xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นที่มี CSR /สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในวงการตลาดทุน เรามักได้ยินการอ้างอิงและการคาดหวังให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) หรือบรรษัทภิบาลที่ดี คือ มีคำว่า “Good” นำหน้าคำที่เรียกย่อว่า CG ข้างต้น
นั่นแสดงให้เห็นถึงระบบการบริหารจัดการที่ยึดหลักการและแนวปฏิบัติที่ดี 5 ประการ คือ 1) สิทธิของผู้ถือหุ้น 2) การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน 3) บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย 4) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส่ 5) ความรับผิดชอบของคณะกรรมการการกำกับดูแลกิจการที่ดี จึงเป็นเครื่องมือในการเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมให้กิจการก้าวหน้าเติบโตอย่างยั่งยืน
ก.ล.ต.ผลักดันโครงการอาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น วรพล โสตติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต., มงคล ลีลาธรรม นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และ วรวุฒิ อุ่นใจ กรรมการสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย รับฟังการกล่าวคำปฏิญาณตนของ “อาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น” จำนวน 40 คน ในการเป็นตัวแทนสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เพื่อเข้าร่วมประชุมใหญ่ประจำปีของบริษัทจดทะเบียน ตามโครงการ AGM Check List 2556
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีพิธีมอบ “ดาวอาสาพิทักษ์สิทธิ์ผู้ถือหุ้น” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้นำสถาบันกำกับดูและการพัฒนาตลาดทุนได้แสดงออกในการสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เห็นความสำคัญของการเตรียมการจัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นประจำปีอย่างมีมาตรฐานและคำนึงถึงสิทธิของผู้ถือหุ้นและปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียม
ดร. วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อธิบายว่า “ผู้ถือหุ้น” เป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมากต่อบริษัทจดทะเบียน เพราะเป็นเจ้าของเงินทุนที่ใส่เข้าไปในบริษัท เพื่อให้นำไปใช้เป็นเงินทุนในการหล่อเลี้ยงและขยายกิจการให้เติบโตก้าวหน้า ยังเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการเข้าไปดูแลประโยชน์แทนผู้ถือหุ้น ขณะที่กรรมการได้มอบหมายผู้บริหารให้ดำเนินกิจการของบริษัทต่ออีกชั้นหนึ่ง
ดังนั้น กฎหมายจึงต้องกำหนดให้บริษัทจัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี (Annual General Meeting “AGM”) เพื่อให้ผู้บริหารบริษัทมารายงานผลการดำเนินงานต่อผู้ถือหุ้น และขออนุมัติเรื่องสำคัญจากผู้ถือหุ้น ขณะที่ผู้ถือหุ้นจะได้ใช้สิทธิความเป็นเจ้าของบริษัทในการซักถามหรือแนะนำผู้บริหารในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของผู้ถือหุ้น รวมถึงใช้สิทธิออกเสียงเห็นชอบหรือคัดค้านในเรื่องสำคัญที่ต้องการมติจากผู้ถือหุ้น
การจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีผู้ถือหุ้นจึงเป็นภารกิจสำคัญของบริษัทจดทะเบียนที่จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนทั้งที่กำหนดโดยกฎหมายและมาตรฐานที่พึงปฏิบัติตามหลักสากล เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถใช้สิทธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และเท่าเทียมกัน
ก.ล.ต.มอบ “ดาวพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น” วรพล โสตติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. มอบ“ดาวพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น” ให้แก่ เก่งกล้า รักษ์เผ่าพันธุ์ อุปนายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ในฐานะตัวแทนอาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้นที่จะเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปีเพื่อเป็นสัญลักษณ์นำทางในการทำหน้าที่สนับสนุนการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน
ย้อนหลังไปเมื่อปี 2549 ก.ล.ต. ได้ร่วมกับสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยและสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยได้ริเริ่มโครงการประเมินคุณภาพ AGM เพื่อรณรงค์ให้บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญกับการจัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นอย่างมีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นโดยรวม โดยเป็นการทำรายการให้คะแนนขั้นตอนต่างๆของการจัดประชุม ทั้งก่อน ขณะ และหลังการประชุม แล้วสรุปผลคะแนน ช่วยให้บริษัทจดทะเบียนทราบถึงจุดอ่อนเพื่อการปรับปรุงในแต่ละขั้นตอนของการจัดประชุม
โครงการนี้ทำให้เกิดพัฒนาการอย่างเห็นได้ชัดเจน บริษัทจดทะเบียนมีผลคะแนนดีขึ้นตามลำดับ โดยล่าสุดในปี 2555 มี 279 บริษัท (จากบริษัทที่ถูกประเมิน 450 บริษัท) ได้คะแนนมากกว่า 90 คะแนน และมีบริษัทเกือบ 20 บริษัทที่ได้คะแนนเต็มร้อย จากในปีที่เริ่มต้นโครงการ คะแนนเฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียนอยู่เพียง 71 คะแนน
เมื่อเปรียบเทียบบริษัทจดทะเบียนของไทยกับระดับสากล รายงาน CG Watch ล่าสุดปี 2555 โดย ACGA (The Asian Corporate Governance Association) ร่วมกับ CLSA ประเมินให้ตลาดทุนของไทยขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 3 จากประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ได้รับการประเมิน 11 ประเทศ (จากปี 2550 ได้อันดับที่ 8 ปี 2553 ได้อันดับ 4) ส่วนหนึ่งมาจากการจัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นที่มีคุณภาพ
ดร. วรพล ยืนยันว่า บุคคลสำคัญที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จได้ ก็คือ “อาสาพิทักษ์สิทธิผู้ลงทุน” ซึ่งเป็นอาสาสมัครของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ได้ทำหน้าที่ในการประเมินคุณภาพ การจัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ทั้งการพิจารณาจากเอกสารหลักฐาน และการเข้าร่วมประชุม การซักถาม และประมวลคะแนน ซึ่งอาสาแต่ละคนก่อนที่จะสามารถออกปฏิบัติงานได้ต้องผ่านการฝึกอบรมและทำการศึกษาให้รู้จักและเข้าใจธุรกิจอย่างลึกซึ้งก่อน ภารกิจของอาสาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

 “อาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น” จึงเป็นภารกิจที่มีคุณค่าต่อตลาดทุนไทยและเป็นภารกิจที่มีเกียรติ สมควรได้รบการยกย่องเชิดชูการปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตอาสาได้ครบเต็มทั้ง 3 ประการ คือ เต็มใจ เต็มความรู้ และเต็มศักดิ์ศรี และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ถือหุ้นอื่นทั่วไป ซึ่งจะมีส่วนกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนมีความตระหนักและพัฒนาคุณภาพการประชุมให้มีความพร้อมในการเปิดเผยข้อมูลและปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่และรายย่อยอย่างถูกต้องเป็นธรรม
ข้อคิด...
สำหรับท่านที่สนใจติดตามพัฒนาการของแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ปรากฎการณ์ที่เลขาธิการ ก.ล.ต. ร่วมปล่อยแถวขบวน “อาสาพิทักษ์สิทธิ์ผู้ถือหุ้น” เมื่อเร็วๆ นี้ นับว่าสนใจมาก
เพราะนี่คือการแสดงบทบาทของกลไกรัฐที่กำกับดูแลการพัฒนาตลาดทุน ได้แสดงออกในการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนขับเคลื่อนองค์กรทุกขั้นตอนด้วยหลักบรรษัทภิบาล หรือมี CG (Corporate Governance)คือ ยึดหลักความซื่อสัตย์ ถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้
พร้อมกันนี้ ก็ส่งเสริมให้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อรายงานผลการดำเนินงานและขออนุมัติวาระสำคัญอย่างมีมาตรฐาน และให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
ขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยให้จัดส่งอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมความรอบรู้อย่างมืออาชีพเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อรับรู้และสอบถามเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง
ผมจำได้ว่า ศาสตราจารย์ ดร.อัญญา ขันธวิทย์ แห่งคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “ตัวแบบจำลองสำหรับจัดให้มีการกำกับดูแลกิจการและการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐศาสตร์”
ดร.อัญญา ยืนยันว่า การบริหารกิจการเพื่อให้เกิดคุณค่าและประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นโดยไม่สร้างผลกระทบ หรือความเสียหายต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ แสดงว่ามี CSR
แน่นอนครับ ตัว S คือ สังคม (Social) ที่ต้องรับผิดชอบ (Responsibility) นั้นย่อมหมายถึง สังคมทั้งวงในและวงนอก ซึ่งได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และชุมชน
ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการบริษัททำหน้าที่กำหนดแนวนโยบาย วางยุทธศาสตร์องค์กร และประเมินผลงานของฝ่ายบริหารจัดการซึ่งก็ต้องดำเนินการขับเคลื่อนองค์กรด้วยความเก่งและดี (มี CG) ภายใต้แนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (มี CSR)
ด้วยเหตุปัจจัยของการดำเนินกระบวนการทางธุรกิจในแนวทาง CSR พร้อมกับมีกิจกรรมส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อม มองอีกมิติหนึ่งก็คือ เป็นพัฒนาการอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) นั่นเอง

suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น