นับเป็นข่าวดีที่ธนาคารโลกได้เปิดเผยผลการประเมินบรรษัทภิบาลของตลาดทุนไทยปี 2555 ด้วย “การประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านบรรษัทภิบาล” (The Report on the Observance of Standards and Codes: Corporate Governance Country Assessment) หรือ CG - ROSC ปรากฏว่าตลาดทุนไทยมีพัฒนาการด้านบรรษัทภิบาลดีขึ้นมาก โดยได้คะแนนสูงในทุกเรื่องที่สำคัญ
ปรากฎการณ์เช่นนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน และยังเป็นการรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ถือหุ้นรายย่อย เพิ่มความเป็นมืออาชีพของคณะกรรมการบริษัท และยกระดับความโปร่งใสของกิจการ
การประเมินผลบรรษัทภิบาลในครั้งนี้ ตลาดทุนไทยได้คะแนน 82.83 จากคะแนนเต็ม 100 หมวดที่ได้คะแนนสูงสุด คือ การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส ซึ่งธนาคารโลกเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลในรายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ถึงขั้นได้มาตรฐานสากล อีกทั้งมีช่องทางที่หลากหลายในการเผยแพร่ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนที่ทำให้ผู้ลงทุนรับทราบในเวลาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงและออกกฎหมายและหลักเกณฑ์หลายฉบับ เพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาด้านบรรษัทภิบาล อาทิ การกำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้น และการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการบริษัท เป็นต้น
เดวิด โรบิแนท ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการพัฒนาภาคเอกชน ธนาคารโลก กล่าวว่า “ผลการประเมินในครั้งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยเป็นผู้นำด้านบรรษัทภิบาลในภูมิภาคเอเชียและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องส่งเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ก.ล.ต. และ ธปท. รวมถึงยกระดับธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจให้สูงขึ้น เพื่อที่จะรักษาความเป็นผู้นำดังกล่าวไว้”
คอนสแตนติน ชิโคซี่ รักษาการผู้อำนวยการ ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่าบรรษัทภิบาลมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจโดยรวม ธนาคารโลกจึงมุ่งมั่นการพัฒนาเพื่อขจัดความยากจน และเสริมสร้างแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพด้วยหลักบรรษัทภิบาลซึ่งจะส่งผลดีอย่างเห็นได้ชัดหลายประการ
1)บริษัทที่มีแนวปฏิบัติอย่างมีบรรษัทภิบาลที่เข้มแข็ง จะมีผลประกอบการที่ดีกว่าอัตราเฉลี่ยเกือบร้อยละ 20
2)มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ดีกว่าและด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า
3)ทำรายได้ดีกว่าแม้อยู่ในช่วงวิกฤต
4)การมีบรรษัทภิบาลที่เข้มแข็งในระดับประเทศยังเกื้อหนุนให้มีการเคลื่อนย้ายของเงินลงทุนเข้าประเทศได้ดีกว่า ส่งผลให้มีปริมาณงานและการจ้างงานเพิ่มขึ้น
5)ก่อให้เกิดการรวมตัวและการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ตัวแทนธนาคารโลกประจำประเทศไทยชี้ให้เห็นว่า ในทางตรงกันข้าม การมีบรรษัทภิบาลที่อ่อนแอจะนำไปสู่วิกฤตทางการเงิน ทำลายความมั่งคั่ง และสูญเสียงาน ซึ่งมีตัวอย่างมากมาย ที่สำคัญได้แก่ วิกฤตทางการเงินโลก ปี 2008 ที่มีสาเหตุจากสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ ซับไพรม์ที่เกิดจากหละหลวมด้านบรรษัทภิบาลของวงการธนาคารในสหรัฐอเมริกา
ขณะที่ ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. มีความเห็นว่า “ผลการประเมินของปี 2555 สะท้อนให้เห็นถึงบรรษัทภิบาลของตลาดทุนไทยที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเกิดจากความพยายามของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ร่วมมือกันแก้ไขกฎหมาย กฎเกณฑ์ และปฏิบัติตามแนวทางที่วางไว้ เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการของตลาดทุนไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่อยากจะให้เป็นความสำเร็จที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ทุกฝ่ายต้องร่วมกันปรับปรุงและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางอีกหลายด้านให้ดีขึ้นไปอีก จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนยิ่งขึ้น เพื่อให้ตลาดทุนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก”
เลขาธิการ ก.ล.ต. เล่าให้ฟังว่าในการเข้ารับการประเมินครั้งแรกเมื่อปี 2548 ประเทศไทยได้คะแนนรวมเพียงร้อยละ 67.66 และจากการประเมินครั้งนั้น ตลาดทุนไทยได้นำข้อเสนอแนะของธนาคารโลกและมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องมาปรับปรุง แก้ไขกฎหมาย แนวปฏิบัติ และวิธีการกำกับดูแลในหลายส่วน จนเห็นว่า มีพัฒนาการที่ชัดเจนและได้มาตรฐานมากขึ้น จึงขอเข้ารับการประเมินครั้งที่ 2 ในปี 2555
ทั้งนี้ การประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านบรรษัทภิบาล หรือ CG-ROSC นั้น ธนาคารโลก ใช้หลักการขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งประกอบด้วย 6 หมวด ได้แก่ (1) การบังคับใช้กฎหมายและกรอบการดำเนินการด้านบรรษัทภิบาล (2) สิทธิของผู้ถือหุ้น (3) การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียม (4) บทบาทของผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท (5) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และ (6) บทบาทและความรับผิดชอบของกรรมการบริษัท
การเข้าร่วมโครงการประเมินนี้เป็นความสมัครใจและไม่เสียค่าใช้จ่าย ปัจจุบันมีประเทศที่เข้ารับการประเมินและเผยแพร่ผลโครงการ CG-ROSC จำนวน 59 ประเทศ โดยประเทศในทวีปเอเชียเข้าร่วมโครงการ 11 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย
ข้อคิด...
ณ ปัจจุบัน ต้องถือว่าภาคธุรกิจเอกชนโดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีพัฒนาการตามมาตรฐานสากลเป็นส่วนใหญ่อย่างเห็นได้ชัดจากผลการประเมินนด้านบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) หรือ CG ที่ได้คะแนนอยู่ในระดับหัวแถวของภูมิภาคเอเชีย
ตามที่ เดวิด โรบิแนท ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการพัฒนาภาคเอกชน ธนาคารโลก ระบุว่า ประเทศไทยมีเกณฑ์และการปฏิบัติได้ในระดับที่เป็นผู้นำภูมิภาค มีคะแนนในทุกหมวดสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เข้ารับการประเมิน
โดยเฉพาะด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนไทยได้คะแนนสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะมีการปรับปรุงแก้ไขหลายเรื่อง เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน และมีช่องทางในการใช้สิทธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับรายการที่เกี่ยวโยงกันและการเปลี่ยนแปลงอำนาจในการควบคุมบริษัท ผู้ถือหุ้นให้ความสำคัญและไปใช้สิทธิออกเสียงในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น
นอกจากนี้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้กำกับดูแลและติดตามการซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายในอย่างใกล้ชิด โดยห้ามกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วงก่อนที่จะเผยแพร่งบการเงินต่อสาธารณชน
ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนจะมีเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการเปิดเผยความมีอำนาจในการควบคุมบริษัท การกำหนดแนวปฏิบัติในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับปรุงวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการคัดเลือกกรรมการ และปรับปรุงให้มีการเยียวยาผู้ถือหุ้นมีประเด็นท้าทายก็คือการเพิ่มบทบาทของ ก.ล.ต.
ส่วนการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสก็เป็นหมวดที่ไทยได้คะแนนสูงสุด โดยรายงานประจำปีของ
บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่เป็นไปตามมาตรฐานสากล มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นใหญ่ ความเป็นเจ้าของทั้งทางตรงและทางอ้อม รายการที่เกี่ยวโยงกัน และข้อมูลเกี่ยวกับกรรมการ การกำกับดูแลผู้สอบบัญชีให้มีประสิทธิภาพ มีช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลหลากหลายทั้งในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งพิมพ์
นอกจากนี้ จากการที่สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้มีการประเมินบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียนเป็นประจำปีก็มีส่วนใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาบรรษัทภิบาลของตลาดทุนให้ดีขึ้นได้ด้วย
บทบาทและความรับผิดชอบของกรรมการบริษัทเป็นอีกหมวดที่ไทยได้คะแนนสูงสุด โดยเฉพาะ ในเรื่องความอิสระของคณะกรรมการบริษัท มีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจน โดยส่วนใหญ่
ไม่ใช่ผู้บริหารและเป็นไปตามเกณฑ์ที่ต้องมีกรรมการอิสระไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของคณะกรรมการ และ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการเป็นคนละคนกัน ผู้ประกอบวิชาชีพมีมาตรฐานและจรรยาบรรณสูง และมีมาตรการการคุ้มครองผู้ลงทุนในกฎหมายชัดเจน
ความท้าทายในด้านนี้ ได้แก่ การทุ่มเวลาทำงานของกรรมการและผู้บริหารระดับสูง คณะกรรมการบริษัทควรเป็นผู้คัดเลือกกรรมการผู้จัดการ และมีการประเมิณผลการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร
จะเห็นได้ว่าประเด็นต่างๆ ที่มีการประเมินตามมาตรฐานสากลนั้น ล้วนเป็นหลักการสำคัญที่เป็นแนวทางของระบบโครงสร้างการบริหารที่มีบรรษัทภิบาล (CG) เพื่อเป็นหลักประกันความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งหมายถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มซึ่งรวมถึงนักลงทุนด้วย
suwatmgr@gmail.com