xs
xsm
sm
md
lg

‘คณะผู้นำจีน’ตัดสินใจได้ฉับไว‘กรณีเฉินกวางเฉิง’

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Chen case hints at crack in old consensus mold
By Francesco Sisci
17/05/2012

จีนกับสหรัฐฯสามารถที่จะบรรลุข้อตกลงกันได้ถึง 2 ครั้งภายในเวลาเพียงไม่ถึง 48 ชั่วโมง ในเรื่องเกี่ยวกับชะตากรรมของ เฉิน กวางเฉิง ทนายความผู้ตาบอดที่เป็นพวกไม่เห็นด้วยกับทางการแดนมังกร โดยเฉพาะสำหรับปักกิ่งแล้ว ความสามารถเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจจินตนาการได้ด้วยซ้ำว่าจะเกิดขึ้นได้ในยุคแห่งการเมืองแบบฉันทามติ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของ เหมา เจ๋อตง จากรอยร้าวที่ปรากฏขึ้นในแบบแผนเก่าของแดนมังกรเช่นนี้ บ่งบอกให้เราเห็นถึงโครงสร้างทางอำนาจที่กระชับฉับไวยิ่งขึ้น โดยมีการมอบอำนาจสั่งการให้แก่ตัวบุคคลจนสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว และนี่อาจจะเป็นมรดกสำคัญชิ้นหนึ่งของประธานาธิบดี หู จิ่นเทา

ปักกิ่ง – กรณีของ เฉิน กวางเฉิง ทนายความผู้ตาบอดที่เป็นพวกไม่เห็นด้วยกับทางการแดนมังกร ซึ่งในตอนเริ่มต้นเดือนพฤษภาคมนี้ได้หลบหนีออกจากการถูกควบคุมตัวให้อยู่แต่ภายในบ้านพัก และเล็ดลอดหลีกลี้ไปจนถึงสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันในกรุงปักกิ่ง ระหว่างที่กำลังมีการสนทนาทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กันอยู่พอดี เมื่อนึกย้อนทบทวนดูแล้วก็พบเห็นลักษณะที่ผิดแผกธรรมดาอยู่ประการหนึ่ง กล่าวคือ วอชิงตันกับปักกิ่งสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ถึง 2 ครั้งเกี่ยวกับชะตากรรมของ เฉิน ภายในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมง นี่เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนเลย

สำหรับคณะผู้นำจีนแล้ว การตัดสินใจทำอะไรด้วยความรวดเร็ว เป็นเรื่องที่ทำได้ลำบากมาก เนื่องจากถูกจำกัดด้วยข้อผูกมัดที่จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบแบบฉันทามติ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เอาเลย เป็นต้นว่าในระหว่างเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่มณฑลเสฉวนในปี 2008 ปรากฏว่าภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงภายหลังเกิดภัยพิบัติร้ายแรงคราวนั้น นายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ก็ถูกส่งตัวไปยังพื้นที่ประสบภัย

ทว่าการที่จะบรรลุการตัดสินใจอย่างหนึ่ง (ซึ่งในกรณีนี้ ตอนแรกคือการตัดสินใจที่จะส่ง เฉิน ไปศึกษาในนครเทียนจิน (เทียนสิน) มหานครทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ที่อยู่ใกล้ๆ กับกรุงปักกิ่ง) แล้วจากนั้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาก็ยกเลิกการตัดสินใจในตอนแรก และเปลี่ยนมาเดินหน้าตามแนวความคิดอันสร้างสรรค์อีกอย่างหนึ่ง (ซึ่งก็คือ ไม่ใช่การไปลี้ภัยในอเมริกา แต่เป็นการเข้าโครงการการศึกษาในอเมริกา) ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยภายในแบบแผนเก่าแห่งการเมืองแบบฉันทามติ

การแสวงหาฉันทามติภายในคณะผู้นำระดับท็อป เป็นกระบวนการซึ่งในทางพฤตินัยแล้ว การลงมติส่วนใหญ่ (ถ้าหากไม่ถึงขั้นที่ว่าการลงมติทั้งหมด) ต้องออกมาด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์ นี่คือกระบวนการซึ่งริเริ่มขึ้นมาโดย เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้ต้องการหาหนทางหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งมากเกินไป ดังที่จีนได้ผ่านประสบการณ์มาแล้วกับตัว เหมา เจ๋อตง และก็เห็นแล้วว่าเป็นการเปิดช่องให้เกิดความผิดพลาดอันใหญ่โตดังที่ เหมา ได้กระทำลงไป

ฉันทามติยังเป็นวิธีที่ทำให้คณะผู้นำระดับท็อปสามารถลดทอนเสียงไม่เห็นด้วยในหมู่แวดวงชั้นสูงสุดให้เหลือน้อยที่สุด เนื่องจากทุกๆ คนต่างถูกเรียกร้องให้เห็นพ้องกับทัศนะของฝ่ายเสียงส่วนใหญ่ เสียงที่แตกออกไปในหมู่ผู้นำระดับท็อปนั้นสามารถที่จะเป็นบ่อเกิดของความปั่นป่วนขัดขืนอำนาจการปกครอง โดยอาจก่อให้เกิดการแบ่งแยกอย่างล้ำลึกเป็นฝักฝ่ายเป็นมุ้งต่างๆ ในระดับล่างๆ ลงมา

กรณีของเฉิน และการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วทั้งๆ ที่มีความสลับซับซ้อนเช่นนี้ ทำให้เราต้องคาดเดาว่า นโยบายเก่าแห่งฉันทามติกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาแล้ว ในส่วนของฝ่ายอเมริกันนั้น เราอาจลองเดาดูได้ว่า กรณีของเฉินนี้ โดยพื้นฐานแล้วคงจะตัดสินใจโดยกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งตรงศูนย์กลางย่อมต้องเป็น แกรี ล็อก (Gary Locke) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำจีน, รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ผู้ซึ่งในขณะเกิดเรื่องนี้ก็กำลังอยู่ในกรุงปักกิ่งเพื่อเข้าร่วมการสนทนาทางยุทธศาสตร์อยู่พอดี, แล้วก็ประธานาธิบดีบารัค โอบามา

เป็นไปได้ว่าทางฝ่ายจีนก็ใช้โครงสร้างทำนองเดียวกันนี้ โดยที่มีหัวหน้านักเจรจาบางคนทำการหารือเรื่องนี้โดยตรงกับ ไต้ ปิ่งกว๋อ มนตรีแห่งชาติของจีน (ตำแหน่งในคณะรัฐบาลแดนมังกร ซึ่งถือว่าเทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี),กับรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน, และกับประธานาธิบดี หู จิ่นเทา

จากนั้น หู จะต้องได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการกรมการเมือง (โปลิตบูโร) แห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ให้อำนาจเขาในการตัดสินใจเรื่องเร่งด่วนบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งรัฐโดยที่ไม่ต้องเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ ข้อเท็จจริงที่ว่าสื่อมวลชนของจีนไม่ได้มีการปลุกกระแสโจมตีอเมริกันในเวลาต่อมา ยิ่งเป็นการยืนยันว่า ได้มีการ “มอบอำนาจการตัดสินใจ” ในเรื่องนี้ให้แก่ หู

เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไปคิดว่า หู มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบที่ เหมา เคยมี กระบวนการแห่งการกระจายอำนาจออกไปยังส่วนรอบนอก ซึ่งเริ่มต้นขึ้นภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของ เหมา ได้ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาเป็นเวลาสักประมาณ 35 ปีแล้ว และเป็นเรื่องยากเย็นสาหัสนักที่จะพลิกผันหมุนกลับกระบวนการนี้ ทว่าสิ่งที่เราอาจจะกำลังเป็นประจักษ์พยานอยู่ในปัจจุบัน ก็คือการเริ่มต้นของรูปแบบบางอย่างแห่งการมอบอำนาจและการแบ่งอำนาจ การตัดสินใจบางอย่างบางเรื่องถือเป็นอำนาจหน้าที่ของส่วนที่อยู่รอบนอก การตัดสินใจบางอย่างบางเรื่องอื่นๆ เป็นสิ่งที่คณะกรรมการกรมการเมืองต้องเห็นชอบ แต่ก็มีบางอย่างบางเรื่องซึ่งประธานาธิบดีมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่

สภาพการณ์เช่นนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ดูจะเปรียบเทียบได้กับการแบ่งอำนาจของคริสต์ศาสนาจักรโรมันคาทอลิก พวกพระและบิช็อปสามารถที่จะตัดสินใจเรื่องต่างๆ ของท้องถิ่นของพวกตนได้ แต่สำหรับประเด็นปัญหาระยะยาวไกลบางเรื่อง สมเด็จพระสันตะปาปาก็อาจต้องการได้เสียงเห็นชอบเห็นพ้องจากเหล่าคาร์นินัลและบิช็อปทั้งหลาย ทว่าสำหรับปัญหาบีบคั้นเร่งด่วนบางประการ สมเด็จพระสันตะปาปาก็จะเข้าแทรกแซงเกี่ยวข้องโดยตรง

ข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯกับจีนในกรณีของเฉิน อาจจะไม่ใช่เป็นข้อตกลงอุดมคติอะไร โดยที่ยังอาจจะมีปฏิกิริยาตอบโต้กลับจากพวกเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นบางฝ่าย หรือกระทั่งจากพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในส่วนกลางบางพวก แต่ข้อตกลงที่กระทำกันขณะที่เรื่องราวยังพัฒนาไปอย่างรีบเร่งเช่นนี้ คุณจะสามารถคาดคั้นให้แน่นอนตายตัวได้สักขนาดไหนกัน แถมยังเป็นข้อตกลงที่จะต้องนำมาใช้กับโครงสร้างของจีน ซึ่งอาจจะไม่ได้ต้องการข้อตกลงชนิดนี้ และแน่นอนทีเดียวว่ายังไม่ทราบวิธีการที่จะจัดการรับมือกับข้อตกลงแบบนี้ หรือยังไม่แน่ใจว่าควรคาดหวังอะไรจากข้อตกลงเช่นนี้ อย่างไรก็ดี ข้อสรุปที่พูดได้อย่างชัดเจนก็คือ กรณีของเฉินชี้ให้เห็นสภาพการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ต้องการที่จะให้มีอะไรมาขัดขวางรบกวนการสนทนาหารือทางยุทธศาสตร์ที่กำลังดำเนินอยู่

สิ่งที่เราสามารถถอดออกมาจากกรณีนี้อีกประการหนึ่งก็คือ หู มีอำนาจบารมีอย่างใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา เราคงทำได้เพียงแค่คาดเดาเอา เนื่องจากกรอบเวลาดูสอดรับคล้องจองกันอยู่ ว่ากรณีของ ป๋อ ซีไหล (อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขามหานครฉงชิ่ง และสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการกรมการเมือง ซึ่งถูกสั่งพักงาน สืบเนื่องจากการที่ผู้ช่วยคนสนิทของเขา หวัง ลีจิว์น รองนายกเทศมนตรีและผู้บัญชาการตำรวจมหานครฉงชิ่ง หลบหนีไปอยู่ในสถานกงสุลอเมริกันประจำเมืองเฉิงตูเป็นเวลา 1 คืน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์) เป็นปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอำนาจใหม่ๆ ของ หู

ดูเหมือนว่า หู จะต้องขอบคุณการชำระสะสางต่างๆ ที่บังเกิดขึ้นภายหลังกรณีของ ป๋อ เพราะทำให้ตัวเขาสามารถที่จะรวบรวมอำนาจเข้ามาไว้อย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และก็เป็นสิ่งที่ผู้ดำรงตำแหน่งนี้คนก่อนๆ เขาไม่เคยมี (อาจจะมีข้อยกเว้นก็คือ เหมา เจ๋อตง ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่าง หู หากแต่เป็นประธานพรรค อันเป็นตำแหน่งที่ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ไม่กี่ปีภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของ เหมา -ผู้แปล) ด้วยอำนาจเหล่านี้ หู สามารถที่จะเริ่มต้นการปฏิรูปต่างๆ ในทางการเมือง และแผ้วถางเส้นทางไปสู่การรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวกับไต้หวัน ซึ่งประการหลังนี้แม้กระทั่ง เหมา ผู้ทรงอำนาจยิ่งใหญ่อย่างที่สุดก็ยังกระทำไม่สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปต่างๆ ทางการเมือง กำลังถูกคัดค้านต่อต้านอย่างขมขื่นจากพวกเจ้าหน้าที่ระดับกลาง ผู้ซึ่งมองเห็นอย่างชัดเจนว่า ยิ่งมีความโปร่งใสมากขึ้น และมีการแบ่งอำนาจบางอย่างบางประการเช่นนี้ ก็จะยิ่งทำให้พวกเขาต้องถูกเปิดตัวเผยโฉมต่อหน้ามติมหาชนในระดับท้องถิ่น อีกทั้งถ่ายโอนอิทธิพลบารมีบางอย่างของพวกเขาไปยังศูนย์กลาง

พวกเจ้าหน้าที่ระดับกลางนี่แหละเป็นพวกที่น่าจะต้องสูญเสียมากที่สุดจากการดำเนินการปฏิรูปทางการเมือง เนื่องจากพวกเขาจะต้องตกอยู่ภายใต้แรงบีบคั้นกดดันโดยรวมของประชาชนที่อยู่ทางเบื้องล่าง และก็จากเหล่าผู้นำที่อยู่ทางเบื้องบน และดังนั้น โอกาสความเป็นไปได้สำหรับการทุจริตคอร์รัปชั่นในระดับกลางๆ นี้ ซึ่งเป็นตัวที่สร้างความเจ็บปวดความเสียหายให้แก่ประชาชนคนสามัญโดยตรง ก็คงจะลดถอยน้อยลงไป

ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจนว่า หู จะผลักดันเดินหน้าการปฏิรูปต่างๆ ทางการเมืองอย่างแข็งขันจริงจังขนาดไหน แต่เขาดูจะมีแรงจูงใจให้อยากจะกระทำเช่นนั้นอย่างแน่นอน เขาน่าจะต้องการให้ยุคแห่งการเป็นประธานาธิบดีของเขา มีผลงานอันจารึกหนักแน่นล้ำลึกอยู่ในประวัติศาสตร์ อีกทั้งการปฏิรูปทางการเมืองยังจะช่วยเพิ่มพูนโอกาสของการรวมชาติกับไต้หวัน และการพัฒนาอย่างสันติในประเทศจีน อันเป็น 2 ภารกิจสำหรับประเทศจีนที่ชัดเจนแจ่มแจ้งเหลือเกิน

นอกจากนั้น ในสถานการณ์นี้ การรวมศูนย์อำนาจและการแบ่งอำนาจยังจะกลายเป็นมรดกที่จะตกทอดไปสู่ทายาทของเขา (ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งสืบแทนเขาในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ โดยที่จะอยู่อำนาจไปเป็นเวลา 10 ปี) ผู้ซึ่งจะมีช่องทางในการนำนโยบายต่างๆ ของเขามาใช้ โดยไม่ประสบอุปสรรคอยู่ในทุกย่างก้าว จากฝีมือของกลุ่มคนผู้ลุ่มหลงยึดมั่นอยู่แต่กับผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ของตนเองอย่างเหนียวแน่น

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นคอลัมนิสต์ให้กับ อิล โซเล 24 โอเร (Il Sole 24 Ore) หนังสือพิมพ์รายวันในอิตาลี สามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมล์ได้ที่ fsisci@gmail
กำลังโหลดความคิดเห็น