xs
xsm
sm
md
lg

การปฏิรูประบบป้องกันคอร์รัปชันเพื่อกำจัดศัตรูภายใน

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

วิกฤตการณ์คอร์รัปชันนำประเทศไทยใกล้สภาวะรัฐล้มเหลว (Failed States) เข้าไปทุกที ทั้งนี้ไม่เพียงเพราะเกิดการทุจริตฉ้อฉลอย่างกว้างขวางทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพเท่านั้น หากทว่าความขัดแย้งแบ่งฝักฝ่ายทางการเมืองซึ่งดึงทุกชนชั้นในสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องยังลุกลามจากเชื้อไฟทุจริตคอร์รัปชันในเครือข่ายของกลุ่มกุมอำนาจทางการเมือง-เศรษฐกิจที่รู้จักกันในนามของการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย (Policy Corruption) ที่มีรูปแบบสลับซับซ้อนอย่างยิ่งอีกด้วย ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีมาตรการทางกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตมากมาย ภายในเวลาเดียวกันก็มีความพยายามของหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมต่างๆ โดยเฉพาะการรวมกลุ่มกันของภาคธุรกิจเอกชนและองค์กรภาคีในการต่อต้านคอร์รัปชันโดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ หากแต่ทว่าท้ายสุดก็ไม่สามารถมีชัยชนะได้แต่ประการใด

เนื่องด้วยมีปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้การทุจริตคอร์รัปชันเจริญงอกงามเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ในสังคมไทยก็คือ ‘จิตสำนึก-วิธีคิด-วิถีวัฒนธรรม’ ของคนไทยยังยึดติดกับระบบอุปถัมภ์ ลัทธิบริโภคนิยม การแสวงหาอภิสิทธิ์ การชอบฉกฉวยโอกาส การขาดความรู้สึกหวงแหนสมบัติส่วนรวม และการยอมจำนนต่อปัญหาโดยง่าย ซึ่งภายใต้สถานการณ์ทางสังคมการเมืองเช่นปัจจุบันนี้ที่พลังของการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check & Balance) ทั้งภาคทางการ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และภาคไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะภาคประชาสังคม กำลังอ่อนแอลง หรือถูกทำให้กลายเป็นเสมือนการกลั่นแกล้งทางการเมือง หรือไม่เคารพเสียงประชาชนหรือประชาธิปไตยไปแทนที่ก็ทำให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยในระดับต่างๆ ลงรากหยั่งลึกจนยากจะถูกสั่นคลอนหรือโถนทิ้งไปได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คอร์รัปชันเป็นเสมือน ‘สนิมเนื้อใน’ หรือ ‘Enemy Within’ ที่กร่อนกัดประเทศไทยในระดับของโครงสร้างและระบบที่ส่งผลกระทบกว้างขวางรุนแรงแก่ทุกองคาพยพของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนเล็กคนน้อยที่มักถูกทุนและรัฐเอารัดเอาเปรียบเรื่อยมา ขณะเดียวกันก็ทำลายภาพลักษณ์ประเทศอย่างรุนแรงด้วย ดังผลคะแนนความโปร่งใสที่ไทยได้แค่ 2.8-3.8 เต็ม 10 โดยองค์กร Transparency International และผลการศึกษาจากสถาบัน Asian Intelligence ที่ระบุว่าคนไทยมีความอดทนต่อปัญหาคอร์รัปชันมากถึงมากที่สุด และรัฐไทยมีความพยายามแก้ปัญหานี้น้อยถึงน้อยที่สุด

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไข คลี่คลาย และป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในระดับของระบบและโครงสร้างซึ่งสัมพันธ์กับการปรับเปลี่ยน ‘จิตสำนึก-วิธีคิด-วิถีวัฒนธรรม’ ของคนไทยที่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ การเล่นพรรคเล่นพวก ลัทธิบริโภคนิยม การแสวงหาอภิสิทธิ์ การฉกฉวยโอกาส การขาดความรู้สึกสาธารณะและหวงแหนสมบัติส่วนรวม และการยอมจำนนต่อปัญหาโดยง่ายดาย ทางสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยครั้งที่ 3 จึงเสนอแนวทางการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในมิติต่างๆ ดังนี้

1) มิติด้านมาตรการทางภาษีอากรในการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชัน โดยให้ ป.ป.ช.และกรมสรรพากรตรวจสอบและประเมินภาษีย้อนหลังโดยเปิดเผยแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงต่อสาธารณะ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งระดับสูงต้องถูกตรวจสอบการประกอบอาชีพสุจริตและเสียภาษีเงินได้ กระทรวงการคลังต้องปฏิรูปกระบวนการจัดเก็บภาษีอากรโดยห้ามเจ้าหน้าที่สรรพากรมีดุลพินิจส่วนตัวในการจัดเก็บ และจัดให้มีหน่วยงานสืบสวนสอบสวนคดีภาษีอากรของกรมสรรพากรขึ้นโดยเฉพาะ โดยทำหน้าที่ทั้งแพ่งและอาญา

2) มิติด้านพลังทางสังคมในการสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยให้ ป.ป.ช.จัดตั้งกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยมีองค์กรภาคประชาสังคมสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในเชิงนโยบาย วิชาการ และงบประมาณ ด้านรัฐบาลต้องจัดตั้งกองทุนสนับสนุนเพื่อเป็นกลไกสนับสนุนภาคประชาชนในระยะยาวด้วย

3) มิติด้านการปฏิรูประบบงานปราบปรามการทุจริตของชาติ โดยให้มีการปฏิรูปกระบวนการทำงาน ป.ป.ช.ทั้งระบบ ทั้งด้านการมีแผนปฏิบัติการจัดการคดีที่คั่งค้าง การสร้างวัฒนธรรมองค์กร การจัดตั้งและพัฒนาศักยภาพ ป.ป.จ. การปรับปรุงกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ ป.ป.ช. และการออกมาตรการสนับสนุนกลุ่มและเครือข่ายอาสาสมัครแจ้งเตือนเหตุทุจริต การคุ้มครองความปลอดภัยและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายผู้แจ้งเบาะแสและพยานในคดีทุจริต และพัฒนาระบบงานด้านสินบนนำจับ

4) มิติด้านการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐเพื่อการเข้าถึงและตรวจสอบ โดยให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลและสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปไว้ในเว็บไซต์ขององค์กรซึ่งสาธารณชนข้าถึงโดยง่าย ปรับปรุง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อให้เป็นกลไกอิสระ และนำมาตรฐานบรรษัทภิบาลมาใช้เป็นเกณฑ์การประเมินองค์กรรัฐวิสาหกิจ

5) มิติการปฏิรูปกระบวนการคัดสรรบุคคลที่จะเข้ามาใช้อำนาจรัฐทุกตำแหน่ง โดยให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพกลไก กกต.จังหวัดและกระบวนการจัดการเลือกตั้งให้ป้องกันการทุจริตตั้งแต่ระดับต้นน้ำ และสำนักงาน ก.พ.ต้องใช้หลักคุณธรรมความสามารถในการคัดสรรบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง พร้อมกับเปิดเผยเหตุผลของการที่ได้รับการคัดเลือก แต่งตั้ง หรือถอดถอนแก่สาธารณะทุกครั้ง

ข้อเสนอการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันข้างต้นจะเป็นประเด็นหนึ่งที่เปิดกว้างกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย เพื่อจะทำให้ข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่องนี้มีความคมชัดและแหลมคมมากพอจะต่อกรกับการทุจริตคอร์รัปชันอันเป็น ‘ศัตรูภายใน’ ที่บ่อนทำลายศักยภาพประเทศไทยทั้งทางการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม-วัฒนธรรม รวมทั้งเป็นปกปักษ์สำคัญของการสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ได้ โดยการทำให้การทุจริตคอร์รัปชันลดอำนาจการทำลายล้างลงจนส่งผลกระทบต่อคนปลายอ้อปลายแขมลดลงตามไปด้วย ถึงแม้ว่าที่สุดแล้วจะไม่ได้ชัยชนะเหนือปัญหาคอร์รัปชัน 100% ก็ตามที
กำลังโหลดความคิดเห็น