กมธ.วุฒิฯ ร่วม สนง.ปฏิรูปเพื่อสังคมฯ จัดสัมนาแก้คอร์รัปชัน “พลเดช” สรุปข้อเสนออาทิ ให้จัดตั้ง กรอ.ป.ป.ช.ขับเคลื่อน ปรับทัศนคติเอาชนะทุจริต บี้นักการเมืองจ่ายภาษี สร้างความโปร่งใสจัดซื้อ-จัดจ้าง หนุนปกป้องพยานชี้ช่องโกง เร่งจัดการคดีทุจริต และคัดสรรคนดีมีอำนาจ ยกผลวิจัยไทยไม่เหลียวแลหยุดคอร์รัปชัน ปชช.รับได้กับการโกง ชี้ต้องแก้ปัญหาแบบยั่งยืน
วันนี้ (19 ธ.ค.) คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ร่วมกับสำนักงานปฏิรูปเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้จัดการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเสนอเชิงนโยบายการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน
โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป หัวหน้าคณะทำงานเฉพาะประเด็นการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน กล่าวสรุปถึงข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา จำนวน 7 แนวทางว่า 1. สร้างพลังทางสังคมที่เข้มแข็งในการป้องกันและสนับสนุนการปราบปรามการทุจริต โดยขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนและเอกชนจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ-เอกชนด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (กรอ.ป.ป.ช.) เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม 2. ปรับเปลี่ยนเจตคติทางสังคมให้เอื้อต่อการเอาชนะปัญหาทุจริต ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ต้องประกาศเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ในการเป็นต้นแบบการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ปลอดผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้สังคม และควรกำหนดนิยามคำว่าการทุจริตคอร์รัปชันใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมถึงพฤติกรรมการทำผิดทางคุณธรรมจริยธรรม
นพ.พลเดชกล่าวว่า 3. สร้างบรรทัดฐานสำหรับผู้บริหารประเทศให้เป็นแบบอย่างในด้านการประกอบอาชีพสุจริต และเสียภาษีรายได้แก่รัฐ 4. สร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้จ่ายงบประมาณสาธารณะของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยรัฐบาลต้องกำหนดให้กระทรวง ทบวง กรม และสำนักเทียบเท่าทุกหน่วยงานต้องเปิดเผยข้อสัญญาการจัดซื้อจัดจ้าง และต้องนำมาตรฐานบรรษัทภิบาลมาใช้กับองค์กรรัฐวิสาหกิจด้วย
หัวหน้าคณะทำงานฯ ระบุอีกว่า 5. ส่งเสริมกระบวนการผู้ชี้เบาะแสและคุ้มครองพยานในการปราบปรามการทุจริต 6. เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการคดีทุจริตที่สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ป.ป.ช.ต้องกำหนดแผนปฎิบัติการในการจัดคดีคั่งค้างให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ภายใน 5 ปี และต้องปรับปรุงระเบียบภายในไม่ให้เป็นราชการจนเกินไป รวมไปถึงต้องเปิดกว้างกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ ป.ป.ช.ให้มากขึ้น และ 7. เพิ่มประสิทธิภาพในการกลั่นกรองคนดีเข้าสู่อำนาจในการบริหารประเทศ เช่น กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. และผู้บริหารท้องถิ่นต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง
“สถาบัน Asian Intelligence ได้มีผลวิจัยตั้งแต่ปี 2549 แล้วว่าประเทศมีปัญหาการทุจริตรุนแรงในระดับมากถึงมากที่สุด โดยที่รัฐไทยมีความพยายามแก้ปัญหาในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด และคนไทยมีความอดทนต่อการทุจริตมากถึงมากที่สุด ซึ่งปัญหาของไทยในปัจจุบันมาจากสังคมไทยมีวัฒนธรรมแบบหลวม ยอมจำนนง่าย ขาดความผูกพันต่อสาธารณสมบัติ และมีค่านิยมในเรื่องพวกพ้อง จึงเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน” นพ.พลเดชกล่าว