สธ.ระดมผู้บริหารทุกกรมเปิดโต๊ะแถลงการจ่ายค่าตอบแทนแบบผสมผสาน หลัง ครม.มีมติเห็นชอบ ยันไม่ตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แต่เพิ่มการจ่ายแบบ P4P ร่วมด้วย เล็งเปิดเวทีหารือรายละเอียดที่ยังเข้าใจไม่ตรงกันกับผู้เกี่ยวข้องครั้งสุดท้ายก่อนเสนอ ครม.สัญจร “หมอประดิษฐ” ชี้หากแพทย์ชนบทไม่มาใช้สิทธิและชุมนุมขับไล่ต่อ จะเห็นจุดประสงค์การชุมนุมที่แท้จริง
วันนี้ (26 มี.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการแถลงข่าว “การทบทวนการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข” ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติในหลักการที่ สธ.เสนอแนวทางการปรับปรุงวิธีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบผสมผสาน ซึ่งมีทั้งค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย และตามภาระงาน (P4P : Pay for Performance) โดยแบ่งพื้นที่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ พื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ปกติ พื้นที่เฉพาะ 1 (รพช.ในพื้นที่ห่างไกล หรือตามหมู่เกาะต่างๆ) และพื้นที่เฉพาะ 2 (โรงพยาบาลอำเภอทุกแห่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) ซึ่งมีระยะดำเนินการ 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2556 - 31 มี.ค. 2557 และระยะที่ 2 คือ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2557 - 31 มี.ค. 2558 ทั้งนี้ ในกลุ่มพื้นที่เฉพาะ 1 และ 2 จะได้ค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามเดิมและเพิ่มจากการทำ P4P ด้วย
นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ครม.เสนอให้ สธ.สร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยจะเชิญตัวแทนทั้งจาก รพช.โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) รพ.กรมวิชาการ และทุกวิชาชีพมาร่วมเจรจาหารือภายในวันที่ 27-28 มี.ค.นี้ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่อง ซึ่งมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 29 มี.ค.นี้ ก่อนนำเข้าการประชุม ครม.สัญจร ครั้งที่ 9 ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ในวันที่ 30-31 มี.ค. 2556 ต่อไป
“การเชิญมาหารือในครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย โดยหลักการจะคุยในเรื่องของสถานที่และอัตราการจ่ายค่าตอบแทน โดยจะมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการ สธ.ทุกเขต สสจ.ทุกจังหวัด รวมทั้ง รพศ./รพท.ลงไปทำความเข้าใจกับ รพช.ที่ยังไม่เข้าใจร่วมด้วย เพราะขณะนี้หลายวิชาชีพและ รพช.หลายแห่งได้เตรียมพร้อมที่จะดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P แล้ว เช่น บ้านบึง เป็นต้น” ปลัด สธ.กล่าวและว่า ส่วนการหยุดงานช่วงสงกรานต์ของกลุ่มแพทย์ชนบทนั้น สธ.ได้ให้ทุกโรงพยาบาลมีการเตรียมกำลังคนเพิ่มเติม และให้มีการอนุมัติค่าตอบแทนเป็นกรณีพิเศษในช่วงสงกรานต์ด้วย แต่จะได้เพิ่มกี่เท่านั้นอยู่ที่การพิจารณาของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ครม.ได้อนุมัติหลักการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอของบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2557 ทั้งหมด 189,719.55 ล้านบาท ซึ่งเดิมทีได้เสนอไป 156,766.83 ล้านบาท แต่ได้บวกเพิ่มในส่วนของงบเพิ่มเติมด้านค่าแรงไปอีก 32,952.72 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินเดือนของหน่วยบริการสังกัด สป.สธ.จำนวน 29,186.98 ล้านบาท เงินเดือนของหน่วยบริการสังกัดต่างๆ จำนวน 765.74 ล้านบาท และค่าตอบแทนส่วนเพิ่ม ซึ่งมาแทนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 4 6 และ 7 จำนวน 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นงบคนละส่วนกับงบเหมาจ่ายรายหัว ไม่ได้เป็นการดึงงบเหมาจ่ายรายหัวมาจ่ายค่าตอบแทนแต่อย่างใด เพราะเมื่อหักเงินหน่วยบริการภาครัฐทั้ง 100% แล้ว จะเหลืองบกองทุนที่ส่งให้ สปสช.125,003.83 ล้านบาท เพิ่มจากเดิม 3,000 ล้านบาท
“เดิมทีค่าตอบแทนนี้จะเป็นเงินของโรงพยาบาลหรือที่เรียกว่าเงินบำรุง ทำให้บางครั้งไม่เพียงพอจึงต้องมีการของบก้อนนี้เพิ่มชั่วคราว ซึ่งแต่ละปีจะได้ไม่เท่ากัน บางปีก็ไม่ได้ อย่างปี 2553 ขอได้ 2,800 ล้านบาท ปี 2554 ขอได้ 4,200 ล้านบาท ปี 2555 ไม่สามารถขอได้ และปี 2556 ขอได้ 3,000 ล้านบาท ดังนั้น ปี 2557 จึงพ่วงงบก้อนนี้เข้ากับ สปสช.ด้วย ซึ่งจะทำให้เป็นระบบ และขอได้ทุกปี โดยนำมาจ่ายให้แก่บุคลากร สธ.ที่ทำงานตาม P4P ไม่ใช่รัฐบาลถังแตกแล้วไปเอางบรายหัวมาจ่ายค่าตอบแทนแต่อย่างใด” ปลัด สธ.กล่าว
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การปรับปรุงจ่ายค่าตอบแทนแบบผสมผสาน มีทั้งการจ่ายค่าตอบแทนแบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย และแบบ P4P ไม่ได้มีการยกเลิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามที่บุคคลบางกลุ่มซึ่งออกมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลได้ให้ข้อมูลแต่อย่างใด คงไม่มีการคุยในเรื่องของหลักการตรงนี้ แล้วเพราะสิ่งที่กลุ่มดังกล่าวอ้างไม่ใช่เรื่องจริง ไม่เกิดผลในการเจรจา แต่ถ้าจะมาคุยในรายละเอียดก็สามารถมาคุยกันได้ ซึ่งวันนี้หลังจากมีมติ ครม. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สาธารณสุข ก็ได้เข้าไปทำความชี้แจงกับกลุ่มผู้มาชุมนุม แต่ได้รับคำตอบกลับว่าที่มาชุมนุมในวันนี้ไม่ได้ต้องการมาฟังคำชี้แจงในเรื่องนี้ ถ้าจะเจรจาต้องเป็นนายกฯ หรือ รองนายกฯ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เท่านั้น หรือหาก รมว.สาธารณสุข จะมาด้วยตัวเองก็ได้ แต่ไม่รับประกันความปลอดภัย ตนจึงไม่ได้เข้าไปชี้แจง
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ตนจะให้ปลัด สธ.เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมเจรจาก่อนนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุม ครม.สัญจรต่อไป แต่ถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องไม่มาใช้สิทธิและยังคงเรียกร้องให้นายกฯไล่ตนออกจากตำแหน่งหรือเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี ก็จะเห็นเจตนาที่แท้จริงของการมาชุมนุมในครั้งนี้ว่าคืออะไร
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต ซึ่งประกอบด้วยโรงพยาบาลจิตเวชในสังกัด 18 แห่ง มีความพร้อมที่จะนำระบบ P4P มาใช้ในการบริหารค่าตอบแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ และสร้างความเป็นธรรม ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตได้เตรียมการนำระบบ P4P เข้า มาใช้มากว่า 1 ปีแล้ว ซึ่งทีมผู้ให้บริการทั้งแพทย์ พยาบาล และทีมสุขภาพจิตต่างยอมรับในระบบนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยกระตุ้นในการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานให้บริการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น เช่น เพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับประชาชน ทำให้โรคแทรกซ้อนน้อยลง เกิดการดำเนินงานเชิงรุกที่เข้าถึงพื้นที่ ขยายขอบเขตการเข้าถึงบริการของประชาชนให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น เกิดรูปแบบการให้บริการใหม่ๆ ที่รวดเร็วและเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า ตลอดการชุมนุมของชมรมแพทย์ชนบท ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ราว 800 คน ซึ่งแต่งกายด้วยชุดสีดำ พร้อมมีการนำพวงหรีด และดอกไม้จันท์ มาวางไว้อาลัยต่อหน้าโลงศพและหุ่นจำลองของนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมถึงได้มีการจุดธูปเทียนหน้าโลงศพ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ถึงการไว้อาลัย รมว.สาธารณสุข จะมีตัวแทนของแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ ขึ้นปราศรัยบนรถบรรทุกขยายเสียงที่ทางกลุ่มแพทย์ชนบทได้จัดเตรียมไว้ และระหว่างการปราศรัยนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้ตะโกนและชูป้ายขับไล่ให้ นพ.ประดิษฐออกจากตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข
โดยเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สาธารณสุข พยายามที่จะออกมาชี้แจงถึงมติ ครม.และรับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมร่วมเจรจาด้วย โดยอ้างว่าวันนี้ไม่มาเพื่อรับฟังการชี้แจง แต่หากจะเจรจาจะขอพบ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเท่านั้น พร้อมระบุว่าหาก รมว.สาธารณสุข จะมาเจรจาเองก็ยินดี แต่ไม่รับประกันความปลอดภัย จึงส่งผลให้ไม่มีใครในทำเนียบรัฐบาลออกมาเจรจาด้วย และในเวลา 14.00 น.เมื่อไม่มีใครยอมออกมาเจรจา ทางกลุ่มแพทย์ชนบทจึงทำการเรียกรวมตัวกลุ่มผู้ชุมนุมและให้ทุกคนมายืนเป็นวงกลมล้อมลอบหุ่นจำลอง รมว.สาธารณสุข และทำการเผาหุ่น ดอกไม้จันทน์และพวงหรีด เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าทางกลุ่มแพทย์ชนบทไม่มี นพ.ประดิษฐ อยู่ในจิตใจอีกต่อไป ทั้งนี้ ก่อนการเผาหุ่นจำลอง กลุ่มแพทย์ชนบทได้ทำการกล่าวคำปฏิญาณตนว่า จะไม่ยอมรับ นพ.ประดิษฐ ให้ทำหน้าที่ด้านผู้นำสาธารณสุขที่ดันทุรังเดินหน้าด้วยมิจฉาทิฐิ ไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทำให้ระบบสุขภาพคนชนบทถดถอย ดังนั้น จึงต้องให้รักษาโรคที่ต้นเหตุด้วยการเปลี่ยนตัว รมว.สาธารณสุข
ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.โรงพยาบาลสิชล จ.นครราชสีมา และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ทั่วประเทศมีความเห็นร่วมกันใน 3 เรื่องคือ 1.จะไม่ร่วมสังฆกรรมกับ สธ. 2.รพช.ทั่วประเทศจะแต่งชุดดำจนกว่า รมว.สาธารณสุข จะออกจากตำแหน่ง และ 3.รพช.ทั่วประเทศจะขึ้นป้ายไว้อาลัย รมว.สาธารณสุข จนกว่าจะออกจากตำแหน่ง
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวภายหลังการชุมนุมอีกว่า การที่ไม่ได้พบตัวแทนจากรัฐบาลทางกลุ่มไม่เสียใจเนื่องจากการมาชุมนุมที่ทำเนียบครั้งนี้ก็เพื่อให้รัฐบาลเห็นว่า รพช.ต้องการทำเพื่อระบบสาธารณสุขของประเทศและประชาชน โดยทางกลุ่มจะยังไม่กลับมาชุมนุมอีกในวันอังคารตามที่เคยตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก แต่ทางกลุ่มจะกลับมาชุมนุมอีกภายหลังจากไปชี้แจงให้บุคลากรทางสาธารณสุขและประชาชนชนของแต่ละจังหวัดเข้าใจถึงรายละเอียดว่า การจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P จะมีผลกระทบแค่ไหน ทางกลุ่มถึงจะกลับมาชุมนุมอีกครั้ง และจุดยืนของ รพช.ทุกคนก็ยังชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ต่อให้ รมว.สาธารณสุข เรียกเข้าเจรจาทางกลุ่มก็จะไม่เจรจาด้วย ส่วนเรื่องการหยุดประท้วงในช่วงสงกรานต์ก็จะกลับไปหารือและทบทวนกันอีกครั้ง