xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศึก “P4P” ยังไม่จบ...อย่าเพิ่งนับศพหมอ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เรียกได้ว่าเปิดศึกกันอย่างเป็นทางการ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกลุ่มชมรมแพทย์ชนบท หลังจากที่รายหลังรวมตัวกันแต่งชุดดำกว่า 150 คน บุกเข้าไปประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับ สธ.อีกต่อไป กลางวงประชุมคณะกรรมการค่าตอบแทนกำลังคนสาธารณสุข ที่มี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน

สาเหตุสำคัญมาจากแนวคิดการเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งจากเดิมจ่ายด้วยค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่ มาเป็นการจ่ายตามภาระงานหรือที่เรียกกันเก๋ๆ ว่า P4P (Pay for Performance)

และในช่วง 2-3 สัปดาห์นี้ จะสังเกตได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็ออกมาแลกหมัดกันคนละยก 2 ยก ทั้งเรื่องที่แพทย์ชนบทโจมตีว่าการจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P จะทำบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ขาดแรงจูงใจ จนหนีไปเข้าภาคเอกชนมากขึ้น หรือเป็นการนำระบบที่ล้มเหลวในต่างประเทศเข้ามาใช้ ยาวไปถึง รมว.สาธารณสุขกำลังพยายามที่จะรวบอำนาจองค์กร ตระกูล ส

ขณะที่ทาง สธ.ก็ออกมาตอบโต้แค่เพียงชี้แจงข้อมูลทำความเข้าใจกับบุคลากร สธ.ทั่วประเทศเท่านั้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าออกมาพูดแล้วชัดเจนพอหรือไม่ หรือประสิทธิภาพในการอธิบายจะด้อยเกินกว่าสร้างความเข้าใจแก่คนหมู่มาก

หรือเพราะแพทย์ชนบทฟังแล้วยังไม่เข้าใจ หรือไม่คิดที่จะรับฟัง! ก็มีสิทธิเป็นไปได้ทั้งนั้น

เพราะในการคัดค้านนี้ กลุ่มแพทย์ชนบทยังคงเข้าใจว่ามีการตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทิ้งทั้งหมด ทั้งที่ ปลัด สธ.ก็ได้สาธยายว่า จะมีการตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายโรงพยาบาลพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่ปกติทิ้งในการดำเนินงานระยะที่ 3 ยกเว้นพื้นที่ทุรกันดารที่ยังได้ค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามเดิม ไม่มีการไปแตะใดๆ ทั้งสิ้น

แถมยังได้ค่าตอบแทนแบบ P4P เพิ่มขึ้นอีกต่างหาก

ที่สำคัญยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพและในวิชาชีพ เพราะ ค่าตอบแทนของวิชาชีพอื่นๆ ที่ทำงานหนักไม่แพ้กันถือว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับแพทย์ การนำ P4P มาใช้จึงเป็นเรื่องที่สามารถตอบประชาชนได้ว่า การเพิ่มค่าตอบแทนไม่ว่าจะแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ต่างๆ เป็นเพราะมีการปฏิบัติงานที่มากและมีคุณภาพ

แต่ก็ดูเหมือนว่าการสื่อสารจะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก แม้ สธ.จะพยายามออกข่าวมากมายเพียงใด แต่ก็ยังไปไม่ถึงหูของเหล่าแพทย์ชนบท ขนาดที่ว่ายอมทบทวนร่างการจ่ายค่าตอบแทนและถอยให้แพทย์ชนบทก้าวหนึ่งด้วยการตัดการดำเนินงานในระยะที่ 3 ออก

ส่งผลให้มีเพียงโรงพยาบาลในพื้นที่ชุมชนเมืองที่เข้าสู่ความเจริญแล้วเท่านั้น ถูกตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทิ้งไป ขณะที่โรงพยาบาลพื้นที่ปกติถูกลดบางส่วน ส่วนโรงพยาบาลพื้นที่กันดารไม่ถูกปรับลดลงเลย และในทุกๆระดับต่างล้วนได้ค่าตอบแทนแบบ P4P เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งเป็นการนำเงินค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่ถูกตัดไปมาปรับวิธีจ่ายใหม่ แถมยังมีเงิน On Top ลงมาช่วยหนุนอีกถึง 3,000 ล้านบาท และยังคอนเฟิร์มอีกว่า ถ้าไม่ได้เท่าเดิมก็ต้องได้มากกว่าเดิม

แต่หลังจากชี้แจงหลายครั้ง ดูเหมือนนอกจากจะสร้างความเข้าใจร่วมกันไม่ได้แล้ว ศึก P4P นี้กลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นอีก ทั้งการติดป้ายขับไล่ รมว.สาธารณสุขและปลัด สธ.ให้ไปสู่สุคติ หรือแพทย์ชนบทรวมตัวกันแต่งชุดดำ (อีกแล้ว) ไปล้อมทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันนายกรัฐมนตรีให้ปลด นพ.ประดิษฐ ออกจากตำแหน่ง พร้อมทั้งขนโลงศพ พวงหรีด และดอกไม้จันทน์จำนวนมากมาเผาขับไล่ และเตรียมที่จะยกระดับด้วยการประกาศหยุดงานยาวช่วงสงกรานต์

ทั้งนี้ การประกาศหยุดงานนี้เอง เปรียบเสมือนหมัดที่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง เพราะทำให้ประชาชนจำนวนมากเริ่มไม่มั่นใจแล้วว่า การที่แพทย์ชนบทออกมาประท้วงในครั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนที่จะสูญเสียโอกาสการเข้าถึงบริการสาธารณสุข หรือเพื่อผลประโยชน์ของตัวแพทย์ชนบทเองกันแน่

แต่ที่ชัดเจนคือ นพ.ประดิษฐ ที่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้แคร์อะไร เพราะยังคงเดินหน้าเสนอหลักการปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่สำคัญ ครม.ยังเห็นชอบรับหลักการดังกล่าวด้วย โดยให้จ่ายค่าตอบแทนแบบผสมผสาน ซึ่งยังคงเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่ไว้ และจ่ายเพิ่มเติมแบบ P4P และยังให้สัมภาษณ์ด้วยว่า ช่วงสงกรานต์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับอุบัติเหตุฉุกเฉินอย่างแน่นอน หากแพทย์ใน รพช.หยุดงานจริง

เรียกได้ว่าแพทย์ชนบทถูกหมัดน็อกจนหน้าชาไปข้าง ทั้งที่สู้อุตส่าห์ฝ่าแดดร้อนมาประท้วง แต่กลับตัดโอกาสตัวเองไม่ยอมเข้าไปคุยกับนายกฯ พร้อมม็อบอื่นๆที่มาในวันนั้น เพราะระบุว่าต้องการเข้าไปเรียกร้องพร้อมกันจำนวน 80 คน ขณะที่ทางทำเนียบฯกำหนดว่าให้แต่ละม็อบเข้าพบได้ไม่เกิน 5 คนเท่านั้น

สุดท้ายก็ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไป!

แต่อย่างที่บอกว่าสงครามยังไม่จบ...อย่าเพิ่งนับศพหมอ

เพราะกลุ่มแพทย์ชนบทยังคงเดินหน้าประท้วงต่อ ด้วยการไม่มาหารือรายละเอียดวิธีการปรับปรุงระเบียบการจ่ายค่าตอบแทน ทั้งที่ในที่ประชุมก็มีวิชาชีพต่างๆ มาร่วมถกกันอย่างมากมาย ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล จาก รพศ./รพท. รวมไปถึงทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลใน รพช. ซึ่งเป็นไปตามที่ ครม.มีมติให้ สธ.ดำเนินการสร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกวิชาชีพ ก่อนที่จะนำกลับมาเสนอให้แก่คณะกรรมการกลั่นกรอง ครม.ด้านเศรษฐกิจ และเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.สัญจรต่อไป

นอกจากนี้ แผนการต่อไปของแพทย์ชนบทยังเตรียมที่จะฟ้องศาลปกครองด้วย หาก ครม.อนุมัติให้เดินหน้าในเรื่องนี้ พร้อมกับปูดข่าวออกมาอีกว่า การจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P ทำให้แพทย์ใน รพช.ลาออกมากขึ้น ทำให้แพทย์มองคนไข้เหมือนเป็นสินค้าที่ต้องตรวจรักษาแบบเร็วๆ เพื่อทำแต้มให้ได้คะแนน P4P มากๆ

ซึ่งก็ถูก สธ.สวนกลับทันควันว่าเป็นการสร้างกระแส

พร้อมกับงัดตัวเลขออกมาพิสูจน์เห็นๆ เลยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่แพทย์ลาออกเป็นประจำอยู่แล้ว เพื่อไปศึกษาต่อหรือทำธุรกิจส่วนตัวเมื่อใช้ทุนจบ ที่สำคัญตัวเลขแพทย์ลาออกในปีนี้ยังน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา และยังบอกอีกด้วยว่า การทำ P4P ไม่ได้วัดกันที่ปริมาณเพียงอย่างเดียว แต่วัดกันที่คุณภาพด้วย เช่น รักษาแล้วไม่มีโรคแทรกซ้อนก็จะได้คะแนนเพิ่มขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงภารกิจต่างๆ ทั้งในส่วนของการส่งเสริมควบคุมป้องกันโรค หรือแม้แต่ในส่วนของการบริหารงาน งานวิชาการ ก็ล้วนแต่นำมาคิดเป็นคะแนน P4P ทั้งหมด พร้อมกับโยนระเบิดในทำนองว่า

เชื่อใจในตัวแพทย์ที่มีจะต้องมีจรรยาบรรณไม่ตรวจคนไข้แบบลวกๆ เพราะเห็นแก่เงิน!

แต่หากดำเนินการเปลี่ยนวิธีจ่ายค่าตอบแทนแล้ว แพทย์ได้รับผลกระทบ หรือได้เงินน้อยลงจากที่เป็นอยู่ ครม.ซึ่งอนุมัติในเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังมีมติให้ สธ.ไปคิดวิธีการช่วยเหลือในลักษณะการประกันค่าตอบแทนด้วย

ล่าสุด แพทย์ชนบทยังออกมาโจมตี นพ.ประดิษฐ อีกระลอก ด้วยการกล่าวหาว่าแอบอ้างผลการศึกษา P4P ของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ทั้งที่ผลการศึกษาจริงๆ มีข้อจำกัดในเรื่องของการจ่ายแบบ On Top เท่านั้น ยังไม่มีการศึกษาเรื่องนำมาจ่ายแบบทดแทนว่าดีจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากการอัตราการปรับลดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย จะพบว่าแพทย์ที่อยู่ในชนบทจริงๆ ไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน ที่สำคัญมีแต่จะได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น รวมไปถึงแพทย์ที่มีอายุการทำงานน้อย ก็ไม่ถูกปรับลดค่าเบี้ยเลี้ยงแต่อย่างใด ดังตารางต่อไปนี้



เรื่องนี้พูดได้ว่ายังคงต้องมีการแลกกันอีกหลายหมัด ชกกันอีกหลายยก และคงต้องลุ้นกันว่า แพทย์ชนบทจะออกมาเคลื่อนไหวใดๆ อีก รวมไปถึงจะมีการหยุดงานประท้วงช่วงสงกรานต์จริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ สงครามครั้งนี้กำลังสร้างความหวั่นใจให้แก่ประชาชนตาดำๆ ว่า จะส่งผลกระทบอะไรมาถึงคนธรรมดาอย่างเราหรือไม่ เพราะค่าตอบแทนของแพทย์บางรายแว่วว่าสูงลิ่วยิ่งกว่าเงินเดือนนายกรัฐมนตรีเสียอีก

โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุงาน 10-20 ปีขึ้นไป ที่ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และก็เป็นต้นเรื่องในการออกมาคัดค้านกันชนิดหัวชนฝา มากกว่าน้องๆ แพทย์ในชนบทตัวจริงเสียอีก

หรือแท้จริงแล้วอาจจะมีนัยยะอื่นซ่อนอยู่ โดยเฉพาะความหวั่นใจในเรื่องการปฏิรูปโครงสร้าง สธ.ที่จะมีการปรับบทบาทใหม่ รวมไปถึงองค์กรตระกูล ส ที่ล้วนแล้วแต่มีบิ๊กเบิ้มของกลุ่มแพทย์ชนบทนั่งเก้าอี้บอร์ดกันอยู่มากมาย!


กำลังโหลดความคิดเห็น