xs
xsm
sm
md
lg

‘สภาไร้เขี้ยวเล็บ’แห่งแวดวงการเมืองจีน

เผยแพร่:   โดย: อู่จง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Limp arm of the body politic
By Wu Zhong
09/03/2010

สภาปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน จัดการประชุมซึ่งควรจะเรียกว่า “การชุมนุมกระซิบกระซาบทางการเมือง” ที่กรุงปักกิ่งในปีนี้ในระหว่างวันที่ 3 – 13 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเปิดและปิดเร็วกว่าการประชุมของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีน 1 วันตามธรรมเนียม ถึงแม้สมาชิกของสภาปรึกษาการเมืองฯยังคงมีสภาพเป็นแค่ที่ปรึกษาผู้ไร้เขี้ยวเล็บ และสาธารณชนก็แสดงความไม่พอใจพวกเขาเพิ่มมากขึ้น แต่ก็มีเหตุผลมากมายนักที่จะทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงรักษาองค์กรซึ่งดูตกยุคตกสมัยแห่งนี้เอาไว้ต่อไป

ฮ่องกง – การประชุมประจำปีของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีน (National People's Congress หรือ NPC) และสภาปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน (Chinese People's Political Consultative Conference หรือ CPPCC) ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งเสมือนเป็นพิธีการประทับตรายางรับรองให้แก่ระเบียบวาระการดำเนินงานต่างๆ ของรัฐบาลกลางของจีน เพิ่งจะเสร็จสิ้นกันไปหมาดๆ

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลยที่สภาปรึกษาการเมืองฯจะมีการเปิดและปิดการประชุมก่อนสภาผู้แทนฯ 1 วัน (ในปีนี้ CPPCC จัดการประชุมระหว่างวันที่ 3-13 มีนาคม ส่วนของ NPC คือระหว่างวันที่ 4-14 มีนาคม –ผู้แปล) อันที่จริงสภาปรึกษาการเมืองฯ เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นก่อนสภาผู้แทนฯ และคือผู้ทำหน้าที่เป็นหมอตำแยทำคลอดให้สาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Republic of China) ได้ออกมาดูโลก

บทบาทของบรรดาสมาชิกสภาปรึกษาการเมืองฯในแต่ละปี คือการเสนอข้อคิดเห็นและคำแนะนำต่างๆ กฎหมายของจีนระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า สภาผู้แทนฯเป็นผู้ทำหน้าที่ในการอนุมัติรับรองเรื่องงบประมาณ, แผนพัฒนาเศรษฐกิจ, และผู้เข้าดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกันเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ในทางเป็นจริงก็ได้ถูกตัดสินวินิจฉัยไปก่อนแล้วโดยศูนย์กลางแห่งอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Chinese Communist Party หรือ CCP) ด้วยเหตุนี้ สภาปรึกษาการเมืองฯจึงมีอำนาจหน้าที่อันจำกัดมาก และจึงเกิดการอภิปรายถกเถียงกันมานมนานแล้วว่าควรที่จะรักษาองค์กรนี้เอาไว้ต่อไปหรือไม่ รวมทั้งสาธารณชนก็ดูจะมีความผิดหวังไม่พอใจเหล่าสมาชิกของสภาปรึกษาการเมืองฯ เพิ่มมากขึ้นด้วย

สภาปรึกษาการเมืองฯชุดแรก เคยทำหน้าที่เป็นสมัชชารัฐธรรมนูญ เพื่อก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมา องค์กรแห่งนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 1949 ในกรุงปักกิ่ง (เวลานั้นนครแห่งนี้ยังใช้ชื่อว่า เป่ยผิง Beiping และยังไม่ได้มีฐานะเป็นเมืองหลวงของประเทศ) สมาชิกประกอบด้วยพวกเจ้าหน้าที่ของพรรคก๊กมิ่นตั๋ง ซึ่งได้เปลี่ยนข้างหันมาติดตามพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตง, เหล่าผู้นำของพวกพรรคการเมืองเล็กๆ ที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์จำนวนหนึ่ง โดยพรรคเหล่านี้ส่วนใหญ่จัดตั้งขึ้นโดยพวกปัญญาชนที่เห็นอกเห็นใจหนุนช่วยพรรคคอมมิวนิสต์, บรรดาผู้นำในภาคส่วนต่างๆ หลากหลาย, และบุคคลผู้มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่ง

กองทัพของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่นำโดยเหมา สามารถเข้าควบคุมพื้นที่ส่วนมากของแผ่นดินใหญ่จีนได้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 1949 และกำลังเป็นผู้ชนะในสงครามกลางเมืองที่สู้รบกับพรรคก๊กมิ่นตั๋ง ซึ่งเป็นผู้ปกครองประเทศจีน หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นยอมแพ้ในปี 1945

ความประสงค์ของเหมาที่ให้มีการจัดตั้งสภาปรึกษาการเมืองฯขึ้นมา ก็เพื่อเป็นการทำตามคำมั่นสัญญาของเขาในเรื่องการก่อตั้ง “คณะรัฐบาลที่มาจากฝ่ายต่างๆ” ภายหลังพรรคคอมมิวนิสต์มีชัยในสงครามกลางเมืองแล้ว บทบาทของสภาปรึกษาการเมืองฯก็คือการสถาปนาสาธารณรัฐใหม่ ขึ้นแทนที่สาธารณรัฐจีน (Republic of China) ของก๊กมิ่นตั๋ง

การประชุมสมัยแรกของสภาปรึกษาการเมืองฯ ไม่เพียงได้อนุมัติรับรองชื่อของรัฐใหม่, เพลงชาติ, ธงชาติ, และเมืองหลวงใหม่เท่านั้น แต่ยังได้รับรองเอกสารที่เรียกกันว่า “แผนงานร่วมเพื่อการสร้างประเทศชาติขึ้นมาใหม่” (Common Program for building a new nation) ซึ่งโดยพฤตินัยแล้วก็คือรัฐธรรมนูญนั่นเอง รวมทั้งได้ทำการเลือกรัฐบาลกลางชุดแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลชุดนี้มีลักษณะเป็นรัฐบาลผสมที่มาจากฝ่ายต่างๆ โดยพวกสมาชิกของพรรคการเมืองที่มิใช่พรรคคอมมิวนิสต์ และบุคคลที่มิได้มีสังกัดอยู่ในพรรคการเมืองใด หลายๆ คนได้รับแต่งตั้งให้รับตำแหน่งระดับอาวุโส จากนั้นในปีต่อๆ มา สภาปรึกษาการเมืองฯก็ทำหน้าที่เป็นองค์กรด้านนิติบัญญัติอีกด้วย

แต่เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถรวมศูนย์อำนาจการปกครองของตนได้แข็งแกร่งแล้ว ก็ได้เริ่มเพิ่มกระชับการกุมอำนาจ และในปี 1954 ได้จัดตั้งสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติขึ้นมา เพื่อให้เป็นองค์กรนิติบัญญัติสูงสุดของประเทศ โดยที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรค สภาผู้แทนฯได้อนุมัติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อใช้แทนแผนงานร่วมฯ หลังจากนั้นมา สภาปรึกษาการเมืองฯจึงตกอยู่ในสภาพอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ นั่นก็คือ เป็นตู้กระจกสำหรับแสดงผลงานของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรืออย่างที่บางคนเรียกขานองค์กรนี้ว่า เป็น “กระถางกลวงๆ ทางการเมือง” หน้าที่หลักของสภาปรึกษาการเมืองฯมีเพียงแค่การยื่นข้อเสนอและคำแนะนำต่างๆ ต่อประดาผู้กำหนดนโยบายของประเทศซึ่งมาจากพรรคคอมมิวนิสต์ โดยที่ผู้กำหนดนโยบายเหล่านี้เป็นผู้ที่จะตัดสินใจว่า จะรับหรือไม่รับข้อเสนอคำแนะนำดังกล่าวไปปฏิบัติหรือไม่

กระนั้นก็ตามที สำหรับพวกชนชั้นนำในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมแล้ว ตำแหน่งสมาชิกของสภาปรึกษาการเมืองฯยังคงถือเป็นตำแหน่งแห่งอภิสิทธิ์ นอกจากนั้นในระบบการจัดชั้นข้ารัฐการอย่างเป็นทางการของประเทศจีนเวลานี้ ผู้เป็นประธานและรองประธานของสภาปรึกษาการเมืองฯ ยังได้รับการยกย่องว่ามีฐานะเป็น “ผู้นำของรัฐ” ส่วนสมาชิกในคณะกรรมการแห่งชาติของสภาปรึกษาการเมืองฯ ก็เทียบเท่าระดับรัฐมนตรี ถึงแม้ไม่ได้มีอำนาจที่เป็นจริงอะไร ด้วยเหตุนี้เอง ผู้คนจำนวนมาก (รวมทั้งพวกเจ้าพ่อธุรกิจจำนวนมากในฮ่องกง) จึงถือว่าเป็นเกียรติยศสูงส่ง เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เข้าสู่องค์กรแห่งนี้

ในช่วงเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมา สาธารณชนของจีนบังเกิดความคาดหวังกันว่า สมาชิกในคณะกรรมการแห่งชาติของสภาปรึกษาการเมืองฯ จะเป็นผู้ที่มีความคิดเปิดกว้างยอมรับสิ่งใหม่ๆ และเป็นผู้กำกับตรวจสอบรัฐบาลผู้กล้าพูดกล้าแสดงความเห็น รวมทั้งเป็นผู้รับใช้ผลประโยชน์ของประเทศชาติ ด้วยเหตุนี้จึงมีความผิดหวังกันมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเกิดกรณีหลายๆ กรณีซึ่งชี้ชัดเจนว่า บุคคลที่นั่งอยู่ในสภาปรึกษาการเมืองฯสนใจห่วงใยดอกผลพอกพูนของตนเองมากกว่า เพื่อที่จะรักษาตำแหน่งของพวกเขาเอาไว้ สมาชิกสภาปรึกษาการเมืองฯบางคนจึงดูเหมือนยินดีที่จะรับใช้ผลประโยชน์ของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลต่างๆ มากกว่าที่จะทำตามความคิดความประสงค์ของพวกเขาเอง ทั้งนี้เนื่องจากคณะกรรมการพรรคระดับดังกล่าว เป็นผู้มีหน้าที่เสนอชื่อบุคคลผู้เหมาะสมจะเข้าเป็นสมาชิกของคณะกรรมการระดับชาติของสภาปรึกษาการเมืองฯนั่นเอง

เมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานเกี่ยวกับกรณีเช่นนี้อยู่กรณีหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นการโหมเติมเชื้อให้สาธารณชนยิ่งไม่พอใจผลงานอันย่ำแย่ของสมาชิกสภาปรึกษาการเมืองฯบางราย และเป็นเรื่องราวที่คุ้มค่าแก่การนำมาเสนอกันอย่างละเอียดสักหน่อย กล่าวคือ ระหว่างการประชุมประจำปีของสภาปรึกษาการเมืองฯเมื่อปี 2008 ซุนซูอี้ (Sun Shuyi) ประธานคณะกรรมการมณฑลซานตงของสภาปรึกษาการเมืองฯ ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลกลางจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อใช้ในการก่อสร้าง “นครแห่งสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวจีน” (Chinese Cultural Symbolic City) ที่จะมีเนื้อที่รวม 10 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ใกล้ๆ เมืองเกิดของปรมาจารย์ขงจื๊อ ในมณฑลซานตง โครงการนี้จะต้องใช้เงินอย่างน้อย 30,000 ล้านหยวน (ประมาณ 150,000 ล้านบาท –ผู้แปล) ทั้งนี้ตามการประเมินราคาโครงการที่คำนวณไว้เมื่อปี 2004 ข้อเสนอนี้มีสมาชิกของคณะกรรมการแห่งชาติของสภาปรึกษาการเมืองฯที่มาจากมณฑลซานตงอีกจำนวนหนึ่งร่วมลงนามด้วย

อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกสภาปรึกษาการเมืองฯที่มาจากมณฑลอื่นๆ อีกกว่า 100 คน รวมทั้ง เหมาซินหยู (Mao Xinyu) หลานชายของเหมาเจ๋อตงด้วย มองเห็นว่าโครงการขนาดมหึมาโครงการนี้ เป็นเพียงแผนกโลบายที่มุ่งจะส่งเสริมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการท่องเที่ยวในท้องถิ่นเท่านั้น จึงได้รีบลงนามในญัตติคัดค้านข้อเสนอดังกล่าว ผลก็คือโครงการนี้ไม่ได้รับเงินงบประมาณจากรัฐบาลกลาง (ดูเรื่อง Stumbling towards Confucius-ville, Asia Times Online, March 20, 2008.)

เมื่อถึงสิ้นปีที่แล้ว ซุนซูอี้ ได้ถูกปลดออกจากตำแหน่งรองผู้ว่าการมณฑลซานตง และถูกสอบสวนเนื่องจากต้องสงสัยว่ากระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งรวมถึงการรับสินบนในการเวนคืนที่ดินในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งอยู่ หลังจากที่ซุนถูกจับกุมคุมขัง พวกสมาชิกสภาปรึกษาการเมืองฯจากมณฑลซานตง ซึ่งได้ร่วมลงนามสนับสนุนข้อเสนอให้จัดสร้างนครแห่งสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวจีน ต่างพยายามอุตลุดที่จะถอยตัวเองให้ห่างออกมาจากอดีตผู้นำของพวกเขา

สมาชิกสภาปรึกษาการเมืองฯคนหนึ่งในกลุ่มนี้ บอกกับหนังสือพิมพ์ ไชน่า ยูธ เดลี่ (China Youth Daily) ซึ่งนำมาตีพิมพ์ในฉบับวันที่ 4 มีนาคมว่า พวกเขาไม่ได้ปรารถนาที่จะลงนามในข้อเสนอดังกล่าวเลย “เราถูกขอให้ร่วมลงชื่อด้วย แล้วเราจะปฏิเสธได้ยังไง” สมาชิกซึ่งมิได้มีการระบุชื่อผู้นี้กล่าว

แต่การสารภาพเช่นนี้แทบไม่ได้รับความเห็นอกเห็นใจอะไรเลย ตรงกันข้ามกลับถูกสาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่ หลายๆ คนตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาว่า ทำไมจึงปล่อยให้คนที่ไม่สามารถขบคิดตัดสินใจอย่างเป็นอิสระได้เช่นนี้ นั่งอยู่ในองค์กรที่ปรึกษาสูงสุดของประเทศชาติต่อไป

บทวิจารณ์หลายๆ ชิ้นจากพวกหนังสือพิมพ์ของทางการ เป็นต้นว่า ลีกัล เดลี่ (Legal Daily) และ เป่ยจิง นิวส์ (Beijing News) ได้เรียกร้องให้ทำการปฏิรูปกระบวนการเสนอชื่อสมาชิกสภาปรึกษาการเมืองฯ โดยระบุว่าตราบใดที่มณฑลต่างๆ ยังคงเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอชื่อ ก็ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่สมาชิกเหล่านี้จะต้องฟังเสียงของพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบระดับท้องถิ่น

อันที่จริงมีการอภิปรายถกเถียงกันมาเป็นแรมปีแล้ว ในเรื่องที่ว่าควรจะคงสภาปรึกษาการเมืองฯเอาไว้ต่อไปหรือไม่ ได้มีผู้เสนอว่า สภาปรึกษาการเมืองฯควรจะต้องรวมเข้าไปในสภาผู้แทนฯ ในสภาพที่เป็น “สภาสูง” ของฝ่ายนิติบัญญัติ ทว่าความคิดเช่นนี้ถูกปฏิเสธไม่ยอมรับ ด้วยเหตุผลว่า เป็นแนวความคิดแบบ “ตะวันตก” มากเกินไป

ส่วนข้อเสนอที่ว่าควรยกเลิกตำแหน่งฐานะอย่างเป็นทางการของสภาปรึกษาการเมืองฯ แล้วปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นองค์กรคลังสมองสูงสุดของรัฐบาลกลาง ก็ปรากฏว่าถูกคัดค้านอย่างหนักหน่วงที่สุดจากทางสภาปรึกษาการเมืองฯเอง เนื่องจากการถูกถอดออกจากระบบจัดชั้นในแวดวงข้ารัฐการเช่นนั้น ย่อมทำให้พวกสมาชิกต้องสูญเสียอภิสิทธิ์ต่างๆ ไป

จากการที่สาธารณชนกำลังรู้สึกไม่พอใจกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับการกระทำของสมาชิกสภาปรึกษาการเมืองฯบางราย เวลานี้จึงมีเสียงเรียกร้องให้ยุบเลิกองค์กรแห่งนี้ไปเลยดีกว่าเพื่อประหยัดงบประมาณของประเทศชาติ อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ไม่น่าที่จะบังเกิดขึ้นภายในอนาคตที่พอมองเห็นได้นี้ เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงต้องการใช้สภาปรึกษาการเมืองฯเป็นตู้กระจกอวดโชว์ “ความร่วมมือกันของหลายพรรคหลายฝ่าย” ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้ การประชุมประจำปีของสภาปรึกษาการเมืองฯจึงน่าจะยังมีอยู่ต่อไปอีกหลายๆ ปีทีเดียว

อู่จง เป็นบรรณาธิการด้านจีนของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น