xs
xsm
sm
md
lg

แม้วสั่งแก้รธน.รายมาตรา กกต.เชียร์ ปลดแอกยุบพรรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (19 มี.ค.56) ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่าที่ประชุมพรรค มีพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่าในวันที่ 20 มี.ค.นี้จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จำนวน 4 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 68, 190, 237 และ มาตราที่ว่าด้วยที่มาของส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยส.ว.สรรหาเดิมให้อยู่จนครบวาระ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่วนประธานจะนำเข้าบรรจุในวาระการประชุมเมื่อไหร่นั้น เป็นหน้าที่ของประธานสภาฯจะพิจารณา
บ่ายวันเดียวกัน พรรคเพื่อไทยประชุมส.ส.ของพรรค มาร่วมประชุมอย่างคับคั่ง เช่นเดียวกับรัฐมนตรีที่มาร่วมประชุมหนาตากว่าทุกครั้ง มีพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่ประธานการประชุม
รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สไกป์มาประชุมนานกว่า40นาที ช่วงแรกกล่าวถึงถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า อยากให้แก้รายมาตรา เพราะถ้าเดินหน้าแก้ทั้งฉบับจะมีปัญหา ถูกยื่นตีความ ทำให้รัฐบาลล้มได้ แต่ถ้าแก้ไขเป็นรายมาตราก็ไม่มีปัญหาอะไร สามารถทยอยแก้ไขได้ ถ้าไม่แก้เป็นรายมาตราก็คงแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้

**ชายจืดหนุน ส.ส.-ส.ว.เข้าชื่อแก้รายมาตรา
ที่พรรคเพื่อไทย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ส.ส.และส.ว.จะเข้าชื่อเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรานั้น ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าสามารถทำได้ ตนก็เคยให้คำแนะนำเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราให้พรรคเพื่อไทยฟัง ดังนั้นหากจะแก้เป็นรายมาตราก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ยังค้างการพิจารณาวาระ 3 ในสภาก็ให้เป็นเรื่องที่ประชุมสภาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
เมื่อถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราครั้งนี้ มีประเด็นการต่ออายุให้ส.ว.สายเลือกตั้ง ถือเป็นการซื้อใจส.ว.หรือไม่ นายสมชายตอบว่า ไม่ใช่การต่ออายุส.ว. แต่ให้ส.ว.ที่ครบวาระไม่ต้องเว้นวรรค สามารถลงสมัครเลือกตั้งต่อได้ ซึ่งเป็นไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

**ซัดแลกเปลี่ยนต่างตอบแทนสส.-สว.
ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปค้าน) แถลงภายหลังกรณีที่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะร่วมลงชื่อกับส.ว. เพื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายเป็นมาตรา 3 ประเด็นต่อประธานรัฐสภาในวันที่ 20 มี.ค.นั้น ฝ่ายค้านเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราสามารถทำได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำประชามติ แต่ต้องพิจารณารายละเอียดว่าจะแกไขประเด็นใดอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ในมาตรา 68 ที่บัญญัติว่าเมื่อบุคคลหรือพรรคการเมืองใดที่พบเห็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยสวามารถยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ กรณีนี้ฝ่ายค้านเห็นว่าหากมีการแก้ไขให้เหลือเพียงประชาชนยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาหน่วยงานเดียวก็จะเป็นการปิดช่องทางและจำกัดสิทธิของประชาชนให้เหลือช่องทางเดียวก็จะไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ส่วนการแก้ไขมาตรา 117 เรื่องที่มาและวาระการดำรงตำแหน่งของส.ว. ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะแก้ไขเรื่องใดบ้าง แต่หากเปิดโอกาสให้ส.ว.เลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 1วาระได้ก็อาจมองว่าเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างตอบแทน ระหว่างส.ส.กับส.ว.

**“ชทพ.” มีมติลุยแก้รธน.รายมาตรา
ที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรคชทพ.แถลงภายหลังการประชุมว่า พรรคร่วมรัฐบาลได้รับการประสานจากกลุ่ม ส.ว.ที่นำโดยนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เพื่อขอให้ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 3 ประเด็น เป็นแบบรายมาตรา เนื่องจากเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างอยู่ในสภา ยังมีภาวะที่ชะงักงัน มีความล่าช้า และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ได้ ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 3 ประเด็นตามข้อเสนอดังกล่าว ประกอบด้วย 1. มาตรา 237 ประเด็นเรื่องการยุบพรรค มาตรา 68 เรื่องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่ควรจะเขียนให้ชัดเจนว่าการยื่นตีความรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น 2. ที่มาของส.ว. โดยเห็นว่าส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น และไม่ควรกำหนดวาระ และ 3.มาตรา 190 ที่บางประเด็นไม่ควรเข้าสู่การพิจารณาของสภา แต่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยให้มีกฎหมายลูกมาประกบด้วย โดยประเด็นดังกล่าวเหล่านี้ได้มีการนำเสนอต่อสาธารณชนมาอย่างยาวนาน และสังคมให้การยอมรับ โดยเฉพาะมาตรา 237 พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้คัดค้านอะไร ดังนั้น จึงไม่คิดว่าจะนำไปสู่ประเด็นความขัดแย้งได้

**ภท. ค้านแก้ม. 68 ชี้ขัดรธน.ขู่ร้องศาล
ที่พรรคภูมิใจไทย นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส. นครราชสีมา และ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีรัฐบาลพร้อมจับมือส.ว.สายเลือกตั้งแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ว่า พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยหากแก้รัฐธรรมนูญแล้วประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์และไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่ใคร ทั้งนี้สำหรับมาตราที่จะแก้ไขคือมาตรา 68 ตนไม่เห็นด้วยเพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนสามารถมาร้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงเป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว หากมาตัดสิทธิ์ตรงนี้ โดยเวลาฟ้องต้องการผ่านสำนักการอัยการสูงสุด หรือ ออส. ก่อน ถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิ์ของประชาชน และตนเชื่อว่าหากมีการแก้มาตรา 68 จริง จะต้องมีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญ 50 แน่นอน ส่วนมาตรา 237 ก็ต้องการให้คงสภาพเหมือนเดิมคือให้มีการยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 5 ปี แต่อาจแก้ไขว่าหากจะตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคจะต้องมีส่วนรู้เห็นด้วยเท่านั้น มิใช้เหมารวม โดยใช้รูปแบบการตีความเช่นเดียวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83
นายบุญจง กล่าวว่า ส่วนมาตรา 190 ไม่ต้องแก้ไข แต่ให้ไปออกกฎหมายลูกมาแทน ส่วนเรื่องการยกเลิกการเว้นวรรคส.ว.เลือกตั้งนั้น ตนเห็นว่าสามารถทำได้ แต่อยากจะแก้ไขให้ส.ว.มาจากเลือกตั้งทั้งหมดไม่ต้องมีส.ว.สรรหาแล้ว

**เชียร์รายมาตราปลดแอกยุบพรรค
นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า เท่าที่ทราบจะมี 3 มาตราที่จะมีการแก้ไข โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวผู้ที่จะเป็นส.ส. ส.ว. โดยตรง เรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในมาตรา 68 รวมถึงเรื่องของการยุบพรรคตามมาตรา 237 ซึ่งหากมีการแก้ไขมาตราเหล่านี้ก็ต้องมีการแก้กฎหมายลูกตามมาด้วย อย่างไรเรื่องของ ส.ว.ที่จะไม่ให้มีส.ว.มาจากการสรรหา ก็ต้องไปแก้ไขในพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. โดยเอา ส.ว.สรรหาออก และต้องไปเพิ่มจำนวน ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนที่จะแก้มาตรา 237 สมัยที่ตนเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็เป็นเสียงข้างน้อย เพราะเห็นว่าการที่จะยุบพรรคจากกรณีที่หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคไปกระทำทุจริตการเลือกตั้ง น่าจะเป็นเรื่องความรับผิดของตัวบุคคลมากกว่า แต่เสียงข้างมากก็เห็นว่า พรรคมีหน้าที่ต้องดูแลให้กรรมการบริหาหารพรรคปฏิบัติตนตามกรอบที่กฎหมายกำหนด หากมีการกระทำผิดพรรคก็ต้องรับผิดชอบ ซึ่งตนก็เห็นว่า แนวคิดนี้ที่นำมาสู่การยุบพรรคได้ง่าย ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และอาจกล่าวได้ว่า ปัญหาการยุบพรรคจากรณีดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมาก่อให้เกิดความเสียหายในทางการเมืองในขณะนี้ ซึ่งในต่างประเทศจะไม่มีบทบัญญัติในลักษณะนี้ มีใช้แต่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ทั้งนี้เมื่อจะมีการแก้ไขก็จะต้องขึ้นอยู่กับผู้ที่มีอำนาจว่ามีแนวคิดในเรื่องนี้อย่างไร.
กำลังโหลดความคิดเห็น