯที่เคารพว่า แม้กระผมและคณะฯจะเห็นด้วยในหลักการที่ระบุไว้ในหมายเหตุท้ายพระราชกำหนด และข้อเท็จจริงที่ได้รับทราบดังกล่าว แต่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับวิธีการแก้ปัญหาโดยการตรากฎหมายในรูปแบบพระราชกำหนด เพราะกรณีดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็น “เหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๘๔ วรรคสอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
๑.ปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีมีวงเงินงบประมาณในการดำเนินกิจการหรือโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการเกิดอุทกภัย รวมทั้งเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้อยู่แล้ว หรือสามารถดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไปพลางก่อนได้อยู่แล้ว ดังนี้
๑.๑ เงินในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๕ เป็นงบกลางจำนวน ๑๒๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน ๖๖,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และงบประมาณตามแผนงานจัดการทรัพยากรน้ำ และฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติ แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และแผนงานที่เกี่ยวข้องในงบประมาณรายจ่ายของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ อีกเป็นเงินจำนวนมาก รายละเอียดปรากฏตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๕ ที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการประกาศราชกิจจานุเบกษา ตามบัญชีระบุพยานเอกสาร ลำดับที่ ๑
๑.๒ เงินนอกงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นเงินส่วนที่คณะรัฐมนตรีจะได้จากการตราพระราชกำหนดฉบับอื่น ๆ อีกจำนวน ๓ ฉบับ ที่ตราพร้อมพระราชกำหนดฉบับนี้ ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๕รายละเอียดปรากฏตามพระราชกำหนดทั้ง ๓ ฉบับดังกล่าว ตามบัญชีระบุพยานเอกสาร ลำดับที่ ๒ ถึงลำดับที่ ๔ จะเห็นได้ว่าทำให้รัฐบาลมีเงินในภารกิจฟื้นฟูประเทศฯจากพระราชกำหนดทั้ง ๓ ฉบับรวมกันแล้วถึง ๗๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท หรือหากจะคิดคำนวณจากวงเงินคุ้มครองการกระกันภัยที่มีได้มากถึงไม่ต่ำกว่า ๑๐ เท่าของกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติในพระราชกำหนดตามบัญชีระบุพยานเอกสารลำดับที่ ๓ ก็จะคิดคำนวณเป็นวงเงินเพิ่มขึ้นไปได้อีกถึงไม่ต่ำกว่า ๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
จากจำนวนวงเงินงบประมาณ ทั้งในส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๕ และเงินนอกงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากพระราชกำหนด ๓ ฉบับที่รัฐบาลมีอยู่เป็นจำนวนมากดังกล่าวนั้น แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลมีวงเงินในการดำเนินการที่จะใช้จ่ายหรือใช้จ่ายไปพลางก่อนตามที่ได้มีการกำหนดไว้ในเหตุผลประกอบพระราชกำหนดฉบับนี้แล้ว ดังนั้น จึงไม่มีกรณีที่เป็น “เหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้” ในการตราพระราชกำหนดฉบับนี้แต่อย่างใด
๒.การตราพระราชกำหนดฉบับนี้ มิได้ก่อให้เกิดผลใด ๆ ตามที่รัฐบาลได้ให้เหตุผลไว้ในหมายเหตุท้ายพระราชกำหนดฉบับนี้ กล่าวคือ
๒.๑ ในขณะที่คณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมและอนุมัติให้มีการตราพระราชกำหนดฯฉบับนี้ ในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๔ และวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๕ สภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๖๘ วรรคหนึ่งแล้ว ในคราวการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๔ ปีที่ ๑ ครั้งที่ ๕ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เมื่อวันเสาร์ที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๕ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ในส่วนบทสรุปสำหรับสมาชิกวุฒิสภา หน้า ก ตามบัญชีระบุพยานเอกสาร ลำดับที่ ๕ และคำแถลงต่อสาธารณะของนายธีระชัย ภูวนาทนรานุบาล ตามบัญชีระบุพยานเอกสาร ลำดับที่ ๖ ซึ่งในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รัฐบาลได้มีการกำหนดงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงการคลังในการชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่รัฐบาลต้องการลดภาระการชำระหนี้ของกระทรวงการคลังในพระราชกำหนดฉบับนี้ไว้ทั้งหมดแล้ว และในเวลาต่อมาวุฒิสภาได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ในคราวประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๕ และครั้งที่ ๖ เป็นพิเศษ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เมื่อวันที่ ๒๓ และ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๕ ต่อเนื่องกัน รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการประชุมวุฒิสภาทั้ง ๒ ครั้ง ดังกล่าว ตามบัญชีระบุพยานเอกสาร ลำดับที่ ๗ ซึ่งในการพิจารณาของวุฒิสภานั้น วุฒิสภามีหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น จะแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ มิได้ นอกจากนี้ แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น หากวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และสภาผู้แทนราษฎรยังคงลงมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร อันถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในกรณีเช่นนี้สภาผู้แทนราษฎรก็ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้เช่นกัน ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๖๘ วรรคสามและวรรคสี่ ประกอบกับมาตรา ๑๔๘ วรรคสอง
ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวหรือแม้แต่ในวันที่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดฯ ฉบับนี้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๕ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๕ ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงวงเงินงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงการคลัง หรือเปลี่ยนแปลงรายจ่ายและสัดส่วนการชำระหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการชำระหนี้ของกระทรวงการคลังตามพระราชกำหนดฉบับนี้ ที่มีการกำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้งหมดแล้วให้มีจำนวนลดลง เพื่อรัฐบาลจะได้นำเงินงบประมาณไปใช้จ่ายในกิจการต่าง ๆ ได้แต่ประการใด หากคณะรัฐมนตรีมีความประสงค์ที่จะนำงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงการคลังที่เคยมีภาระในการชำระหนี้เงินกู้ให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ไปใช้ในกิจการอื่น หรือเพื่อตระเตรียมไว้ชำระหนี้เงินกู้ก้อนใหม่ และ/หรือเพื่อจะเตรียมไว้ปรับสัดส่วนภาระการชำระหนี้ต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีให้สามารถชำระหนี้ได้มากขึ้น โดยให้เป็นการชำระหนี้เงินต้นต้นได้ด้วย คณะรัฐมนตรีจะต้องเริ่มดำเนินการในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๖
๒.๒ การตราพระราชกำหนดฯฉบับนี้มิได้ส่งผลให้ตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศตามความหมายในพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.๒๕๔๘ ลดลงแต่ประการใด รัฐบาลไม่อาจใช้วงเงินกู้เพิ่มขึ้นได้ เพราะหนี้เงินกู้ที่กู้มาเพื่อช่วยเหลือการดำเนินการของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่เกิดจากการแก้ไขปัญหาวิกฤตของระบบสถาบันการเงินเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นหนี้ของรัฐบาลที่ได้กู้โดยออกพันธบัตรรัฐบาลขายแก่บุคคลทั่วไปเป็นส่วนใหญ่ พระราชกำหนดฯฉบับนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสถานะของหนี้ดังกล่าวแต่ประการใด เพียงแต่ผลักภาระการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ออกมาจากการตั้งจ่ายไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีดังได้ประทานกราบเรียนต่อศาลฯไว้แล้วเท่านั้น
นอกจากนั้น แม้ว่าหนี้เงินกู้ดังกล่าวตามพันธบัตรรัฐบาลจะหมดอายุลง การปรับโครงสร้างหนี้ก็ยังคงเป็นภาระของกระทรวงการคลังโดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้เป็นไปตามความในมาตรา ๗ ของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๑ และมาตรา ๗ ของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ.๒๕๔๕ ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ แม้พระราชกำหนดฯฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม
จากเหตุผลดังที่ได้ประทานกราบเรียนต่อศาลฯมาแล้วทั้งหมดในประเด็นนี้ การตราพระราชกำหนดฯฉบับนี้จึงมิได้เป็นกรณีที่มี “เหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้” เพราะการตราพระราชกำหนดฯฉบับนี้มิได้มีผลทำให้รัฐบาลมีงบประมาณใช้จ่ายอย่างฉุกเฉินรีบด่วนหรือสามารถเพิ่มวงเงินกู้หนี้สาธารณะได้อย่างรวดเร็วแต่ประการใด
ในทางตรงกันข้าม คณะรัฐมนตรียังมีเวลาเพียงพอที่จะเสนอแนวทางในการที่จะปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯในรูปแบบของการเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาดำเนินการพิจารณาและให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติที่มีการเสนอมานั้นให้ทันกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้ ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในระหว่างสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติของรัฐสภา ประกอบกับพระราชกำหนดฉบับนี้มีเพียง ๑๓ มาตราเท่านั้น และในทางการเมือง รัฐบาลชุดปัจจุบันยังมีเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ดังนั้น การที่จะเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาอนุมัติเป็นกฎหมาย จึงย่อมสามารถที่จะกระทำได้โดยตลอด ไม่มีอุปสรรคข้อขัดข้องแต่ประการใด
๓.ปรากฏข้อเท็จจริงจากการแถลงต่อสาธารณะของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า ปัจจุบันสัดส่วนภาระชำระหนี้เงินกู้ต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปัจจุบันนั้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๙.๓๓ โดยเป็นการชำระหนี้เงินต้นจำนวนร้อยละ ๑.๙๗ และชำระหนี้ดอกเบี้ยจำนวนร้อยละ ๗.๓๖ ดังนั้น รัฐบาลจึงยังคงมีขีดความสามารถในการชำระหนี้เงินกู้ได้อีกร้อยละ ๕.๖๗ จึงจะครบสัดส่วนเพดานภาระชำระหนี้เงินต่องบประมาณกู้ร้อยละ ๑๕ ซึ่งเป็นไปตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลที่คณะรัฐมนตรีใช้ในการอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๕ ที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น แจ้งต่อคณะรัฐมนตรีว่า ปัจจุบันสัดส่วนภาระชำระหนี้เงินกู้ต่องบประมาณ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๑๒ อันจะทำให้รัฐบาลเหลือสัดส่วนภาระชำระหนี้ต่องบประมาณฯอีกเพียงร้อยละ ๓ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ขัดหรือแย้งกันอย่างสิ้นเชิงโดยมีนัยสำคัญ รายละเอียดปรากฏตามคำแถลงการณ์ต่อสาธารณะของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามบัญชีระบุพยานเอกสาร ลำดับที่ ๖
๔.ประเด็นสำคัญที่สุดที่ไม่อาจละเลยได้คือ ในช่วงเวลาที่รัฐบาลกำลังพิจารณาร่างพระราชกำหนดฉบับนี้อยู่ ในช่วงระหว่างวันที่ ๔ ถึงวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๕ ปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีข้อโต้แย้งและความคิดเห็นที่แตกต่างเกิดขึ้นในสังคมอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งบริหารในหน่วยงานทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประชาชน พระสงฆ์ ตลอดจนผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ได้แสดงความคิดเห็นและมุมมองต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องผ่านสื่อมวลชนและสื่อสาธารณะแขนงต่างๆ ประกอบกับการที่สำนักพิมพ์บางแห่งเผยแพร่เอกสารที่กล่าวว่าเป็นต้นร่างเดิมของพระราชกำหนดฉบับนี้ในวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ปรากฏความในมาตรา ๗(๓) บัญญัติให้โอนสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ากองทุนเพื่อการชำระหนี้เงินกู้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้ตามจำนวนที่คณะรัฐมนตรีกำหนด อันจะมีผลเป็นการให้อำนาจและเปิดโอกาสให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะธนาคารกลางของประเทศขาดเสถียรภาพ และเสื่อมความน่าเชื่อถือในด้านความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศทันที จนกระทั่งเกิดการหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรี กับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แก้ไขความในมาตรา ๗(๓) และมาตรา ๗(๑) และ (๒) ให้เป็นไปดังที่ปรากฏในพระราชกำหนดฯฉบับนี้ในปัจจุบัน แต่กระนั้นก็ดี ก็ยังมีเสียงทักท้วงจากสมาคมธนาคารไทยในฐานะที่ธนาคารพาณิชย์ต้องตกเป็นผู้รับภาระแต่เพียงฝ่ายเดียว จะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกหลายประการ รายละเอียดปรากฏตามคำแถลงข่าวของสมาคมธนาคารไทย ตามบัญชีระบุพยานเอกสารลำดับที่ ๘ ซึ่งการณ์ลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแต่จะมีวิธีการแก้ไขปัญหาให้เป็นที่ยอมรับกันได้ของทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมกันอยู่ในสังคมประชาธิปไตย หากรัฐบาลเลือกที่แก้ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินโดยวิธีการตราเป็นร่างพระราชบัญญัติตามปกติ เพราะจะมีเวลาและมีเวทีในการหารือทำความเข้าใจระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่มีมุมมองและผลประโยชน์ต่างกันในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา
ด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลสำคัญดังที่ได้ประทานกราบเรียนมาแล้วทั้ง ๔ ประการ กระผมและคณะจึงมีความเห็นว่า คณะรัฐมนตรียังไม่มีกรณีที่เป็น “เหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้” จนกระทั่งมีความจำเป็นต้องเร่งรีบดำเนินการเพื่อให้มีการตราพระราชกำหนดฯฉบับนี้
จึงขอประทานกราบเรียนศาลรัฐธรรมนูญที่เคารพ ได้โปรดพิจารณามีคำวินิจฉัยว่า พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.๒๕๕๕ ไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๘๔ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐