xs
xsm
sm
md
lg

“หมอประดิษฐ” รวมเงินเดือน สธ.ไว้ที่ สปสช. 100% ยันงบรายหัวไม่ลดลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอประดิษฐ” ยันรวมเงินเดือน สธ.ไว้ที่ สปสช.ทั้งหมด 100% ไม่ควักกระเป๋าค่าเหมาจ่ายรายหัว แต่เป็นการเพิ่มเงินเข้าไป เล็งบวกค่าตอบแทน P4P และเบี้ยทุรกันดารด้วย หวังหนีระเบียบยุ่งยาก ก.คลัง ที่ต้องขอเบิกทุกปีแต่ได้เงินไม่แน่นอน ด้าน สปสช.ย้ำไม่ได้ถูกปรับงบลดลง กลับได้เพิ่มกว่า 1 หมื่นล้านบาท ชี้ช่วยวางแผนระบบค่าใช้จ่ายหน่วยบริการมีประสิทธิภาพขึ้น

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วันที่ 25 มี.ค.นี้ ในวาระพิเศษเรื่อง “ข้อเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (เพิ่มเติม) กรณีเงินเดือน และค่าจ้างประจำของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข” ซึ่งจะมีการปรับอัตราจากเดิมที่ใช้งบจากกองทุน สปสช.(งบเหมาจ่ายรายหัว) 60% และใช้งบประมาณของ สธ.มาสมทบอีก 40% มาเป็นการใช้งบประมาณจาก สปสช.เต็ม 100% ว่า ทุกปี สธ.จะของบประมาณมาสมทบ 40% จากการใช้ระเบียบของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีกติกาต่างๆ ทำให้มีความยุ่งยากและไม่คล่องตัว ที่สำคัญจำนวนเงินในแต่ละปีก็ไม่แน่นอน จึงโอนเงินส่วนนี้ให้ สปสช.เป็นผู้ดำเนินการตั้งงบเองทั้งหมด 100% ซึ่งเป็นการของบตามระเบียบเงินบำรุงของ สธ.ทำให้มีความยืดหยุ่นกว่า ที่สำคัญจะเป็นการสะท้อนข้อมูลต้นทุนการใช้เงินสำหรับบุคลากรที่แท้จริง และไม่เกิดความแตกต่างระหว่างเงินเดือนของข้าราชการและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ส่วนข้อกังวลที่ว่าจะทำให้งบค่าเหมาจ่ายรายหัวลดลง และเป็นการใช้เงินในส่วนค่าใช้จ่ายในการให้บริการผู้ป่วยของ สปสช.นั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะเป็นการบวกเพิ่มเข้าไปจากงบเหมาจ่ายรายหัว
นพ.ประดิษฐ  สินธวณรงค์  รมว. สาธารณสุข
“สมมติปี 2557 สปสช.ของบเหมาจ่ายรายหัวจากสำนักงบประมาณอยู่ที่ 2,955.91 บาทต่อหัว ส่วนเงิน 40% ที่โอนมาจาก สธ.คำนวณแล้วตกหัวละ 200 บาท เราก็บวกเพิ่มเข้าไปเป็น 3,155.91 บาทต่อหัว จึงเท่ากับว่างบของ สปสช.ไม่ได้หายไปไหน และก็ไม่ได้เอาเงินจาก สปสช.ด้วย แต่เป็นการบวกเพิ่มเข้าไป นอกจากนี้ จะบวกในส่วนของค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P) และตามพื้นที่เฉพาะต่างๆ เข้าไปด้วย ซึ่งจะส่งต่อเป็นเงินบำรุงของหน่วยบริการอีกจำนวน 3,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วจะตกอยู่ที่ 75 บาทต่อหัว ก็จะบวกเพิ่มเข้าไปอีกเป็น 3,230.91 บาทต่อหัว เป็นต้น” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า เมื่อทำเช่นนี้แล้ว สธ.ก็จะของบน้อยลงและไม่ต้องใช้ระเบียบของกระทรวงการคลังในการของบเหมาจ่ายรายหัวต่างๆ ส่วน สปสช.ก็จะตั้งงบดังกล่าวเป็นงบเหมาจ่ายรายหัวในทุกปี ทำให้ระบบมีความยั่งยืน เพราะเป็นระเบียบเงินบำรุงของ สธ.เอง ไม่ใช่ระเบียบของ ก.คลัง ซึ่ง สธ.จะต้องไปขอเป็นประจำทุกปี ยืนยันว่าการปรับครั้งนี้ไม่ได้มีการไปตัดงบใดๆ ทั้งนั้น เพียงแค่ฝั่งหนึ่งขอมากขึ้น อีกฝั่งหนึ่งขอน้อยลงเท่านั้น

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การนำตัวเลขเงินเดือนมารวมทั้งหมดที่ สปสช. 100% นั้น จะเป็นการสะท้อนข้อมูลต้นทุนที่แท้จริงในการจัดบริการที่โรงพยาบาลว่าเป็นอย่างไร และไม่เกิดความแตกต่างระหว่างค่าตอบแทนสำหรับข้าราชการ และค่าตอบแทนสำหรับพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ส่งผลให้การบริหารจัดการในโรงพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนข้อเสนอให้จัดงบค่าตอบแทนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 4 6 และ 7 มารวมอยู่ในงบ สปสช.ที่เดียว ก็เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการแก้ปัญหาการใช้ระเบียบด้วยเงินบำรุงที่มีมาตลอด

การนำตัวเลขงบประมาณในหมวดเงินเดือนมารวมไว้ในแหล่งเดียวกัน ข้อดีคือทำให้รับรู้ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ทำให้การวางแผนระบบค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และคาดว่า งบเหมาจ่ายรายหัวในปี 2557 จะเพิ่มขึ้นประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังได้รับงบประมาณในส่วนที่ใช้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการให้บริการผู้ป่วยตามที่เสนอขอต่อสำนักงบประมาณคงเดิมทุกประการ ไม่ได้ถูกปรับลดหรือได้รับงบประมาณน้อยลงจากการรวมเงินเดือนแต่อย่างใด” เลขาธิการ สปสช.กล่าว

แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช.วันที่ 25 มีนาคมนี้ เบื้องต้นจะมีการเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2557 เป็นเงินทั้งหมด 188,018.20 ล้านบาท โดยแยกเป็นเงินเดือนของหน่วยบริการภาครัฐทั้งสิ้น 63,014.37 ล้านบาท โดยจะเหลืองบกองทุนที่ส่งให้ สปสช.125,003.83 ล้านบาท ส่วนงบพีฟอร์พีที่จะขอเพิ่ม 3,000 ล้านบาทนั้นจะมีการแยกขออีกก้อนหนึ่ง ทั้งนี้ หากการปรับรูปแบบการจ่ายเงินเดือนใหม่เป็นไปตามข้อเสนอจริง โดยแยกสัดส่วนชัดเจนก็จะไม่มีผลใดๆ แต่หากนำเงินเดือนมารวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวก็จะส่งผลต่อโรงพยาบาลทันที เนื่องจากจะได้รับเงินน้อยลง ยิ่งในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีบุคลากร สธ.มากก็จะส่งผลมาก เพราะจะต้องกระจายบุคลากรที่ล้นเกินไปยังโรงพยาบาลที่ขาดแคลน
กำลังโหลดความคิดเห็น