xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขุนค้อน-วิปรัฐบาล-พท. ยอมถอยดีกว่าเดินเสี่ยงพัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถอยร่นกันหมดตามคาด จนทำให้สุดท้ายวิปรัฐบาลเห็นด้วยในการให้มีการนัดประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 18 เมษายน 2556 ก่อนจะปิดสมัยประชุมสภาฯ ในวันที่ 20 เมษายน

เพื่อให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติโหวตว่า จะให้มีการยื่นคำสงวนคำแปรญัตติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่าง ที่รัฐสภาเห็นชอบไปเมื่อ 3 เมษายน 2556 ภายใน15 วัน ตามที่วิปรัฐบาลและวิปวุฒิสภาตกลงกัน หรือจะให้เป็น 60 วัน ตามที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอค้างเอาไว้กลางที่ประชุม เมื่อ 3 เมษายน แต่พอดีว่าที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่ได้มีการลงมติ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ

เป็นการถอยที่มีความเห็นไปในทางเดียวกัน ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ หรือ ขุนค้อน ประธานรัฐสภา ประสานวิปรัฐบาล โดยอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล และระดับแกนนำรัฐบาล และแกนนำพรรคเพื่อไทยที่นำเรื่องนี้ไปหารือกันอย่างไม่เป็นทางการกลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อ 9 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา รวมถึงวันเดียวกันก็มีการไปหารือกันในที่ประชุมคณะทำงานฝ่ายกฎหมายและยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย ที่มี โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา เป็นประธาน

การยอมถอยร่นดังกล่าว ไล่ตั้งแต่สมศักดิ์ ที่ก่อนหน้านี้ยืนกรานมาตลอดว่า ทำถูกต้องตามข้อบังคับการประชุม ก่อนที่เสียงจะเริ่มอ่อย บอกพร้อมเปิดทางให้มีการประชุมกันใหม่ เพื่อลงมติดังกล่าวให้จบเรื่องกันไป

ท่าทีของสมศักดิ์ ที่เริ่มเปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งมีการตั้งข้อสังเกตุว่า เป็นเพราะตัวสมศักดิ์และทีมงานอาจเริ่มไม่มั่นใจในข้อกฎหมายเสียแล้ว หลังจากมีเสียงท้วงติงว่า การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ไม่มีผู้เห็นต่างหรือเสนอแย้ง ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ต้องมีการลงมติ

ขณะที่เรื่องกรอบเวลาขอสงวนคำแปรญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว พบว่า มีผู้เสนอเห็นต่างจากส.ส.รัฐบาลอย่างชัดเจนคือ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่เสนอให้ใช้กรอบ 60 วัน แต่ปรากฏว่าไม่มีการลงมติ เพราะองค์ประชุมล่มไปก่อน แต่สมศักดิ์ดังทุรังสรุปไปโดยใช้ดุลยพินิจตัวเองว่า ให้ใช้กรอบ 15 วัน ทั้งที่ยังไม่มีการลงมติ

อันเท่ากับว่า ญัตติของประชาธิปัตย์ ที่เสนอให้ใช้ 60 วัน ยังค้างอยู่ ตัวสมศักดิ์ไม่สามารถรวบรัดได้ว่าญัตติของฝ่ายค้านตกไปแล้ว จึงสุ่มเสี่ยงไม่น้อยที่ตัวสมศักดิ์อาจทำผิดข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา

ประเด็นที่ล่อแหลมนี้ จึงเริ่มทำให้ไม่ใช่แค่สมศักดิ์เกิดอาการลังเลในการเดินหน้าต่อไป ส่วนวิปรัฐบาลเอง จากเดิมที่บอกทุกอย่างเสร็จหมดแล้ว ไม่ต้องมาเรียกประชุมให้เสียเวลา เปลืองไฟเปลืองแอร์ห้องประชุมร่วมรัฐสภา เวลานี้ก็ออกมาแสดงท่าทีชัดแล้วจะเสนอต่อ นายสมศักดิ์และวิปวุฒิสภา ให้มีการประชุมร่วมรัฐสภา 18 เมษายนนี้ เพื่อลงมติ จบปัญหาเรื่องนี้

อาจจะเพราะได้รับสัญญาณหรือคำแนะนำมาจากแกนนำพรรคเพื่อไทยและทีมกฎหมายของพรรคแล้วว่า ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม ดีกว่าจะเร่งรีบแล้วสะดุดล้มเพราะเรื่องง่ายๆ

เห็นได้จากการประชุมครม.เมื่อ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา ขนาดกุนซือด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย และของรัฐบาลอย่าง พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ก็ยังวิเคราะห์ข้อกฎหมายปัญหาที่เกิดขึ้นให้รัฐมนตรีหลายคนฟังกลางที่ประชุม ครม.ว่า จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่า

ญัตติของส.ส.ปชป. ที่เสนอให้ใช้กรอบ 60 วัน ตกไปแล้ว หรือยังค้างอยู่ในสภาฯ

เพราะหากจะมองว่าญัตติยังอยู่ ก็สามารถมองได้ เพราะการที่ ส.ส.ปชป.ไม่แสดงตน ก็ถือเป็นสิทธิ และไม่ถือว่าญัตตินั้นตกไป ถือว่ายังค้างอยู่ และการโหวตเมื่อ 3 เม.ย. ก็ยังเป็นการโหวตขั้นรับหลักการแก้รัฐธรรมนูญ ยังไม่มีการโหวตระยะเวลาการแปรญัตติ

จึงมีข้อคิดเห็นมาจากกุนซือกฎหมายของรัฐบาลอย่าง พงศ์เทพ ที่เห็นด้วยว่าเพื่อให้เซฟตี้การเมือง ปลอดภัยไร้กังวล ก็ควรให้มีการนัดประชุมใหม่ เพราะโหวตอย่างไร ฝ่ายส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และส.ว.ที่หนุนการแก้ไขรธน. ก็แบเบอร์ชนะอยู่แล้ว ได้กรอบ 15 วันขอสงวนคำแปรญัตติเห็นๆ จะได้หมดห่วงไร้กังวล ปล่อยให้ประชาธิปัตย์คอยจ้องสอยการแก้ไขรธน.ให้สะดุดลง

ซึ่งมันก็จริงด้วยประการทั้งปวง ดวลคะแนนโหวตกันอย่างไร หากวิปรัฐบาลคุมเสียงกันมาดีๆ นัดแนะพวกส.ว.สายขี้ข้าทักษิณกันไม่ให้มีพลาด กดคะแนนกันกี่รอบ ประชาธิปัตย์ก็แพ้วันยังค่ำ ใช้เวลาแค่ 5 นาทีทุกอย่างก็สิ้นกระแสความ เพราะเป็นการโหวตแบบกดปุ่มลงคะแนนไม่ต้องขานชื่อรายบุคคล

ก็ดูอย่างการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ... มาตรา 190 ที่มีนายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชรเป็นประธานเมื่อวันพุธที่ 10 เมษายน 2556 ที่ผ่านมาปรากฏว่าก่อนเริ่มการประชุม ศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ที่ไปนั่งเป็นกมธ.โควต้าพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะพยายามท้วงติงที่ประชุมว่า เนื่องจากปัญหาการลงมติเรื่องการแปรญัตตินั้นไม่ชอบ จึงขอให้เลื่อนการประชุมวันนี้ออกไปก่อน เพื่อรอการลงมติของที่ประชุมรัฐสภาให้ถูกต้องอีกครั้งหลังสงกรานต์

แต่ กมธ.ซีกพรรคร่วมรัฐบาล และวิปวุฒิสภาไม่ยอมพยายามจะเดินหน้าประชุมต่อและตัดบทว่า เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาสำหรับการประชุมกมธ.อีกทั้งเห็นว่ากระบวนการทุกอย่างดำเนินมาได้ถูกต้องแล้ว จึงไม่ควรเลื่อนตามที่ศิริโชคเสนอ

เอาแค่นี้ก็เห็นแล้วว่าลองถ้าส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลผนึกกับส.ว.กลายเป็นเสียงข้างมากทั้งในที่ประชุมร่วมรัฐสภาและที่ประชุมกมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง แก้ไขรธน. ทั้ง 3 ร่าง ฝ่ายประชาธิปัตย์ให้ค้านอย่างไร ยกมือไปก็แพ้หมด

ของแบบนี้ประชาธิปัตย์เขารู้อยู่แล้ว เหตุที่ประชาธิปัตย์รุกไล่ “ขุนค้อน” เรื่องนี้ ก็ด้วยเหตุผลเดียว คือ ทำให้การแก้ไขรธน.ของพรรคร่วมรัฐบาล ถูกลดทอนความชอบธรรม และมีข้อกังขาในเรื่องการทำผิดขั้นตอน และหวังผลถึงขั้นทำให้สมศักดิ์กระเด็นหลุดจากเก้าอี้

หาก “ขุนค้อน”โดนยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งก็จะมีปมปัญหาใหญ่ซ้อนเข้ามาทำให้ปวดกบาลอีกเรื่อง

เพราะลำพังแค่ปมเรื่องการเตรียมการชี้แจงข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญในคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหาที่ร้องให้ศาลรธน.วินิจฉัยการแก้ไขรธน.มาตรา 68 และ 237 ของส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเป็นการกระทำที่ขัดมาตรา 68 และขอให้มีคำสั่งยุบ 6 พรรคการเมืองเช่นพรรคเพื่อไทย-พรรคชาติไทยพัฒนา-ชาติพัฒนา-พลังชล ที่มีส.ส.ร่วมลงชื่อแก้มาตรา 68 และ 237 ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคำร้องไว้พิจารณาแล้วเมื่อ 3 เมษายน

ขณะนี้ก็อยู่ขั้นตอนที่จะมีการส่งเอกสารคำร้องของนายสมชายไปให้ผู้ถูกร้องทั้งตัวสมศักดิ์ ประธานรัฐสภาและส.ส.-ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อในญัตติแก้ไขรธน.ดังกล่าวร่วม 300 กว่าคน เตรียมส่งคำชี้แจงข้อกล่าวหามาที่ศาลรธน.ต่อไป อันเป็นขั้นตอนการสู้คดีตามปกติ

แค่เรื่องนี้ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ที่เป็นแม่งานหลักในการทำคำชี้แจงข้อกล่าวหาต่อศาลรธน. ก็หนักพอสมควรแล้ว คงไม่อยากมีภาระอะไรเข้ามาอีก

ข่าวว่าหลังสงกรานต์ ทีมกฎหมายของเพื่อไทย ที่ได้รับมอบหมายให้ทำคำชี้แจงข้อกล่าวหาดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงอาจต้องเตรียมพร้อมหากศาลรธน. เรียกฝ่ายผู้ร้องกับฝ่ายผู้ถูกร้องไปชี้แจงข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็คงต้องเตรียมตัวกันอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าทีมอย่างโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา และคณะทำงานอย่างชูศักดิ์ ศิรินิล อดีตรมต.สำนักนายกรัฐมนตรี-พิชิต ชื่นบาน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทย-วราเทพ รัตนากร รมต.สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นต้น

งานแรกที่จะต้องทำก็คือการส่งเอกสารคำชี้แจงข้อกล่าวหาในนามส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดที่ร่วมกันลงชื่อในร่างแก้ไขรธน.มาตรา 68 และ 237 ไปให้ศาลรธน.ที่ตามข่าวบอกว่าแนวทางการชี้แจงจะมุ่งเน้นไปในแนวทางที่ว่าเป็นการแก้ไขตามช่องทางมาตรา 291 ที่ทำถูกทุกขั้นตอนอีกทั้งยังทำตามคำวินิจฉัยของศาลรธน.เมื่อ 13 ก.ค. 55 ที่แนะนำในเรื่องการแก้ไขรธน.รายมาตราว่าเป็นอำนาจของรัฐสภาจะดำเนินการอีกทั้งการแก้ไขมาตรา 68 ก็ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิประชาชนในการปกป้องระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด เพราะยังมีช่องทางอื่นที่เปิดโอกาสให้ประชาชนยื่นได้อีก เช่นยื่นผ่านช่องทางมาตรา 212 รวมถึงอาจถึงขั้นเขียนในคำชี้แจงข้อกล่าวหาโต้ว่าศาลรธน.ไม่มีอำนาจรับคำร้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณาด้วยเพราะอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของฝายนิติบัญญัติโดยตรง

ก็ด้วยงานหนักการเตรียมยื่นคำแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรธน.หลังสงกรานต์รออยู่ข้างหน้าแบบนี้ การพยายามจะยกปัญหาเรื่องของกรณีสมศักดิ์ ออกไปเพื่อให้งานเบาลงและไม่ต้องกังวลให้มากเรื่อง

จึงทำให้ขุนค้อน-วิปรัฐบาล-พรรคเพื่อไทยรวมถึงสว.สายหนุนแก้ไขรธน. ต้องยอมจะถอยร่นจะให้ประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งก่อนสภาฯปิดในวันที่ 18 เมษายน ตามที่ปชป.ขู่ฟอดรายวัน


กำลังโหลดความคิดเห็น