xs
xsm
sm
md
lg

พระพุทธพิทักษไทยทศทิศจำลอง พระแห่งมวลมหาประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พระพุทธพิทักษไทยทศทิศจำลอง” เนื้อโลหะเคลือบขาว ขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นับเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยที่ได้มีการจัดสร้างพระพุทธรูปขึ้นท่ามกลางการชุมนุมเคลื่อนไหวของภาคประชาชนบนถนนแห่งประศาสตร์การเมืองไทยที่ชื่อราชดำเนิน เป็นการสร้างพระเพื่อสื่อถึงสัญลักษณ์แห่งการปกป้องบ้านเมืองและสถาบันกษัตริย์ไทย และเพื่อถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในวโรกาสที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุ 84 พรรษา โดยพระองค์นี้มีชื่อว่า “พระพุทธพิทักษไทยทศทิศ” และถูกอัญเชิญไปประดิษฐานตามวัดในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ การสร้างพระดังกล่าวได้กลายเป็นจุดกำเนิดของ “พระพุทธพิทักษไทยทศทิศจำลอง” ซึ่งได้จัดสร้างและทำพิธีพุทธาภิเษกที่วัดบวรนิเวศวิหาร ไปเมื่อวันเสาร์ที่ 30 มี.ค.2556 ที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนได้เช่าบูชาและระลึกถึงคุณค่าในการปกป้องบ้านเมือง

“อาจารย์ชัยพันธ์ ประภาสะวัต” ศิลปินผู้ออกแบบและหล่อปั้น “พระพุทธพิทักษไทยทศทิศ” เล่าถึงแนวคิดในการจัดสร้างพระพุทธพิทักษไทยทศทิศ ให้ฟังว่า การสร้างพระองค์นี้เกิดขึ้นในช่วงที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ออกมาชุมนุมต่อสู้เพื่อปกป้องดินแดนไทย ซึ่งอาจต้องสูญเสียไปให้แก่กัมพูชาจากกรณีข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นการชุมนุมที่มีระยะเวลายาวนานถึง 158 วัน เป็นการสร้างพระเพื่อปลุกให้คนไทยรักบ้านรักเมือง โดยมีการเปิดให้ผู้ชุมนุมทุกคนได้มีโอกาสร่วมกันปั้นองค์พระพุทธรูปเพื่อทำแม่พิมพ์ก่อนนำไปหล่อ สร้างเป็นองค์พระขนาดหน้าตัก 63 นิ้ว จำนวน 84 องค์ นำไปประดิษฐานตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา

อย่างไรก็ตาม กล่าวสำหรับอาจารย์ชัยพันธ์แล้ว ต้องนับว่านี่เป็นการปั้นพระที่แปลกและแตกต่างไปจากงานพุทธศิลป์ที่เคยรังสรรค์ตลอดช่วงชีวิตการทำงานที่ผ่านมา เพราะการปั้นพระครั้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในวัดวาอารามหรือสถานปฏิบัติธรรม แต่เขาและผองเพื่อนลงแรงขึ้นรูปปั้นพระกัน ณ เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนิน ซึ่งรายล้อมไปด้วยมวลชนที่แห่แหนกันออกมาชุมนุมปกป้องบ้านเมือง

“ตอนแรกเริ่มจากเล็กๆ นะ ปั้นกันช่วงชุมนุม 158 วันของพันธมิตรฯ ตอนนั้นก็ปั้นกันริมถนนเลย ตรงเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ซึ่งตรงนั้นเราตั้งเป็นโรงเรียนศิลปะโพธิวิชาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สอนศิลปะให้แก่เด็กๆ และผู้ชุมนุมที่มีความสนใจ โดยผมกับเพื่อนอีก 3 คน คือ อาจารย์มงคล ชมภูทิพย์ อาจารย์ชัยศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา และอาจารย์เกษม ช่วยกันเอาดินมาปั้นขึ้นรูป พอเป็นองค์พระขึ้นมา พี่น้องพันธมิตรฯ ก็มาช่วยกันปั้น แปะดินกันคนละนิดละหน่อย ถือว่าทุกคนได้ร่วมปั้น คุณสนธิ (ลิ้มทองกุล) ก็ไปดู เริ่มจากเล็กๆ องค์แรกซึ่งเป็นต้นแบบเนี่ยใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเศษ เสร็จแล้วก็นำไปถอดพิมพ์ ไปหล่อเป็นองค์พระประธานขึ้นมา จำนวน 84 องค์ แล้วก็นำไปประดิษฐานตามวัดต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ไปหมด

“หลังจากนั้นก็มีเสียงเรียกร้องจากพี่น้องพันธมิตรฯ ว่าอยากจะได้พระพุทธพิทักษ์ไทยฯ ไว้บูชาบ้าง เราก็เห็นตรงกันว่าน่าจะทำนะ จะได้เป็นขวัญกำลังใจให้แก่คนที่รักบ้านรักเมือง นอกจากนั้นยังสามารถระดมทุนบริจาคช่วยเอเอสทีวีไม่ให้จอดับด้วย ถือว่าเป็นการทำบุญร่วมกัน โดยเรามีคณะกรรมการที่มาช่วยกันคิดช่วยกันทำ อาทิ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คุณชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย จึงสรุปออกมาว่าจะมีการสร้างพระ 3 ขนาดด้วยกันคือ พระบูชา ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว พระบูชา หน้าตัก 5 นิ้ว และพระเครื่องชุดเล็ก ซึ่งจะมี 3 องค์ ด้วยกัน โดยจำนวนที่จัดสร้างนั้นจะสร้างตามยอดจอง” อาจารย์ชัยพันธ์ ระบุ

สำหรับพุทธลักษณะของพระพุทธพิทักษไทยทศทิศจำลองนั้น อาจารย์ชัยพันธ์ซึ่งเป็นผู้ออกแบบเปิดเผยว่า เป็นการรวมพุทธลักษณะที่งดงามของพระในแต่ละยุคสมัยไว้ด้วยกัน

“พุทธลักษณะของพระพุทธพิทักษไทยทศทิศจำลอง จะเป็นการรวมเอาความงามอันโดดเด่นของพระแต่ละสมัย อาทิ สุโขทัย จะเป็นเรื่องของรูปทรงและพระพักตร์ที่สวยงาม อ่อนช้อย แล้วก็มีความอวบอิ่มของพระเชียงแสนซึ่งจะมีเกศเป็นบัวตูมและพระสังฆาฏิสิงห์ 1 รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่ง ในยุคสมัยอู่ทอง จนถึงยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งพระบูชาชาจะเป็นเนื้อโลหะ เคลือบขาว โดยตัวเคลือบจะใช้วัสดุเดียวกับสีเคลือบรถ ที่เลือกใช้สีขาวก็เพื่อสื่อถึงความสะอาดบริสุทธิ์ ขณะเดียวกันหากนำไปตั้งรวมกับพระองค์อื่นๆ ท่านก็งดงามโดดเด่นขึ้นมา ซึ่งจะต่างจากพระพุทธพิทักษไทยทศทิศ องค์ประธาน ซึ่งเราสร้างในช่วงแรก องค์นั้นจะเป็นสีทอง ”

ทั้งนี้ พระพุทธพิทักษ์ไทยทศทิศจำลองที่จัดสร้างในครั้งนี้ มี 3 ขนาดด้วยกัน คือ พระบูชา เนื้อโลหะ เคลือบขาว ขนาด 9 นิ้ว เช่าบูชาองค์ละ 9,999 บาท , พระบูชา เนื้อโลหะเคลือบขาว ขนาด 5 นิ้ว เช่าบูชาองค์ละ 3,999 บาท และพระเครื่องชุดเล็ก 3 องค์ ประกอบด้วย พระกะไหล่เงิน พระกะไหล่ทอง และพระเนื้อผงจากพระว่าน 108 เช่าบูชาชุดละ 299 บาท โดยพระพุทธรูปขนาด 5 นิ้ว และขนาด 9 นิ้วนั้น ได้รับพระราชทานตรา ญสส.จากสมเด็จพระสังฆราช จารึกลงบนฐานขององค์พระด้วย

ส่วนจำนวนที่จัดสร้างนั้นจะเป็นไปตามจำนวนที่มีผู้สั่งจอง จากตัวเลขล่าสุดซึ่งปิดการจองไปเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2556 ที่ผ่านมานั้น สำหรับพระบูชาทั้งสองขนาดมียอดจองรวมประมาณ 8,000 องค์ ส่วนพระเครื่องชุดเล็กมียอดจองประมาณ 20,000 ชุด อย่างไรก็ดีได้มีการสร้างพระเผื่อไว้จำนวนหนึ่งสำหรับผู้ที่สั่งจองไม่ทัน โดยรายได้ในส่วนนี้นั้นจะนำไปใช้ซื้ออุปกรณ์ใหม่ให้ ASTV

พระชุดนี้นั้นได้ผ่านพิธีพุทธาภิเษก ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีบรรดาพระเกจิอาจารย์ ซึ่งล้วนแต่เป็นพระสายป่า มาร่วมประกอบพิธี ไม่ว่าจะเป็นพระวัดป่าสายหลวงปู่มั่น สายหลวงตามหาบัว ที่มานั่งสมาธิแผ่เมตตาจิตให้ นอกจากนั้นยังมีหลวงปู่เจริญ พระเกจิอาจารย์สายพระป่าวัดเขาน้อย จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ที่ทำพิธีดับเทียนพุทธาภิเษก

ที่น่าสนใจคือ มวลสารที่นำมาสร้างพระพุทธพิทักษไทยทศทิศจำลองนั้นถือว่าไม่ธรรมดา เพราะเป็นการรวบรวมมวลสารที่มีฤทธิ์และเป็นมงคลจากทั่วทุกสารทิศของประเทศไทย ซึ่งอาจารย์ชัยพันธ์ขยาความให้ฟังว่า

“มวลสารที่นำมาสร้างพระพุทธพิทักษไทยทศทิศจำลองถือว่าสุดยอด เพราะเป็นรวบรวมมวลสารจากทุกสารทิศทั่วประเทศ อย่างเนื้อโลหะก็จะได้ ทองคำที่เหลือจากการเทพระเกศพระประธานที่พุทธมณฑล ตะกรุดพ่อญาท่านซึ่งคุณสนธิมอบให้มา โลหะซึ่งหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ ท่านอธิษฐานจิตให้ ส่วนเนื้อผงก็จะได้ชานหมากของหลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาด มวลสารที่หลวงพ่อคูณอธิษฐานจิตให้ พระผงสมเด็จซึ่งเจ้าคุณวัดระฆังฯ ท่านมอบให้ ซึ่งเราไม่รู้ว่ารุ่นไหนเพราะองค์พระเกาะกันเป็นปึกเลย เราก็บดเอามวลสารมาผสม นอกจากนั้นก็มีว่าน 108 จากหลายๆ ที่ ซึ่งบางส่วนก็ผ่านพิธีมาแล้ว ดังนั้นจึงเชื่อมั่นได้ว่าพุทธบารมีของพระพุทธพิทักษไทยทศทิศจำลองนั้นไม่เป็นสองรองใคร” อาจารย์ชัยพันธ์ ให้รายละเอียดของมวลสารที่นำมาจัดสร้าง

ทั้งนี้ สำหรับผลงานด้านพุทธศิลป์ของอาจารย์ชัยพันธ์ นั้นถือว่าไม่ธรรมดาทีเดียว เพราะอาจารย์ชัยพันธ์เป็นศิลปินที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงศิลปะมาเกือบ 40 ปี โดยเฉพาะด้านประติมากรรมนั้นถือว่าไม่เป็นสองรองใคร โดยผลงานซึ่งเป็นที่รู้จักนั้นได้แก่ อนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร นอกจากนั้นยังมีผลงานด้านประติมากรรมปั้นพระพุทธรูปให้กับวัดหลายๆ วัด โดยเฉพาะในจังหวัดภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก เป็นต้น

แน่นอน บางคนอาจแปลกใจว่าเหตุใดศิลปินแนวพุทธศิลป์ท่านนี้จึงคลุกคลีผูกพันถึงขั้นร่วมเคลื่อนไหวกับมวลชนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กระทั่งได้ฝากฝีมือไว้ในการออกแบบและหล่อพระพุทธพิทักษไทยทศทิศจำลอง แต่หากย้อนไปดูประวัติของอาจารย์ชัยพันธ์แล้วก็คงจะหายสงสัย เพราะอาจารย์ชัยพันธ์นั้นเป็นหนึ่งในนักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ออกมาร่วมเคลื่อนไหวในการชุมนุมในยุค 14 ตุลา 16 เขาเคยเป็นกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมัชชาคนจน ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสมัชชาคนจนไปด้วย

นอกจากนั้น อาจารย์ชัยพันธ์ย้ายไปตั้งหลักปักฐานที่ จ.เชียงใหม่ ในฐานะศิลปิน และตั้งรกรากอยู่ที่นั้นมาไม่ต่ำ 20 ปี จึงมีผลงานด้านประติมากรรมปั้นพระพุทธรูปให้กับวัดหลายๆ วัดใน จ.เชียงใหม่ เช่น วัดดอยคำ วัดดอยสะเก็ด วัดท่าตอน วัดเจดีย์หลวง ฯลฯ

“งานพุทธศิลป์ของผมส่วนใหญ่จะอยู่บนภูเขา เป็นพระองค์ใหญ่ๆ บางองค์สูงถึง 9 เมตร ใช้เวลาปั้นเป็นปี ต้องขึ้นโครงเหล็ก หล่อซิเมนต์ ถ้าเสียก็ต้องทุบทิ้ง ทำใหม่ แต่ก็มีลูกมือช่วยเรานะ นอกจากนั้นก็จะมีพระพุทธรูป พระเกจิต่างๆ เช่น หลวงปู่ดวงดี วัดท่าจำปี จ.เชียงใหม่ คือผมภูมิใจในผลงานทุกชื้น แต่สำหรับพระพุทธพิทักษไทยทศทิศจำลองนั้น เป็นพุทธศิลป์เพื่อชาติ ทุกคนที่มาร่วมทำบุญก็จะได้อานิสงส์ในการร่วมกันปกป้องบ้านเมือง ซึ่งถือว่าเป็นบุญใหญ่ที่จะติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ” อาจารย์ชัยพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยความภาคภูมิใจ


ด้านหลัง“พระพุทธพิทักษไทยทศทิศจำลอง” เนื้อโลหะเคลือบขาว ขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว
พระเนื้อผง(ด้านหน้า-ด้านหลัง) มีอักษรย่อ พ.ธ.ม.
“พระพุทธพิทักษไทยทศทิศจำลอง” พระเครื่องชุดเล็ก 3 องค์ ประกอบด้วย พระกะไหล่เงิน พระกะไหล่ทอง และพระเนื้อผง
พระกะไหล่เงิน
พระกะไหล่ทอง
“พระพุทธพิทักษไทยทศทิศ”องค์ประธาน ขนาดหน้าตัก 63 นิ้ว ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงที่มีการชุมนุม 158 วัน ของพันธมิตรฯ
อาจารย์ชัยพันธ์ ประภาสะวัต
กำลังโหลดความคิดเห็น