xs
xsm
sm
md
lg

พลังพลเมือง : ปฏิบัติการเปลี่ยนประเทศไทยให้ไม่ล้มละลาย

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ในความจำเป็นเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้มีความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมคือการสร้างเสริม ‘พลังพลเมือง’ ที่จะเป็นทั้งกลไกและฟันเฟืองของการปฏิรูปประเทศแนวทางสันติวิธี (Non Violence) ที่ถึงที่สุดแล้วจะเป็นอำนาจหนึ่งในการกำกับอำนาจรัฐให้อยู่ในครรลองของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ลุแก่อำนาจที่ได้รับมาจากประชาชนไปใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนบนความสูญเสียผลประโยชน์สาธารณะ กระทั่งเป็นเหตุให้การทุจริตคอร์รัปชันกัดกินโครงสร้างสังคมจนประเทศชาติเข้าสู่สภาวะรัฐล้มละลาย (Failed States) เพราะได้ทำลายอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลของประชาชนลงสิ้น

แนวทางเปลี่ยนประเทศไทยให้ไม่ติดอันดับประเทศที่โกงกินมโหฬารจนเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไม่พัฒนาเท่าที่ควรทั้งที่มีงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลสนับสนุนการพัฒนาพื้นฐานด้านต่างๆ ตั้งแต่การศึกษา การสาธารณสุข จนถึงการเมืองการปกครองก็คือการหยุดยั้งคอร์รัปชันด้วยพลังพลเมือง รวมถึงการปฏิรูปหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันคือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดังข้อเสนอเบื้องต้นของสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยครั้งที่ 3 ว่าด้วยการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในมิติต่างๆ ดังนี้

1) มิติด้านมาตรการทางภาษีอากรในการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชัน โดยให้ ป.ป.ช.และกรมสรรพากรตรวจสอบและประเมินภาษีย้อนหลังโดยเปิดเผยแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงต่อสาธารณะ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งระดับสูงต้องถูกตรวจสอบการประกอบอาชีพสุจริตและเสียภาษีเงินได้ กระทรวงการคลังต้องปฏิรูปกระบวนการจัดเก็บภาษีอากรโดยห้ามเจ้าหน้าที่สรรพากรมีดุลพินิจส่วนตัวในการจัดเก็บ และจัดให้มีหน่วยงานสืบสวนสอบสวนคดีภาษีอากรของกรมสรรพากรขึ้นโดยเฉพาะ โดยทำหน้าที่ทั้งแพ่งและอาญา

2) มิติด้านพลังทางสังคมในการสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยให้ ป.ป.ช.จัดตั้งกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยมีองค์กรภาคประชาสังคมสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในเชิงนโยบาย วิชาการ และงบประมาณ ด้านรัฐบาลต้องจัดตั้งกองทุนสนับสนุนเพื่อเป็นกลไกสนับสนุนภาคประชาชนในระยะยาวด้วย

3) มิติด้านการปฏิรูประบบงานปราบปรามการทุจริตของชาติ โดยให้มีการปฏิรูปกระบวนการทำงาน ป.ป.ช.ทั้งระบบ ทั้งด้านการมีแผนปฏิบัติการจัดการคดีที่คั่งค้าง การสร้างวัฒนธรรมองค์กร การจัดตั้งและพัฒนาศักยภาพ ป.ป.จ.การปรับปรุงกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ ป.ป.ช. และการออกมาตรการสนับสนุนกลุ่มและเครือข่ายอาสาสมัครแจ้งเตือนเหตุทุจริต การคุ้มครองความปลอดภัยและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายผู้แจ้งเบาะแสและพยานในคดีทุจริต และพัฒนาระบบงานด้านสินบนนำจับ

4) มิติด้านการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐเพื่อการเข้าถึงและตรวจสอบ โดยให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลและสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปไว้ในเว็บไซต์ขององค์กรซึ่งสาธารณชนข้าถึงโดยง่าย ปรับปรุง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อให้เป็นกลไกอิสระ และนำมาตรฐานบรรษัทภิบาลมาใช้เป็นเกณฑ์การประเมินองค์กรรัฐวิสาหกิจ

5) มิติการปฏิรูปกระบวนการคัดสรรบุคคลที่จะเข้ามาใช้อำนาจรัฐทุกตำแหน่ง โดยให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพกลไก กกต.จังหวัดและกระบวนการจัดการเลือกตั้งให้ป้องกันการทุจริตตั้งแต่ระดับต้นน้ำ และสำนักงาน ก.พ.ต้องใช้หลักคุณธรรมความสามารถในการคัดสรรบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง พร้อมกับเปิดเผยเหตุผลของการที่ได้รับการคัดเลือก แต่งตั้ง หรือถอดถอนแก่สาธารณะทุกครั้ง

ทั้งนี้ที่สุดแล้วลำพังการเพิ่มอำนาจหน่วยงานรัฐอย่างเดียวไม่อาจฉุดไทยไปพ้นวิกฤตทุจริตคอร์รัปชันที่กัดกินศักยภาพประเทศจากข้างใจดุจเดียวกับ ‘สนิมเนื้อใน’ ที่ทำเหล็กแข็งแกร่งอ่อนแอลงได้

ในความหมายของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยที่พึงปรารถนาสำหรับทุกภาคส่วนสังคมบนความเห็นพ้องต้องกันของคนทุกสีเสื้อได้ก็คือการเร่งขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ที่จะประสบผลสำเร็จในระยะยาวและสามารถรักษาความสำเร็จไว้ได้อย่างต่อเนื่องก็คือการสร้าง ‘พลังพลเมือง’ ที่มีจิตสาธารณะ กระตือรือร้นต่อประเด็นปัญหาส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการฉ้อฉลคอร์รัปชันในภาครัฐอันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การทุจริตขยายตัวอย่างรวดเร็วในภาคประชาชนและเอกชนตามมา ดังเช่นการคอร์รัปชันเชิงนโยบายที่ภาคการเมืองเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนธุรกิจที่เป็นเครือญาติหรือพรรคพวก

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าพลเมืองจะเป็นพลังหลักในปฏิบัติการเปลี่ยนประเทศไทยให้ไม่ล้มละลาย แต่ทว่าด้วยเงื่อนไขความเป็นจริงของสังคมไทยที่กลุ่มกุมอำนาจรัฐมักอ้างเสียงข้างมากของประชาชนมาขัดขวางกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลของภาคประชาสังคมในการติดตามนโยบายและโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐที่ใช้วงเงินมหาศาล ดังเช่นโครงการบริหารจัดการน้ำงบประมาณหลายแสนล้านบาทที่ภาคประชาชนผู้ลุกขึ้นมาตรวจสอบความโปร่งใสได้ถูกวาดภาพจากรัฐว่าทำลายความมั่นคง ควบคู่กับการที่กลุ่มการเมืองมักมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มทุนจนทำให้ภาคประชาสังคมที่เสมือนโดดเดี่ยวอยู่แล้วถูกโจมตีจากทุกทิศทาง ทั้งจากนักวิชาการและเทคโนแครตบางส่วนที่หนุนหลังโครงการยักษ์ใหญ่เหล่านั้น ก็ทำให้ไม่อาจประสบชัยชนะเหนือปัญหาคอร์รัปชัน 100% ได้ไม่ว่าจะพยายามมากเพียงใด

ดังนั้นความสำเร็จของประชาชนในการเข้าร่วมปฏิบัติการเปลี่ยนประเทศไทยให้ไม่ล้มละลายภายใต้เงื่อนไขสังคมไทยที่ถูกทุนการเมืองกร่อนศักยภาพลงมากจากการวางเฉยของประชาชนบางส่วนต่อการขยายตัวของคอร์รัปชันก็คือการระดมพลัง (Synergy) ประชาชนเข้าด้วยกันเพื่อจะระดมพล (Mobilize) ให้มากพอจะสามารถสร้าง ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ในระดับของโครงสร้างสังคมซึ่งสัมพันธ์กับ ‘จิตสำนึก-วิธีคิด-วิถีวัฒนธรรม’ ของคนไทยที่อยู่ใต้ระบบอุปถัมภ์ การเล่นพรรคพวก ลัทธิบริโภคนิยม การแสวงหาอภิสิทธิ์ การฉกฉวยโอกาส การขาดความรู้สึกสาธารณะและหวงแหนสมบัติส่วนรวม และการยอมจำนนต่อปัญหาโดยง่ายดายมาช้านาน     
กำลังโหลดความคิดเห็น