สภาล่มอีก หลัง “นายกฯ ปู” ไม่เข้าร่วมประชุมสภา ทำ ส.ส.รัฐบาลเอาอย่างโดดบ้าง แถมยังทำผิดระเบียบมอบบัตรกดแทนกัน หวังแหกตาที่สุดหนีความจริงไม่พ้น ประธานวิปรัฐบาลซัด “ยิ่งลักษณ์” ชิ่งแจงกระทู้ตลอดสมัยประชุม เรียกร้อง “สมศักดิ์” ทำหนังสือประณาม พร้อมสอบสวน ส.ส.กดบัตรแทนกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (21 มี.ค.) ระหว่างกำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต ได้เกิดปัญหาองค์ประชุมไม่ครบทำให้สภาล่ม โดยในการตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติครั้งแรกมีผู้อยู่ในห้องประชุมจำนวน 266 คน แต่นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ท้วงติงว่าไม่น่าจะมีสมาชิกอยู่มากขนาดนั้น เนื่องจากประเมินจากสายตาเห็นว่ามีสมาชิกอยู่ในห้องประชุมน้อยมาก จึงเสนอให้มีการเสียบบัตรนับองค์ประชุมใหม่อีกครั้ง โดยผลการนับครั้งที่ 2 ปรากฏว่ามีผู้อยู่ในห้องประชุมเพียง 235 คน ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของ ส.ส.ทั้งหมดทำให้ไม่ครบองค์ประชุม ทำให้นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมสั่งปิดประชุมทันที ถือว่าสภาล่มเป็นครั้งที่ 2 ในสมัยประชุมนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไม่ได้เข้าร่วมประชุม โดยมีกำหนดการเดินทางไปนิวซีแลนด์และปาปัวนิวกินี ในช่วงบ่ายวันที่ 21-25 มีนาคม ทำให้ ส.ส.รัฐบาลมาร่วมประชุมสภาอย่างบางตาจนเป็นเหตุให้สภาล่มดังกล่าว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ 2 อย่างในสภาฯ วันนี้ คือ กรณีที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่สนใจงานสภา หนีกระทู้สดของฝ่ายค้านจนต้องเลื่อนการถามกระทู้สดมาหลายสัปดาห์ และกรณีสภาล่ม แสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญต่อสภาอย่างที่ควรจะเป็น ตั้งแต่นายกฯ ถึงรัฐมนตรี ซึ่งทุกสัปดาห์จะมีปัญหาไม่มาตอบกระทู้สดของฝ่ายค้าน และมักจะมอบหมายให้รองนายกหรือรัฐมนตรีมาชี้แจงแทน แต่ก็เกิดปัญหาจนต้องเลื่อนการถามกระทู้ทุกครั้ง แต่สัปดาห์นี้ถือว่าหนักที่สุด คือไม่มีผู้มาตอบกระทู้ถึง 2 กระทู้ ทำให้ต้องเลื่อนไปสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นไปได้ยากเนื่องจากในสัปดาห์หน้าจะมีการพิจารณา พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน และสัปดาห์ถัดไปรัฐบาลจะนำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเข้ามาพิจารณาอีก จากนั้นก็จะติดเทศกาลสงกรานต์ และปิดสมัยประชุม เท่ากับรัฐบาลหนีกระทู้ทั้งสมัยประชุม
ส่วนที่สภาล่มก็น่าเชื่อว่าจะมีการกดบัตรแทนกันในการตรวจสอบองค์ประชุมหลายครั้ง ซึ่งตนได้ยื่นเรื่องให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ทำการสอบสวนเรื่องการกดบัตรแทนกันในที่ประชุมเมื่อสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาไปแล้ว และวันนี้ก็น่าจะอนุมานได้ว่ามีการกดบัตรแทนกันอีก เพราะการตรวจสอบองค์ประชุมครั้งแรกมีสมาชิกกดบัตร 266 เสียง แต่เมื่อให้มีการกดบัตรใหม่โดยเป็นที่รู้กันว่าถ้ามีการกดบัตรแทนกันอีกจะต้องถูกสอบสวน ทำให้คะแนนออกมาเหลือ 235 แปลว่ามีการกดบัตรแทนกัน 31 เสียง สะท้อนให้เห็นถึงความไม่รับผิดชอบ ซึ่งตนไม่ตำหนิใครคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่สภาต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับประมวลจริยธรรม ไม่เช่นนั้นจะให้คนอื่นมาปฏิบัติตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญคงเป็นไปได้ยาก ซึ่งเป็นเรื่องที่นายสมศักดิ์จะต้องตรวจสอบรวมกับเรื่องที่ตนร้องไปก่อนหน้านี้
“ความจริงไม่ต้องรอให้ผมยื่นเรื่องให้สอบสวนเพราะเป็นหน้าที่ประธานสภาต้องทำอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการส่งให้ประธานกรรมการประมวลจริยธรรมของสภาตรวจสอบ เราก็ต้องรอผลแต่คิดว่าเวลานี้สมควรแล้วที่ควรจะมีการทวงถามความคืบหน้าในเรื่องนี้ หวังว่านายสมศักดิ์จะทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งไม่เช่นนั้นก็จะเสื่อมไปด้วยที่จงใจปล่อยปละละเลยให้มีการทำผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากคิดว่ามีการทำผิดกฎหมายในสภาจะมีการยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ขอให้ประธานสภาทำการตรวจสอบให้สุดทางก่อนว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะนายสมศักดิ์ก็รับปากว่าจะประสานงานกับนายกฯและรัฐมนตรีให้มาตอบแต่หลายสัปดาห์ก็ยังไม่ดีขึ้น ดังนั้นตนคิดว่ารัฐบาลสมควรถูกประณามแล้วจากสถานการณ์ที่หนักข้อขึ้นตามลำดับ เริ่มตั้งแต่ตัวนายกฯ ที่มาประชุมสภาน้อยมาก ปรากฏตัวในสภานับครั้งได้ ส่วนกระทู้ถามสดตั้งแต่มีสภาชุดนี้นายกฯ เพิ่งมาตอบแค่ 2 ครั้ง เป็นกระทู้สดของรัฐบาลด้วยกัน 1 ครั้ง และฝ่ายค้าน 1 ครั้ง นอกจากนั้นไม่เคยมาตอบเลย
ส่วนประธานสภาเป็นคนของพรรคเพื่อไทยจะกล้าทำหนังสือประณามนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า ตรงนี้จะเป็นสิ่งสะท้อนถึงการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภาฯ เพราะการเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง นายกฯ จะปฏิเสธไม่มาร่วมก็ได้ เพราะอยู่ฝ่ายบริหาร แต่ต้องไม่ลืมว่านายกฯก็เป็นผู้แทนคนหนึ่งมีหน้าที่ต้องมาประชุมอย่างน้อยในฐานะ ส.ส.และต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ผู้แทนคนอื่นด้วย และเป็นผู้นำหลักของพรรคการเมืองก็ต้องเป็นผู้นำ ส.ส.ในสังกัดพรรคเดียวกันด้วย
นายจุรินทร์กล่าวด้วยว่า จากการพิจารณาการบรรจุวาระของประธานสภาคิดว่ามีแนวโน้มที่รัฐบาลจะหนีการแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี เป็นครั้งที่ 2 ในสมัยประชุมนี้ หลังจากพยายามหลีกเลี่ยงที่จะแถลงผลงานครบรอบ 1 ปีมาตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว ทำให้การที่รัฐสภาลงมติให้รัฐบาลแถลงผลงานในสมัยประชุมนิติบัญญัติได้เป็นเพียงแค่ปาหี่หรือละครฉากหนึ่งเพื่อให้รอดตัวไม่ให้รัฐบาลถูกประณามว่าหนีการแถลงผลงานเท่านั้น เพราะเมื่อรัฐสภาอนุมัติแล้วกลับไม่มีการดำเนินการใดๆ และยังไม่มีการบรรจุในวาระการประชุมแต่อย่างใด