xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เร่งพัฒนา รพ.สต.ให้เป็นศูนย์สุขภาพชุมชนเน้นรักษาเบาหวาน-ความดันสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เร่งพัฒนาระบบบริการ รพ.สต.ศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมือง และศูนย์สาธารณสุขชุมชนกว่า 10,000 แห่ง ให้ประชาชนรับบริการใกล้บ้านใกล้ใจ ลดค่าใช้จ่ายเดินทางไปโรงพยาบาลใหญ่ เน้นผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง 1.7 ล้านคน เชื่อลดปัญหาโรคแทรกซ้อนลงได้

วันนี้ (11 มี.ค.) ที่โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า โฮเต็ล จ.สุราษฎร์ธานี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายระบบบริการปฐมภูมิ แก่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขอำเภอ ผู้รับผิดชอบงานปฐมภูมิสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ว่า จากการที่ สธ.ได้พัฒนาสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ ซึ่งมี 3 กลุ่ม ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง (ศสม.) และศูนย์สาธารณสุขชุมชน (ศสช.) กระจายในพื้นที่เขตเมือง ชนบททั่วไป และพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่สูง รวม 10,174 แห่ง เพื่อจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชนเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ทั้งงานส่งเสริมป้องกันโรค งานรักษาพยาบาล โดยเป็นการเพิ่มจุดตรวจรักษาผู้ป่วยทั่วไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อาการไม่รุนแรง ให้ประชาชนได้รับบริการใกล้บ้าน ใกล้ใจ โดยในปี 2556 นี้ ตั้งเป้าให้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่มีทั่วประเทศประมาณ 3.5 ล้านคน โดยให้ผู้ป่วยครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 1.7 ล้านคน สามารถเข้ารับการดูแลติดตามการรักษาได้สถานบริการ 3 กลุ่มที่กล่าวมา เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งขณะนี้ได้จัดบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล แพทย์แผนไทย ทันตาภิบาล ทั้งอยู่ประจำและหมุนเวียนออกไปให้บริการ มีอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น และใช้ระบบไอทีเชื่อมโยงการรักษากับโรงพยาบาลใหญ่ ใช้ยารักษาตัวเดียวกัน การกระจายบริการไปถึงประชาชน จะช่วยลดรายจ่ายค่าเดินทางไปโรงพยาบาลของประชาชนลงได้ปีละประมาณ 16,000 ล้านบาท เชื่อมั่นว่าจากนี้ไป ปัญหาโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วย 2 โรคนี้ เช่นตาต้อกระจก เท้าเป็นแผลเน่า หรือไตวาย จะลดลงได้มาก เพราะผู้ป่วยเข้าถึงบริการง่าย สะดวกกว่าเดิม การควบคุมโรคจะได้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ด้าน นพ.นิทัศน์ รายยวา รองปลัด สธ.กล่าวว่า ในการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ เพื่อสามารถให้การดูแลประชาชนเป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดแนวทาง 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ด้านกำลังคน คือเร่งผลิตและพัฒนากำลังคน กำหนดให้เจ้าหน้าที่ 1 คน มีความสามารถในการดูแลประชาชน 1,250 คน 2.ด้านการพัฒนาศักยภาพ เร่งพัฒนาความสามารถของเจ้าหน้าที่ให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3.ด้านขวัญกำลังใจ จัดระบบค่าตอบแทนให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานหนักเกินค่ามาตรฐานงานคุณภาพที่กำหนด ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น