xs
xsm
sm
md
lg

ผลพวงกรณีคนสนิท‘ป๋อซีไหล’หนีเข้าสถานกงสุลสหรัฐฯ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

A Chongqing man walks into a consulate ...
By Francesco Sisci
13/02/2012

เรื่องราวเล่าลืออันน่าตื่นใจและลึกลับแฝงปริศนา เกี่ยวกับการที่ หวัง ลี่จิว์น อดีตรองนายกเทศมนตรีมหานครฉงชิ่ง หลบเข้าไป “เกยตื้น” อยู่ในสถานกงสุลสหรัฐฯ กำลังกลายเป็นเงามืดที่บดบังการเดินทางไปเยือนอเมริกาของรองประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แต่คลื่นกระแทกขนาดร้ายแรงกว่านี้อีกจากเหตุการณ์ดังกล่าว ยังจะส่งแรงสั่นสะท้านสะเทือน ทั้งต่อการถ่ายโอนอำนาจจากคณะผู้นำชุดปัจจุบันสู่คณะผู้นำชุดใหม่ในกรุงปักกิ่ง และต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนในระดับกว้าง นอกจากนั้นสิ่งที่ หวัง กระทำลงไป ซึ่งเท่ากับท้าทายไม่ยอมรับชะตากรรมของ “คนตกกระป๋อง” ตามธรรมเนียมที่เคยเป็นมาในเมืองจีน ก็อาจกลายเป็นพลังกระตุ้นวาระแห่งการปฏิรูปในประเทศนี้ ให้กลับฟื้นตัวคึกคักขึ้นมาใหม่

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ปักกิ่ง – ด้วยการแสดงท่าทีอย่างเรียบๆ ง่ายๆ เขาก็ทั้งสามารถรักษาชีวิตของตนเอง, ทำให้เกิดเงาดำบดบังการเดินทางไปเยือนอเมริกาของรองประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping), รวมทั้งยังอาจจะสร้างผลกระทบที่เป็นการผลักดันวาระการปฏิรูปทางการเมืองในประเทศจีนอีกด้วย ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ หวัง ลี่จิว์น (Wang Lijun) รองนายกเทศมนตรีมหานครฉงชิ่ง, ผู้บัญชาการตำรวจในเมืองใหญ่ที่มีฐานะเทียบเท่ามณฑลแห่งนั้น, และวีรบุรุษของประเทศในด้านการต่อสู้เอาชนะพวกมาเฟียอิทธิพลมืดและแก๊งอาชญากรรม ได้เดินทางไปยังสถานกงสุลสหรัฐฯประจำเมืองเฉิงตู ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราทราบว่าเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ในเหตุการณ์อันน่าตื่นใจชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในวิถีชีวิตทางการเมืองของสาธารณรัฐประชาชนจีน

หวัง ดูเหมือนว่ากำลังพยายามจะขอลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบของสหรัฐฯกำหนดเอาไว้ว่า ห้ามนักการทูตที่ถูกส่งไปประจำอยู่ในต่างประเทศ ต้อนรับผู้ที่ต้องการลี้ภัย โดยบุคคลเหล่านี้ต้องไปยื่นเรื่องขอลี้ภัยเมื่อเข้าไปอยู่ภายในสหรัฐฯแล้ว หรือไม่ก็ยื่นที่ด่านชายแดนของสหรัฐฯ

สำหรับการเดินทางไปเยือนอเมริกาของรองประธานาธิบดีสี (ระหว่างวันที่ 13-17 กุมภาพันธ์ 2012) คราวนี้ เกิดขึ้นเพียงสองสามสัปดาห์ก่อนหน้าการประชุมเต็มคณะครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีน (National People's Congress ซึ่งก็คือรัฐสภาจีน) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นตอนต้นเดือนมีนาคมนี้ ก่อนที่จะถึงการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 (the 18th Party Congress) ในเดือนตุลาคม เป็นที่ยอมรับและคาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่า สีจะขึ้นเป็นผู้นำพรรคสืบต่อจาก หู จิ่นเทา ในที่ประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 18 จากนั้นก็จะก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของประเทศต่อจาก หู ในการประชุมเต็มคณะครั้งแรกของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติชุดใหม่ตอนต้นปีหน้า โดยที่เขาคงจะมีอำนาจครอบงำการเมืองจีนอยู่ในช่วง 2 สมัชชาพรรค (สมัชชาพรรคครั้งที่ 18 และครั้งที่ 19) ซึ่งก็คือ 10 ปี ตามประเพณีปฏิบัติที่เข้ารูปเข้ารอยแล้วของแดนมังกรในระยะ 20 ปีหลังมานี้ ด้วยเหตุนี้จึงมองเห็นกันว่า การเดินทางไปสหรัฐฯของ สี ครั้งนี้ น่าจะเป็นตัวบ่งชี้สายสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับจีนในช่วง 1 ทศวรรษข้างหน้า

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองในระยะหลังๆ มานี้ ฝ่ายอเมริกาดูเหมือนจะยังคงไม่แน่ใจว่าควรจะทำอย่างไรกับจีนดี ทั้งนี้มีทางเลือกที่แตกต่างตรงกันข้ามกัน 2 ทางวางแบอยู่คนละมุมโต๊ะ แล้วก็มีทางเลือกอื่นๆ อีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่าง 2 ทางนี้ ทางหนึ่งนั้นคือการเป็นหุ้นส่วนกันในบางรูปบางลักษณ์ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนของทางเลือกนี้ ก็คือกรณีไต้หวัน การเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาในไต้หวันเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่า วอชิงตันมีเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกับปักกิ่งในการทำให้ประธานาธิบดีไต้หวันอย่าง หม่า อิ่งจิ่ว (Ma Ying-jeou) ผู้ซึ่งดำเนินการปรับปรุงสายสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่อย่างแข็งขัน สามารถหยั่งรากและเติบโตอย่างเข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีทางเลือกอีกทางหนึ่ง ซึ่งได้แก่การประจันหน้าท้าทายกัน อย่างที่เห็นอยู่ในปัญหาซึ่งยังกำลังระอุคุกรุ่นระหว่างจีนกับบางประเทศเพื่อนบ้านในทะเลจีนใต้ มิติความขัดแย้งเหล่านี้ได้ถูกเติมเชื้อให้ลุกโหมจากการเข้าแทรกแซงของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน ผู้ซึ่งออกมาประกาศสนับสนุนแนวความคิดที่ว่า การตกลงกันเกี่ยวกับเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลในอาณาบริเวณหมู่เกาะเล็กๆ และโขดหินซึ่งแดนมังกรกับพวกเพื่อนบ้านพิพาทกันอยู่นั้น ต้องถือเป็นประเด็นปัญหาระดับระหว่างประเทศ ไม่ใช่ระดับทวิภาคี นอกจากนั้นเธอยังแสดงท่าทีชัดเจนว่าเข้าข้างเหล่าเพื่อนบ้านของจีน

ดังนั้น เมื่อพูดโดยสรุปแล้ว สหรัฐฯสามารถที่จะร่วมมือกับจีนในการกำหนดจัดวางอนาคตของโลกกันใหม่ หรือไม่ก็เข้าปิดล้อมแดนมังกรในลักษณะเป็นสงครามเย็นครั้งใหม่ กล่าวโดยพื้นฐานแล้ว เรื่องนี้ย่อมขึ้นอยู่กับการตอบสนองของจีน แต่แท้ที่จริงมันก็ขึ้นอยู่กับสหรัฐฯด้วยว่าต้องการได้อะไรจากจีนและจากโลก เป็นต้นว่า อเมริกามีแผนการใหญ่เกี่ยวกับอนาคตว่าอย่างไร, พวกเพื่อนบ้านของจีนจะขออะไรจากสหรัฐฯบ้าง, และอเมริกามีแผนการอย่างไรเกี่ยวกับข้อเสนอจากเพื่อนบ้านของจีนเหล่านี้ แน่นอนทีเดียวว่าการเดินทางเยือนของสี จะเป็นชิ้นส่วนใหญ่ชิ้นหนึ่งในปริศนาภาพต่อจิ๊กซอว์นี้ มันจะผลักดันให้เกิดการตัดสินใจขึ้นในอเมริกา (ตลอดจนในจีนด้วย เมื่อ สี กลับไปถึงบ้าน) ว่าจะเดินไปในเส้นทางไหนระหว่าง 2 ทางเลือกดังกล่าวข้างต้น สีจะส่งข้อความอะไรออกมาบอกกล่าวกับอเมริกา? เขาจะได้รับข้อความอะไรจากวอชิงตัน? ในระหว่างกระบวนการเหล่านี้จะบังเกิดความเข้าใจผิดใดๆ ขึ้นหรือไม่?

ภารกิจคราวนี้ในตัวมันเองจึงเป็นภารกิจที่ยากลำบากอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อการเดินทางเที่ยวนี้ยังถูกตั้งความหวังเอาไว้ว่า จะเป็นความพยายามเพื่อแก้ไข “การขาดแคลนความไว้เนื้อเชื่อใจกัน” (trust deficit) ระหว่างประเทศทั้งสอง ดังที่ตัว สี เองแถลงไว้ก่อนหน้าจะออกเดินทางจากปักกิ่ง หรือไม่เช่นนั้นก็อาจหันมาใช้คำพูดของ เคนเนธ ลีเบอร์ธัล (Kenneth Lieberthal) และ สเตปเพิลตัน รอย (Stapleton Roy) ซึ่งกล่าวเอาไว้ในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ (Washington Post) ฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ว่า “สหรัฐฯกับจีนจำเป็นที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงการมีความยับยั้งชั่งใจในระหว่างกันบ้างสักเล็กน้อย” นี่เป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนและท้าทายความสามารถอย่างที่สุด แล้วยิ่งมาในเวลานี้เมื่อเกิดกรณีของ หวัง ขึ้นมา มันก็ยิ่งละเอียดอ่อนและยิ่งท้าทายความสามารถมากขึ้นไปอีก

การที่ หวัง ถูกกล่าวหาว่ากำลังพยายามที่จะหลบหนี คือการเพิ่มมิติมุมมองใหม่ให้แก่เรื่องราวเหล่านี้ทั้งหมด แน่นอนทีเดียวว่า อเมริกาย่อมไม่ปรารถนาที่ทำให้การไปเยือนของ สี ต้องถูกบดบังลดทอนความสำคัญลงไป อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจาก “การขาดแคลนความไว้เนื้อเชื่อใจกัน” ในปัจจุบัน ตลอดจนความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเจตนารมณ์ในอนาคตทั้งของจีนและของอเมริกา หวัง ก็อาจจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งขึ้นมาได้ หวัง ถูกกล่าวหาว่าได้เข้าไปอยู่ในสถานกงสุลสหรัฐฯประจำเมืองเฉิงตูเป็นเวลา 1 วันเต็มๆ โดยที่สื่อมวลชนจีนบรรยายภาพเอาไว้ว่า เขากำลังอยู่ในสภาพยากลำบาก จนต้องไป “เกยตื้น” ที่สำนักงานการทูตของอเมริกาแห่งนั้น

เขาไปพูดอะไรกับฝ่ายอเมริกันบ้าง? มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่การสนทนาของเขาจะถูกบันทึกเอาไว้ และมีความเป็นไปได้เช่นกันที่ส่วนน้อยๆ หรือกระทั่งส่วนใหญ่ๆ ของการสนทนานี้ได้ถูกนำออกไปเปิดเผยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทางฝ่ายจีนแล้วด้วยซ้ำ กระนั้นก็ยังมีความเป็นไปได้ที่ยังมิได้มี (และก็จะไม่มี) การเปิดเผยออกมาทั้งหมด --หรืออย่างน้อยที่สุดฝ่ายจีนจะต้องเชื่อว่ายังมีอะไรเหลืออยู่ที่มิได้เปิดเผยออกมา ส่วนประกอบทั้ง 2 อย่างนี้ กล่าวคือ ส่วนที่ถูกเปิดเผยออกไป และส่วนที่ยังสงวนเก็บงำเอาไว้ อาจจะทำให้อเมริกาและ หวัง เป็นฝ่ายที่ถือไพ่เหนือกว่าก็ได้ถ้าหากเกิดการต่อรองกันในอนาคต

การที่ หวัง เดินทางไปยังสถานกงสุลแห่งนั้น เป็นไปได้ที่เขามองว่านี่คือหนทางในการรักษาชีวิตของตนเอง ในเมื่อเขาอาจจะกลายเป็นแพะรับบาปของการสอบสวนที่กำลังดำเนินอยู่ในฉงชิ่ง โดยคณะกรรมการตรวจสอบวินัยแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นคอลัมนิสต์ให้กับ อิล โซเล 24 โอเร (Il Sole 24 Ore) หนังสือพิมพ์รายวันในอิตาลี สามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมล์ได้ที่ fsisci@gmail
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น