“อภิสิทธิ์” ย้ำ “ค้อนปลอม” รวบรัดปิดจ็อบประชุมแก้ รธน.วาระแรกขัดกฎหมายชัด โดยเฉพาะประเด็นแปรญัตติ 15 วัน ทั้งที่มีญัตติเสนอให้แปรญัตติ 60 วันยังค้างอยู่ ขณะเดียวกันองค์ประชุมก็ไม่ครบ มอบทีมกฎหมาย ปชป.หาช่องเชือด ชี้แก้ รธน.ไม่ชอบมาพากลส่อพิรุธอื้อ เชื่อมีกระบวนการกดดันศาล รธน. แต่ศาลคงชินเพราะโดนมาเยอะ แนะวินิจฉัยตรงไปตรงมาเป็นภูมิคุ้มกันดีที่สุด ยันไม่หนักใจชี้แจงปมโรงพักฉาวต่อ ป.ป.ช.
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาองค์ประชุมรัฐสภาไม่ครบเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2556 ในขณะที่มีการเสนอญัตติขอให้แปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 มาตราในชั้นกรรมาธิการฯ 60 วัน แต่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กลับสรุปว่าญัตติดังกล่าวตกไปเพราะองค์ประชุมไม่ครบและให้แปรญัตติ 15 วันตามข้อบังคับ ทั้งที่ยังไม่มีการลงมติเกี่ยวกับการแปรญัตติ 60 วันว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะรัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยมีกฎกิตกาที่มีความชัดเจน ถ้าคิดแต่ว่าอยากทำอะไรตามใจชอบไม่ต้องคำนึงถึงกติกาก็ทำกันไป เป็นเรื่องอันตราย
“ผมมองไม่เห็นเหตุผลว่านายสมศักดิ์จะไปตีความว่าเมื่อองค์ประชุมไม่ครบเท่ากับญัตติเรื่องแปรญัตติ 60 วันตกไปได้อย่างไร เพราะทุกญัตติที่มีการเสนอในที่ประชุมจะต้องมีการลงมติ เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ ก็ต้องเรียกประชุมใหม่เพื่อดำเนินการให้ครบถ้วนก่อน เพื่อให้เกิดความถูกต้อง เพราะเมื่อองค์ประชุมไม่ครบก็แสดงว่ามติใช้ไม่ได้ เนื่องจากสภาไม่สามารถพิจารณาอะไรโดยที่องค์ประชุมไม่ครบได้ และนายสมศักดิ์ ก็พูดชัดว่าขอตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติ เมื่อองค์ประชุมไม่ครบการประชุมก็ต้องยุติลง จึงถือว่าญัตติการแปรญัตติ 60 วันยังค้างการพิจารณาของรัฐสภาอยู่”
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หากยังเดินหน้าต่อทั้งที่กระบวนการยังไม่สมบูรณ์ก็จะเกิดปัญหาว่ากระบวนการพิจารณาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังนั้นหากรัฐบาลหรือรัฐสภาอยากให้เรียบร้อยก็ควรทำให้ชอบเสีย เพราะในระหว่างนี้กรรมาธิการฯ ก็ทำงานได้อยู่แล้ว ส่วนจะมีการส่งตีความหรือไม่คงต้องพิจารณาต่อไปซึ่งฝ่ายกฎหมายกำลังพิจารณาอยู่ แต่สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ ทำไมการพิจารณากฎหมายสำคัญจึงไม่พยายามที่จะยึดกฎ กติกา มารยาท เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดี เพราะมีปัญหาตั้งแต่ประธานในที่ประชุมกลายเป็นผู้เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง และยังมีปัญหาว่าผู้เสนอและลงมติจะได้ประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน อีกทั้งยังมีความพยายามที่จะรวบรัดโดยไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับหรือรัฐธรรมนูญที่ระบุให้ต้องมีองค์ประชุมครบในเรื่องที่จะลงมติ
ส่วนที่นายสมศักดิ์หยิบยกข้อบังคับข้อ 96 มาอ้างว่าดำเนินการโดยชอบแล้ว เนื่องจากข้อบังคับกำหนดให้แปรญัตติ 15 วันนั้น ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า ข้อบังคับดังกล่าวแม้จะกำหนดให้แปรญัตติ 15 วันแต่ก็ยังระบุด้วยว่าเว้นแต่รัฐสภาจะเห็นเป็นอย่างอื่น เมื่อมีสมาชิกรัฐสภาเห็นเป็นอย่างอื่นและเสนอญัตติขอแปรญัตติ 60 วัน ให้ที่ประชุมพิจารณาก็ต้องลงมติในญัตตินี้ก่อน แต่ในครั้งนี้ยังไม่มีการลงมติเพราะองค์ประชุมไม่ครบ และที่ประชุมก็รับญัตตินี้ไปแล้ว
“ที่นายสมศักดิ์ไปสรุปว่าญัตติดังกล่าวตกไปเพราะองค์ประชุมไม่ครบนั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะสภาไม่สามารถพิจารณามีมติเรื่องอะไรได้ ถ้าองค์ประชุมไม่ครบ ขนาดกฎหมายผ่านสภาไปแล้วแต่มีการตรวจสอบว่าองค์ประชุมไม่ครบยังถูกยกเลิกหมด ที่ทำแบบนี้คงต้องการที่จะรีบ ทุกอย่างคือรวบรัด เร่งรัด ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญแต่กลับไม่เอาใจใส่กันเอง”
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กระบวนการจัดทำแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถ้าดูจากเนื้อหาสาระและพฤติกรรมหลายฝ่ายบ่งบอกถึงความไม่ชอบมาพากลในหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่วิธีการแก้ไข เช่น หยิบประเด็นที่มักจะอ้างอิงว่าเป็นมติกรรมการสมานฉันท์ แต่กลับแก้ไขไม่ตรงตามข้อสรุปของคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีการอ้างรัฐธรรมนูญปี 40 แต่ไม่ได้เอาข้อความในรัฐธรรมนูญ 40 มาและการแก้ไขมาตรา 68 ในวรรคแรกมีการเพิ่มข้อความเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพ โดยจำกัดเฉพาะในหมวด 3 ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิตามมาตรา 68 ในหมวดอื่นได้ และยังมีประธานวุฒิสภาไปเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมานั่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม มีวุฒิสภาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญและลงมติเพื่อที่ตัวเองจะได้กลับมาดำรงตำแหน่งได้อีกวาระหนึ่ง เป็นการขัดกันของผลประโยชน์ หรือเป็นการละเมิดแนวทางที่ควรจะเป็น ซึ่งจะทำให้มีปัญหาข้อโต้แย้งกฎหมายตามมา และศาลรัฐธรรมนูญก็รับคำร้องที่มีการยื่นเกี่ยวกับมาตรา 68 และ 237 ไปแล้ว
ส่วนจะมีการกระบวนการกดดันศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นอีกหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า องค์กรอิสระคงชินแล้ว เพราะฝ่ายรัฐบาลจะมีมวลชนที่คอยไปกดดันตลอดเวลา แต่ทุกครั้งประวัติศาสตร์ก็ยืนยันว่าภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดสำหรับคนทำหน้าที่ คือทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา
นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการตรวจสอบกรณีการสร้างโรงพัก 396 แห่งทั่วประเทศเสร็จไม่ทันกำหนดที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า พร้อมที่จะไปชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการที่ ป.ป.ช.ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบกรณีการสร้างโรงพัก 396 แห่งทั่วประเทศ หากมีการเชิญมา โดยไม่มีความหนักใจในเรื่องนี้ เพียงแต่ไม่ทราบรายละเอียดการแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากดีเอสไอไม่เคยให้โอกาสพวกตนไปชี้แจง รวมถึงกรณีที่อ้างว่าตนทำผิดมติ ครม.ก็ไม่ทราบว่าเป็นเรื่องไหน