xs
xsm
sm
md
lg

จีนตีพิมพ์หนังสือ“ความคิดเจียงเจ๋อหมิน”

เผยแพร่:   โดย: อู่จง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Jiang gives China something to think about
By Wu Zhong
02/03/2010

บรรดาความคิดเห็นทางทฤษฎีต่างๆ ของเจียงเจ๋อหมิน อดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนคนก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึง “ทฤษฎี 3 ตัวแทน” ของเขาด้วย กำลังได้รับการยกระดับความสำคัญจากทางการจีนในปัจจุบัน ให้ขึ้นสู่ฐานะการเป็น “ความคิด” ชี้นำ ทำนองเดียวกับบรรดาปรัชญาความคิดเห็นของเหมาเจ๋อตงที่ได้กลายเป็น “ความคิดเหมาเจ๋อตง” อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะได้รับการยกย่องให้เกียรติอย่างชนิดชวนให้นึกเปรียบเทียบกับ “นายท้ายเรือผู้ยิ่งใหญ่” ท่านนั้น แต่ก็มิได้หมายความว่าตัวเจียงเองจะยังคงรักษาอิทธิพลทางการเมืองเอาไว้ได้มากมาย ภายหลังที่ปลดเกษียณพ้นตำแหน่งออกมาหลายปีแล้วเช่นนี้

ฮ่องกง – หลังจากช่วงวันหยุดยาว 1 สัปดาห์ในเทศกาลปีใหม่ทางจันทรคติ หรือ “ตรุษจีน” ผ่านพ้นไป ชีวิตทางการเมืองและทางสังคมในประเทศจีนก็กำลังกลับคืนเข้าสู่ภาวะปกติ โดยในระหว่างวันที่ 4-14 มีนาคมนี้ มีการประชุมประจำปีของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีน (National People's Congress หรือ NPC) เช่นเดียวกับการจัดประชุมของสภาผู้แทนประชาชนในระดับมณฑลต่างๆ

การประชุมสภาผู้แทนฯของปีนี้ต้องถือว่าคุ้มค่าควรแก่การเฝ้าติดตามเป็นพิเศษ ทั้งนี้ในหลายๆ มณฑลทีเดียว สภาผู้แทนฯของระดับท้องที่จะต้องมีวาระการพิจารณาและอนุมัติรับรองการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลประจำปี การปรับเปลี่ยนเลือกเลื่อนข้ารัฐการคราวนี้มีความสำคัญยิ่งกว่าปกติ เนื่องจากจะเป็นการเตรียมการสำหรับการเปลี่ยนผ่านส่งมอบอำนาจจากคณะผู้นำรุ่นปัจจุบันสู่คณะผู้นำรุ่นต่อไป ซึ่งจะเกิดขึ้นในการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2012 (ดูเรื่อง New stars in China's firmament, Asia Times Online, December 10, 2009)

ทางด้านสภาปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน (Chinese People's Political Consultative Conference หรือ CPPCC) องค์กรสูงสุดในด้านการให้คำแนะนำคำปรึกษาทางการเมืองของประเทศ ซึ่งสมาชิกประกอบไปด้วยพวกผู้นำกลุ่มต่างๆ ที่มิใช่คอมมิวนิสต์, ผู้นำในวงการธุรกิจ, บุคคลทางศาสนา, นักวิชาการ, และบุคคลผู้มีชื่อเสียง รวมประมาณ 2,200 คน ก็จัดการประชุมประจำปีของตนในช่วงเวลาใกล้เคียงกับของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติมายาวนาน เมื่อวันอาทิตย์ (28 ก.พ.)ได้มีการประกาศแต่งตั้งสมาชิกใหม่ในคณะกรรมการแห่งชาติของสภาปรึกษาการเมืองฯรวมทั้งสิ้น 13 คน ในจำนวนนี้บุคคลซึ่งได้รับการจับตามองมากที่สุด ได้แก่ ปันเชนลามะองค์ที่ 11 และ เอดมุนด์ โฮ เฮา หว่า (Edmund Ho Hau Wah) อดีตผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษ “มาเก๊า” ซึ่งเกษียณอายุแล้ว เป็นที่คาดหมายกันว่า ทั้งคู่จะได้รับเลือกให้ขึ้นเป็นรองประธานของสภาปรึกษาการเมืองฯ ที่จัดการประชุมปีนี้ในระหว่างวันที่ 3-13 มีนาคม (หมายเหตุผู้แปล –ปรากฏว่าที่ประชุมสภาปรึกษาการเมืองฯ คราวนี้ ได้เลือก โฮ ขึ้นเป็นรองประธานจริงๆ ทว่าไม่ได้เลือกปันเชนลามะ แม้เป็นที่คาดหมายกันว่าเขาคงจะได้รับเลือกในปีต่อๆ ไป)

ทำนองเดียวกับกรณีของ ต่งเจี้ยนหวา (หรือ ตุงชีหวา Tung Chee Hwa ในภาษากวางตุ้ง) อดีตผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษ “ฮ่องกง” ความเป็นไปได้ที่โฮจะได้รับการแต่งตั้งขึ้นสู่ตำแหน่งซึ่งทรงอภิสิทธิ์ (ทว่ามีแต่เกียรติยศไม่ค่อยมีอำนาจจริงๆ ใดๆ ) เช่นนี้ ก็คือการให้รางวัลตอบแทนเขาสำหรับความสำเร็จในการปฏิบัติตามนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” หลังจากที่ดินแดนมาเก๊ากลับคืนสู่การปกครองของจีนในปี 1999

ส่วนในกรณีของปันเชนลามะ ตั้งแต่ที่ปันเชนลามะองค์ที่ 10 ได้มรณภาพไปในปี 1989 ก็ไม่มีผู้นำทางศาสนาของทิเบตคนใดได้รับแต่งตั้งขึ้นสู่องค์กรระดับชาติของจีนอีกเลย แม้กระทั่งการแต่งตั้งในลักษณะเป็นเพียงในนามก็ไม่มี ปันเชนลามะองค์ที่ 11 นี้ มีนามเดิมว่า กะยัลต์เซน นอร์บู (Gyaltsen Norbu) ปัจจุบันอายุ 20 ปี ทางการปักกิ่งเป็นผู้จัดการเลือกเขาขึ้นสู่ตำแหน่งปันเชนลามะ ที่ถือเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณหมายเลข 2 ของทิเบตรองจากทะไลลามะเท่านั้น โดยปฏิเสธไม่ยอมรับคนที่ทะไลลามะคัดเลือกเอาไว้ เห็นได้ชัดเจนว่าปักกิ่งต้องการใช้ปันเชนลามะ เป็นสัญลักษณ์เปิดตัวต่อสาธารณชนของพุทธศาสนานิกายทิเบต ทดแทนขันแข่งกับทะไลลามะ ผู้ลี้ภัยออกจากทิเบตไปอยู่ต่างแดนและเป็นที่รู้จักมีชื่อเสียงในระดับโลก

นอกเหนือจากข่าว “หนักๆ” เหล่านี้แล้ว ก็ยังมีเรื่องราว “เบาๆ” อีกเรื่องหนึ่งที่ออกจะแฝงไว้ด้วยปริศนาซ่อนเงื่อน จึงเป็นที่สนอกสนใจของบรรดานักวิเคราะห์ทางการเมือง

กล่าวคือเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ หรือไม่กี่วันหลังจากช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลตรุษจีนสิ้นสุดลง สถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (China Central Television หรือ CCTV) ซึ่งเป็นสื่อของรัฐ ได้เริ่มรายการข่าวภาคค่ำที่ถือเป็นรายการช่วงไพรม์ไทม์ของตน ด้วยการเสนอข่าวการจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง “ลำดับเวลาแห่งความคิดเจียงเจ๋อหมิน: ปี 1989 – 2008” (Chronology of Jiang Zemin Thought: 1989-2008) โดยสำนักพิมพ์วรรณกรรมพรรคส่วนกลาง (Central Party Literature Press) โดยหนังสือเล่มนี้จะเป็นการรวบรวมบรรดาคำปราศรัยและข้อเขียนของอดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนผู้นี้

เรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญยิ่งอย่างน้อยๆ ก็ใน 3 แง่มุมด้วยกัน

แง่มุมแรก ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการระบุถึงมโนทัศน์เกี่ยวกับ “ความคิดเจียงเจ๋อหมิน” ก่อนหน้านี้ ข้อคิดทฤษฎีของเจียงซึ่งได้รับการยอมรับนับถือกัน จำกัดอยู่เพียงเฉพาะ “ทฤษฎี 3 ตัวแทน” (Three Represents) ของเขา ซึ่งได้รับการบรรจุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย [1] แต่ในคราวนี้ก็ดังที่ชื่อเรื่องของหนังสือบ่งบอกเอาไว้ ข้อคิดทฤษฎีต่างๆ ของเขาในบัดนี้ได้รับการยกระดับขึ้นสู่ฐานะ “ความคิดเจียงเจ๋อหมิน” แล้ว

ในประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีเพียงประธานเหมาเจ๋อตงผู้ล่วงลับเท่านั้น ที่ความคิดปรัชญาต่างๆ ของเขาได้รับเกียรติให้ขนานนามอย่างเป็นทางการว่า “ความคิดเหมาเจ๋อตง” (Mao Zedong Thought) สำหรับผู้อ่านที่พูดเขียนภาษาอื่นๆ อันมิใช่ภาษาจีน เรื่องนี้ฟังดูเหมือนเป็นแค่การเล่นคำเท่านั้น แต่สำหรับในประเทศจีนแล้วเรื่องนี้มีความหมายซึ่งจริงจังมากในทางการเมือง ในภาษาจีนนั้น คำว่า “ความคิด” (Sixiang) เมื่อใช้ในลักษณะที่หมายถึงชื่อเฉพาะ ก็แทบจะมีความหมายอย่างเดียวกับ “ลัทธิ” ทีเดียว เล่าขานกันว่าครั้งหนึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนแสดงความประสงค์ที่จะใช้คำว่า “ลัทธิเหมาเจ๋อตง” ทว่าตัวเหมาเองปฏิเสธโดยกล่าวว่า “เราทุกคน” ต่างก็เป็นนักเรียนเป็นสานุศิษย์ของ คาร์ล มาร์กซ์ และ วลาดิมีร์ เลนิน ดังนั้นจึงควรที่จะละคำว่า “ลัทธิ” ให้ใช้เฉพาะแต่กับครูบาอาจารย์เหล่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง คำที่มีความหมายอันถ่อมตนมากกว่า อย่างคำว่า “ความคิดเหมาเจ๋อตง” จึงได้รับการยินยอมเห็นชอบยิ่งกว่าคำว่าลัทธิเหมาเจ๋อตง

เมื่อคำนึงถึงคุณูปการและฐานะของเหมาเจ๋อตงในประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้ว แม้กระทั่งเติ้งเสี่ยวผิงก็ยังถอยฉากไม่ยอมให้ใช้คำว่า “ความคิด” มาเป็นชื่อข้อคิดทฤษฎีต่างๆ ของตัวเขา ในธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์จีนฉบับปัจจุบัน จึงมีแต่การระบุว่า ลัทธิมาร์กซ์ – ลัทธิเลนิน, ความคิดเหมาเจ๋อตง, และทฤษฎี (ว่าด้วยการปฏิรูปแลการเปิดกว้าง) ของเติ้งเสี่ยวผิง คืออุดมการณ์ชี้นำพรรคและประเทศชาติ ถัดจากนั้นจึงเป็นแนวความคิด “สำคัญ” ว่าด้วย “ 3 ตัวแทน” ของเจียงเจ๋อหมิน และทัศนะว่าด้วย “การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์” ของประธานาธิบดีหูจิ่นเทา

การคิดอย่างสร้างสรรค์และการสร้างทฤษฎี คือคุณสมบัติที่บรรดาผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ดังที่เหมาเจ๋อตงสอนไว้ว่า “ถ้าไม่มีทฤษฎีปฏิวัติ ก็ไม่มีการเคลื่อนไหวปฏิวัติใดๆ ทั้งสิ้น” การเปิดตัว “ความคิดเจียงเจ๋อหมิน” จึงเป็นสัญญาณแห่งการยกระดับฐานะทางประวัติศาสตร์ของเขาว่าอาจจะใกล้เคียงทัดเทียมกับของเหมาเจ๋อตง

แง่มุมที่สอง ดังที่ชื่อของหนังสือเล่มนี้บ่งบอกเอาไว้ ความคิดเจียงเจ๋อหมิน หมายรวมไปถึงคำปราศรัยและงานเขียนต่างๆ ซึ่งออกมาภายหลังเขาเกษียณอายุอำลาตำแหน่งไปแล้วหลายๆ ปี โดยทางการแล้ว เจียงลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคเมื่อปลายปี 2002 , จากการเป็นประธานาธิบดีของรัฐในตอนต้นปี 2003, และจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางในปี 2004 แต่หนังสือเล่มนี้จะรวมผลงานของเขาตั้งแต่ปี 1989 ซึ่งเป็นเวลาที่เขาได้รับคัดเลือกจากเติ้งเสี่ยวผิงให้ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด (ภายหลังการปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน) ไปจนกระทั่งถึงปี 2008 หรือ 4 ปีหลังจากที่เขาลาออกจากทุกๆ ตำแหน่งแล้ว

เรื่องนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยกันขึ้นมาว่า ตั้งแต่ที่เขาเกษียณอายุไป เจียงยังคงมีการ “แทรกแซง” การปฏิบัติงานของคณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดปัจจุบันเรื่อยมากระนั้นหรือ แน่นอนว่าคงจะต้องอ่านหนังสือเล่มนี้กันทั้งเล่มเสียก่อน จึงจะสามารถยืนยันหรือปฏิเสธข้อสงสัยดังกล่าวได้ (สำหรับในขณะนี้ ผู้เขียนบทความนี้เองยังไม่มีหนังสือเล่มนี้ให้อ่าน) เป็นที่ทราบกันดีว่าเจียงเป็นผู้ที่ชื่นชอบโอ่อวดฝีมือการเขียนตัวหนังสือจีนด้วยพู่กันของเขา ด้วยการเขียนคำจารึกเอาไว้ในที่ต่างๆ นอกจากนั้นงานเขียนของเขายังได้รับการตีพิมพ์อยู่ในวารสารทางวิชาการบางเล่มภายหลังจากที่เขาเกษียณอายุ ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเอกสารที่ไม่ได้มีนัยทางการเมืองอะไรนักเหล่านี้ จะถูกรวบรวมเอาไว้ในหนังสือเล่มนี้ของเขาหรือไม่

แง่มุมสุดท้าย หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วรรณกรรมพรรคส่วนกลาง ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ได้รับความไว้วางใจสูงที่สุดในการจัดพิมพ์พวกเอกสารของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและข้อเขียนของเหล่าผู้นำพรรค เมื่อพิจารณาจากธรรมเนียมปฏิบัติที่เสมือนเป็นกฎเกณฑ์แม้มิได้มีการเขียนออกเป็นลายลักษณ์อักษรของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ว่าบรรดาผู้นำพรรคทั้งหลายไม่ว่าจะเกษียณอายุแล้วหรือยังครองอำนาจอยู่ จักต้องไม่ตีพิมพ์เผยแพร่อะไรโดยที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ นี่ย่อมหมายความว่าหนังสือเล่มนี้จะต้องได้ไฟเขียวจากศูนย์กลางอำนาจของพรรคแล้ว และดังนั้นจึงหมายความต่อไปว่า การคิดคำว่า “แนวความคิดเจียงเจ๋อหมิน” ขึ้นมา เป็นสิ่งที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการแล้ว

ทั้งหมดเหล่านี้ เมื่อบวกกับจังหวะเวลาอันอ่อนไหวของการประกาศการจัดพิมพ์ ทำให้พวกนักเฝ้ามองจีนในฮ่องกงบางคนเชื่อว่า เจียงซึ่งเวลานี้กำลังจะมีอายุ 84 ปี ต้องการที่จะบอกกล่าวต่อโลกว่า เขายังคงมีอิทธิพลอยู่ทั้งในทางการเมืองและในทางอุดมการณ์ และน่าจะมีสิทธิ์มีเสียงอยู่บางระดับในการเปลี่ยนถ่ายคณะผู้นำ ณ การประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 18 ปี 2012

คงไม่ต้องเท้าความกันว่า ในฐานะที่เป็น “แกนกลาง” ของคณะผู้นำพรรครุ่นที่ 3 แน่นอนที่เจียงจะยังคงสามารถรักษาอิทธิพลของเขาเอาไว้ในระดับหนึ่ง ทว่าหลังการเกษียณอายุของเขา สภาพเช่นนี้น่าจะมีลักษณะเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่ผ่านไป ทั้งนี้ตามธรรมเนียมจีนแล้ว หูและทายาทของเขาจะต้องให้ความเคารพนับถือ แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องรับฟังและกระทำตาม

มองจากอีกมุมมองหนึ่ง เราอาจพิจารณาหนังสือเล่มนี้ของเจียงว่า คือความพยายามที่จะทำให้ฐานะของเขาในประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและในประวัติศาสตร์ของประเทศชาติ มีความมั่นคงสูงเด่นยิ่งขึ้น ทำนองเดียวกับพวกผู้นำจีนในอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่จักรพรรดิในราชวงศ์ต่างๆ จนถึงเหมาและเติ้ง เจียงก็มีความใส่ใจเป็นอย่างยิ่งในเรื่องที่ว่าคนรุ่นหลังจะจดจำรำลึกถึงตัวเขาอย่างไร เจียงในฐานะตัวบุคคลอาจจะสิ้นชีวิตตายจากไป แต่ความคิดเจียงเจ๋อหมินจะดำรงคงอยู่ไปตลอดกาล สำหรับหูแล้ว การยกระดับฐานะของเจียงย่อมหมายถึงการแผ้วถางทางให้แก่การยกระดับฐานะของตัวเขาเอง เมื่อถึงเวลาที่เขาเกษียณอายุในอีก 2 ปีต่อจากนี้ไป

อย่างไรก็ดี ดังที่ประวัติศาสตร์ของจีนได้แสดงให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่า การที่ผู้นำจีนคนใดคนหนึ่งมุ่งมาตรปรารถนาทำให้คนรุ่นหลังรำลึกจดจำเขาในลักษณะเช่นไรนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง ทว่าเอาเข้าจริงแล้วเขาจะได้รับการรำลึกจดจำอย่างไรย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความคิดเจียงเจ๋อหมินจะยืนยงไปตลอดกาลได้หรือไม่ คงมีแต่คนรุ่นต่อๆ ไปเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้

หมายเหตุ
[1] ทฤษฎี 3 ตัวแทน เป็นอุดมการณ์ทางสังคม-การเมือง ซึ่งได้รับการยอมรับจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 16 เมื่อปี 2002 คำขยายความอย่างเป็นทางการของอุดมการณ์นี้ระบุว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ควรต้องเป็นตัวแทนของพลังการผลิตที่ก้าวหน้าในสังคม, เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมที่ก้าวหน้า, และเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่อันมากมายไพศาล

อู่จง เป็นบรรณาธิการด้านจีนของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น