xs
xsm
sm
md
lg

ซัด"นิคม"กลางแบบมีอคติจ่อถอดถอน"สมศักดิ์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"มาร์ค"ซัด "นิคม" เป็นกลางแบบมีอคติ เตรียมยื่นถอดถอน"สมศักดิ์" หากไม่เรียกประชุมรัฐสภา ยุติปัญหาเรื่องแปรญัตติ 60วัน ด้าน"นิคม"ยันไม่จำเป็นต้องประชุมแปรญัตติใหม่ ขณะที่รัฐบาลโยนเป็นเรื่องของสภา

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวตอบโต้ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ที่กล่าวหาว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องการตีรวนเรื่องกระบวนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สมบูรณ์ กรณียังมีญัตติเรื่องแปรญัตติ 60วันค้างอยู่ว่า นายนิคม ก็ทำตัวเป็นกลางแบบนายนิคม คือมีอคติกับผู้พยามรักษาความถูกต้อง ความจริงคนเป็นประธาน ต้องรักษากฎระเบียบ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของตนเอง ในฐานะผู้เสนอญัตติ เพราะข้อเท็จจริงปฏิเสธไม่ได้ว่า ญัตติมีการเสนอรับรองถูกต้องแล้ว ประธานกำลังขอมติ แต่องค์ประชุมไม่ครบ ญัตติจึงยังค้างอยู่ ข้อบังคับเขียนไว้อย่างนี้

ดังนั้น หากนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ไม่เรียกประชุมรัฐสภา เพื่อลงมติ ก็จะต้องถือว่า มีเจตนาที่จะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ซึ่งเข้าขายยื่นถอดถอนได้ เพราะการประชุมสภาต้องมีองค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง แต่ประธานสรุปข้อยุติของญัตติ โดยที่องค์ประชุมไม่ครบ ซึ่งหลังสงกรานต์ คงจะมีความชัดเจน โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้านติดตามเรื่องนี้อยู่

สำหรับการทำงานของกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ คิดว่ายังเดินต่อไปได้เพราะในส่วนการตั้งกรรมาธิการ ถูกต้องแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่การแปรญัตติ ตนถือว่ายังไม่ได้กำหนดวันที่ชัดเจน เพราะมีญัตติ 60วันค้างอยู่ ดังนั้นหากมีการแปรญัตติ หลังวันที่ 15 ก็คงเกิดการโต้แย้งตามมา

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังมีญัตติการแปรญัตติ 60 วันค้างอยู่ โดยไม่มีการลงมติ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ แต่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมขณะนั้น กลับสรุปว่า ญัตติดังกล่าวตกไป และให้ยึดข้อบังคับแปรญัตติ 15 วันแทน ทั้งนี้ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ยังยืนยันว่า กระบวนการดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะขั้นตอนยังไม่สมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ประธานรัฐสภาได้แจ้งงดการประชุมในวันที่ 10-11 และ 17 เม.ย. โดยนัดประชุม 18 เม.ย. แทน แสดงให้เห็นว่า ไม่ต้องการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย และข้อบังคับการประชุมสภา แทนที่จะเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง

ดังนั้นพรรคจึงต้องดำเนินการกับนายสมศักดิ์ เพื่อให้ทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้องของการดำเนินการประชุมต่อไป เพื่อไม่ให้มีการปฏิบัติเช่นนี้อีก จึงจะมีการยื่นถอดถอน นายสมศักดิ์ หลังการหยุดยาวในช่วงสงกรานต์ โดยจะมีการประชุม ส.ส.พิจารณาในเรื่องนี้ต่อไป

"การยื่นถอดถอน นายสมศักดิ์ เป็นกระบวนการของการทำให้การดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายเกิดขึ้น จึงฝากไปถึงนายนิคมว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องการประวิงเวลา และขอถามว่า ทำไมต้องเร่งรีบ ทำเวลา ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกินความจำเป็น ในเมื่อมีเสียงข้างมากอยู่แล้ว ทำเพื่อใคร เพื่ออะไร" นายองอาจ กล่าว

**"นิคม"ยันไม่จำเป็นต้องประชุมแปรญัตติใหม่

นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และรองประธานรัฐสภา ยังยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อทำการแปรญัตติใหม่ เนื่องจากนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา วินิจฉัยเสร็จสิ้นแล้ว ขณะเดียวกัน ยังบอกอีกว่า เมื่อวันที่ 3 เม.ย. พบว่า ฝ่ายค้านไม่ได้แสดงตน จึงถือว่าไม่อยู่ในห้องประชุม จึงทำให้การเสนอญัตติเป็นที่สิ้นสุด เพราะหากนับรายชื่อของฝ่ายค้านแล้ว องค์ประชุมก็ไม่ครบอยู่ดี และถือว่าไม่พร้อมด้วยเช่นกัน

ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ จะเดินหน้ายื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความนั้น ก็ถือเป็นสิทธิ์ ซึ่งความจริงในข้อบังคับการประชุมที่กำหนดไว้คือ 15 วัน ดังนั้นขบวนการแปรญัตติ จึงเดินหน้าต่อไป

**ป้อง“ปู“ไม่มีหน้าที่แก้วันแปรญัตติ

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องเรียกร้องให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงภาวะผู้นำ เข้ามาแก้ปัญหาช่วงเวลาวันแปรญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ให้เป็น 60 วัน ว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่นายกฯ เป็นเรื่องรัฐสภา ที่ต้องวินิจฉัยให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมฯ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลไม่ได้เป็นเจ้าภาพ เป็นการผลักดันของส.ส. และ ส.ว. ที่เห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 50 มีประเด็นที่สมควรได้รับการแก้ไข จึงอยู่ในดุลยพินิจของฝ่ายรัฐสภา ไม่ใช่หน้าที่ของนายกฯ

หากพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการเรียกร้องให้เปิดประชุมรัฐสภา เพื่อลงมติกำหนดช่วงเวลาแปรญัตติเป็น 60 วัน ให้ดำเนินการผ่านคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เพื่อส่งเรื่องให้ประธานรัฐสภา พิจารณา ไม่ใช่มาเรียกร้องที่นายกฯ เพื่อสร้างประเด็นการเมือง ตอดเล็กตอดน้อย จะให้เป็นไปตามใจพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างไร เมื่อเป็นความบกพร่องของพรรคประชาธิปัตย์เอง ที่ส.ส. อยู่ไม่ครบองค์ประชุม โดยเฉพาะนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส. พรรคประชาธิปัย์ ซึ่งเป็นผู้เสนอ แต่กลับไม่ได้อยู่ในห้องประชุม แล้วมาหาว่ารัฐบาลใช้อำนาจรวบรัดการประชุมรัฐสภา
กำลังโหลดความคิดเห็น