xs
xsm
sm
md
lg

ความกลัวและระแวงพฤติกรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (1)

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

วามกลัวและอาการระแวงนั้นเป็นอาการทางจิต ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า โฟเบีย ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก แปลว่าความกลัว และคำว่า พารานอยด์ ก็มาจากภาษากรีกเช่นเดียวกัน แปลว่าความหวาดระแวง

ในเชิงจิตวิทยาแล้ว มีการกำหนดความกลัวของมนุษย์ไว้นับร้อยๆ ความหวาดระแวง หรือทั้งกลัวและระแวง เป็นอารมณ์ทางจิตที่มีความเข้มข้นต่างกันไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ต่อหน้ามนุษย์ในลักษณะต่างๆ และสามารถสะสมได้ เช่น กลัวความตาย กลัวอนาคตจะไม่ดี กลัวความทุกข์ยาก กลัวจะได้รับอันตราย หรือกลัวภัยธรรมชาติและภัยสงคราม ความเดือดร้อนต่างๆ ที่เกิดจากเหตุการณ์เหล่านี้ ซึ่งมีผลลัพธ์และความรุนแรงต่างกัน

รัฐบาลนี้กำลังสร้างความกลัวหวาดระแวงในประชาชนให้อยู่ในภวังค์ความกลัวพฤติกรรมการบริหารประเทศของรัฐบาลนี้ ซึ่งในเชิงจิตวิทยาแล้วจะหมายถึงความกลัวต่อความคิดเห็นของคนอื่น (Allodoxaphobia) ในกรณีก็คือรัฐบาลนี้ได้นำเสนอพระราชกำหนด 4 ฉบับเกี่ยวกับการโยนการบริหารหนี้และการสร้างหนี้ ประกอบด้วย

1. พระราชกำหนดแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อปล่อยกู้ดอกเบี้ย 3 แสนล้านบาท พ.ศ. .... เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยกู้แก่ผู้ประสบอุทกภัย

2. พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้ เพื่อช่วยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ....เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รับผิดชอบทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น 1.14 ล้านล้านบาท

3. พระราชกำหนด 3.5 แสนล้านบาท เพื่อโครงสร้างพื้นฐาน พ.ศ. ....ซึ่งจะออกเป็นพันธบัตรรัฐบาลช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 - 2557 ซึ่งเป็นเงินกู้ทั้งในและนอกประเทศ

4. พระราชกำหนดจัดตั้งกองทุนประกัน 5 หมื่นล้านบาท พ.ศ. ....

พระราชกำหนด หรือรัฐกำหนดเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยความจำเป็นรีบด่วน เพื่อประโยชน์แห่งรัฐแล้วแต่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของกฎหมายที่ฝ่ายบริหารโดยอาศัยพระราชอำนาจ โดยคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี ตราขึ้นโดยอำนาจรัฐธรรมนูญให้ไว้ มี 2 ประการ คือ

1. พระราชกำหนดทั่วไป เป็นกรณีที่ตราพระราชกำหนดเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และ

2. พระราชกำหนดเกี่ยวกับภาษีและเงินตรา เป็นกรณีที่ออกได้ในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งต้องได้รับพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดินในระหว่างสมัยประชุม

พระราชกำหนดประเภททั่วไปนี้ มีอำนาจเหมือนพระราชบัญญัติ คือ เป็นกฎหมาย ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาทั้งหลาย แต่เมื่อมีการประชุมรัฐสภา คณะรัฐมนตรีต้องเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาพิจารณาโดยไม่ชักช้า

ส่วนพระราชกำหนดเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา พระราชกำหนดประเภทนี้แม้อยู่ในสมัยประชุม แต่รัฐบาลจะให้รู้ล่วงหน้าไม่ได้ ต้องพิจารณาเป็นการด่วนและเป็นความลับ เพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน เช่น การออกพระราชกำหนดลดค่าเงินบาท เป็นต้น

เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกำหนดประเภทเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ภายใน 3 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา รัฐบาลต้องรีบนำพระราชกำหนดนี้เข้าเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร

ผลที่เกิดขึ้นตามมาของพระราชกำหนดทั้ง 2 ประเภท คือ

1. ถ้าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติหรือเห็นชอบด้วยพระราชกำหนดนั้นๆ พระราชกำหนดนั้นก็มีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

2. ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วย ไม่อนุมัติ พระราชกำหนดนั้นก็ตกไป แต่ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

3. ถ้าสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติพระราชกำหนดนั้น แต่วุฒิสภาไม่อนุมัติ และสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่มีอยู่ หรือต้องมีคะแนนเสียงมากกว่า 251 คนขึ้นไป ในสถานภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปัจจุบัน พระราชกำหนดนั้นก็มีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

4. ถ้าสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติแต่วุฒิสมาชิกไม่อนุมัติ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรยืนยันอีกครั้งแต่คะแนนเสียงยืนยันไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรที่มีอยู่ทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฏร พระราชกำหนดนั้นก็มีอันตกไปแต่ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดใด นายกรัฐมนตรีต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากเป็นกรณีที่ไม่อนุมัติให้มีผลตั้งแต่วันถัดไปจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่จะทำให้ประชาชนสับสน และไม่แน่ใจว่าวัตถุประสงค์ของรัฐบาลนี้มีอะไรแอบแฝงอยู่ เพราะเรื่องที่รัฐบาลตั้งประเด็นเพื่อออกพระราชกำหนด 4 ฉบับนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนอะไร ทำไมไม่เสนอเป็นพระราชบัญญัติกระบวนการที่รอบคอบกว่า เป็นเรื่องที่ต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้และมีส่วนร่วม และต้องออกความคิดเห็นผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละคนเลือกเข้าสภา และการออกพระราชบัญญัติมี 3 วาระที่ต้องอภิปรายกันอย่างเปิดเผย เพราะไม่มีความลับอะไรเลยในเนื้อหาของพระราชกำหนด 4 ฉบับนี้ ยกเว้นแต่ว่ารัฐบาลมีวาระซ่อนเร้นแอบแฝงเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลและพรรคการเมืองของรัฐบาลเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น