เอเยนซี-ทางการฉงชิ่ง เตรียมอพยพประชาชนกว่า 300,000 คน ออกจากถิ่นฐานรอบพื้นที่เขื่อนสามโตรก อีกระลอก ยอมรับหวั่นภัยแผ่นดินถล่ม
สื่อจีนรายงานวันที่ 21 ม.ค. ว่า หวง ชี่ฝาน รักษาการฯ นายกเทศมนตรีฉงชิ่ง กล่าวในการประชุมประจำปีของสภาประชาชนท้องถิ่น ว่า ได้จัดงบประมาณกองทุนผู้อพยพ กว่า 5.41 หมื่นล้านหยวน เพื่อชดเชยแก่ชาวฉงชิ่งกว่า 1.138 ล้านคน ในการย้ายถิ่นฐานใหม่ระลอกที่ผ่านมา และกล่าวว่าในปีนี้ยังจะต้องมีการอพยพผู้คนอีก 300,000 คน ออกจากพื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อป้องกันพิบัติภัยทางธรณีวิทยา เช่น แผ่นดินถล่ม อุทกภัย ตลอดจนเชื้อโรคที่มากับน้ำ
หู เจียไห่ ผู้แทนจากสภาประชาชนท้องถิ่น กล่าวกับสื่อของทางการจีนว่า ขณะนี้กำลังรอการก่อสร้างแนวป้องกันทางระบบนิเวศฯ โดยรอบพื้นที่อ่างฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำในแม่น้ำแยงซี และลดการติดเชื้อโรคที่ปนอยู่ในน้ำรอบถิ่นฐานผู้คน ทำให้ต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ เช่น แผ่นดินถล่ม โดยจำนวนผู้คนที่จะต้องอพยพระลอกนี้ เป็นไปตามการประเมินลักษณะทางธรณีวิทยา
หูกล่าวว่า การย้ายประชาชนครั้งนี้ ไม่ได้อยู่ในโครงการหาที่อยู่ใหม่ของรัฐบาลกลาง แต่เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลเมืองฉงชิ่งเอง ที่ต้องการให้ประชาชน 300,000 คน ย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่บนภูเขาซึ่งมีสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ลำบาก ไปยังที่จัดสรรฯ ซึ่งดีกว่า
หู เผยว่า แผนการอพยพนี้ เป็นการอนุมัติโดยสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐฯ และจะจัดสรรงบประมาณชดเชยกองทุนอพยพของปี 2553 นี้ ไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านหยวน
สื่อรายงานว่า ปัญหาความแออัดของผู้อพยพพื้นที่รอบเขื่อนเริ่มหนาแน่น จากการสำรวจในปี 2552 โดย Chongqing Committee of Chinese People's Political Consultative Conference (CPPCC) ความหนาแน่นของประชากรอพยพรอบอ่างเก็บน้ำ มีสัดส่วนถึง 333.8 คนต่อตารางกิโลเมตรแล้ว ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 2.1 เท่า รายงานยังกล่าวว่า พื่นที่ทำกินนั้นเริ่มขาดแคลน
และที่ผ่านมายังมีข่าวชาวบ้านหลายพันคนที่ถูกย้ายออกจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนสามโตรก รวมตัวประท้วงและปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากไม่พอใจการจ่ายเงินชดเชยฯ โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลท้องถิ่นได้คอร์รัปชั่นยักยอกเงินในกองทุนผู้อพยพฯ มากกว่า 10 ล้านหยวน
เขื่อนสามโตรก หรือเขื่อนซันเสีย (Three Gorges Dam) อภิมหาเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มูลค่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ กินอาณาบริเวณจากฉงชิ่ง เรื่อยมาจนถึงอี้ชัง เป็นโครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากประธานเหมา เจ๋อ ตง โดยพรรคคอมมิวนิสต์อ้างว่าเป็นการสานวิสัยทัศน์ของดร.ซุนยัดเซ็น เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2537
โดยนับแต่เริ่มโครงการ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตีจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาตลอดไม่จบสิ้น เพราะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศทางธรรมชาติสุดจะประเมิน และชุมชนท้องถิ่นกว่า 1.4 ล้านคน จาก 1,300 หมู่บ้าน ต้องโยกย้ายถิ่นอาศัย เพื่อปล่อยน้ำท่วมเมืองต่างๆ ริมฝั่งแยงซีเกียงถึง 116 เมือง ให้เป็นอ่างเก็บน้ำใหญ่ มีความยาวถึง 640 กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถึง 13 เมือง นับเป็นการอพยพยคนออกจากพื้นที่ครั้งใหญ่สุดในโลก