xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมร่วมรัฐสภาเดือด! ฝ่ายค้านไล่ “นิคม” พ้นบัลลังก์ หลังลงชื่อร่วมชำเรา รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดฉากประชุมร่วมรัฐสภาแก้ รธน.3 ฉบับ ปธ.วิปค้านโวยให้น้อยกว่ารัฐตั้ง 4 ชม. ปชป.ซัด ปธ.วุฒิฯ ลงชื่อชำเราด้วยไม่เหมาะ ไล่ลงบัลลังก์ “ค้อนปลอม” ป้องอ้างเป็นสิทธิ์ ก่อนประชุมต่อ “รองฯ โรมานอฟ” บอก ม.68 ไม่ได้แก้แค่ให้อำนาจอัยการ “ถวิล” สวนองค์กรน่าสงสัยเอี่ยวการเมือง ส.ว.สมุทรสาครแขวะพวกสรรหาดูถูกชาวบ้าน ขณะ “นิคม” โผล่ขึ้นเก้าอี้ ยันไม่เอียง ลั่นไม่ทำให้ผิดหวัง เจอฝ่ายค้านตะเพิด “นิพนธ์” จวกทำลายศักดิ์ศรี สุดท้ายก็ยอมลงพอเป็นพิธี

วันนี้ (1 เม.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.30 น. การประชุมร่วมรัฐสภาเริ่มขึ้นโดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระสำคัญคือ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. การอภิปรายเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...)พุทธศักราช...จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช ....(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 115 มาตรา 166 วรรคสอง มาตรา 117 มาตรา 118 มาตรา 120 และมาตรา 241 วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114) ที่มีส.ส.และ ส.ว.จำนวน 308 เป็นผู้เสนอ 2. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..)พุทธศักราช ....(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190) ที่มี ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 314 คน เป็นผู้เสนอ 3. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช ... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 และมาตรา 237 ที่มี ส.ส.และ ส.ว. จำนวน 311 คนเป็นผู้เสนอ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่สมาชิกจะพิจารณาในสาระได้มีการถกเถียงในประเด็นกรอบเวลาการอภิปราย โดยนายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ได้อ้างว่าวิป 3 ฝ่ายได้ตกลง 3 วัน จำนวน 34 ชม.แบ่งเป็นของ ส.ว.8 ชม. รัฐบาล 15 ชม. และฝ่ายค้าน 11 ชม. ทำให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ได้คัดค้านว่า การให้เวลา ส.ว.8 ชม.ฝ่ายค้านไม่ขัดข้อง แต่การกำหนดให้ฝ่ายค้านอภิปราย 11 ชม. ในขณะที่รัฐบาลได้ไป 15 ชม. จึงไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ เพราะไม่อยู่ในวิสัยที่ฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ได้ครบถ้วน

นอกจากนี้ พรรคฝ่ายค้านยังได้จี้ถามนายสมศักดิ์ กรณีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาและรองประธานรัฐสภา ได้ลงลายมือชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม 2 ฉบับ ในมาตรา 190และมาตรา 237 เป็นการไม่เหมาะสม อาทิ นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายตำหนิว่านายนิคมอาจปฏิบัติขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เพราะคนที่เป็น ต้องวางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเริ่มต้นถ้าไม่ถูกต้องชอบธรรมตั้งแต่แรก สุดท้ายจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะทำเพื่อประชาชน ไม่ใช่ทำเพื่อใครทั้งสิ้น ดังนั้นอยากขอให้สั่งประธานรัฐสภาสั่งให้ประธานวุฒิสภา ยุติการทำหน้าที่รองประธานรัฐสภา

แต่นายสมศักดิ์วินิจฉัยว่านายนิคมสวมหมวก 2 ใบ และมีสิทธิในฐานะที่เป็น ส.ว. ก็เชื่อว่าจะทำหน้าที่เป็นกลาง ทำให้นายธนาลุกขึ้นแย้งว่า ตนไม่สบายใจที่ประธานรัฐสภาใช้ดุลพินิจอย่างรวดเร็ว เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่นายนิคมดำรงตำแหน่ง ประธานวุฒิสภาก็มีหลายเรื่องขัดต่อจริยธรรมและคุณธรรม ไม่สามารถวางตัวเป็นกลางได้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวว่า นายนิคมใช้สิทธิ์เสนอร่างแก้ไข รธน.ไปแล้ว ก็ไม่ควรใช้สิทธิ์ทำหน้าประธานในที่ประชุมอีก ดังนั้น อยากให้นายนิคมแสดงเจตนาเองว่าจะทำหน้าที่ดังกล่าวหรือไม่

ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ส.ว.บางส่วนได้สนับสนุนว่านายนิคมสามารถลงชื่อร่วมเสนอแก้รัฐธรรมนูญ และทำหน้าที่ประธานที่ประชุมได้ ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การประท้วงใช้เวลานานกว่า 1 ชม. จนท้ายที่สุดประธานได้ตัดบทเข้าสู่ระเบียบวาระทันที โดยให้ผู้เสนอร่างทั้ง 3 ฉบับ เสนอหลักการและเหตุผลต่อที่ประชุม

จากนั้นสมาชิกเริ่มทยอยอภิปรายทั้งสนับสนุน และคัดค้าน อาทิ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวสนับสนุนว่า มาตรา 68 ไม่ได้เป็นการแก้ไข แต่เป็นการยืนยันเจตนาให้เกิดความชัดเจน คือ การยื่นเรื่องจะต้องผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น โดยยืนยันได้จากบันทึกการประชุมของ ส.ส.ร.50 เพราะหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้คดีความที่เข้าไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีจำนวนมาก การพิจารณาคดีเกิดความล้าช้า และอาจทำให้เกิดความไม่รอบคอบหรือไม่เที่ยงธรรม จึงจำเป็นต้องให้อัยการสูงสุดเข้ามาช่วยกลั่นกรอง รวมทั้งยังไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคและตัดสิทธิ ตัดสิทธิคณะกรรรมการบริหารพรรค เพราะขัดต่อหลักสากล อีกทั้งการทำงานของ ส.ว.ก็มีปัญหาโดยเฉพาะบทบาทการถอดถอนเพราะไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะองค์กรอิสระ เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นผู้เลือกวุฒิสภาเข้ามา

“อำนาจของประชาชนหายไปตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 และการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 50 การแก้รธน. ครั้งนี้หากทำสำเร็จก็จะคืนอำนาจที่แท้จริงกลับสู่ประชาชน” พ.อ.อภิวันท์ระบุ

ด้านนายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล ส.ว.สมุทรสาคร กล่าวว่า การสรรหา ส.ว.ที่มาจากคณะกรรมการสรรหาทั้ง 7 คน ถือเป็นการดูถูกประชาชน อีกทั้งยังพบว่าบางคนสมัครเข้ามาจนหมดวาระ และยังสามารถกลับเข้ามาทำหน้าที่อีก ถือว่าไม่มีความเป็นธรรมอย่างยิ่ง

นายถวิล ไพรสณฑ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวคัดค้าน ม.68 ว่า ในทางปฏิบัติการทำงานของอัยการมีเรื่องให้พิจารณาจำนวนมากอยู่แล้ว ดังนั้น หากให้อัยการสูงสุดมาทำหน้าที่นี้แต่เพียงฝ่ายเดียวกันย่อมทำให้การพิจารณากลั่นกรองตามมาตรา 68 เป็นอย่างล่าช้า ที่สำคัญการทำหน้าที่ของอัยการก็มีความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ว่าได้ทำหน้าที่เป็นแผ่นดินสมกับเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่

นายถวิลกล่าวว่า ปัจจุบันมีบุคคลทำหน้าที่อัยการประมาณ 3 พันคน และมีอัยการระดับอาวุโสถึง 19 คนตั้งแต่อัยการสูงสุด รองอัยการสูงสุด อธิบดีอัยการฝ่ายคดีต่างๆประมาณ 19 คนเข้าไปทำหน้าที่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่ฝ่ายการเมืองแต่งตั้งขึ้น ยกตัวอย่างนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดคนปัจจุบัน มีตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง เช่น การบินไทย ปตท. ธนาคารกรุงไทย หรือแม้แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“นอกเหนือไปจากปัญหาการทำงานที่อาจล่าช้าแล้วยังมีเรื่องระบบอุปถัมภ์ที่จะมีผลต่อการกลั่นกรองของอัยการ เพราะอย่าลืมว่าฝ่ายการเมืองเป็นผู้แต่งตั้งอัยการเข้าไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจรับทั้งเงินเดือน เบี้ยประชุม และโบนัส แน่นอนว่าย่อมมีความผูกพันกับนักการเมืองที่เป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจในองค์กรเดียวกันด้วย จึงเห็นว่าหากให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองเพียงฝ่ายเดียวอาจจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 68

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายดำเนินไปได้อย่างราบรื่น จนเมื่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานที่ประชุมแทนนายสมศักดิ์ ทำให้ฝ่ายค้านได้พากันประท้วง ไม่ให้ทำหน้าที่ดังกล่าวโดยอ้างงว่าไม่เหมาะสมและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้มีการถกเถียงกันอีกครั้ง โดยนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายนิคม ไม่มีคุณสมบัติพอที่จะทำหน้าที่ประธานการประชุมเพราะการเสนอชื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็แสดงถึงความไม่เป็นกลางแล้ว ขอให้ลงจากบัลลังก์ และให้นายสมศักดิ์ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายนิคมพยายามจะชี้แจง ปรากฏว่าไม่สามารถเปิดไมค์ได้ ทำให้นายบุญยอดกล่าวว่า แม้แต่ไมค์ก็ยังไม่เห็นด้วยที่จะให้ทำหน้าที่ประธาน ดังนั้นขอให้ลงไป

ขณะที่นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในช่วงก่อนการประชุม สมาชิกได้หารือเรื่องนี้แล้ว ซึ่งนายสมศักดิ์ได้รับปากว่าจะไปหารือกับนายนิคมว่าดำเนินการอย่างไร มิเช่นนั้นจะทำให้การประชุมเป็นไปอย่างลำบาก จึงอยากถามว่าผลการหารือเป็นอย่างไร

ด้านนายนิคมชี้แจงว่า ตนได้คุยกับนายสมศักดิ์แล้ว หากตนทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง หรือมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างอื่น สามารถที่จะเรียกร้องให้ตนออกได้ และการที่ตนร่วมเข้าชื่อแก้ไขมาตรา 190 และ297 ถือเป็นเอกสิทธิ์ของตน และได้แสดงจุดยืนแต่ต้นแล้วว่าทำให้ประชาธิปไตยบ้านเราอ่อนลง การกระทำของตนไม่ขัดต่อมาตรา 122 เพราะไม่มีอะไรขัดกับผลประโยชน์กับเรื่องที่เสนอ เมื่อครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์เคยเสนอให้แก้ไขมาตรานี้ตนก็เคยสนับสนุน เพราะทุกคนรู้ดีกว่ามาตรา 190 ทำให้เราไม่สามารถต่อสู้กับประชาคมโลกได้

“ผมทำหน้าที่ตามข้อบังคับการประชุมและยังไม่ได้แสดงออกเลยว่าผมไม่เป็นกลางอย่างไร ขอให้เชื่อใจ อายุและประสบการณ์ของผมรู้ว่าสวมหมวกใบไหน กำลังทำหน้าที่อย่างไร โปรดไว้ใจจะไม่ทำให้ท่านผิดหวัง” นายนิคมกล่าวยืนยัน

ด้านนายอภิสิทธิ์แย้งว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับมาตรา 122 แต่เข้ากับมาตรา 125 หากยึดตามมาตรานี้เรื่องการแสดงออกถึงความเป็นกลาง ตนถามว่าคิดอย่างไรในวันที่นายนิคม นั่งอยู่ข้างล่าง แล้วคนที่นั่งเป็นประธานข้างบนเป็นผู้เสนอญัตติเสียเอง

“เป็นคำถามง่ายๆ ว่ามันบ่งบอกถึงความเป็นกลางหรือไม่ ส่วนท่านจะมีจุดยืนอย่างไรในประเด็นใดเป็นสิทธิ์ของท่าน แต่ปกติคนที่นั่งอยู่ข้างบนจะเก็บไว้ในใจเพื่อให้การปฏิบัติที่เป็นกลาง แต่นี่ยังนั่งอยู่ข้างบนแล้วยังตอกย้ำจุดยืนด้วย ตรงนี้คือความไม่สบายใจของพวกเรา แม้ประธานสมศักดิ์จะวินิจฉัยว่าเป็นเป็นสิทธิ์ที่จะร่วมลงชื่อ เราก็ไม่สามารถโต้แย้งได้ แต่เมื่อท่านยืนยันใช้สิทธิ์ตรงนั้นก็ควรพิจารณาว่าจะใช้สิทธิ์ในการทำหน้าที่ประธานด้วยหรือไม่เท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม ส.ส.ฝ่ายค้านก็ยังคงยืนยันให้นายนิคมลงจากบัลลังก์ เพราะหากดึงดันทำหน้าที่ประธานก็จะทำให้การประชุมเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยต่างอภิปรายสนับสนุนให้นายนิคมทำหน้าที่ต่อ โดยอ้างว่าไม่ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม หลังจากถกเถียงในเรื่องนี้ร่วมชั่วโมง นายนิคมก็ยังดึงดันทำหน้าที่ประธานต่อไป

ด้านนายนิพนธ์ วิศิษยุทธศาสตร์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองประธานวุฒิสภา ได้ลุกขึ้นอภิปรายตำหนินายนิคมว่า กำลังทำลายเกียรติภูมิของวุฒิสภาอย่างย่อยยับ ไม่เคยมีประธานวุฒิสภาไปลงชื่อเสนอกฎหมายมาก่อน จึงอยากให้พิจารณาด้วย วุฒิภาวะในฐานะประธานวุฒิสภาจะต้องคำนึงถึงองค์กรวุฒิสภาด้วย การทำหน้าที่ถือว่าไม่สมควร เพราะพฤติกรรมที่แสดงออกคือการลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือว่าเข้าข้างใดข้างหนึ่งไปแล้ว จึงหมดความเป็นกลางไปแล้ว พร้อมกับย้ำว่าไม่เคยมีประธานวุฒิสภาหรือประธานสภา จะลงชื่อเสนอกฎหมาย การกระทำของนายนิคมจึงน่าเสียดายเพราะไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทำ จึงขอให้พิจารณาตัวเองเพราะถ้ายังนั่งทำหน้าที่ต่อจะดำเนินการต่อไปไม่ได้ เพราะทั้งสภาจะคัดค้าน และนายนิคม ได้ทำลายศักดิ์ศรีของวุฒิสภาลงไปหมดสิ้นแล้ว

“ก่อนหน้านี้สมัยผมเป็นวุฒิสภาเคยได้ฉายาว่าสภาทาส นายนิคมจึงต้องคิดว่าอยากได้ฉายาสภาทาสหรือไม่ หากอยากได้ก็ให้ทำหน้าที่ต่อไป เพราะสิ่งที่นายนิคม ทำได้ทำลายศักดิ์ศรีของวุฒิสภาไปหมดแล้ว” นายนิพนธ์กล่าว

ด้านนายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ส.ว.สรรหา ที่ถอนรายชื่อในการเสนอร่าง ลุกขึ้นประท้วงนายนิคมที่เคยระบุว่า ส.ว.ที่โดยหลอก แล้วถอนรายชื่อ สมควรตาย” ทำให้เกิดการปะทะคารมกัน โดยนายนิคมปฏิเสธว่าไม่เคยระบุตามที่เป็นข่าว

อย่างไรก็ตามยังมีการประท้วงการทำหน้าที่ของนายนิคม จนทำให้นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย เสนอทางออกให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ขึ้นมาทำหน้าที่แทนก่อน เพื่อยุติความวุ่นวายที่เกิดขึ้น แล้วค่อยมีการตกลงกันภายหลังถึงความเหมาะสมในการทำหน้าที่ของนายนิคม จึงทำให้มีการเปลี่ยนตัวประธานที่ประชุมตามข้อเสนอดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้เสนอให้มีการหาทางออกชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการประท้วงเป็นระยะ หากนายนิคมขึ้นมาทำหน้าที่ ซึ่งตนก็กังวลในเรื่องการทำหน้าที่ของนายนิคมเช่นกัน

จากนั้นนายประเสริฐ ชิตพงษ์ ส.ว.สงขลา ได้อภิปรายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.68 โดยการที่ประชาชนยื่นคำร้องใดๆ ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยื่นต่ออัยการสูงสุดโดยตรงนั้น ต้องมีการกำหนดเวลาให้อัยการพิจารณาเพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และหากอัยการไม่สามารถส่งคำร้องให้กับศาลรัฐธรรมนูญได้ ประชาชนก็ต้องเป็นผู้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่ศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง เพื่อให้เห็นว่าไม่ได้เป็นการตัดสิทธิของประชาชน













กำลังโหลดความคิดเห็น