xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.วอล์กเอาต์ แก้รธน.ไม่ถึงฝั่ง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- รัฐสภาถกแก้รธน.ยกแรก ฝ่ายค้านโวยรัฐบาลเจียดเวลาให้น้อย ตะเพิด"นิคม" ลงจากบังลังก์ ฐานเจตนาทำตัวไม่เป็นกลาง ด้าน"โรมานอฟ" เชื่อแก้รธน.เป็นการคืนอำนาจสู่ประชาชน ส่วนปชป. จวกแหลก แก้มาตรา 68 ตัดสิทธิ์ประชาชน ชี้ให้อำนาจอัยการฝ่ายเดียวไม่ถูกต้อง เพราะฝ่ายการเมืองใช้ระบบอุปถัมภ์ ตั้งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ขณะที่"นิคม"นั่งทำหน้าที่ต่อ ส่งผลให้ปชป.วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม

การประชุมร่วมรัฐสภา ได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา10.30น.วานนี้ (1เม.ย.) โดยมีวาระสำคัญคือ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ....จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่

1. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช ....(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 115 มาตรา 166 วรรคสอง มาตรา 117 มาตรา 118 มาตรา 120 และมาตรา 241 วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114 ) ที่มี ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 308คน เป็นผู้เสนอ

2.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ....) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190) ที่มี ส.ส.และส.ว. จำนวน 314 คน เป็นผู้เสนอ

3 .ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ....) พุทธศักราช ... ( แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 68 และมาตรา 237 ที่มี ส.ส.และส.ว. จำนวน 311คน เป็นผู้เสนอ

อย่างไรก็ตามก่อนที่สมาชิกจะพิจารรณาในสาระ ได้มีการถกเถียงในประเด็นกรอบเวลาการอภิปราย โดยนายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ได้อ้างว่าวิป 3 ฝ่ายได้ตกลง 3 วัน จำนวน 34 ชม. แบ่งเป็นของ ส.ว. 8 ชม. รัฐบาล 15 ชม. และฝ่ายค้าน 11 ชม.

ทำให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ได้คัดค้านว่า การให้เวลา ส.ว. 8 ชม. ฝ่ายค้านไม่ขัดข้อง แต่การกำหนดให้ฝ่ายค้านอภิปราย 11 ชม. ในขณะที่รัฐบาลได้ไป 15 ชม.นั้นไม่ถูกต้อง จึงไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ เพราะไม่อยู่ในวิสัยที่ฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ได้ครบถ้วน

** ฝ่ายค้านดักคอ"นิคม"ไม่เป็นกลาง

นอกจากนี้ยังได้จี้ถาม นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ถึงกรณี นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และรองประธานรัฐสภา ได้ลงลายมือชื่อ เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม 2 ฉบับ ในมาตรา 190 และมาตรา 237 เป็นการไม่เหมาะสม

โดย นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายตำหนิว่า นายนิคม อาจปฏิบัติขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เพราะคนที่เป็นประธาน ต้องวางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเริ่มต้นถ้าไม่ถูกต้องชอบธรรมตั้งแต่แรก สุดท้ายจะมั่นใจได้อย่างไรว่า การแก้รัฐธรรมนูญ จะทำเพื่อประชาชน ดังนั้นอยากขอให้ประธานรัฐสภา สั่งให้ประธานวุฒิสภา ยุติการทำหน้าที่รองประธานรัฐสภา

แต่นายสมศักดิ์ วินิจฉัยว่า นายนิคม สวมหมวก 2 ใบ และมีสิทธิในฐานะที่เป็นส.ว. ก็เชื่อว่า จะทำหน้าที่เป็นกลาง ทำให้นายธนา ลุกขึ้นแย้งว่า ตนไม่สบายใจที่ประธานรัฐสภา ใช้ดุลพินิจอย่างรวดเร็ว เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่นายนิคม ดำรงตำแหน่ง ประธานวุฒิสภา ก็มีหลายเรื่องขัดต่อจริยธรรม และคุณธรรม ไม่สามารถวางตัวเป็นกลางได้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า นายนิคม ใช้สิทธิ์เสนอร่างแก้ไขรธน.ไปแล้ว ก็ไม่ควรใช้สิทธิ์ทำหน้าประธานในที่ประชุมอีก ดังนั้นอยากให้นายนิคม แสดงเจตนาเองว่า จะทำหน้าที่ดังกล่าวหรือไม่

ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ส.ว.บางส่วน ได้สนับสนุนว่า นายนิคม สามารถลงชื่อร่วมเสนอแก้รัฐธรรมนูญ และทำหน้าที่ประธานที่ประชุมได้ ไม่ผิดกฏหมาย แต่อย่างใด

ทั้งนี้ การประท้วงใช้เวลานานกว่า 1 ชม. จนท้ายที่สุด ประธานได้ตัดบทเข้าสู่ระเบียบวาระทันที โดยให้ผู้เสนอร่างทั้ง 3 ฉบับ เสนอหลักการ และเหตุผลต่อที่ประชุม

** "โรมานอฟ"แก้ ม.68ไม่ตัดสิทธิปชช.

จากนั้น สมาชิกเริ่มทยอยอภิปรายทั้งสนับสนุน และคัดค้าน อาทิ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส. นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวสนับสนุนว่า มาตรา 68 ไม่ได้เป็นการแก้ไข แต่เป็นการยืนยันเจตนาให้เกิดความชัดเจน คือ การยื่นเรื่องจะต้องผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น โดยยืนยันได้จากบันทึกการประชุมของ ส.ส.ร. 50 เพราะหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ คดีความที่เข้าไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีจำนวนมาก การพิจารณาคดีเกิดความล้าช้า และอาจทำให้เกิดความไม่รอบคอบ หรือไม่เที่ยงธรรม จึงจำเป็นต้องให้อัยการสูงสุดเจ้ามาช่วยกลั่นกรอง รวมทั้งยังไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค และตัดสิทธิ์คณะกรรรมการบริหารพรรค เพราะขัดต่อหลักสากล

"อำนาจของประชาชนหายไป ตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 และการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 50 การแก้รธน. ครั้งนี้ หากทำสำเร็จ ก็จะคืนอำนาจที่แท้จริงกลับสู่ประชาชน" พ.อ.อภิวันท์ ระบุ

นายถวิล ไพรสณฑ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวคัดค้าน ม. 68 ว่า ในทางปฏิบัติ การทำงานของอัยการ มีเรื่องให้พิจารณาจำนวนมากอยู่แล้ว ดังนั้น หากให้อัยการสูงสุดมาทำหน้าที่นี้แต่เพียงฝ่ายเดียว ย่อมทำให้การพิจารณากลั่นกรองตาม มาตรา 68 เป็นอย่างล่าช้า ที่สำคัญการทำหน้าที่ของอัยการ ก็มีความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ว่า ได้ทำหน้าที่เป็นทนายของแผ่นดินสมกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย หรือไม่

นายถวิล กล่าวว่า ปัจจุบันมีบุคคลทำหน้าที่อัยการประมาณ 3 พันคน และมีอัยการ ระดับอาวุโสถึง 19 คน ตั้งแต่อัยการสูงสุด รองอัยการสูงสุด อธิบดีอัยการฝ่ายคดีต่างๆ ประมาณ 19 คน เข้าไปทำหน้าที่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ที่ฝ่ายการเมืองแต่งตั้งขึ้น ยกตัวอย่าง นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์อัยการสูงสุดคนปัจจุบัน มีตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง เช่น การบินไทย ปตท. ธนาคารกรุงไทย หรือแม้แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"นอกเหนือไปจากปัญหาการทำงานที่อาจล่าช้าแล้ว ยังมีเรื่องระบบอุปถัมภ์ ที่จะมีผลต่อการกลั่นกรองของอัยการ เพราะอย่าลืมว่า ฝ่ายการเมืองเป็นผู้แต่งตั้งอัยการเข้าไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ รับทั้งเงินเดือน เบี้ยประชุม และโบนัส แน่นอนว่า ย่อมมีความผูกพันกับนักการเมือง ที่เป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจในองค์กรเดียวกันด้วย จึงเห็นว่าหากให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองเพียงฝ่ายเดียว อาจจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68

**ไล่"นิคม"ลงจากบัลลังก์

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายดำเนินไปได้อย่างราบรื่น จนเมื่อ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม แทน นายสมศักดิ์ ทำให้ฝ่ายค้านได้พากันประท้วง ไม่ให้ทำหน้าที่ดังกล่าว โดยอ้างว่าไม่เหมาะสม และขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้มีการถกเถียงกันอีกครั้ง

นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายนิคม ไม่มีคุณสมบัติพอที่จะทำหน้าที่ประธานการประชุม เพราะเป็นผู้ร่วมเสนอชื่อ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็แสดงถึงความไม่เป็นกลางแล้ว ขอให้ลงจากบัลลังก์ และให้นายสมศักดิ์ ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายนิคม พยายามจะชี้แจง ปรากฏว่า ไม่สามารถเปิดไมค์ได้ ทำให้นายบุญยอด กล่าวว่า แม้แต่ไมค์ก็ยังไม่เห็นด้วยที่จะให้ทำหน้าที่ประธาน ดังนั้นขอให้ลงไป

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในช่วงก่อนการประชุม สมาชิกได้หารือเรื่องนี้แล้ว ซึ่งนายสมศักดิ์ ได้รับปากว่า จะไปหารือกับนายนิคม ว่าดำเนินการอย่างไร มิเช่นนั้นจะทำให้การประชุมเป็นไปอย่างลำบาก จึงอยากถามว่า ผลการหารือเป็นอย่างไร

ด้านนายนิคม ชี้แจงว่า ตนได้คุยกับนายสมศักดิ์แล้ว หากตนทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง หรือมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างอื่น สามารถที่จะเรียกร้องให้ตนออกได้ และการที่ตนร่วมเข้าชื่อแก้ไข มาตรา190 และ 297 ถือเป็นเอกสิทธิ์ของตน และได้แสดงจุดยืนแต่ต้นแล้วว่า ทำให้ประชาธิปไตยบ้านเราอ่อนลง การกระทำของตน ไม่ขัดต่อมาตรา 122 เพราะไม่มีอะไรขัดกับผลประโยชน์กับเรื่องที่เสนอ เมื่อครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ เคยเสนอให้แก้ไขมาตรานี้ ตนก็เคยสนับสนุน เพราะทุกคนรู้ดีว่า มาตรา 190 ทำให้เราไม่สามารถต่อสู้กับประชาคมโลกได้

"ผมทำหน้าที่ตามข้อบังคับการประชุม และยังไม่ได้แสดงออกเลยว่า ผมไม่เป็นกลางอย่างไร ขอให้เชื่อใจ อายุและประสบการณ์ของผมรู้ว่า สวมหมวกใบไหน กำลังทำหน้าที่อย่างไร โปรดไว้ใจ จะไม่ทำให้ท่านผิดหวัง" นายนิคม กล่าว

ด้านนายอภิสิทธิ์ แย้งว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ มาตรา 122 แต่เข้ากับ มาตรา 125 หากยึดตามมาตรานี้ เรื่องการแสดงออกถึงความเป็นกลาง ตนถามว่าคิดอย่างไรในวันที่นายนิคม นั่งอยู่ข้างล่าง แล้วคนที่นั่งเป็นประธานข้างบน เป็นผู้เสนอญัตติเสียเอง

" เป็นคำถามง่ายๆ ว่ามันบ่งบอกถึงความเป็นกลางหรือไม่ ส่วนท่านจะมีจุดยืนอย่างไรในประเด็นใด เป็นสิทธิ์ของท่าน แต่ปกติคนที่นั่งอยู่ข้างบน จะเก็บไว้ในใจ เพื่อให้การปฏิบัติที่เป็นกลาง แต่นี่ยังนั่งอยู่ข้างบน แล้วยังตอกย้ำจุดยืนด้วย ตรงนี้คือความไม่สบายใจของพวกเรา แม้ประธานสมศักดิ์ จะวินิจฉัยว่าเป็นเป็นสิทธิ์ที่จะร่วมลงชื่อ เราก็ไม่สามารถโต้แย้งได้ แต่เมื่อท่านยืนยันใช้สิทธิ์ตรงนั้น ก็ควรพิจารณาว่าจะใช้สิทธิ์ในการทำหน้าที่ประธานด้วยหรือไม่ เท่านั้น"

ทั้งนี้ ส.ส.ฝ่ายค้าน ยังคงยืนยันให้ นายนิคม ลงจากบัลลังก์ เพราะหากดึงดันทำหน้าที่ประธาน ก็จะทำให้การประชุมเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ขณะที่ส.ส.พรรคเพื่อไทย ต่างอภิปรายสนับสนุนให้นายนิคม ทำหน้าที่ต่อไป โดยอ้างว่าไม่ขัดต่อกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม หลังจากถกเถียงในเรื่องนี้ร่วมชั่วโมง นายนิคม ก็ยังดึงดันทำหน้าที่ประธานต่อไป

**"นิคม"ทนถูกด่าไม่ไหวยอมลงจากบัลลังก์ก่อน

นายนิพนธ์ วิศิษยุทธศาสตร์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองประธานวุฒิสภา ได้ลุกขึ้นอภิปรายตำหนินายนิคม ว่า กำลังทำลายเกียรติภูมิของวุฒิสภาอย่างย่อยยับ ไม่เคยมีประธานวุฒิสภา ไปลงชื่อเสนอกฎหมายมาก่อน จึงอยากให้พิจารณาด้วยวุฒิภาวะ ในฐานะประธานวุฒิสภา จะต้องคำนึงถึงองค์กรวุฒิสภาด้วย การทำหน้าที่ถือว่าไม่สมควร เพราะพฤติกรรมที่แสดงออกคือ การลงชื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือว่าเข้าข้างใดข้างหนึ่งไปแล้ว จึงหมดความเป็นกลางไปแล้ว พร้อมกับย้ำว่าไม่เคยมีประธานวุฒิสภา หรือประธานสภา จะลงชื่อเสนอกฎหมาย การกระทำของนายนิคม จึงน่าเสียดาย เพราะไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทำ จึงขอให้พิจารณาตัวเอง เพราะถ้ายังนั่งทำหน้าที่ต่อ จะดำเนินการต่อไปไม่ได้ เพราะทั้งสภาจะคัดค้าน และนายนิคม ได้ทำลายศักดิ์ศรีของวุฒิสภาลงไปหมดสิ้นแล้ว

"ก่อนหน้านี้สมัยผมเป็นวุฒิสภา เคยได้ฉายาว่า สภาทาส นายนิคม จึงต้องคิดว่าอยากได้ฉายาสภาทาสหรือไม่ หากอยากได้ ก็ให้ทำหน้าที่ต่อไป เพราะสิ่งที่นายนิคมทำ ได้ทำลายศักดิ์ศรีของวุฒิสภาไปหมดแล้ว"

ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เสนอทางออกให้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ขึ้นมาทำหน้าที่แทนก่อน เพื่อยุติความวุ่นวายที่เกิดขึ้น แล้วค่อยมีการตกลงกันภายหลัง ถึงความเหมาะสมในการทำหน้าที่ของนายนิคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่สุด นายนิคม ได้ยอมลงจากบัลลังก์ โดยให้นายสมศักดิ์ ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานที่ประชุมแทน แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะกลับมาทำหน้าที่อีกหรือไม่ หรือจะถอนชื่อออกจากญัตติการเสนอพ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้หรือไม่

***"บุญจง"ค้าน3ปมแก้รธน.

นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชัดเจนว่า เป็นการเสนอแบบต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน ส.ส.เสนอเรื่องที่มาวุฒิสภาที่เป็นประโยชน์ของ ส.ว. ส่วนส.ว.ก็เสนอประโยชน์ของ ส.ส. ตนขอแสดงความเห็นใน 3 ประเด็น คือ 1.ไม่เห็นด้วย กับที่มาของวุฒิสมาชิก ที่จะให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 200 คน ส.ว.จากการเลือกตั้งมักถูกกล่าวหาว่าขาดความเป็นกลาง เป็นสภาฯมีใบสั่งโดยตรง กล่าวหาว่า รับเงินเดือนจากพรรคการเมือง ที่ผ่านมาส.ว.แต่งตั้ง มีแนวคิดเป็นของตัวเอง หลายครั้งตรงข้ามกับรัฐบาล หลายเรื่องไม่เข้าตารัฐบาล เป็นที่มาของการแก้ไขมาตรานี้ จะเป็นสภาฯ ที่ถูกการเมืองครอบงำ ถามว่าจะมีทำไม 2.การแก้ไขมาตรา 68 นั้น ถือเป็นการตัดสิทธิประชาชน วันนี้ท่านเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย ก็อย่าไปลิดรอนสิทธิของประชาชนเลย

และ 3.การแก้ไขมาตรา 190นั้น ที่ระบุว่า แก้ไขเพื่อความคล่องตัว อยากถามว่า ประเทศไทย มีมาตรา 190 แล้ว มีอะไรบ้าง ที่ทำให้การขอความเห็นจากรัฐสภามีปัญหา ตนจึงไม่เห็นด้วยในการปรับปรุงแก้ไข เพราะถือเป็นการปิดกั้นตัวแทนประชาชนในการสอบถาม.

**'เขยซีพี'มองรธน.เป็นอุปสรรค

ในเวลา 16.00 น. นายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีความบกพร่องในเรื่องที่มาและที่สำคัญบกพร่องในเรื่องเนื้อหาสาระ เพราะมีบทบัญญัติที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดเจนมากมาย อาทิเช่น รัฐธรรมนูญ 50 ไม่ได้สร้างดุลยภาพทางการเมืองที่เหมาะสมระหว่าง3อำนาจของ ระบบถ่วงดุลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ล้มเหลวและขัดกันซึ่งผลประโยชน์ เพราะผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นฝ่ายตรวจสอบผู้ที่ทำหน้าที่สรรหา ไม่มีการเคารพหลักอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชน

ในส่วนมาตรา 68ประเทศไทยไม่ได้ปกครองด้วยระบบกฎหมายแบบจารีตประเพณีที่ศาลไปสร้างคำพิพากษา เสมือนหนึ่งสร้างกฎหมายขึ้นมาเอง สร้างบรรทัดฐานเองขัดกับหลักการแบ่งแยกซึ่งอำนาจ จึงมีความจำเป็นที่รัฐสภาจะต้องมีการแก้ไขเพื่อให้เกิดความชัดเจน ต้องเขียนให้ชัดว่ายื่นขัดรัฐธรรมนูญต่อศาล สามารถยื่นผ่านกี่ช่องทาง ไม่ใช่เกิดการตีความจนสร้างความสับสน

ขณะที่มาตรา237 เราไปลงโทษผู้ที่ไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น ซึ่งโทษเช่นนี้ทางกฎหมายอาญาเรียกว่า การกระทำผิดของหมู่คณะ ซึ่งขัดในแง่ทั้งสารบัญญัติและสบัญญัติและขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง

มาตรา 190 มีความจำเป็นต้องแก้ไขไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของฝ่ายบริหารและหลีกเลี่ยงการตีความ “ในการทำสนธิสัญญาใดๆก็ตามที่มีผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต กระทบต่อเขตอำนาจรัฐ ต้องออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติโดยผ่านความเห็นชอบรัฐสภา” คำว่า ‘อาณาเขตนอกราชอาณาจักร’ ในมาตรา 150 เป็นถ้อยคำที่ฟุ่มเฟือย ไม่ได้ตัดสาระอะไรออกไป

**ปชป.วอล์กเอาท์'นิคม'นั่งปธ.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาต่อว่า เวลา 17.10 น.บรรยากาศในการประชุมสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เริ่มเป็นไปอย่างตรึงเครียดเมื่อ ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ อาทิ น.พ.วรงค์. เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก. น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม นายอภิชาติ สุภาแพ่ง ส.ส.เพชรบุรี นายจุฤทธิ์ ลักษณะวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลุกขึ้นประท้วงเนื่องจากไม่พอใจและขอให้นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะ รองประธานรัฐสภา ซึ่งร่วมลงรายมือชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหยุดทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม

ขณะที่นายนิคม ยังยืนยันในการทำหน้าที่ต่อไป โดยยืนยันว่า ทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง และปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุม และหากทำหน้าที่ผิด ก็ขอให้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ ส.ส.พรรค ปชป.ต่างพากันส่งเสียงโห่อย่างไม่พอใจ จากนั้น ส.ส.พรรคปชป. ยังคงลุกขึ้นประท้วงอย่างต่อเนื่อง จนบรรยากาศในห้องประชุมเริ่มตรึงเครียดมากขึ้น โดยนายนิคมถึงกับลุกขึ้นยืนทำหน้าที่ แต่ ส.ส.พรรค ปชป.ก็ยังลุกขึ้นประท้วง เพราะไม่พอใจที่นายนิคมได้ปิดไมโครโฟนบริเวณที่นั่งทางฝั่งพรรค ปชป. แต่กลับปล่อยให้ส.ส.ทางฝั่งพรรคเพื่อไทยได้ใช้สิทธิ์ประท้วง

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศเริ่มบานปลายขึ้นโดยระหว่างที่มีการโต้เถียงกันไปมา ทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการชี้หน้ากัน จนเกิดการปะทะคารมกันระหว่าง นายกุลเดช พัวพัฒนกุล ส.ส.อุทัยธานี พรรคประชาธิปัตย์ และ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ชัยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์พรรคเพื่อไทย จนนายกุลเดช ได้ท้าให้จสต.ประสิทธิ์ ไปเจอกันนอกห้อง แต่ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไม่ได้ลุกตามออกไป

ท้ายที่สุดนายสุนัย กล่าวว่า เห็นใจ และขอยินยอมถอนคำพูด เพราะรู้เจตนาของคนบางกลุ่มที่จะขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญนี้เป็นประโยชน์ต่อคนบางกลุ่ม และไม่ได้พาดพิงใคร ขณะที่ ส.ว.เลือกตั้ง และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย หลายคนได้ลุกขึ้นสนับสนุนให้นายนิคม ทำหน้าที่ต่อ เนื่องจากเห็นว่า ขณะนี้ประชาชนรอฟังการอภิปรายอยู่จึงไม่สมควรที่จะมาโต้เถียงกัน และหากนายนิคมไม่ทำหน้าที่ก็ถือเป็นเรื่องไม่สมควร หลังจากที่มีการโต้เถียงกันนานกว่า 1ชั่วโมง นายนิคม ได้กล่าวตัดบท เข้าสู่การอภิปรายตามปกติ

โดย ส.ส.ปชป.เกือบทั้งหมดได้วอร์คเอาท์ออกจากที่ประชุม คงเหลือแต่ ส.ส.จากทางฝั่งรัฐบาลและสว.บางส่วนที่อยู่ร่วมอภิปราย

**เอฟทีเอวอทช์'ค้านแก้รธน. มาตรา190

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ ได้ออกแถลงการณ์ต่อการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 โดยระบุว่า การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 ว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ โดยตัดสาระสำคัญของมาตราดังกล่าว โดยเฉพาะลักษณะหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่เข้าข่ายต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภานั้น ทางกลุ่มเห็นว่าการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้หลักการประชาธิปไตยถดถอย และต้องดำเนินการอย่างเปิดกว้างและมีส่วนร่วมจากประชาชน

" การเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ในสาระเช่นนี้ จะเป็นการสร้างอำนาจผูกขาดให้กับฝ่ายบริหาร โดยปิดพื้นที่ประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วม และตัดบทบาทของรัฐสภาออกไปโดยเกือบสิ้นเชิง "
กำลังโหลดความคิดเห็น