xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” อ้างเร็วเกินไปสรุปแก้รัฐธรรมนูญเพื่อใคร ลั่นไม่ทำเพื่อพี่ชาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
นายกฯ กลับจากพม่า เผยเร่งเดินหน้าพัฒนาโครงการทวาย ตั้งคณะกรรมการร่วมเมื่อเดือน พ.ย. คาดชัดเจน เม.ย.ปีหน้า เผยมีแผนเปิดกงสุลใหญ่ที่ทวาย อีกด้านกล่าวถึงเฟซบุ๊ก “อภิสิทธิ์” หนุนคว่ำประชามติ อ้างเร็วเกินไปที่จะสรุปทำเพื่อใคร เผยยังไม่ได้ตั้งหัวข้อ แค่ให้เสนอทางออกว่าจะเดินหน้าอย่างไร โยน มท.-ยธ.ศึกษา ยันทำเพื่อประชาชนไม่ใช่พี่ชาย ก่อนรุดเยี่ยม “ชุมพล”


วันนี้ (17 ธ.ค.) ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ดอนเมือง (บน.6) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นจากการไปเยือนเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประเทศพม่า ว่าตนได้เดินทางไปชมโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับพม่า ที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทยกับเมียนมาร์ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจนี้ เพราะถือว่าเป็นโครงการท่าเรือน้ำลึกที่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเมืองใหม่เกิดขึ้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมต่อจากประเทศเมียนมาร์ในส่วนของท่าเรือน้ำลึกทวาย และเชื่อมกับท่าเรือแหลมฉบัง และอีสเทิร์นซีบอร์ดของไทย จุดนี้จะเป็นจุดในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจที่สำคัญรวมถึงการเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่นด้วยซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญ ซึ่งได้มีการตั้งคณะทำงานเป็นคณะกรรมการร่วม ตั้งแต่เดือน พ.ย.

โดยขณะนี้ได้นำเจ้าหน้าที่บริษัทเอกชนไปชมสถานที่จริง เพื่อให้เห็นในเรื่องบรรยากาศ ศักยภาพ และความก้าวหน้า รวมถึงการหารือกับประธานาธิบดีเมียนมาร์ โดยสรุปมีความคืบหน้าในเรื่องของแผนงานคร่าวๆ และลำดับถัดไปทางเมียนมาร์ คงจะไปสรุปในเรื่องรายละเอียด และความชัดเจนในเรื่องการจัดเขตเศรษฐกิจพิเศษว่าจะมีข้อเสนออย่างไร เพื่อเชิญชวนนักลงทุน รวมถึงสรุปภาพรวม และแผนการลงทุนทั้งหมด เชื่อว่าคงจะมีความคืบหน้าในเดือน ก.พ. 56 และคาดว่าเดือน เม.ย.ปี 56 คงจะเห็นความชัดเจน ที่จะพร้อมในการเชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนที่ท่าเรือน้ำลึกทวาย และอาจจะมีการก่อสร้างบ้าง ขณะนี้อยู่ในช่วงของการทำงานของคณะทำงานทั้งสองฝ่าย ถือว่าเป็นความคืบหน้า

นอกจากนี้ ไทยได้แจ้งกับทางเมียนมาร์ว่า ฝ่ายไทยได้มีแผนที่จะเปิดสถานกงสุลใหญ่ที่ทวาย เพื่ออำนวยความสะดวกในส่วนของการให้ข้อมูล และการติดต่อประสานงานของเจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งโครงการนี้ทางเมียนมาร์ได้ให้ความคาดหวัง จากข้อตกลงที่ทางภาคเอกชนได้ตกลงกับเมียนม่ามาตั้งแต่ปี 53 แต่ในส่วนของไทย รัฐบาลนี้ได้หารือกันในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ และเข้ามาในการที่จะร่วมกันในระดับความร่วมมือระดับประเทศ ได้เริ่มตกลงในรูปแบบเอ็มโอยู และมีการตั้งคณะทำงานในการทำงานร่วมกัน โดยได้เริ่มตั้งในเดือน พ.ย.นี้ ถือว่าคืบหน้าและเป็นที่พอใจของรัฐบาลเมียนมาร์ ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้จะต้องเป็นโครงการที่ทำต่อเนื่อง ถือว่าเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่เราเห็นความสำคัญ เพราะจุดนี้ไม่เพียงแค่นักลงทุนไทยที่จะลงที่ทวาย แต่เป็นจุดเชื่อมต่อของทางทวายไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเป็นจุดอุตสาหกรรมของไทยด้วย และการเชื่อมโยงระหว่างไทยกับเมียนมาร์ และยังมีโอกาสเชื่อมต่อไปยังอินเดียและภูมิภาคอื่นๆ ตรงนี้จะเป็นสิ่งสำคัญในการลดต้นทุนการขนส่งในระยะยาว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังกล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำจดหมายเปิดผนึกระบุว่าการเร่งแก้ไขธรรมนูญของรัฐบาลเป็นการทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ และรัฐบาลเองมองใน 2 แนวทาง คือ 1. การทำประชาเสวนา และ 2. การทำประชามติ สำหรับการทำประชามติเป็นสิ่งดี ที่มีการเห็นชอบจากประชาชน ให้ประชาชนออกความเห็น เรื่องดังกล่าวยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งการทำประชามติเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนเป็นเจ้าของมาใช้สิทธิ์ในการแสดงออก วันนี้อาจจะเร็วเกินไปที่จะสรุปแบบว่าทำเพื่อใคร เพราะขั้นตอนทั้งหมด ยังไม่มีการตั้งเลยหัวข้อเลยว่าการทำประชามติจะมีเรื่องอะไรบ้าง ยืนยันว่าการทำประชามติเป็นเรื่องของประชาชน ไม่มีใครสามารถเข้ามาแทรกแซงได้ เพราะประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นเจ้าของ ยืนยันรัฐบาลทำตามระบอบประชาธิปไตย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีท่าทีจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการล้มประชามติ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า เป็นสิทธิของแต่ละท่านที่จะร่วมกันแสดงความคิดเห็น แต่กระบวนการมีส่วนร่วมเป็นอย่างไร ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน เมื่อถามว่า เรื่องดังกล่าวจะเป็นปัญหาหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวปฏิเสธ และว่า รัฐบาลทำทุกอย่างถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย เมื่อประชาชนใช้สิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นก็ต้องเคารพกติกา เมื่อถามอีกว่าจะทำให้ประชาชนสับสนว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่ อยู่ที่เนื้อหาและหัวข้อที่จะตั้ง วันนี้เนื้อหายังไม่ได้ตั้งว่าจะทำประชามติอย่างไร เพราะเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในส่วนของรัฐบาล ที่มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงมหาดไทยไปหาหรือว่าวิธีการใดจะได้รับการยอมรับจากประชาชน และหลังจากนั้นขั้นต่อไปก็จะมีการสรุปในคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กกต. รัฐสภา วุฒิสภา ยืนยันว่าทั้งหมดเป็นไปตามหลัก

เมื่อถามว่า นายกฯ เห็นด้วยกับการทำประชามติทั้งก่อนและหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า หลักการต้องเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างประชาชนจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกขั้นตอน เมื่อถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญได้ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ไม่ใช่ การแก้รัฐธรรมนูญเป็นสิทธิ์ของประชาชน ประชาชนและประเทศชาติจะได้ประโยชน์ วันนี้เป็นการให้ประชาชนเสนอทางออกว่าจะให้รัฐธรรมนูญเดินหน้าอย่างไร วาระ 3 เองก็มีการแก้เพียงมาตรเดียวคือ 291 ซึ่งอยู่ในกระบวนการตั้ง ส.ส.ร.เนื้อหาเรายังได้พูดถึงเลย วันนี้เป็นขั้นตอนแรกในการหาทางออกให้ประชาชน เมื่อถามคิดอย่างไรไม่ว่านายกฯ จะขยับทางไหนก็จะถูกมองในเรื่องของพี่ชายตลอด น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า “ดิฉันเองตอบมาทุกวัน เรียนและยืนยันว่าส่วนของการทำงานเท่านั้น เราทำงานเพื่อประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง”

จากนั้นนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมนายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี อาคารสิริกิติ์ ชั้น 9 ห้องซีซียู โดยมีนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และนายแพทย์ประสิทธิ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รอต้อนรับ และเล่าถึงอาการของนายชุมพลให้นายกรัฐมนตรีฟัง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้นำกระเช้าดอกไม้มาเยี่ยมพร้อมกับเขียนคำอวยพรในสมุดเยี่ยมว่า “ขอเป็นกำลังใจให้หายเร็วๆ” โดยใช้เวลาในการเข้าเยี่ยมประมาณ 20 นาที และเปิดเผยว่าคณะแพทย์กำลังรอสังเกตอาการอยู่ ต้องให้กำลังใจ ซึ่งนายบรรหารเปิดเผยว่า เมื่อเวลา 14.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์มาสอบถามอาการและแสดงความเป็นห่วง


กำลังโหลดความคิดเห็น