โจมตีกลางวงประชุม! “หมอประดิษฐ” อึ้งเจอกลุ่มแพทย์ชนบทแต่งดำกว่า 150 คน บุกพบคาเก้าอี้ประธานประชุมค่าตอบแทน แม้ ปลัด สธ.เข้าสกัดห้ามแต่ไม่ฟัง เครื่องร้อนยื่นหนังสือร้องถูกตัดเบี้ยกันดาร ชี้มีประโยชน์แอบแฝงเอื้อ รพ.เอกชนดึงแพทย์ พร้อมยื่นถอดถอนพ้นตำแหน่ง ลั่นไม่ร่วมสังฆกรรมอีกต่อไป “หมอณรงค์” แจงเปลี่ยนพื้นที่กันดารเป็นพื้นที่เฉพาะ ยังรับเงินเหมือนเดิม ส่วนที่ปรับเป็นชุมชนเมืองรับเงินตามภาระงาน รมว.สธ.ชี้เงินค่าตอบแทนไม่มาก ถือเป็นเรื่องของน้ำใจ ย้ำให้มากกว่านี้อีก 3 เท่า แต่ไม่มีน้ำใจก็ดึงไว้ระบบไม่ได้
วันนี้ (13 มี.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท นำแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร จากโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ทั้งจังหวัดที่อยู่บริเวณปริมณฑล และแพทย์ที่เดินทางมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคเหนือ จำนวนกว่า 100 คน แต่งกายด้วยชุดสีดำ บุกเข้าห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในระหว่างที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนกำลังคน สธ.ซึ่งมีตัวแทนจากกระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุม โดยระหว่างนั้น นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ได้พยายามห้ามปรามและร้องขอให้รอพบภายหลังการประชุม แต่ นพ.เกรียงศักดิ์ ไม่ฟัง กลับนำกลุ่มผู้มาเรียกร้องบุกตะลุยเข้าห้องประชุมในทันทีโดยไม่ฟังคำห้ามปรามใด เพื่อคัดค้านกรณี สธ.จะทบทวนการจ่ายค่าตอบแทนใหม่ โดยเฉพาะในส่วนของ รพช.ที่จะเปลี่ยนจากการจ่ายแบบอัตราเดียวทุกพื้นที่และทุกหน่วยบริการ (Flat Rate) เป็นจ่ายตามภาระงาน (Pay for Performance หรือ P4P) และมีการปรับลดเบี้ยเลี้ยงในพื้นที่ทุรกันดารลงร้อยละ 50 ของอัตราเดิมในวันที่ 1 ต.ค.2556 และเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทั้งหมดในวันที่ 1 ต.ค.2557
เมื่อ นพ.เกรียงศักดิ์ บุกเข้าห้องประชุมแล้ว ได้กล่าวกับ รมว.สาธารณสุข ว่า ที่มาในครั้งนี้ขออนุญาตไม่ไหว้ เพราะไม่ได้มาด้วยความเคารพนับถือ เนื่องจากสิ่งที่ นพ.ประดิษฐ กำลังดำเนินการอยู่นั้น ไม่แน่ใจว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงเพื่อเอื้อธุรกิจเอกชนในการรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนหรือไม่ เพราะการปรับวิธีจ่ายเป็นแบบ P4P และตัดค่าตอบแทนตามพื้นที่กันดาร อันเป็นแรงจูงใจให้แพทย์และบุคลากรทำงานในพื้นที่ชนบท จะส่งผลให้ภาคเอกชนสามารถดึงแพทย์เข้าไปทำงานได้ง่ายขึ้น จึงอยากท้าทาย สธ.ให้ประกาศดำเนินการเรื่องนี้ตั้งแต่ 1 เม.ย.2556 ไม่ต้องรอปี 2557 เพื่อจะได้เห็นผลกระทบ นอกจากนี้ ยังแสดงจุดยืนอีกว่า แพทย์ชนบทจะไม่ร่วมสังฆกรรมใดๆ กับ สธ.ที่มี นพ.ประดิษฐ เป็นเจ้ากระทรวง และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เป็นปลัด สธ.อีกต่อไป
นพ.รอซาลี ปัตยะบุตร ผอ.รพ.รามัน จ.ยะลา กล่าวว่า ตนไม่มั่นใจในเกณฑ์ใหม่ของ สธ.ที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ หากดูแลหมอในพื้นที่ห่างไกลที่เสียโอกาสในด้านต่างๆ มากกว่าหมอในเมือง ตนก็สามารถรับได้ แต่ไม่อยากให้คงเบี้ยเลี้ยงเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วตัดเบี้ยเลี้ยงในพื้นที่ทุรกันดารอื่นที่ต้องเสียโอกาสไป ซึ่งไม่อยากให้กระทรวงอ้างถึงการจ่ายแบบ P4P ว่าจะทดแทนได้ เพราะ P4P เปรียบเสมือนโบนัสจากการทำงานหนัก แต่เบี้ยเลี้ยงเหมือนกับค่าเสียโอกาสที่ต้องเดินทางมาทำงานในพื้นที่ขาดแคลน ไม่สามารถเทียบกันได้
ด้าน นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันค่าจ้างในระบบสาธารณสุขมีทั้งหมด 91,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 51.62 ของเงินในระบบสุขภาพ แบ่งเป็นเงินเดือน 51,000 ล้านบาท เงินจ้างลูกจ้างชั่วคราว 14,000 ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้ในอนาคตจะไม่ต้องจ่าย เพราะมีการปรับเป็นข้าราชการ และเงินพื้นที่พิเศษและวิชาชีพที่ขาดแคลนอีก 26,000 ล้านบาท หรือเรียกว่าเงินค่าเสี่ยงภัย พื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งการปรับเปลี่ยนเงินค่าตอบแทนนั้น โดยหลักใช้วงเงิน 26,000 ล้านบาทเหมือนเดิม ไม่ลด แต่จะเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงิน โดยพื้นที่ทุรกันดารเดิมยังคงได้เงินอัตราตามเดิม แต่พื้นที่ปกติกำหนดให้จ่ายเป็นค่าตอบแทนจากภาระงาน หรือ P4P แทน
นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นได้จัดทำข้อเสนอการปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายกำหนด 3 ระยะ แบ่งเป็น ระยะ 1 เริ่มวันที่ 1 เม.ย.2556 ปรับพื้นที่ 4 กลุ่ม ได้แก่ พื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ปกติ พื้นที่เฉพาะ 1 และพื้นที่เฉพาะ 2 โดยปรับอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่ปกติจำนวนหนึ่ง และให้จ่ายแบบ P4P โดยมีการประกันวงเงินวิชาชีพตามหลักการของแต่ละวิชาชีพนั้นๆ ระยะที่ 2 เริ่มวันที่ 1 ต.ค.2556 ปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย รพช.พื้นที่ชุมชนเมืองทั้งหมดลง 50% ในทั้ง 2 กลุ่ม และกำหนดให้จ่าย P4P ประกันวงเงินตามหลักการของ รพ.แต่ละแห่ง ซึ่งไม่น้อยกว่าของเดิม ส่วนพื้นที่รพช.ทุรกันดาร ให้จ่าย P4P ในกรอบวงเงินที่เหมาะสม และระยะที่ 3 วันที่ 1 ต.ค.2557 จะกำหนดพื้นที่แบบใหม่เป็นกลุ่ม รพช.พื้นที่เฉพาะแทนพื้นที่ทุรกันดาร โดยกำหนดให้จ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เพื่อเป็นค่าชดเชยการเสียโอกาส ส่วนพื้นที่ รพช.ชุมชนเมือง และพื้นที่ปกติ ให้ปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทั้งหมดและจ่าย P4P ซึ่งเป็นกติกาเดียวกับโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) อีกทั้ง จะพิจารณายกระดับ รพ.อยู่พื้นที่ห่างไกลบางพื้นที่เป็น รพท.เช่น ยะลา นราธิวาส เป็นต้น ทั้งนี้ พื้นที่ทุรกันดารที่ปรับใหม่ ยังคงได้อัตราค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเป็นพื้นที่เฉพาะแทน
นพ.ประดิษฐ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้รับหลักการในข้อเสนอการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแบบใหม่ แต่ในส่วนของ P4P ยังต้องมีการพิจารณารายละเอียดอีกที ส่วนเรื่องกลุ่มแพทย์ชนบทนั้นตนไม่ติดใจที่เดินทางมาเรียกร้อง เพราะเข้าใจว่าอาจยังมีความไม่เข้าใจในหลายเรื่อง ซึ่งการชี้แจงทั้งทางวาจาและลายลักษณ์อักษรจะเป็นหน้าที่ของ ปลัด สธ.ขณะที่ความเป็นห่วงเรื่องสมองไหลไป รพ.เอกชนนั้น ตนคิดว่าเงินของ สธ.ถือว่าเป็นการจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่มาก ถือเป็นน้ำใจเพียงเล็กน้อย แต่เรื่องที่หมอจะอยู่ในระบบเป็นเรื่องของน้ำใจมากกว่า ต่อให้เอาเงินให้มากกกว่านี้อีก 3 เท่า ถ้าไม่มีน้ำใจอยากทำงานเพื่อประชาชนก็ดึงหมอไว้ในระบบไม่ได้ ส่วนการกล่าวหาว่าตนเอื้อประโยชน์เอกชนนั้น ก็ขอให้พิสูจน์ เพราะเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้อยู่แล้ว ส่วนการยื่นหนังสือให้ นายกรัฐมนตรีถอดถอนตนนั้นจะนำหนังสือยื่นนายกฯ ให้ และหากรัฐบาลพิจารณาว่าตนไม่มีผลงานก็ยินดีน้อมรับ
สำหรับปัจจุบันอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในแต่ละระยะของ รพช.แบ่งเป็นพื้นที่ปกติ ทุรกันดารระดับ 1 และทุรกันดารระดับ 2 ทำงานปีที่ 1-3 ในพื้นที่ปกติได้ 10,000 บาท พื้นที่ทุรกันดารระดับ 1 ได้ 20,000 บาท พื้นที่ทุรกันดารระดับ 2 ได้ 30,000 บาท ซึ่งการปรับใหม่จะเป็นพื้นที่ชุมชนเมือง 10,000 บาท ระดับปกติ 10,000 บาท พื้นที่กลุ่มเฉพาะ 1 ได้ 20,000 บาท พื้นที่กลุ่มเฉพาะ 2 ได้ 30,000 บาท ปีที่ 4-10 พื้นที่ปกติ 30,000 บาท ทุรกันดารระดับ 1 ได้ 40,000 บาท ทุรกันดารระดับ 2 ได้ 50,000 เปลี่ยนเป็นพื้นที่ชุมชนเมือง 12,000 บาท พื้นที่ปกติระดับแบ่งระดับ 2.1 2.2 และ 2.3 ซึ่งเป็น รพ.ขนาดแตกต่างกัน จะได้ที่ 30,000 20,000 และ 15,000 บาท ตามลำดับ ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 1 ต.ค.2556 แพทย์และทันตแพทย์ที่ทำงานปีที่ 1-3 ในพื้นที่ชุมชนเมืองจะไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง แต่ระดับอื่นๆที่กำหนดยังได้เท่าเดิม และหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2557 พื้นที่ชุมชนเมือง และพื้นที่ระดับปกติจะไม่ได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงเลย เปลี่ยนเป็นการจ่ายแบบ P4P เว้นพื้นที่พิเศษจะมีการจำแนกกลุ่มและมีอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่กำหนดตามพื้นที่แต่ละพื้นที่