xs
xsm
sm
md
lg

หมอชนบทแต่งดำร้อง สธ.ตัดเบี้ยกันดาร “ประดิษฐ” พร้อมแจง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์ชนบทเตรียมแต่งชุดดำตบเท้าเข้าพบ รมว.สธ.เรียกร้องทบทวนการปรับลดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ชี้ไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะพื้นที่ทุรกันดาร ย้ำเป็นการผลักไสแพทย์ชนบท “หมอประดิษฐ” ยันพร้อมชี้แจง ทุกอย่างมีเหตุผล เผยอยากเห็นแพทย์อยู่ในระบบอย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี ปลัด สธ.แจงเปลี่ยนวิธีจ่ายเงินเฉพาะในเมือง พื้นที่ทุรกันดาร เสี่ยงภัยยังเหมือนเดิม
นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข - นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ขณะนี้กำลังจะเกิดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ชนบทตามโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ต่างๆ กว่า 730 แห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจาก นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.จะปรับลดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ เพราะปัจจุบันไม่มีใครอยากอยู่ จึงกลายเป็นการผลักไสบุคลากรสาธารณสุขในชนบทให้ออกจากระบบสาธารณสุขภาครัฐมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมต่อวิชาชีพ ทำให้ที่ผ่านมามีบางฝ่ายไม่เห็นด้วยและต่อต้านมาตลอด ทั้งนี้ นโยบายการปรับลดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2556 ให้ลดอัตราลงร้อยละ 50 และวันที่ 1 ต.ค. 2557 ให้ตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทิ้งทั้งหมด โดยจะใช้การพิจารณาจากภาระงาน หรือ P4P (Pay for Performance) แทน

นพ.อารักษ์ กล่าวอีกว่า คนมักเข้าใจว่าแพทย์ใน รพช.ทำงานน้อย แต่รู้หรือไม่ว่าคนไข้ฟอกไตเทียมที่ รพช.มากกว่าโรงพยาบาลจังหวัดถึง 2 เท่าตัว ที่สำคัญโรงพยาบาลเหล่านี้ยังมีจำนวนมากกระจายครอบคลุมร้อยละ 60-70 ของประชากรทั้งประเทศอีกด้วย ดังนั้น พวกเราซึ่งมีสมาชิกใน รพช.กว่า 730 แห่งจะขอแต่งชุดดำไปเรียกร้องความยุติธรรมกับ รมว.สธ.และปลัด สธ.ในวันที่ 13 มี.ค.นี้ เพื่อให้ทบทวนเรื่องดังกล่าว โดยหวังว่าจะยอมรับฟังและไม่ติดภารกิจจนไม่ยอมฟังข้อเรียกร้องของหมอในชนบทอีก

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวส่งผลต่อปัญหาขาดแคลนแพทย์แน่นอน เพราะเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเป็นการดึงแพทย์ไว้ในชนบท นอกจากนี้ พบว่า รมว.สธ.ยังส่งเสริมนโยบายเมดิคัล ฮับ โดยเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ตามชายแดน เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตรงนี้จะทำให้แพทย์ในชนบทที่ถูกปรับลดเบี้ยเลี้ยงไม่อยากอยู่ในระบบ และไปอยู่ภาคเอกชนมากขึ้น ดังนั้น นอกจากจะไปเรียกร้องเรื่องนี้ในวันที่ 13 มี.ค.แล้ว จะขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความเป็นธรรมและขอเปลี่ยนตัว รมว.สธ.คนใหม่ เนื่องจาก นพ.ประดิษฐ ไม่ให้ความสำคัญกับหมอในชนบท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ และที่ผ่านมาไม่เคยใช้ชมรมฯขอเข้าพบเลย

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ตนยินดีที่จะอธิบายให้กลุ่มแพทย์ที่เดินทางมาเรียกร้องได้เข้าใจ เพราะสิ่งที่ตนทำนั้นมีเหตุผลสามารถอธิบายได้ว่า ต้องการทำให้ระบบเกิดความมั่นคงและมีศักดิ์ศรี โดยเบี้ยที่ได้รับนั้นต้องเหมาะสมและทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวิชาชีพอย่างเหมาะสม และไม่จำเป็นต้องฝากการทำงบดังกล่าวไว้ที่นักการเมืองเป็นคราวๆ ไป จึงพยายามนำมารวมกับงบเหมาจ่ายรายหัวและคิดพื้นที่ทุรกันดารกันใหม่ เพราะปัจจุบันพื้นที่ทุรกันดารในประเทศไทยนั้นเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว

ผมเป็นเพื่อนแพทย์เหมือนกันจะตัดสิทธิทำไม และยิ่งเป็นนักการเมือง ถ้าหางบให้ได้ก็ได้คะแนนเสียง แต่สิ่งที่ทำเพราะอยากให้ระบบมันอยู่ได้มั่นคงและมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่ให้คนอื่นมาว่าแพทย์ได้ ค่าตอบแทนในอนาคตก็ต้องใช้งานแลกมาอย่างเหมาะสม และหากระบบมีปัญหาก็ต้องแก้ไขร่วมกัน ซึ่งระบบต่างๆ ที่วางไว้ ไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงองค์กร แต่อยากให้ทุกฝ่ายเปลี่ยนแปลงบทบาท เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานและอยู่อย่างมั่นคงเท่านั้น” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า หากจะมีการประท้วงจริง ทาง สธ.ก็มีหน้าที่ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงแนวคิด หลักการที่ต้องเดินต่อไป โดยกรอบใหญ่ยังคงใช้วงเงินในเรื่องค่าตอบแทนเท่าเดิม เพียงแต่เปลี่ยนวิธีจ่ายในพื้นที่เมือง พื้นที่ปกติ แต่พี้นที่ถิ่นทุรกันดารยังเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ

สำหรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย หากทำงานปีที่ 1-3 ในพื้นที่ปกติได้ 10,000 บาท พื้นที่ทุรกันดารระดับ 1 ได้ 20,000 บาท พื้นที่ทุรกันดารระดับ 2 ได้ 30,000 บาท หากทำงานปีที่ 4-10 พื้นที่ปกติ 30,000 บาท ทุรกันดารระดับ 1 ได้ 40,000 บาท ทุรกันดารระดับ 2 ได้ 50,000 ทำงานปีที่ 11-20 พื้นที่ปกติ 40,000 บาท ทุรกันดารระดับ 1 50,000 บาท ทุรกันดารระดับ 2 60,000 บาท และหากทำงานปีที่ 21 ขึ้นไป พื้นที่ปกติได้ 50,000 บาท ทุรกันดารระดับ 1 60,000 บาท ทุรกันดารระดับ 2 70,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น