ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์
ในที่สุดก็ออกตัวเต็ม ๆมาแล้ว
หลังครม. มีมติเห็นชอบ “ร่างกฎ ก.พ.ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการ กรณีขาดคุณสมบัติทั่วไปหรือมีลักษณะต้องห้าม กรณีหย่อนความสามารถ บกพร่องในหน้าที่หรือประพฤติตนไม่เหมาะสม กรณีมีมลทินหรือมัวหมอง และกรณีต้องรับโทษจำคุกในความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือต้องโทษจำคุกโดยคำสั่งศาล พ.ศ....” ตามที่สำนักงาน ก.พ.เสนอ
กฎ ก.พ.ให้ ขรก.ออกจากราชการ กรณี “บกพร่องหน้าที่-มีมลทิน”
สำนักงาน ก.พ.ให้เหตุผลว่า เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญทดแทน ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ทั้งนี้หลังจาก ครม. เห็นชอบ ให้นำร่างกฎ ก.พ. ดังกล่าว ประกาศในราชการกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ต่อไป
ร่างกฎ ก.พ.ดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 4 กรณี คือ
1.กรณีขาดคุณสมบัติทั่วไปหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 110 (3) เฉพาะกรณี ข้าราชการพลเรือนสามัญขาดคุณสมบัติทั่วไปเพราะไม่เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 36 ก.ที่เป็นการกำหนดคุณสมบัติ ทั่วไปของการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ
2.กรณีหย่อนความสามารถ บกพร่องในหน้าที่หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 110 (6) ทั้งนี้ หากเป็นกรณีการสอบสวน ให้เป็นตามมาตรา 95 วรรคหนึ่งของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2553 กล่าวคือ หากผลการสอบสวน เป็นไปตามที่ถูกกล่าวหาให้ผู้บังคับบัญชา ส่งเรื่องให้อนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อกพ.) ในสังกัด พิจารณา และเมื่อ ก.พ. มีมติ ก็ให้ผู้บังคับบัญชาดังกล่าว สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการ
3.กรณีมีมลทินหรือมัวหมอง ตามมาตรา 110 (7) ที่กำหนดไว้ว่า เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีกรณีถูกสอบสวนว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 93 และผลการสอบสวนไม่ได้ความแน่ชัดพอที่จะสั่งลงโทษตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง แต่มีมลทินหรือ มัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน ถ้าให้รับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ
4.กรณีต้องรับโทษจำคุกในความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือต้องรับโทษจำคุกโดยคำสั่งของศาล ซึ่งยังไม่ถึงกับจะต้องถูกลงโทษปลดออก หรือไล่ออกตามมาตรา 110 (8) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือต้องรับโทษจำคุกโดยคำสั่งของศาล ซึ่งยังไม่ถึงกับจะต้องถูกลงโทษปลดออกหรือไล่ออก
โดยกรณีที่ 3 และ 4 นี้ผู้บังคับบัญชาสามารถพิจารณาให้ออกจากราชการได้เลย โดยไม่ต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพราะถ้าหากให้รับราชการต่อไป อาจจะเกิดความเสียหายแก่ราชการได้
ส่วนอีกกรณีหนึ่งคือผู้ที่ขาดคุณสมบัติทั่วไปหรือมีลักษณะต้องห้าม เช่น ผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย หรือเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งข้าราชการทางการเมือง เป็นการขาดคุณสมบัติชัดเจน ผู้บังคับบัญชาก็สามารถให้ออกจากราชการโดยไม่ต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้เช่นกัน แต่ผู้บังคับบัญชาต้องเปิดโอกาสให้ข้าราชการชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย
ย้ำชื่อเต็ม ๆอีกที “ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการ กรณีขาดคุณสมบัติทั่วไปหรือ มีลักษณะต้องห้าม กรณีหย่อนความสามารถ บกพร่องในหน้าที่หรือประพฤติตนไม่เหมาะสม กรณีมีมลทินหรือ มัวหมอง และกรณีต้องรับโทษจำคุกในความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือต้องรับโทษจำคุกโดยคำสั่งศาล พ.ศ. ….”
หากจำได้ว่า ต้นปีนี้ ครม.ได้อนุมัติ “ร่างกฎ ก.พ.ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการกรณีเจ็บป่วยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ราชการของตนได้โดยสม่ำเสมอ พ.ศ. ...” ตามที่สำนักงาน ก.พ.เสนอ มีสาระสำคัญ
ที่ให้ ข้าราชการที่“ป่วยเรื้อรัง-เป็นโรคจิต” ออกจากราชการมาบังคับ
1.กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุมีอำนาจพิจารณาดำเนินการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการ เพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน กรณีเจ็บป่วยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ราชการของตนได้โดยสม่ำเสมอ กรณีปรากฏว่ามีวันลาป่วยรวมกัน 1 ปีงบประมาณเกิน 120 วันทำการ หรือมีวันลาป่วยรวมกันเกิน 60 วันทำการในแต่ละปีงบประมาณติดต่อกัน 2 ปีงบประมาณ ทั้งนี้ ไม่รวมกรณีเจ็บป่วยเพราะเหตุปฏิบัติราชการในหน้าที่ และกรณีต้องเข้าบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตตามกฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิตโดยมีเวลารวมกันเกิน 120 วัน
2.กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาส่งตัวผู้นั้นไปรับการตรวจจากสถานพยาบาลของรัฐ เพื่อนำผลการตรวจและความเห็นของแพทย์มาประกอบการพิจารณา กรณีเห็นว่าผู้นั้นต้องลาป่วยต่อไปอีกจนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ผู้นั้นออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน หรือเห็นควรให้พักรักษาตัวต่อไปอีก แต่ต้องไม่เกิน 60 วันทำการ และเมื่อครบกำหนดให้ผู้นั้นไปรับการตรวจจากสถานพยาบาลของรัฐอีกครั้งหนึ่ง ถ้าผู้นั้นยังต้องรักษาตัวต่อไปอีกให้สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน
3.กำหนดให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งให้ส่งตัวผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการ กรณีที่สถานพยาบาลของรัฐเห็นว่าผู้นั้นต้องเข้ารับการบำบัดรักษาเป็นเวลาเกิน 120 วัน ให้สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน
ตอนนั้น บางส่วนก็ว่า “ครม.โหดไฟเขียว ให้ข้าราชการป่วยทำงานไม่ได้ 120 วันให้ออกจากราชการ” บางฝ่ายก็บอก “ข้าราชการเฮ! เจ็บป่วย ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ให้ลาออกรับบำเหน็จบำนาญได้”
ดู 2 ร่างกฎ ก.พ. ถือเป็นกฎใหม่ ที่ข้าราชการน่าจะเห็นด้วย ก.พ.ต้องการเพื่อป้องกันความเลื่อมล้ำใน หน้าที่
ยังดีกว่า “คำสั่งมหาดไทย” ปีที่แล้วที่มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด
เรื่อง มาตรการใช้งานระบบอินเทอร์เน็ต โดยต้องการให้ระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ออนไลน์
เช่น www.facebook.com เพราะเป็นเรื่องไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และสิ้นเปลืองช่องสัญญาณ โดยมีข้อความ ว่า ด้วยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ตรวจสอบการใช้งานของระบบอินเทอร์เน็ตในรอบ 8 เดือน ในปีงบประมาณ 2555 พบว่าโดเมนที่มีจำนวนการเรียกใช้มากที่สุด 10 อันดับแรก ปรากฏว่าเป็นการใช้บริการดาวน์โหลดข้อมูลภาพและเสียง ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเว็บไซต์ของต่างประเทศและมีการเรียกใช้มากในลักษณะออนไลน์ เช่น
www.facebook.com เป็นต้น ซึ่งการใช้งานดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานราชการ ทำให้สิ้นเปลืองช่องสัญญาณ (Bandwidth) จำนวนมาก
ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเกิดประโยชน์สูงสุด สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยจึงได้กำหนดมาตรการการใช้งานระบบอินเทอร์เน็ต
โดยระงับการเข้าถึง Website ที่ให้บริการดาวน์โหลดข้อมูลภาพและเสียงที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานบางเว็บไซต์ และงดการใช้งานเว็บออนไลน์ เช่น www.facebook.com ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ปี 2555 เป็นต้นไป
ในช่วงระหว่างเวลา 08.30-12.00 น. และ 13.00-16.30 น.
ล่าสุดคำสั่งนี้ “ก็ยังไม่มีการยกเลิก”