xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดทุนไทยขึ้นผู้นำ CG อาเซียน เวิลด์แบงก์ติงหุ้น รสก.ถูกรัฐแทรกแซง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลาดทุนไทยขึ้นผู้นำบรรษัทภิบาลในภูมิภาคอาเซียน หลังธนาคารโลกให้คะแนน CG - ROSC ที่ 82.83 จากคะแนนเต็ม 100 แต่ติงบทบาทภาครัฐที่ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจไม่สอดคล้องกับหลักบรรษัทภิบาล เช่น ตำแหน่งกรรมการของข้าราชการ การคัดเลือกกรรมการที่โปร่งใส ด้าน ก.ล.ต.ระบุพร้อมนำไปปรับปรุงเพื่อพัฒนา ชี้ต่อจากนี้อยู่ที่ความจริงใจต่อการปฏิบัติ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้คะแนน CG ที่สูงช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศต่อศักยภาพบริษัทจดทะเบียนไทย

ธนาคารโลก เปิดเผยผลประเมินบรรษัทภิบาลตลาดทุนไทยปี 2555 ในรายงานเรื่อง การประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านบรรษัทภิบาล (The Report on the Observance of Standards and Codes: Corporate Governance Country Assessment) หรือ CG - ROSC ซึ่งปรากฏว่า ตลาดทุนไทยมีพัฒนาการที่ดีในการยกระดับบรรษัทภิบาล และเป็นผู้นำในภูมิภาคโดยได้คะแนนสูงในทุกเรื่องที่สำคัญ ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวนี้ได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน อีกทั้งยังเป็นการรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ถือหุ้นรายย่อย เพิ่มความเป็นมืออาชีพให้แก่
คณะกรรมการบริษัท และยกระดับความโปร่งใสของกิจการ

อย่างไรก็ดี ธนาคารโลกมองว่า ตลาดทุนไทยยังสามารถปรับปรุงการดำเนินการด้านบรรษัทภิบาลได้อีกหลายด้านเพื่อให้ทัดเทียมสากลมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การยกระดับธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจ และปรับปรุงบทบาทภาครัฐในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การส่งเสริมความเป็นอิสระและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงการปรับปรุงกฎหมาย และกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในส่วนที่เกี่ยวกับการเยียวยาผู้ถือหุ้น ซึ่งรวมถึงการเพิ่มบทบาทของ ก.ล.ต. ในเรื่องดังกล่าว

เช่นเดียวกับการมีมาตรการให้บริษัทจดทะเบียนปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีสากลอย่างเต็มรูปแบบ และเปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วน รวมทั้งข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน การกำหนดแนวทางให้ชัดเจนเพื่อสร้างความเป็นอิสระของผู้สอบบัญชีและการดำเนินงานของตัวกลางในตลาดทุน การดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างให้คณะกรรมการบริษัทมีความเป็นอิสระ และดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการประเมินผลบรรษัทภิบาลในครั้งนี้ ตลาดทุนไทยได้คะแนน 82.83 จาก คะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยได้คะแนนสูงสุดในหมวดการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส ซึ่งธนาคารโลกเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลในรายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่เป็นไปตามมาตรฐานสากล อีกทั้งมีช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนที่ทำให้ผู้ลงทุนรับทราบได้หลายช่องทาง และในเวลาที่เหมาะสม พร้อมกันนี้ ยังได้ปรับปรุง และออกกฎหมายและหลักเกณฑ์หลายฉบับ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านบรรษัทภิบาล

นายเดวิด โรบิแนท ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการพัฒนาภาคเอกชน ธนาคารโลก กล่าวว่า ผลการประเมินในครั้งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านบรรษัทภิบาลในภูมิภาคเอเชีย และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องส่งเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ก.ล.ต. และ ธปท. รวมถึงยกระดับธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจให้สูงขึ้น เพื่อที่จะรักษาความเป็นผู้นำดังกล่าวไว้

นายคอนสแตนติน ชิโคซี่ รักษาการผู้อำนวยการ ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีความมุ่งมั่น และพยายามในการปฏิรูปบรรษัทภิบาลตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อมุ่งไปสู่มาตรฐานสากลอย่างเต็มรูปแบบ อันที่จริงแล้วประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการยกระดับบรรษัทภิบาลโดยรวม สมควรให้เป็นที่ยอมรับ และดำเนินการอย่างต่อเนื่องไป

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ผลการประเมินของปี 2555 เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงบรรษัทภิบาลของตลาดทุนไทยที่ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเกิดจากความพยายามของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่ร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขกฎหมาย กฎเกณฑ์ และปฏิบัติตามแนวทางที่วางไว้ เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการของตลาดทุนไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่ความสำเร็จในครั้งนี้จะเป็นความสำเร็จได้อย่างแท้จริง หากทุกฝ่ายร่วมปรับปรุง และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางอีกหลายด้านให้ดีขึ้นไปอีก ซึ่งจะเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนยิ่งขึ้น โดยใช้ความมุ่งมั่นและความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ตลาดทุนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

“การจะตั้งเป้าเพิ่มคะแนน CG - ROSC ในครั้งหน้า มองว่าเป็นการตั้งเป้าที่ลำบากเพราะบริษัทจดทะเบียนต้องตั้งใจดำเนินงานในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ทำตามกฎ โดยรวมกระบวนการดูแลกำกับบริษัทที่ถือหุ้นโดยภาครัฐ ยังต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ตามข้อแนะนำของธนาคารโลก เพื่อรักษาประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ซึ่งสิ่งที่จะดำเนิน การต่อไป คือ การพัฒนาคุณภาพองค์กร การสร้างแรงจูงใจให้บริษัทจดทะเบียนรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น และเรื่องความเป็นอิสระในการทำงานของผู้สอบบัญชี และกรรมการ”

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า จากคะแนน CG ที่ได้รับในครั้งนี้ ทำให้ไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคต่อการพัฒนาและผลักดันบรรษัทภิบาล ซึ่งจะส่งผลในด้านผลประกอบการที่ดีขึ้น ได้รับความเชื่อถือ และความสนใจเข้าลงทุนเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน มีบริษัทไทยเพียง 2 บริษัทที่ได้ถูกนำไปคำนวณอยู่ในดัชนีระดับโลก นั่นคือ กลุ่ม ปตท. และเครือซิเมนต์ไทย แต่จากนี้ไปภายในอีก 2-3 ปี เชื่อว่าจะมีบริษัทไทยเข้าไปเพิ่มเติมใน Index ระดับโลกอีกประมาณ 6-7 บริษัท จาก 13 บริษัท โดยมี เครือซิเมนต์ไทย และกลุ่ม ปตท. คอยเป็นพี่เลี้ยงให้การช่วยเหลือจากที่เคยมีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวมาก่อนแล้ว

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของธนาคารโลกต่อรัฐวิสาหกิจไทย ระบุว่า รัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจดทะเบียน ยังมีบางประเด็นไม่สอดคล้องกับหลักบรรษัทภิบาลที่เป็นมาตรฐาน เช่น คุณสมบัติกรรมการ จำนวนกรรมการที่เป็นข้าราชการ กระบวนการคิดเลือกกรรมการที่โปร่งใส การตรวจสอบของผู้สอบบัญชีที่สามารถตรวจสอบได้ตามาตรฐานสากล และบทบาทของกระทรวงต่างๆ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือเจ้าของกิจการที่ควรกำหนดนโยบายในการสนับสนุนให้เกิดบรรษัทภิบาลในรัฐวิสาหกิจย่างจริงจัง เช่น การเปิดเผยนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
กำลังโหลดความคิดเห็น