xs
xsm
sm
md
lg

คปก.จี้ รบ.“ลาออก” หากศาลรธน.วินิจฉัย 4พรก.ไม่ผ่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (18ม.ค.) ที่โรงแรม ทีเค พาเลซ คณะกรรมการปฏิรูปกฏหมายเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชกำหนดที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการ 4 ฉบับ ได้แก่1.พ.ร.ก.ปรับปรุงบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ... เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รับผิดชอบการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นของกองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท
2.ร่างพ.ร.ก.เงินกู้เพื่อการบูรณะและฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยพ.ศ. ....วงเงิน 3.5 แสนล้านบ้าน 3.ร่างพ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนประกันภัยให้ผู้ประกอบการลงทุนในประเทศ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท และ 4.ร่างพ.ร.ก.แก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ธปท.สามารถปล่อยสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนให้แก่สถาบันการเงิน 3 แสนล้านบาท
นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดี คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ยกมาตรา 184 แห่งกฏหมายรัฐธรรมนูญปี 50 ว่า “ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความปลอดภัยของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะพระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้...
ทั้งนี้มีสาระของกฏหมายมาตรา184 (1)เกี่ยวกับความมั่นคง และ(2)ในสถานการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วนหรือไม่

**จี้รบ.ลาออกหากศาลรธน.วินิจฉัยไม่ผ่าน
นายเจษฏ์ โทณะวณิก คณบดีมหาวิทยลัยสยาม กล่าวว่า รัฐบาลออก พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับดำเนินการเร่งด่วน จะกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เงินไปทำโครงการต่างๆหากพิจารณาไม่ถี่ถ้วนจะสูญเปล่า และส่วนพ.ร.ก.ซอฟท์โลนสามารถดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐได้อยู่แล้ว ไม่น่าจะออกพ.ร.ก.ออกมา ส่วนพ.ร.ก.ประกันภัยไม่น่าเร่งด่วนและก่อนจะเกิดภัยพิบัติ 3-5 เดือนน่าจะหารือกันได้ ขณะที่พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่สอดคล้องพ.ร.บ.ราชการแผ่นดิน และขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 184 แน่นอน
นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลออกพ.ร.ก. 4 ฉบับกู้หนี้ เพื่อนำไปใช้เงินในโครงการขนาดใหญ่ ใช่ว่าจะดำเนินโครงการได้เร็ว งบประมาณจะทำได้ทุกเรื่อง เพราะยังถูกประชาชนคัดค้าน เพราะบางโครงการกระทบกับชุมชน
ด้านนายสุขุมพงศ์ โง่นคำ กรรมการการปฏิรูปกฏหมาย กล่าวว่า ได้มีการส่งพ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว ถ้าพ.ร.ก.ไม่ผ่านรัฐบาลต้องแสดงออกทางการเมืองด้วยการลาออก ภายใน 24 ชม.
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาศาลไม่ได้วินิจฉัยว่าผิด เป็นประโยชน์กับครม.ทั้งสิ้น แต่ครั้งนี้ไม่แน่กรณีพรก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ1.14 ล้านล้านบาท น่าจะมีปัญหา และไม่สามารถสั่งศาลรัฐธรรมนูญได้

**“ทีดีอาร์ไอ”จวกทำบริหารนโยบายสับสน
นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ดูแลนโยบายการเงิน ต้องแยกออกจากนโยบายการคลัง กรณีร่างพ.ร.ก.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยซอฟโลน ที่ให้คลังเข้ามาในธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้การบริหารนโยบายสับสน ซึ่งขณะนี้ประเทศสหรัฐอเมริกา นาคารกลางมีอิสระ สามารถที่จะป้องกันเยียวยาเศรษฐกิจสหรัฐได้
รัฐบาลสามารถใช้นโยบายการคลังผ่านธนาคารของรัฐได้อยู่แล้ว การออกพ.ร.ก.ให้ธปท.ช่วยเหลือการปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำแก่สถาบันการเงิน ทำให้เห็นว่ารัฐบาลทำมากเกินไปที่ทำพ.ร.ก.มาใช้แก้ปัญหาภัยพิบัติ
"สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือต้องเก็บภาษีคนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม และใช้นโยบายการคลัง โดยใช้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเข้ามาดำเนินการ และตัดลดงบประมาณใช้จ่ายโครงการที่ไม่จำเป็นลง"นายนิพนธ์ กล่าว

**เชื่อคลังยังกู้หนี้ได้อีก ไม่ต้องเร่ง
นายสมชัย จิตสุชน นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินขณะนี้ต่างจากเมื่อดีตมาก ปัจจุบันธปท.ดำเนินนดยบายการเงินยึดเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นความเชื่อถือของธนาคารแห่งประเทศไทย และตั้งการปล่อยกู้ซอฟโลน และการกู้เงินกระทรวงการคลังสามารถยังดำเนินการได้ไม่เกินเพดานการก่อหนี้ และมาตรา 22 ของพ.ร.บ.กู้หนี้ต่างประเทศยังกู้ได้ไม่เกิน 10% ของงบประมาณแผ่นดิน และกู้หนี้ไม่เกิน 15%ของงบประมาณรายจ่าย เป็นแนวทางการปฏิบัติแต่ไม่แน่ใจว่ามีความจำเป็นหรือไม่ และปีงบประมาณรายจ่ายปี 2555 ยังสามารถขาดดุลได้ 20% หรือวงเงินเท่ากับ 4.7 แสนล้านบาท

**“เจริญ”คาดถกร่างเงินกู้สัปดาห์หน้า
วันเดียวกันในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วานนี้(18ม.ค.) ยังไม่มีการพิจารณาร่างพระราชกำหนดเงินกู้ ของกระทรวงการคลัง 4 ฉบับ ทั้งนี้ เนื่องจากยังไม่มีการประกาศในพระราชกิจนุเบกษา
ขณะที่ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะมีการพิจารณาได้ภายในสัปดาห์หน้า

**กมธ.แก้ไขปัญหาถก พ.ร.ก.เงินกู้
ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายฉลาด ขามช่วง ส.ส. ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทยเป็นประธาน มีการพิจารณาเรื่องนโยบายฟื้นฟูประเทศภายหลังน้ำท่วม และ การออกพระราชกำหนดกู้เงิน จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งได้เชิญตัวแทนจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันคุ้มครองเงินฝากเงิน และสมาคมธนาคารไทยเข้าชี้แจง
นายสุวิชญ โรจนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า การออกพระราชกำหนดเงินกู้มีทั้งหมด 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นการกู้เงินเพื่อชำระหนี้เงินกู้กองทุนฟื้นฟูจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจตามกฎหมายเรียกเงินจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากในอัตราเฉลี่ย 0.4 เปอร์เซ็นต์ของเงินฝากของแต่ละสถาบันการเงินเพื่อมาชำระหนี้กองทุนฟื้นฟู ร่างพระราชกำหนดเงินกู้เพื่อการบูรณะและฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัย มีการตั้งวงเงินจำนวน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โครงสร้างพื้นฐาน ในการเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน
ส่วนร่างพระราชกำหนดจัดตั้งกองทุนประกันภัย เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัย วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท และการออกร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย วงเงิน 3 แสนล้านบาท จะเป็นการออกเงินกู้ผ่อนปรนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยปี 2554
ด้านนายกอร์ปศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ชี้แจงว่า สมาชิกของสมาคมธนาคารไทยไม่ได้เป็นผู้ก่อหนี้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท แต่ที่ผ่านมาสมาคมธนาคารไทยได้ชำระคืนในรูปแบบของภาษีไปแล้ว ส่วนมาตรการการเรียกเก็บเงินเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากเพิ่มจากเดิมเรียกเก็บที่ 0.4 เปอร์เซ็นต์นั้น ทางสมาคมธนาคารไทยกังวลว่า จะทำให้ธนาคารพาณิชย์เสียเปรียบธนาคารของรัฐ และหากมีการเปิดเสรีธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคเอเชีย จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยเสียเปรียบการแข่งขันธนาคารพาณิชย์ของต่างชาติ
นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สายช่วยงานบริหารชี้แจงว่า การที่รัฐบาลออกพระราชกำหนดเงินกู้ เพื่อต้องการนำเงินไปชำระหนี้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาทที่เกิดจากการที่รัฐบาลค้ำประกันเงินฝากให้ธนาคารพาณิชย์ เมื่อช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 สำหรับการออกเงินกู้ผ่อนปรน ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย เพราะต้องการที่จะเพิ่มเงินเข้าระบบ เพื่อพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการปล่อยกู้ โดยผู้กู้ต้องเป็นผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชนที่มีความจำเป็นเท่านั้น และการปล่อยกู้ไม่ได้เป็นการกู้ผ่านรัฐบาล พร้อมยืนยันว่า การออกพระราชกำหนดกู้เงินไม่ได้เป็นการโอนหนี้ให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย

**โต้งนั่งคลังประเดิมแจงสภาฯกม. กู้
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า เตรียมชี้แจงสภาฯเรื่องการ ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 ฉบับ ทั้งการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาท การกู้เงินทำระบบบริหารน้ำ 3.5 แสนล้านบาท การกู้เงินตั้งกองทุนประกันภัย 5 หมื่นล้านบาท และการกู้เงินซอฟโลน 3 แสนล้านบาท.
กำลังโหลดความคิดเห็น