xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” เชื่อ พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ขัด รธน.คาดศาลตีตกภายใน 1 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ
ผู้นำฝ่ายค้าน มั่นใจการเร่งออก พ.ร.ก.2 ฉบับ ขัด รธน.เชื่อศาล รธน.ตีตกภายใน 1 เดือน ห่วง พ.ร.ก.กองทุนประกันภัย ให้อำนาจ ครม.ล้นฟ้า เกรงซ้ำซ้อนหน่วยงานเดิม ปัดเตะตัดขารัฐบาล ยันหนุนสร้างอนาคตประเทศ แต่ต้องไม่ขัด รธน.และปิดทางทุจริต

วันนี้ (27 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความพระราชกำหนดโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ และ พ.ร.ก.กุ้เงิน 3.5 แสนล้านบาทในวันที่ 30 ม.ค.นี้ ว่า ทางพรรคได้พิจารณาเนื้อหาใน พ.ร.ก.รวมทั้งตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลรธน.เกี่ยวกับ พ.ร.ก.ในอดีตมาเทียบเคียงกับการออก พ.ร.ก.ในอดีตสำหรับ พ.ร.ก.2 ฉบับนี้พรรคเห็นว่า ขัดรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ ไม่ได้มีเหตุผลในเรื่องความมั่นคงเศรษฐกิจจริง ตามรัฐบาลกล่าวอ้าง เช่น การโอนหนี้ให้กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ได้ทำให้ภาระงบประมาณลดลง แต่ทำให้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารกลางของประเทศ ทำให้เป็นปัญหา ส่วนการกู้เงิน 3.5 แสนล้านก็ไม่มีความชัดเจนว่า หากไม่มีการกู้เงินจะมีปัญหาเรื่องความมั่นคงเศรษฐกิจตามมา อีกทั้ง 2 กรณียังไม่เข้าข่ายความจำเป็นเร่งด่วนด้วย

ส่วน พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับ คือ ให้ ธปท.ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3 แสนล้าน และ พ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนประกันภัย 5 หมื่นล้านบาทนั้น แม้ทางพรรคจะไม่ได้ยื่นให้ศาล รธน.ตีความ แต่จะมีข้อสังเกตที่จะอธิบายตัวเนื้อหา เช่น กรณีกองทุนประกันภัย ที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ออกมาระบุว่า จะมีการขยายเงินประกันจาก 5 แสนล้าน มาเป็น 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่า มีการขยายขอบเขตมากกว่าที่ พ.ร.ก.กำหนด เพราะใน พ.ร.ก.เขียนไว้กว้างๆ ที่น่าห่วง คือ การบริหารตัวกองทุนที่ตั้งคณะกรรมการก็ไม่มีการระบุรายละเอียดเรื่องคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามเลย กลายเป็นว่า ครม.ตั้งใครก็ได้มาเป็นประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะเป็นเสียงข้างมากในการบริหารกองทุน

“ในเนื้อหาเท่ากับว่า ขอบเขตงานไมได้เป็นเรื่องของการรับประกันภัยต่อแต่จะเข้าไปดูแลช่วยเลหือประกันภัยด้วย น่าจะซ้ำซ้อนกับกองทุนและสำนักงานที่ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว และเหมือนกับตัว พ.ร.ก.กู้เงินก็อ้างไปไกลถึงอนาคตประเทศ ไม่ใช่แค่เรื่องนี้อย่างเดียว”

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่า รัฐบาลมีเจตนาอะไรซ่อนเร้นจากการอ้างวิกฤตน้ำมาออก พ.ร.ก.4 ฉบับหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กรณี พ.ร.ก.โอนหนี้ชัดเจนว่านำเรื่องวิกฤตน้ำมาอ้าง โดยไม่มีความเกี่ยวข้องเลย เช่นเดียวกับกรณีการกู้เงินเป็นแค่ความพยายามใช้เงินนอกงบประมาณ ทั้งที่ความจริงยังมีวิธีสามารถดูแลได้ ส่วนกรณี พ.ร.ก.ที่ให้ ธปท.ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3 แสนล้านบาท มีข้อสังเกตว่า มีการนิยามในกฎหมายถึงกรอบเวลาน้ำท่วมว่าเฉพาะปี 54 ทำให้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ที่เกิดภัยพิบัติในปี 55 ไม่ได้รับประโยชน์

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ขัด รธน.โดยให้เหตุผลว่าเป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหาร การยื่นตีความครั้งนี้จะมีเหตุผลอะไรที่ทำให้ศาล รธน.ตัดสินแตกต่างออกไป นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มี 2 ประเด็น คือ ก่อนปี 50 เรื่องความจำเป็นเร่งด่วน รธน.ให้ดุลพินิจของ ครม.ให้ตีความได้เฉพาะว่าเข้าเงื่อนไขความมั่นคงทางเศรษฐกิจป้องกันภัยพิบัติหรือไม่ แต่คำวินิจฉัยของศาล รธน.ตั้งแต่ปี 50 เป็นต้นมา รธน.50 เปิดโอกาสให้มีการตีความในส่วนนี้เพิ่มเติมขึ้นมาอีกประเด็นหนึ่ง และพรรคได้เทียบเคียงกับคำวินิจฉัยในวันที่มีการออก พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง ซึ่งรัฐบาลขณะนั้นชี้แจงอย่างละเอียดถึงสถานการณ์ความจำเป็นเร่งด่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า ปัญหาส่งออก ท่องเที่ยวติดลบ คนว่างงานมาก รัฐบาลออกงบกลางปีไปแล้ว มีปัญหาการกู้เงินชนเพดาน และมีการเตรียมแผยงาน ใช้จ่ายอย่างรวดเร็วในการใช้เงินกู้ก้อนแรก ส่วนที่ไม่เร่งด่วนก็ไปทำเป็น พ.ร.บ.เมื่อนำมาเทียบเคียงกับการออก พ.ร.ก.ของรัฐบาลชุดนี้จะมีความแตกต่างอย่างชัดเจน เพราะเฉพาะเงินที่มีอยู่แล้วก็ยังมีปัญหาในการกำหนดการใช้จ่าย อีกทั้งแผนการแก้ปัญหาก็ยังไม่เป็นรูปธรรม ไม่ได้ตอบโจทย์

“พรรคไม่ได้ไปขัดแข้งขัดขาให้รัฐบาลหมดโอกาสในการสร้างอนาคตประเทศจากการกู้เงิน ตรงข้ามเราต้องการการสร้างอนาคตที่มุ่นคง มีความยั่งยืนและเป็นกระบวนการโปร่งใส เพราะหากปล่อยให้ทำโดยขัด รธน.จะเป็นช่องทางเกิดการรั่วไหลไม่สมเหตุสมผลในการใช้จ่ายเงิน เป็นภาระกับอนาคตของประเทศอย่างมาก”

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความมั่นใจมากน่อยแค่ไหนศาล รธน.จะเห็นตรงกับสิ่งที่พรรคจะยื่นคำร้องไป นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เหตุผลที่พรรคจะนำเสนอต่อศาล รธน.ค่อนข้างชัดเจน เพราะพรรคไม่ได้ยื่นตีความทั้ง 4 ฉบับ แต่พิจารณาแยกแยะ เลือกเฉพาะที่มีเนื้อหาสาระขัดกับเงื่อนไขในการตราเป็น พ.ร.ก.เท่านั้น ที่ผ่านมา ศาล รธน.ใช้เวลาในการพิจารณาคดีไม่นาน ประมาณ 1 เดือนเท่านั้น และไม่ต้องกังวลว่าระหว่างที่มีการตีความจะทำให้เกิดความสะดุด เนื่องจากในระหว่างที่มีการตีความกฏหมายก็บังคับใช้ได้ แม้จะยังไม่มีการรับรองในสภาก็ตามโดยกฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ไม่ได้สะดุดหยุดลงจากการตีความ
กำลังโหลดความคิดเห็น