xs
xsm
sm
md
lg

สั่ง!รื้อระบบเหมาจ่ายค่า บุคลากรสธ.เริ่ม 1 เม.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(31 มี.ค.56) ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.นอกสถานที่ ว่า ที่ประชุมครม.มีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 3 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ในคราวประชุม ครั้งที่ 7/2556 เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2556 ตามที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เสนอ โดยที่ประชุมครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในอัตราที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 มี.ค.2556 (ระยะที่ 1) ตามมติคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระบบการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในภาครัฐเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2556 ทั้งนี้ หากมีผู้ใดได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายรวมกับค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานต่ำกว่าค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่เคยได้รับอยู่เดิมอย่างมีนัยสำคัญ ให้ สธ. พิจารณากำหนดอัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือในกรณีดังกล่าวเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบมากเกินไป
ร.ท.หญิงสุณิสา กล่าวอีกว่า สำหรับแหล่งเงินในการดำเนินการเพื่อเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายนั้น ให้ สธ. ใช้จ่ายจากเงินบำรุงของโรงพยาบาลก่อน หากไม่เพียงพอให้เสนอขอใช้เงินงบประมาณต่อไป ทั้งนี้ระยะต่อไปมอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สธ. ร่วมกันพิจารณาถึงความเหมาะสม โดยให้ศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีการประเมินผลการดำเนินการในระยะที่ 1 โดยให้จัดทำข้อสรุปอย่างรอบด้านและชัดเจนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
“เนื่องจากนโยบายของนายกรัฐมนตรีคือต้องการให้มีการจ่ายค่าตอบแทนตามความเป็นจริง เพราะปกติการจ่ายค่าตอบแทนจะแบ่งเป็นพื้นที่เขตเมืองและแบบทุระกันดาร ซึ่งพื้นที่ทุระกันดารมีการกำหนดนิยามไว้ตั้งแต่ในอดีตแต่ปัจจุบันการพัฒนาประเทศเปลี่ยนแปลงไป บางพื้นที่เป็นพื้นที่เขตเมืองจากที่เคยเป็นพื้นที่ทุระกันดารจึงมีการกำหนดค่าตอบแทนเหมาจ่ายใหม่ ไม่ใช่ยกเลิกทั้งหมด แต่จะมีการเพิ่มในเรื่องของการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานด้วยที่จะมีการกำหนดสัดส่วนออกเป็น 2 ระยะ”รองโฆษกฯกล่าว
ร.ท.หญิงสุนิสา กล่าวอีกว่า ในระยะแรกจะมีผลตามกฎหมายวันที่ 1 เม.ย. 2556 อาทิ อัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่จะจ่ายให้โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจะแบ่งออกเป็นระยะเวลาในการทำงาน คือกลุ่มที่ทำงาน 1-3 ปี, 4-10 ปี และ 11 ปีขึ้นไป โดยในกลุ่มทำงาน 1-3 ปี นั้นค่าตอบแทนสำหรับแพทย์และทันตแพทย์ในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่ปกติจะได้เฉลี่ย 10,000 บาท แต่ถ้าเป็นพื้นที่ทุรกันดารมาก เฉลี่ยอัตราใหม่จะได้เหมาจ่าย 30,000 บาท ส่วนทุรกันดารปกติ จะได้ 20,000 บาท ซึ่งอัตราใหม่จะส่งเสริมความเป็นธรรมให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในพื้นที่ที่ห่างไกล จะเป็นการดึงดูดใจให้บุคลากรทางการแพทย์อยากไปทำงานในพื้นที่ทุรกันดารมากขึ้น เพื่อกระจายความเป็นธรรมให้ประชาชนให้ได้รับบริการทางการแพทย์ เนื่องจากจะการันตีว่าท่านได้ค่าตอบแทนแน่นอนแม้ว่าในโรงพยาบาลในพื้นที่ทุรกันดารจะมีคนไข้ไม่มาก
รองโฆษกฯ กล่าวอีกว่า นอกจากจะเพิ่มอัตราส่วนค่าตอบแทนให้แล้วยังจะลดความเหลื่อมล้ำของเจ้าหน้าที่ระดับอื่น ได้แก่ พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่อื่น ที่มีช่องว่างในการรับค่าตอบแทนน้อยกว่าแพทย์ที่ได้รับค่าตอบแทนเหมาจ่ายหลักหมื่นบาท อาทิ เภสัชกร ถ้าทำงานในพื้นที่ชุมชนเมืองจะได้รับค่าตอบแทน 2,500 บาท แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจะได้ 8,000-10,000 บาท ที่ได้มากขึ้นกว่าหลักเกณฑ์เก่า เพราะคนที่ทำงานในพื้นที่ห่างไกลต้องได้รับค่าตอบแทนมากกว่าคนพื้นที่เมือง ในขณะเดียวกันพยาบาลและบุคลากรอื่นก็จะได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นกันถ้าทำงานในพื้นที่ห่างไกล
“การเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทนครั้งนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมจากระบบเหมาจ่าย 100 เปอร์เซ็นต์ ก็จะมาใช้เป็นวิธีผสมผสานเพื่อให้คนทำงานหนัก ก็ได้รับค่าตอบแทนมากขึ้นตามการทำงาน และเพื่อดึงดูดใจให้บุคลากรไปทำงานในพื้นที่ห่างไกลทุระกันดารมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลก็ห่วงใยท่านที่จะได้รับผลกระทบจากการที่ค่าตอบแทนอาจจะน้อยลงมาก ดังนั้นจึงเตรียมมาตรการเยียวยาด้วยเช่นกัน โดยมอบให้กระทรวงสาธารณสุขไปศึกษาหลังจากใช้ระยะที่ 1 ไปแล้วว่ากลุ่มไหนได้ค่าตอบแทนน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอัตราขั้นต่ำในการจ่ายค่าตอบแทนให้กับกลุ่มนั้น และนำเสนอต่อที่ประชุมครม.เพื่อปรับปรุงค่าตอบแทนในระยะที่ 2 ต่อไป”รองโฆษกฯกล่าว
ร.ท.หญิงสุณิสา กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขรายงานด้วยว่าแหล่งเงินที่จะนำมาใช้จ่ายค่าตอบแทนระบบใหม่นี้จะไม่รบกวนงบประมาณแผ่นดินหรืองบหลักที่ได้มาจากภาษีของประชาชน โดยจะใช้เงินจากกองทุนบำรุงของโรงพยาบาลเป็นหลัก ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ที่จะได้นำเงินงบประมาณไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นต่อไป
วันเดียวกัน นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้วรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่า ในวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีมติเห็นชอบการทบทวนหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนภาครัฐกระทรวงสาธารณสุข ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองได้เสนอ มีรายละเอียดดังนี้
1.การจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข เป็นการจ่ายแบบผสมผสานระหว่างค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ตามพื้นที่และค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน 2.การจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่ ในโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กในพื้นที่ปกติ พื้นที่เฉพาะ1และพื้นที่เฉพาะ2ยังคงได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเท่าเดิม แต่ในโรงพยาบาลชุมชนขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ในพื้นที่ปกติ และโรงพยาบาลชุมชนในเขตเมือง ปรับลดลงบางส่วน เพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน 3.การจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานให้ใช้เงินบำรุง เพิ่มเติมของแต่ละโรงพยาบาล เป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานทั้งการบริการผู้ป่วยนอก/ผู้ป่วยใน การส่งเสริมสุขภาพ การส่งเสริมป้องกันโรค การคุ้มครองผู้บริโภค งานในชุมชน งานบริหาร งานวิชาการ โดยให้คำนึงถึงคุณภาพด้วย โดยเบิกจ่ายจากเงินบำรุงตามประกาศหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข 4.ในสถานบริการที่ประสบปัญหาทางการเงินการคลัง สำหรับเงินค่าตอบแทนตามพื้นที่และผลการปฏิบัติงาน จะมีเงินสนับสนุนจากส่วนกลาง 5.สำหรับบุคคลที่ได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย รวมกับค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานต่ำกว่า ที่เคยได้รับอยู่เดิมอย่างมีนัยสำคัญ ก็ให้กระทรวงสาธารณสุข กำหนดอัตราค่าตเพื่อช่วยเหลือไม่ให้ได้รับผลกระทบมากเกินไป
6.ในระยะเริ่มต้นให้ดำเนินการตั้งแต่1เมษายน2556ถึง31มีนาคม2557โดยอัตราค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และให้ศึกษาผลที่เกิดขึ้น สรุปเสนอคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระบบการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในภาครัฐ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งก่อนดำเนินงานในระยะที่2
สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข จะเร่งดำเนินการต่อไปหลังจากครม.มีมติเห็นชอบคือ การชี้แจงความเข้าใจให้กับทุกวิชาชีพในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ในรายละเอียดและหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายและค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน
อีกด้านนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวภายหลังรับทราบมติ ครม. กรณีให้จ่ายค่าตอบแทนเหมาจ่ายตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขใหม่ว่า เมื่อมีคำสั่งในเรื่องนี้ออกมาอย่างเป็นทางการคงต้องเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง นอกจากนี้จะล่ารายชื่อกว่า 2 หมื่นรายชื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภาเพื่อถอดถอน รมว.สาธารณสุข คาดว่าประมาณวันที่ 24-26 เม.ย.นี้คงได้รายชื่อครบ
นพ. วัฒนา พารีศรี ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จ.หนองคาย กล่าวว่า เ มื่อวันที่ 29 มี.ค.ได้รับใบลาออกจาก พญ.สุกัญญา สิงห์ตระกูล แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพราะไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขการลดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายและมาใช้พีฟอร์พีมาทดแทนได้ ปกติ พญ.สุกัญญาทำงานดี มีรายได้น้อยอยู่แล้วพอมาตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายยิ่งทำให้รายได้ลดลง อีกทั้งการที่ผู้ปฏิบัติงานต้องบันทึกการทำงานทำให้เกิดความยุ่งยาก จึงมายื่นใบลาออกไปอยู่ รพ.เอกชน ทั้งนี้ถือว่าได้ขอร้องให้อยู่ต่อแต่ท้ายที่สุดไม่สามารถห้ามได้ แต่ พญ.สุกัญญายังมาช่วยงานทาง รพ.ในวันเสาร์-อาทิตย์อยู่เช่นเดิม
พญ.สุกัญญา สิงห์ตระกูล กล่าวถึงลาออจากผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราช ท่าบ่อว่า เมื่อครม.มีมติออกมาเช่นนี้ ทำให้รายได้หายไปประมาณ 25,000 บาท ความจริง รพ.มีคนไข้เยอะ การทำฟีฟอร์พีอาจมีรายได้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม แต่ไม่เห็นด้วย รู้สึกไม่มั่นคง เพราะทำงานไปแต่โดนลดเงิน ไม่ควรมีนโยบายอะไรแบบนี้ออกมา คิดว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงตัดสินใจลาออกไปอยู่ รพ.เอกชนทำงานแบบฟูลไทม์ซึ่งมีรายได้มากกว่าเดิมเกือบ 2 เท่า
กำลังโหลดความคิดเห็น